เมื่อหุ้น Value กลับมาชนะหุ้น Growth

valuebeatsgrowth

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ช่วงเก้าปีที่ผ่านมา หลังวิกฤตการเงินปี 2008 ผลตอบแทนของนักลงทุนแนว “เน้นการเติบโต” หรือ growth investor ในสหรัฐอเมริกา เหนือกว่านักลงทุนแนว “เน้นมูลค่า” หรือ value investor เยอะมาก โดยเฉพาะพวก “tech stock” ทั้งหลาย

(สอดคล้องกับตลาดหุ้นไทย ที่หุ้น growth โตเอาๆ ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน แต่ที่ไม่เหมือนกันคือของไทยมักเทไปที่เซคเตอร์ค้าปลีก โรงพยาบาล ซึ่งก็ทำให้พอร์ตของหลายคน “ทบเท่าทวี” กลายเป็นเศรษฐีใหม่กันไปมากต่อมาก)

ผมอ่านเจอในนิตยสาร Fortune ฉบับวันที่ 1 เม.ย. 2018  มีข้อมูลระบุว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2008 ดัชนีหุ้นเติบโต Russell 3000 (Russell 3000 Growth Index) ของสหรัฐฯ เอาชนะดัชนีหุ้นมูลค่า ( Russell 3000 Value Index) ได้อย่างขาดลอย โดยให้ผลตอบแทนทบต้นถึงปีละ 10.3% เมื่อเทียบกับ 7% ของหุ้น value ซึ่งเป็นการชนะยาวนานที่สุดในรอบ 40 ปี

เรื่องนี้อธิบายได้ว่าเป็นพลวัตปกติหลังการตกต่ำครั้งใหญ่ของเศรษฐกิจ เนื่องจากในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไม่ดี GDP จะโตน้อย หุ้น growth จึงหายาก เมื่อมีหุ้นที่มีโอกาสเติบโตของรายได้ชัดเจน เงินทุนที่หาที่ลงไม่ได้ จึงไปกองรวมกันในหุ้นเหล่านั้น ประกอบกับนโยบายดอกเบี้ยต่ำของเฟดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้บริษัทที่กำลังโตยิ่งกู้ได้ง่าย และเอาเงินมาสร้างการเติบโตต่อเนื่องขึ้นไปได้อีก

ยิ่งนับจากปี 2015 เป็นต้นมา หุ้นผู้ชนะในบางอุตสาหกรรมยิ่งชนะห่างขึ้นเรื่อยๆ อาทิ tech stock ของสามบริษัทอย่าง Facebook, Amazon และ Netflix ที่ราคาขึ้นถึงปีละ 92% เมื่อเทียบกับ S&P 500 ที่โตเฉลี่ย 14.8% (ซึ่งอันที่จริงก็ถือว่าเยอะมากแล้ว)

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์กำลังจะเปลี่ยนไป !!

ข้อมูลระบุว่า จากเศรษฐกิจโดยภาพรวมที่ดีขึ้น กำไรของบริษัทใน S&P 500 โตขึ้นเฉลี่ยไตรมาสละ 2.5% โดยเฉพาะจุดพลิกผันในไตรมาสที่สี่ของปี 2017 ซึ่งทั้ง 500 บริษัทกำไรโตเฉลี่ยถึง 14.8% นั่นทำให้บริษัทโดยรวมใกล้จะ “ไล่ทัน” พวกบริษัทเทพๆ ที่โตแซงไปก่อนหน้านี้เต็มที จากเงินในกระเป๋าของผู้บริโภคที่มากขึ้น อันเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ การที่ดอกเบี้ยกลับมาเป็น “ขาขึ้น” หุ้น Growth ก็ยิ่งกระทบหนักกว่าหุ้น Value เพราะต้นทุนในการกู้เพิ่มขึ้นเยอะ ต่างจากหุ้น value ที่กู้น้อย อีกทั้งรายได้ยังสม่ำเสมอ อนาคตจึงดูแน่นอนกว่า

