“หุ้นเด้ง” ตัวล่าสุดของผม กับเหตุผลที่ต้องเจอ “หุ้นดี” ก่อนที่จะ “ดัง”

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ช่วงต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ผมเจอหุ้นตัวหนึ่งขณะกำลังอ่านเว็บไซต์การเงิน เป็นหุ้นเทค-ไฟแนนซ์ ซึ่งมีโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจมากๆ ราคาขณะนั้นอยู่ที่ประมาณ 165-170 USD ต่อหุ้น

บริษัทนี้ชื่อ “Upstart” ชื่อย่อ UPST อยู่ในดัชนี Nasdaq

ผมตัดสินใจที่จะหาข้อมูลให้ลึกลงไปในเว็บข่าวการเงินของต่างประเทศทั้งหมดที่ผมเป็นสมาชิกอยู่ ก่อนจะพบว่าธุรกิจนี้ “โคตรเจ๋ง” ยิ่งกว่าที่ผมคิดไว้เบื้องต้นเสียอีก

เนื่องจากบทความนี้ไม่ได้ตั้งใจมาแนะนำบริษัท จึงขอสรุปแบบกระชับว่า Upstart Holdings Inc. เป็นธุรกิจแพลตฟอร์ม AI ที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อช่วยแบงก์และสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ โดยช่วยให้ปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็สามารถลดความเสี่ยงและลดต้นทุนลงได้

ผมอ่านต่อไปเรื่อยๆ และพบว่า ผู้ก่อตั้ง Upstart คือ เดฟ จีราวอาร์ด อดีตผู้บริหารของกูเกิล โดยจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาอยากทำแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมาก็เพราะเล็งเห็นว่า ธนาคารทั่วไปมักใช้โมเดลแบบดั้งเดิมในการอนุมัติสินเชื่อและกำหนดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งแม้จะง่ายและชัดเจน แต่กลับจำแนกความเสี่ยงได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น

ข้อเท็จจริงก็คือ คนอเมริกันถึง 4 ใน 5 ที่ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้เลย แต่มี credit score ต่ำ เช่น เป็นฟรีแลนซ์ มีรายได้ไม่เป็นหลักแหล่ง กลับไม่สามารถกู้เงินได้ หรือแม้จะกู้ได้ ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงมาก เช่น หากจะซื้อรถก็อาจต้องจ่ายดอกถึง 20-25% เมื่อเทียบคนที่ทำงานประจำหรือทำงานอยู่กับหน่วยงานของรัฐ

ด้วยเหตุนี้ เดฟจึงทำ Upstart ขึ้นมาเพื่อแก้ paint point ดังกล่าว โดยใช้เทคโนโลยี AI ในการช่วยธนาคารและสถาบันการเงินจำแนกผู้กู้ ผลก็คือ ธนาคารที่ใช้แพลตฟอร์มของ Upstart สามารถปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น ได้ลูกค้าเพิ่มขึ้นเยอะมาก โดยมีความเสี่ยงน้อยลง

ฝั่งผู้ใช้ก็ยิ่งแฮปปี้ เพราะกู้ได้ง่ายขึ้น และไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยแพง อีกทั้งแพลตฟอร์มของ Upstart ยังมีลักษณะที่เรียกว่า user-friendly คือหน้าตาน่าใช้งาน 

สถิติที่ผมค้นได้ในขณะนั้น คือแพลตฟอร์มของ Upstart ช่วยให้คนที่ได้รับอนุมัติเงินกู้มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 26% และต้นทุนในการกู้ (หมายถึงดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และอื่นๆ) ลดลง 10%

โดย Upstart จะได้ส่วนแบ่งรายได้จากธนาคาร คือยิ่งแบงก์ปล่อยกู้ได้มาก ก็ต้องแบ่งให้ Upstart มากขึ้นด้วย ซึ่งผมมองว่าเป็นโมเดลที่ดีที่สุดแล้ว ไม่เหมือนกับการคิดค่าบริการในการใช้แพลตฟอร์มซึ่งรายได้จะคงที่

