เพราะเหตุใดเราจึงควรส่งลูกเรียน “ไฟแนนซ์”

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจโลกได้ก้าวเข้าสู่ “ภาวะถดถอย” (recession) ซึ่งทำให้บทบาทของ “นักบริหารการเงิน” (financial manager) ปรากฏชัดและทวีความสำคัญยิ่งขึ้น

องค์กรธุรกิจจำนวนมากในปัจจุบันต่างประสบปัญหาด้านเงินทุน เนื่องจากธุรกิจสะดุดหยุดลงจากการแพร่ระบาดของโรคร้าย บริษัทไหนยิ่งกู้ไว้เยอะยิ่งเหนื่อย ต้องดิ้นรนหาเงินมาใช้หนี้ เราจะเห็นได้ว่าบริษัทใหญ่ๆ จำนวนมากกำลังหาทางเพิ่มทุน ออกวอร์แรนต์ เอาตัวรอดกันไปตามแต่จะทำได้ 

ในเวลาเช่นนี้ ความรู้และความชำนาญทางการเงินของผู้บริหารองค์กรแทบจะเรียกได้ว่าเป็นจุดชี้เป็นชี้ตาย แม้ธุรกิจหลักของบริษัทจะถูกแช่แข็ง แต่ฝ่ายการเงินกลับรับภาระหนัก ถึงขนาดที่ CFO ของหลายๆ บริษัทต้องก้าวขึ้นมาเป็น chief strategist หรือหัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ควบคู่ไปกับ CEO เลยก็ว่าได้

แม้หลังการแพร่ระบาดของโควิด หรือแม้วันหนึ่งจะมีวัคซีนออกมาแล้ว สิ่งที่จะดำรงอยู่ต่อไปอย่างแน่นอน ได้แก่ recession และ inflation แปลเป็นไทยคือ “ภาวะถดถอย” และ “เงินเฟ้อ” พ่วงมาด้วย “หนี้” ขององค์กรธุรกิจต่างๆ ที่จะพุ่งติดจรวด 

โลกหลังโควิด คือโลกแห่ง “เงินเฟ้อ” และ “ดอกเบี้ยต่ำติดฟลอร์” และจะเป็นเช่นนี้ไปไม่มีกำหนด

ผมมองว่า บทบาทหน้าที่ในองค์กรกิจที่จะทวีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งในทศวรรษข้างหน้า นอกจากงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลแล้ว คืองานด้าน creative financing องค์กรธุรกิจที่มีผู้บริหารการเงินเก่งๆ มี “ไม้เด็ด” ในการหาเงินทุนและเล่นแร่แปรธาตุทางการเงินมากกว่า จะมีโอกาสเติบโตและอยู่รอดได้ดีกว่าองค์กรที่ไม่มีบุคลากรจำพวกนี้

ผมจึงคิดขึ้นมาว่า หากมีลูกเรียนอยู่มัธยมเวลานี้ แทนที่จะให้ไปเรียนหมอเรียนวิศวะเหมือนแต่ก่อน ถ้าสามารถแนะนำลูกให้ไปเรียนสายการเงินได้ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะความรู้ความชำนาญด้านนี้จะกลายเป็นที่ต้องการอย่างมาก (หากไม่มากที่สุด) ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้ที่จะสูงยิ่งกว่าอีกหลากหลายสายงานแน่ๆ

หรืออย่างการเรียน MBA ที่ฮิตกันมากเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แม้วันนี้จะถูกมองว่า “เฟ้อ” แต่ไม่แน่ว่ามันอาจเป็นทางเลือกที่กลับมาน่าสนใจอีกครั้งสำหรับคนที่จบปริญญาตรีแล้ว หากแม้นไม่อยากเรียนสายการเงินโดยตรง

ตัวอย่างจากสหรัฐอเมริกาทำให้เราเห็นเป็นประจักษ์แล้วว่า เวทมนตร์ทางการเงินสามารถชะลอความเสียหายอันเกิดแก่เศรษฐกิจโดยรวมได้อย่างชะงักงันยิ่งกว่าศักยภาพทางการแพทย์ของประเทศนั้นๆ เสียอีก

อำนาจสูงสุดของโลกยุคนี้ไม่ได้อยู่ที่การทหารหรือกำลังอาวุธอีกต่อไปแล้ว แต่อยู่ที่เทคโนโลยีดิจิทัลและพลังทางการเงินอย่างแท้จริง


ข้อมูลประกอบส่วนหนึ่งจาก Wall Street Journal และหนังสือ Introduction to Financial Management โดย Iqbal Mathur