โดยภาพรวมแล้ว ถือได้ว่า Upstart เป็นธุรกิจที่เข้ามาปลดปล่อยผู้คนในเรื่องของการเข้าถึงแหล่งเงินทุนส่วนบุคคลอย่างแท้จริง

เมื่อได้ข้อมูลอย่างนี้แล้ว ผมจึงทำเหมือนที่ทำทุกครั้ง คือเช็ค “valuation” และพบว่าราคาหุ้น UPST ยังต่ำกว่า fair value อยู่พอสมควร

ผมจึงตัดสินใจที่จะศึกษาต่อในเชิงลึกไปถึง “ผลประกอบการ” และ “งบการเงิน” ก่อนจะพบว่าตัวเลขทุกตัว “ผ่านหมด” โดยชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าธุรกิจนี้กำลังอยู่ในเฟซของการเติบโต

และเมื่อดู “market cap” ก็พบว่าอยู่ที่ 12,000 ล้าน USD เท่านั้น ถือว่ายังเล็กมากๆ ขณะที่รายได้แม้จะโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว แต่เวลานั้นก็ยังไม่ถึง 300 ล้าน USD

ที่สำคัญที่สุดคือ เป็นบริษัทที่มี “กำไร” เมื่อเทียบกับเทคคอมพานีจำนวนมากที่ยังจมลึกอยู่กับผลขาดทุน

เมื่อประกอบกับนวัตกรรมที่ยอดเยี่ยม และตลาดที่ยังไม่เคยมีใครย่างก้าวเข้ามา มองมุมไหนก็ต้องยอมรับว่ารันเวย์ของบริษัทนี้ยังอีกยาวไกลมากๆ

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงตัดสินใจเข้าซื้อ UPST ในวันจันทร์ที่ 7 มิ.ย. ด้วยต้นทุน 169 USD และเขียนถึงหุ้นตัวนี้ไว้ในแพลน My VALUE ของ Club VI เพื่อให้สมาชิกได้รู้จัก แต่ก็ย้ำกับทุกคนเหมือนที่ย้ำทุกครั้งว่า นี่เป็นเพียงการให้ข้อมูล ไม่ใช่การแนะนำให้ซื้อ โดยชี้ให้เห็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงประกอบกันไป

ทว่าหลังจากนั้น ราคาหุ้น UPST กลับปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว โดยลงไปต่ำสุดที่ประมาณ 117 USD ลดลงกว่า 30% จากจุดที่เข้าซื้อครั้งแรก 

ด้วยความสงสัย ผมจึงลองหาข้อมูลเพิ่มเติมและพบว่าเหตุที่ราคาร่วงลง ปัจจัยสำคัญเกิดจากการที่หุ้นเพิ่งพ้นจาก lockup period คือช่วงเวลาที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่สามารถขายหุ้นทิ้งได้หลังจาก IPO ทำให้เกิดแรงเทขายออกมาอย่างหนัก และแม้จะมีปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีการปรับ guidance รายได้ แต่ดูอย่างไรก็ไม่พบว่าปัจจัยพื้นฐานของบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ 

เมื่อเห็นเป็นโอกาสเช่นนั้นแล้ว ผมจึงตัดสินใจเก็บหุ้นเพิ่ม และทยอยซื้อมากขึ้นเรื่อยๆ จนต้นทุนสุทธิลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 129 USD

เวลาผ่านมาประมาณ 2 เดือน พอเข้าสู่ช่วงกลางเดือนสิงหาคม หลังจากราคาจมจ่อมอยู่นาน มันก็เริ่มดีดขึ้นอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลจากผลประกอบการที่โดดเด่นมากๆ โดยเฉพาะ Q2/2021 ที่ “รายได้” เพิ่มขึ้นกว่า 1,000% YoY ขณะที่ “กำไร” ก็เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด

แม้จะดูน่าตื่นตาตื่นใจ แต่ถ้าใครได้อ่านข้อมูลเหมือนที่ผมอ่านก่อนเข้าซื้อมันในทีแรก ก็จะพบว่าผลการดำเนินงานที่ออกมานี้แม้จะน่าประหลาดอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับเกินความคาดหมายเสียทีเดียว

ปัจจุบัน ราคาหุ้น UPST ยังวิ่งอย่างต่อเนื่อง โดยขึ้นไปสูงสุดที่ 346.54 USD ก่อนจะปรับตัวลงมาเล็กน้อย ขณะที่เขียนอยู่นี้ราคาอยู่ที่ 333 USD

นั่นทำให้จากต้นทุน 129 USD ของผม หุ้นตัวนี้ถือว่า “เด้ง” ขึ้นมาแล้วกว่า “หนึ่งเด้งครึ่ง” หรือมากกว่า 150% ภายในเวลาเพียงประมาณ 4 เดือน

ถามว่า ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมาทำไม เพื่อ “ขิง” ว่าตัวเองลงทุนเก่ง ได้หุ้นเด้งหรือเปล่า คำตอบคือ ไม่ใช่เลย และไม่ได้เขียนเพื่อแนะนำหุ้นด้วย เพราะปกติก็ไม่ได้ทำเช่นนั้นอยู่แล้ว (และอันที่จริง ก็ยังมีหุ้นอีกหลายตัวที่ผมลงทุนแล้วมันไม่เป็นไปอย่างที่คิด)

จุดประสงค์หลักที่ผมเขียนบทความน้ีขึ้นมา ข้อแรกเลย คือเพื่อต้องการอธิบายให้เห็นถึงวิธีการวิเคราะห์หุ้นของผมก่อนจะเข้าลงทุน ว่ามีขั้นตอนอะไรอย่างไรบ้าง เพื่อให้ท่านสามารถประยุกต์ไปใช้ได้หากต้องการ (แม้จะอธิบายได้เพียงพอสังเขปก็ตาม)

ข้อที่สองก็คือ เพื่อสรุปเป็นบทเรียนแก่ทุกท่านว่า เวลาเราเข้าลงทุนในหุ้นบางตัว แล้วราคาของมันเกิดปรับลดลงอย่างรุนแรง เราควรนำปัจจัยพื้นฐานของมันมาพิจารณาซ้ำอีกครั้ง หากพื้นฐานเปลี่ยนแปลง หรือมีบางสิ่งที่เรายังไม่รู้ หรือเราวิเคราะห์ผิดไปเอง ก็อาจจำเป็นต้องขายมันทิ้ง แต่หากพบว่าพื้นฐานยังคงเดิม การขายทิ้งย่อมไม่ใช่ทางเลือกที่ควรกระทำแต่อย่างใดทั้งสิ้น การอยู่เฉยหรือซื้อเพิ่มเท่านั้น จึงเป็นทางเลือกที่พึงกระทำ

และบทเรียนสุดท้ายที่อยากฝากไว้คือ เราต้องหาให้พบ “หุ้นดีๆ” ก่อนที่มันจะ “ดัง” 

ในเวลาที่หุ้น Upstart ร่วงเอาๆ นั้น เพจหุ้นต่างๆ ของไทย ตลอดจนสื่อออนไลน์ของสถาบันการเงินต่างๆ แทบไม่มีใครเขียนถึงหุ้นตัวนี้ แต่หลังจากราคาวิ่งขึ้นมาเยอะมาก มันก็เริ่มถูกเขียนถึงมากขึ้นเรื่อยๆ