อนาคต tech stock ในยุคของโจ ไบเดน กับสิ่งที่นักลงทุนควรรู้

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ตอนนี้หลายฝ่ายเริ่มมองข้ามช็อตกันว่า ในยุคของ ไบเดน-แฮร์ริส ชะตากรรมของ tech company ทั้งหลายที่กำลังร้อนแรงสุดๆ อยู่ในปัจจุบันจะเป็นอย่างไร

สองประเด็นหลักเกี่ยวกับบริษัทเทคเวลานี้ คือหนึ่ง จะโดนสั่งให้แตกบริษัทเพื่อป้องกันการผูกขาดหรือไม่ และสอง เรื่องความรับผิดชอบต่อความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ ดังกรณี Cambridge Analytica กับ Facebook ที่ส่งผลต่อผลการเลือกตั้ง ปธน. เมื่อครั้งก่อน จะป้องกันกันอย่างไร

โจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อจากทรัมป์ เคยพูดชัดเจนว่า เขาต้องการยกเลิก section 230 ของรัฐบัญญัติ Decency Communications ซึ่งคุ้มครองบริษัทอินเทอร์เน็ต ไม่ให้ต้องรับผิดชอบต่อข้อมูลของผู้ใช้

แต่ว่ากันว่า คามาล่า แฮร์ริส running mate ของไบเดน มีความสนิทสนมกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในซิลิคอนวัลเลย์ เพราะเธอเคยเป็นอัยการสูงสุดอยู่ที่แคลิฟอร์เนียหลายปี เมื่อไบเดนเลือกเธอ การยกเลิก section 230 ซึ่งจะส่งผลเสียต่อบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ทั้งหลายคงยากขึ้น หากเธอขึ้นเป็นรอง ปธน.

ประเด็นที่พูดกันอย่างกว้างขวางก็อย่างเช่น เทคโนโลยี face recognition ที่อาจเกิดความผิดพลาด โดยอาจจะ “จำหน้าผิด” ในกรณีของคนผิวสี ซึ่งหากถูกตำรวจเอาไปใช้ ก็อาจส่งผลให้เกิดความไม่เป็นธรรมหรือความผิดพลาดในการทำคดี (เช่น อาจมีคนผิวดำถูกจับผิดตัวเพิ่มขึ้น) โดยเวลานี้บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่ง รวมทั้ง ไมโครซอฟท์ เลิกขายเทคโนโลยีดังกล่าวให้ตำรวจแล้ว

ประเด็นเกี่ยวกับอคติทางเชื้อชาติ สีผิว ฯลฯ อันเกิดจาก “อัลกอริธึ่ม” จึงน่าจะทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ในเวลาอันใกล้

ที่อยากเล่าเรื่องนี้ เพราะช่วงนี้พบว่าคนไทยหันมาสนใจ tech stock ของอเมริกามากขึ้นเรื่อยๆ เรื่องพวกนี้จึงควรรู้เอาไว้ประกอบการลงทุนครับ

————————

ข้อมูลประกอบจาก WSJ.com

ดร.ศุภวุฒิ แจงยิบ เศรษฐกิจแย่ทำไมหุ้นแพง

coronavirus-4914026_960_720

เรียบเรียงโดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ผมสรุปคำให้สัมภาษณ์ของ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ หนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับนับถือที่สุดของประเทศไทย ในรายการ Money Talk  โดย ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา และ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร พูดถึงวิกฤตโควิด-19 กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและตลาดหุ้น ลองอ่านดูนะครับ

  • เศรษฐกิจโลกรวมทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้ดีเมื่อช่วงสองเดือนก่อน แต่หนทางข้างหน้ายังยากลำบาก ขณะที่ยุโรปยังต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ ยังต้องระมัดระวัง 
  • จีนเน้นการฟื้นตัวจากภายในประเทศ ไม่ได้ใช้เม็ดเงินมากมายเหมือนสมัยก่อน ส่วนปัญหาระหว่างสหรัฐฯ กับจีนยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยง ซึ่งซับซ้อนกว่าเรื่องสงครามการค้า ทั้งหมดนี้จะกระทบต่อภาพระยะยาวของการลงทุน
  • เหตุที่โควิดระบาดแต่หุ้นขึ้น มีสี่สาเหตุ หนึ่ง) เพราะหุ้นที่ขึ้นเป็นหุ้นเทคฯ รวมทั้งหุ้นที่ผลิตวัคซีน สอง) แม้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ แต่อัตราส่วนผู้เสียชีวิตลดลง ผู้คนจึงมองภาพข้างหน้าไม่ได้แย่มาก สาม) คาดกันว่าสหรัฐฯ กับยุโรปจะกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้นโยบายการคลังซ้ำอีก และสี่) สหรัฐฯ มี QE ซ้ำแล้วซ้ำอีก มีการซื้อสินทรัพย์ และซื้อพันธบัตร ทำให้ราคาหุ้นไม่ถูกกดดัน
  • ดร.ศุภวุฒิ เป็นห่วงว่าหุ้นที่แพงแบบนี้ค่อนข้างน่ากลัว แต่คนที่มองบวกก็ยังมองบวกอยู่ดี โดยมองว่าในเมื่อดอกเบี้ยเป็นศูนย์ ก็มีแต่หุ้นซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ควรเอาเงินมาลง
  • สำหรับเมืองไทย แม้เรื่องการระบาดของโรคจะดีกว่าสหรัฐฯ เป็นสิบเป็นร้อยเท่า เพราะไม่มีผู้ป่วยมานานมาก ดูไปแล้วเศรษฐกิจควรจะฟื้นตัวดีกว่าอเมริกา แต่ที่ไม่เป็นอย่างนั้น เพราะไทยพี่งพาการท่องเที่ยวสูงกว่าอเมริกามาก
  • ปัจจัยตรงนี้ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะตามมาด้วยหนี้เสีย คนตกงาน ทำให้หุ้นของเราไปไหนไม่ได้
  • ที่น่าห่วงมากกว่า คือ “วิธีคิด” เราไม่คิดจะอยู่กับโควิดให้ได้ คิดแต่ว่าต้องไม่มีโควิดเลย พอเกิดเคสขึ้นมาเหมือนที่ระยองหรือสุขุมวิท จึงตื่นตระหนกกันไปหมด ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นรุนแรงกว่าต้นตอมาก
  • ถ้าเรามีจุดกลัวโควิดรุนแรงขนาดนี้ เศรษฐกิจเราไม่มีทางฟื้น เพราะทั้งโลกเจอหนักกว่าเราเยอะ อิตาลีหนักกว่าเราด้วยซ้ำ ทุกวันนี้ยังติดเชื้อใหม่วันละ 200-300 คน เขายังผ่อนคลายมากกว่าเรา ยุโรปก็ผ่อนคลายมากกว่าเรา ให้ไปมาหาสู่กันได้ แต่ของเราไม่ใช่
  • แม้วัคซีนเกิดขึ้นมา ก็อาจจะยังไม่จบ ยังประเมินไม่ได้ว่าแม้คิดค้นวัคซีนได้แล้ว จะใช้ได้ผลแค่ไหน
  • ถ้าไม่มีวัคซีนแต่มีวิธีบำบัดให้มั่นใจได้ว่ารักษาหายในอัตราสูง ก็น่าจะช่วยได้ อย่างทั่วโลกตอนนี้ อัตราส่วนผู้เสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้ออยู่ที่ประมาณ 4% แต่ที่จริงน่าจะมีผู้ติดเชื้อมากกว่านั้น 4-5 เท่า (รวมพวกที่ไม่ได้ตรวจด้วย) นั่นแปลว่าอัตราส่วนผู้เสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อจริงอยู่ที่ 0.6-1.0% เท่านั้น
  • หากเป็นอย่างนั้น คนทั่วโลกจะเริ่มรู้ว่านี่คือ new normal คือติดได้ก็รักษาหายได้เป็นเรื่องปกติ และคนตายจะลดลงไปเรื่อยๆ เพราะแพทย์เริ่มรู้วิธีรักษา
  • เมืองไทยพึ่งพิงรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก รายได้ 97% จากนักท่องเที่ยวอยู่ใน 8-10 จังหวัด คือกรุงเทพฯ และจังหวัดที่มีทะเล เช่น ภูเก็ต กระบี่ ฯลฯ