หากท่านได้อ่านข้อมูลเหล่านั้นตอนที่หุ้นมัน “ดัง” ขึ้นมาแล้ว ท่านจะสามารถเข้าลงทุนได้หรือไม่? ก็เป็นเรื่องที่น่าสงสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาจากการที่ราคาของมันปรับตัวขึ้นมากว่า 1,500% จากเดือนธันวาคมปีที่แล้ว หรือหากนับจากที่ผมเข้าซื้อครั้งแรก คือกลางเดือนมิถุนายนปี 2021 ก็ขึ้นมาแล้ว กว่า 100%

นี่คือเหตุผลที่เราต้องหาให้พบ “ซุปเปอร์สต็อค” ก่อนที่มันจะ “ถูกเอ่ยถึง” ไม่ใช่เวลาที่มัน “ดังแล้ว” และใครๆ ก็เขียนถึงมัน ซึ่งเป็นไปได้สูงมากๆ ว่า โอกาสที่ดีที่สุดในการลงทุนได้ผ่านพ้นไปแล้ว

เพราะฉะนั้น สำหรับคนที่อยากสร้างความมั่งคั่งจากหุ้นต่างประเทศ ขอให้ท่านหาข้อมูล ทำการบ้านด้วยตนเองแบบ “เชิงรุก” คือหาไปเรื่อยๆ อ่านไปเรื่อยๆ อย่าหยุด ไม่ต้องรอให้ใครมาเชียร์ มาเขียนถึง

เราหาเองก่อนเลย

และถ้าเจอหุ้นที่ดี มีโมเดลที่น่าสนใจ ก็อย่าลังเลที่จะเจาะลึกลงไปจนรู้จักมันอย่างทะลุปรุโปร่ง

หากทำเช่นนี้ได้ ท่านก็มีโอกาสพบ “หุ้นดี” ก่อนที่จะมันจะ “ดัง” และ “เด้ง” เหมือนกรณีศึกษาที่ผมยกมาเป็นตัวอย่าง (ย้ำครั้งสุดท้ายว่าเพื่อเป็นตัวอย่างเท่านั้น) ในที่นี้

และสำหรับท่านที่อยากร่วมหา “หุ้นนอกดีๆ” ก่อนที่มันจะ “ดัง” ไปกับผมและทีมงาน Club VI แนะนำสมัคร My VALUE แพลนการลงทุนหุ้นต่างประเทศ ที่จะช่วยให้ท่านตะลุยหุ้นนอกได้อย่าง “มั่นใจ” และ “แม่นยำ” ยิ่งกว่าเดิม คลิก ที่นี่ ครับ


Disclaimer : การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน ข้อเขียนนี้ไม่ใช่การชักชวนให้ซื้อหรือขายหุ้น เป็นเพียงการให้ข้อมูลในอดีตเพื่อเป็นความรู้เท่านั้น

ลงทุนยังไงในตลาดหุ้นเวียดนาม

(recap : FB Live by Club VI X Jitta Wealth)

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ผม recap บทสนทนากับคุณ เผ่า ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth จากการพูดคุยทาง FB Live เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมา สนใจลองอ่านดูนะครับ

> ที่มา 

– “เผ่า” ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ผู้ก่อตั้ง Jitta ลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ มาตั้งแต่เรียนอยู่ที่นั่น 

– เขามองว่า ตามหลัก Value Investment ธุรกิจที่ดีควรจะมี pattern ที่เหมือนกัน เช่น รายได้ควรจะเติบโตต่อเนื่อง margin ควรจะสม่ำเสมอ หนี้สินควรจะอยู่ในระดับหนึ่งๆ ฯลฯ จึงได้สร้าง tool ขึ้นมา เพื่อที่จะสามารถวิเคราะห์งบของบริษัทที่มีอยู่เป็นพันๆ โดยได้ร่วมกับเพื่อนที่เป็น engineer เอาเกณฑ์การวิเคราะห์งบต่างๆ ใส่ code เป็นอัลกอริธึ่ม 

– tool ของ Jitta จะช่วยในการคัดกรอง-วิเคราะห์หุ้น โดยปัจจุบันครอบคลุมหุ้น 16 ประเทศ เช่น อเมริกา จีน อินเดีย สิงคโปร์ ไตัหวัน อังกฤษ ฯลฯ ข้อมูลทั้งหมดให้ใช้ฟรี สามารถเข้าไปดูได้ที่ Jitta.com 

– ต่อมา จึงก่อตั้ง Jitta Wealth ในรูปแบบ บลจ. โดยรับบริหารจัดการเงินให้นักลงทุน

– ทางเลือกในการลงทุนกับ Jitta Wealth มีสามแบบ 

หนึ่งคือ Jitta Ranking ใช้อัลกอริธึ่มของจิตตะในการเลือกหุ้นตามหลัก Value Investment

สองคือ Global ETF ลงทุนในหุ้น 80% พันธบัตร 20% โดยกระจายความเสี่ยงไปยัง ETF ทั่วโลก

สามคือ Themetic ให้นักลงทุนเลือกธีมในการลงทุนได้เอง เช่น Healthcare , E-commerce, Fintech, AI, Clean Energy, etc. สามารถเลือกได้สูงสุด 5 theme โดย Jitta Wealth จะเอาเงินไปซื้อ ETF ให้เลย

> เวียดนาม

– เวียดนาม ตลาดหุ้นขึ้นมาเยอะมาก ทำ all-time high อยู่ตลอด แต่ตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน ปัจจุบันมูลค่าเศรษฐกิจโต กว่าสิงคโปร์และมาเลเซีย เป็นที่สี่ใน Southeast Asia รองจากอินโดฯ ไทย และฟิลิปปินส์ 

– GDP เวียดนามโตสูงที่สุดในโลก ประมาณ 6% ต่อปี และแม้เจอโควิด-19 ก็ยังโตได้ 2.9% 

– เงินกำลังหลั่งไหลมาที่เวียดนาม มีการขยายฐานการผลิตมาที่นี่ แต่สำหรับตลาดหุ้นเวียดนาม Forward P/E อยู่ที่ 15-16 เท่าเท่านั้น ยังต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศที่อยู่แถวๆ 19 เท่า 

– จึงมองได้ว่าหุ้นเวียดนามไม่ได้แพงอย่างที่คิด เพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจวิ่งไล่ตามมาตลอด หากมองในระยะยาว ลงทุนไปยาวๆ ก็ถือว่าน่าสนใจ เพราะนี่คือตลาดแห่งอนาคตที่จะยังเติบโตได้อีกมาก จากศักยภาพที่มี

– คนเวียดนามเริ่มหันมาลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น โดยเฉพาะปีที่แล้วที่คนอยู่บ้านเฉยๆ ทำให้มีนักลงทุนรายย่อยเปิดบัญชีเพิ่มขึ้นเยอะมาก ไตรมาสละเป็นหมื่นๆ บัญชี, Q1 ปีนี้ เปิดใหม่เป็นแสนบัญชี, อีกสาเหตุหนึ่งเพราะดอกเบี้ยลดลง จาก 6-7% เป็น 2-3% ทำให้มีเงินไหลเข้ามาดันดัชนี ส่งผลให้หุ้น mid-small cap ขึ้นเยอะมาก

– อย่างไรก็ตาม การลงทุนในเวียดนามก็ยังมีความเสี่ยง เช่น ด้วยความที่เป็นประเทศคอมมิวนิสต์ อาจจะมีการออกคำสั่งต่างๆ ขึ้นมาดื้อๆ เหมือนที่จีนเคยออกกฏห้ามนักลงทุนต่างชาติเอาเงินกลับ 

– นอกจากนี้ การเป็น frontier market ทำให้การกำกับดูแลต่างๆ ยังไม่ได้ดีพร้อม ผู้ลงทุนจึงไม่จำเป็นต้องทุ่มทั้งหมด โดยอาจแบ่งเงินส่วนหนึ่ง เช่น 10-20% ของพอร์ต ไปลงทุนในเวียดนาม

> ลงทุนเวียดนามกับ Jitta

– การลงทุนในตลาดเวียดนามทำได้สองแบบ หนึ่งคือ ลงทุนด้วยตัวเอง  สองคือ ให้คนอื่นจัดการให้ ซึ่งก็คือลงทุนผ่าน บลจ.