  • ปีนี้ เมื่อมีโควิด คาดว่านักท่องเที่ยวจะเหลือแค่ 9 ล้านคน รายได้ที่หายไป คนไทยเที่ยวกันเองยังไงก็ทดแทนไม่ได้ SMEs ที่อยู่ในเซคเตอร์นี้จะ “ไปหมด” อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะหดตัวรุนแรงมาก  GDP อาจจะหายไป 10%
  • ครั้น SMEs เหล่านั้นปิดตัว ก็มีคำถามว่าทรัพยากรเพื่อการท่องเที่ยวที่มีอยู่เยอะแยะจะปรับเปลี่ยนไปทำอะไร? ในเมื่อเราอาศัยการท่องเที่ยวเป็น engine of growth มาโดยตลอด แล้วอยู่ๆ เครื่องจักรนี้ดับไปต่อหน้าต่อหน้า ซึ่งดูเหมือนรัฐบาลก็น่าจะยังไม่รู้ว่าจะหาอะไรมาทดแทน
  • วิธีอยู่กับโควิดจริงๆ ไม่ใช่ขู่ว่าถ้าระบาดขึ้นมา จะล็อคดาวน์รอบสอง หรือขู่จะปิดทั้งจังหวัด ถ้าทำอย่างนั้นการลงทุนและเศรษฐกิจจะไม่ฟื้น แต่ต้องมีวิธีกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น เปิดให้ไปมาหาสู่กัน โดยต่อท่อระหว่างพื้นที่ต่อพื้นที่ เช่น ภูเก็ต กับเมืองในจีน
  • ถามว่าตลาดหุ้นไทยสุดท้ายแล้วจะเป็นอย่างไร ดร.ศุภวุฒิบอกว่า “ยังหวาดเสียว” เพราะเรามีปัญหาที่เป็น “ระเบิดเวลา” อยู่
  • กล่าวคือ มาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้สถาบันการเงินของแบงก์ชาติ ที่ให้พักดอกเบี้ย-หยุดจ่ายเงินต้น โดยไม่ต้องบันทึก NPL ไม่ต้องตั้งสำรอง ไม่ต้องแจ้งเครดิตบูโร มีผู้เข้าโครงการนี้ถึง 15 ล้านราย มูลค่าหนี้สูงถึง 6.8 ล้านล้านบาท
  • นี่คือตัวสะท้อนว่าเรากำลังมีปัญหาหนัก เราแค่เบรกมันไว้ก่อน และเดี๋ยวจะต้องไปสะสางกันทีหลัง โดยเฉพาะ SMEs หนึ่งล้านรายที่มีมูลค่าหนี้ 2-3 ล้านล้านบาท ต้องมาดูกันว่าเมื่อหมดอายุมาตรการแล้ว สถาบันการเงินจะช่วยปรับโครงสร้างอย่างไร
  • พอถึงเดือนตุลาคม จะรู้แล้วว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นได้หรือไม่ ถ้าถึงช่วงหยุดยาววันชาติจีนต้นเดือนตุลาคม แล้วไม่มีนักท่องเที่ยวมา หลายคนจะถอดใจ ยิ่งถึงเวลานั้น มาตรการแบงก์ชาติที่ให้พักหนี้-เงินต้น จะหมดอายุ แบงก์อาจจะต้องเริ่มตั้งสำรอง ทำให้สัดส่วนหนี้เสียจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แบงก์จะคำนวณความเสียหายอย่างไร ถ้าคนตกงานสิบกว่าล้านคน ไม่มีเงินเดือนละ 5,000 บาทแล้วจะทำอย่างไร
  • รัฐบาลมีงบอยู่ 4 แสนล้านสำหรับช่วยในส่วนนี้ แต่หนี้ก้อนนี้มากถึง 6.8 ล้านล้าน มันต่างกันมาก
  • ถามถึงผลกระทบต่อตลาดหุ้น ดร.ศุภวุฒิ บอกว่ากระทบทางลบแน่ และจะกระทบธนาคารก่อน แต่แบงก์ทุกวันนี้เป็นส่วนที่เล็กลงเรื่อยๆ ของตลาดหุ้น 
  • และจะกระทบไปถึงธุรกิจอื่นๆ ด้วย เพราะไม่ใช่แค่เรื่องการท่องเที่ยว ถ้าไม่เปิดประเทศ เศรษฐกิจโดยรวมยังไงก็ไม่โต อาทิ เมื่อก่อนหวังว่า EEC จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่ถ้าไม่เปิดประเทศ แล้วคนต่างชาติจะเข้ามาลงทุนได้อย่างไร ต่างชาติจะถอยหรือไม่
  • ในเมื่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนไม่โต แล้ว P/E สูงอย่างนี้ มันจะสมเหตุสมผลได้อย่างไร?
  • สภาพัฒน์ประเมินว่าจะมีคนตกงาน 1.5-1.6 ล้านคน แต่จริงๆ แล้ว 4-5 ล้านคนน่าจะถึง ดร.ศุภวุฒิเป็นห่วงว่า รัฐบาลมีแนวคิดจะใช้ 4 แสนล้านบาทกระตุ้นการจ้างงานในต่างจังหวัดไว้รองรับคนตกงาน เพราะคิดว่าคนที่ตกงานใน กทม จะกลับต่างจังหวัด แต่ skillset ของคนที่ว่างงานจากภาคการท่องเที่ยวอาจจะไม่เหมาะกับงานใหม่ที่สร้างขึ้นมา
  • แนวคิดคือควรจะช่วย SMEs โดยตรงมากกว่า เพื่อให้  SMEs ไปจ้างงาน ไม่ใช่รัฐบาลไปสร้างงานเอง ซึ่งยากจะ match กับ skillset ของคนตกงานได้