– การลงทุนด้วยตัวเองต้องทำงานหนัก และอาจจะติดปัญหาบางประการ เช่น หุ้น mid-small cap บางตัวไม่สามารถคาดเดาได้ ดังที่เคยเกิดกรณี อยู่ๆ ผู้บริหารถูกอุ้มหายไป หุ้นจึงร่วงหนัก 

– อีกทางหนึ่งคือ ให้ บลจ.เอาเงินไปลงทุนให้ บลจ. อื่นๆ จะเลือกลงทุนใน ETF ส่วนของ บลจ. Jitta Wealth จุดเด่นคือจะใช้อัลกอริธึ่มของตัวเองในการวิเคราะห์-เลือกหุ้น นักลงทุนควรศึกษาวิธีลงทุนที่ตัวเองชอบ ดูค่าธรรมเนียม แล้วจึงตัดสินใจเลือกว่าจะลงทุนกับ บลจ.ไหน

– ทั้งนี้ Jitta Wealth เวียดนาม ที่ลงทุนโดยใช้ Jitta Ranking จะกระจายการลงทุนไปในหุ้นดีราคาถูก 20 ตัวของเวียดนาม และปรับพอร์ตทุก 3 เดือน

– ผลปรากฏว่า 12 เดือนล่าสุด (พ.ค. 2020-พ.ค. 2021) Jiita Wealth ทำผลตอบแทนได้ 93.47% ชนะดัชนีที่ทำผลตอบแทนได้ราว 56.33% ขณะที่ YTD (นับตั้งแต่ 1 ม.ค. 2021) Jitta Wealth ทำผลตอบแทนได้ราว 32.85% เหนือดัชนีที่ทำได้ราว 20% 

– ช่วงหลังวิกฤต Jitta Wealth เอาชนะดัชนีของแต่ละประเทศเยอะมาก เพราะเงินหลั่งไหลเข้ามายังหุ้นดีราคาถูกต่างๆ ซึ่งเป็นหุ้นที่ Jitta Wealth เลือกไว้ ทั้งๆ ที่ดัชนีของแต่ละประเทศยังไม่ได้ขึ้นไวขนาดนั้น

– อาจกล่าวได้ว่า ในปีที่ดี Jitta Wealth จะชนะดัชนีได้เยอะ แต่ก็ต้องบอกว่า ในบางปีอาจจะแพ้ดัชนีได้ ที่ผ่านมา 10 ปี ก็ไม่ได้ชนะตลาดทุกปี แต่รวมๆ แล้วชนะมากกว่าแพ้ 

– อย่าง 10 ปีหลังสุดของเวียดนาม (2011-2020) Jitta Wealth ชนะดัชนี 8 ปี แพ้ 2 ปี โดยค่าเฉลี่ยผลตอบแทนต่อปีของ JW อยู่ที่ 21.45% ขณะที่ VN INDEX TR อยู่ที่ 12.10% (ข้อมูลส่วนหนึ่งเป็น backtest อีกส่วนหนึ่งเป็น real performace จากการใช้ Jitta Ranking ลงทุนจริง) 

– การลงทุนในเวียดนามกับ Jitta Wealth นอกจาก Jitta Ranking ยังมีอีกหนึ่งทางเลือก คือ Thematic โดยผู้ลงทุนสามารถเลือกธีม “เวียดนาม” ซึ่งทาง JW จะเอาเงินไปซื้อ ETF ที่ชื่อ VNM ให้ (VNM เป็น ETF ที่ลงทุนในหุ้นเวียดนาม และหุ้นต่างชาติที่มีรายได้จากเวียดนามเกิน 50%)

– ผู้ที่อยากได้ผลตอบแทนสูงหน่อย ควรจะเลือกวิธี Jitta Ranking เพราะเชื่อว่าน่าจะชนะดัชนีได้ในระยะยาว แต่ถ้าใช้ Thematic โดยเลือกธีมเวียดนาม ผลตอบแทนก็น่าจะใกล้เคียงดัชนี

– ค่าธรรมเนียมของ Jitta Wealth วิธี Jitta Ranking ถือว่าต่ำมาก โดยค่าบริหารจัดการรายปีอยู่ที่ 0.5% เท่านั้น ต่ำที่สุดในบรรดากองทุนรวมไทยที่ไปลงเวียดนามทั้งหมด (กองอื่นๆ บางกองคิด 2-3% ) แต่จะมี performance fee  อีก 10% สมมุติว่ากำไร 1 ล้าน จะมีค่า fee 1 แสน 

– วิธีเช่นนี้จะ fair กว่า เพราะเป็น performance-based โดยบริษัทจะเก็บค่าธรรมเนียมได้มากต่อเมื่อทำผลตอบแทนให้ลูกค้าได้มาก ปีไหนขาดทุนลูกค้าจะเสียแค่ 0.5% 

– นอกจากนี้ จะมีค่าใช้จ่ายตามจริง เช่น ค่าธรรมเนียมจากการปรับพอร์ตอีก 0.3% ซึ่งจะปรับสามเดือนครั้ง ตรงนี้เป็นค่าธรรมเนียมจริงที่ Jitta Wealth ต้องจ่ายให้โบรกเกอร์ และจะมี custodian fee อีก 0.1% ของ NAV ขณะที่ถ้าใช้ Thematic ที่ไปลง VNM จะมีค่าธรรมเนียมเพียง 0.5% ไม่มี performance fee เพราะไม่ได้ใช้อัลกอริธึ่มของ Jitta 

– เป้าหมายของ Jitta Wealth คือ ทำผลตอบแทนให้ดีที่สุด ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่รับได้ หลักการข้อแรกคือทำอย่างไรไม่ให้เกิดการสูญเสียเงินลงทุนอย่างถาวร เลือกกิจการที่ดี มีกระแสเงินสดที่ดี ไม่จำเป็นต้องปรู๊ดปร๊าด ไม่ต้องได้ปีละ 100-200% แต่อาจจะทำได้เฉลี่ยปีละ 10-15%  ซึ่งก็เพียงพอแล้ว

– อย่างไรก็ตาม อดีตไม่ได้การันตีอนาคต ไม่ว่าจะลงทุนกับ Jitta Wealth หรือใคร แนะนำให้ศึกษาหลักการให้เข้าใจก่อน เพื่อที่จะได้อยู่กับมันได้นานๆ ไม่เช่นนั้นพอขึ้นมาเยอะหน่อยก็จะอยากขายทำกำไร พอตกไปเยอะหน่อยก็จะขายตัดขาดทุน 

> หลักการ เครื่องมือ และอื่นๆ

– Jitta Wealth เน้นความโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลตลอด ว่าซื้อขายอะไร ใช้หลักการอะไร เพื่อให้นักลงทุนเข้าใจ เมื่อนักลงทุนเข้าใจแล้วจะได้พร้อมที่จะปล่อยให้เงินทำงานของมันไปเอง และไปใช้ชีวิตอย่างที่ต้องการ

– Jitta Line เป็น indicator ที่จะบอก “มูลค่าที่เหมาะสม” โดยคำนวณจากกระแสเงินสดที่บริษัทสร้างได้ บวกกับทรัพย์สินของบริษัท ภายใต้เงื่อนไขสมมุติ ว่าถ้าซื้อบริษัทนี้ทั้งบริษัท จะต้องคืนทุนภายในสิบปี 

– เมื่อเอา Jitta Line เทียบกับราคาหุ้น จะทำให้เห็นว่าช่วงไหนหุ้น undervalued ช่วงไหน overvalued  และจะช่วยประกอบการตัดสินใจว่าหุ้นตัวนั้นในเวลานั้นน่าเข้าลงทุนหรือไม่

– ถ้าดูหุ้น tech giant ต่างๆ จะเห็นว่า มีไม่บ่อยที่ราคาหุ้นจะลงมาต่ำกว่า Jitta Line อย่างหุ้น Amazon (NASDAQ: AMZN) ช่วงที่ลงทุนได้คือช่วงปี 2019 และต้นปี 2020 

– หรืออย่างหุ้น Facebook (NASDAQ: FB) ราคาต่ำกว่า Jitta Line มาตั้งแต่ปลายปี 2017 จนถึงต้นปี 2021 เพราะโดนมรสุมสารพัดเรื่อง เพิ่งจะมา overvalued เมื่อไม่นานมานี้ โดยล่าสุด (ณ 16 มิ.ย.) ราคาสูงกว่า Jitta Line อยู่ประมาณ 5%

– แต่อย่าง Microsoft (NASDAQ: MSFT) จะพบว่า overvalued อย่างต่อเนื่องมาตลอด แต่ทั้ง Jitta Line และราคาก็ปรับตัวขึ้นมาตลอดเช่นกัน โดยล่าสุด (ณ 16 มิ.ย.) ราคาสูงกว่า Jitta Line อยู่ประมาณ 58%

– Tool ทั้งหมดของ Jitta อยู่ภายใต้ปรัชญาที่ต้องการ “ปกป้องการลงทุน” เครื่องมือการลงทุนทุกอย่าง กลั่นมาจากเกณฑ์ที่ conservative ที่สุด 

– Jitta Wealth เป็นโมเดลที่สร้างรายได้จากการทำให้พอร์ตของนักลงทุนโตขึ้นจริง ส่วน Jitta.com จากเดิมที่เคยคิดค่าใช้จ่าย ปัจจุบันให้ใช้ฟรีทั้งหมด ซึ่งทำให้ผู้ใช้มาช่วยกันตรวจสอบข้อมูล ส่งผลให้ Jitta สามารถพัฒนาเครื่องมือของตนเองให้ดียิ่งขึ้นไปอีก

 ** ข้อมูลทั้งหมด สรุปมาจากถ้อยคำของคุณตราวุทธิ์ โดยผมไม่ได้ใส่ความเห็นของตนเองลงไปแต่อย่างใดครับ – ชัชวนันท์

หลักฐานชี้ชัด ตลาดหุ้นเจ็บจากโควิด น้อยกว่าวิกฤตทุกครั้ง

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

การพังครืนของตลาด หรือที่เรียกว่า market crash เกิดขึ้นมาแล้วหลายหน แต่เชื่อไหมว่า หนล่าสุดอันเกิดจากโควิด-19 นั้น เป็นหนที่ “สั้น” ที่สุดครั้งหนึ่งเมื่อเทียบกับการ crash ครั้งอื่นๆ ในอดีต (คำว่า crashในที่นี้ นับเฉพาะกรณีตลาดร่วงลงมากกว่าหรือเท่ากับ 20%)

อยากรู้ว่า market crash ที่รุนแรงที่สุดเกิดขึ้นเมื่อไร หุ้นตกลงไปกี่เปอร์เซ็นต์ สมัคร My VALUE, แพลนการลงทุนหุ้นต่างประเทศ ที่จะช่วยให้คุณลงทุนหุ้นได้อย่างแม่นยำกว่าเดิม คลิก ที่นี่