โดยสรุป ในสถานการณ์เช่นนี้ หุ้น Value จึงกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง โดยจากข้อมูลในอดีตหลังเศรษฐกิจตกต่ำผ่านมาได้ระยะหนึ่ง หุ้น Value จะกลับมาเอาชนะหุ้น Growth ได้ทุกครั้ง รวมแล้วหกครั้งด้วยกัน ในอัตราเฉลี่ย 37 ต่อ 27 เปอร์เซ็นต์

เรียกได้ว่า เมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอยู่ตัวแล้ว หุ้น Value จะชนะ Growth กระจุยกระจายเลยทีเดียว

สำหรับเมืองไทย คงยากที่จะฟันธง แต่สิ่งที่เห็นอย่างหนึ่ง ณ เวลานี้ คือหุ้น growth หลายตัวที่เคยเจิดจรัสมาในรอบห้าปีหลังเริ่มจะแผ่วไปเยอะมาก บางตัวจากที่ PE 50-60 เท่า กลับตกลงมาฮวบฮาบ (เท่าที่นึกชื่อได้ในหัวตอนนี้มีไม่ต่ำกว่า 5-6 ตัว)

นักลงทุนอย่างเราๆ จึงอาจได้เวลาตั้งคำถามต่อกลยุทธ์ของตัวเองว่า ถึงเวลาหรือยังที่จะหันมาให้ความสนใจหุ้น Value กันมากขึ้น แม้เศรษฐกิจไทยคงยากจะเทียบเคียงกับสหรัฐฯ แต่สภาพการณ์ที่เกิดกับหุ้น growth และหุ้น value ก็ออกจะมีบางอย่างที่คล้ายคลึงกันอยู่

ลองพิจารณากันดูก็แล้วกันนะครับ


ข้อมูลประกอบ : นิตยสาร Fortune ฉบับวันที่ 1 เม.ย. 2018 บทความ Revenge of the Cheapskates

** หลักสูตร  “ประเมินมูลค่าหุ้น และ DCF” รุ่น ๘  สอนทำ valuation อย่างมืออาชีพ 26 พ.ค. 61 ที่โรงแรม ดิ เอมเมอรัล รัชดา คลิกที่นี่

** หลักสูตร “อ่านงบการเงิน” ออนไลน์ รับชมทาง Facebook Closed Group คลิกที่นี่

โคตรเหง้าของ วอร์เรน บัฟเฟตต์

12249651_1057991477586212_3387239749019485759_n

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

หนังสือ “The Snowball” ชีวประวัติของวอร์เรน บัฟเฟตต์ เล่าไว้โดยละเอียดว่า ตระกูลบัฟเฟตต์ ตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกามานานแล้ว แม้จะไม่มีหลักฐานชัดเจนนัก แต่ทราบได้ว่ามีอาชีพ “ชาวนา”

“บัฟเฟตต์” คนแรกที่มีหลักฐานว่าเคยมีชีวิตอยู่ คือ จอห์น บัฟเฟตต์ ซึ่งเชื่อกันว่าเขามีเชื้อสายฝรั่งเศส จอห์นอพยพมายังอเมริกาในศตวรรษที่ 17 และมาทำนาอยู่ที่ลองไอส์แลนด์ (ผมสงสัยมานานแล้วว่านามสกุลของบัฟเฟตต์ออกไปทางฝรั่งเศส เป็นเพราะอย่างนี้นี่เอง)

หลังจากนั้นอีกเจ็ดเจเนอเรชั่น จึงปรากฏชื่อของ เซบูลอน บัฟเฟตต์ ชาวนาในลองไอส์แลนด์ ซึ่งเป็นคนตระกูลบัฟเฟตต์คนแรกที่มีหลักฐานชัดเจนว่ามีตัวตนอยู่จริง

หลานชายของเซบูลอน ชื่อ ซิดนีย์ บัฟเฟตต์ เดิมทำงานอยู่ในฟาร์มของเซบูลอน (เซบูลอนเป็นปู่ของซิดนีย์) แต่ต่อมาก็เลิก เพราะไม่พอใจที่ได้ค่าจ้างน้อย ก่อนจะย้ายถิ่นฐานไปยังโอมาฮา รัฐเนบราสก้า เพื่อไปช่วยงานในธุรกิจของคุณตา และนั่นคือครั้งแรกที่คนตระกูลบัฟเฟตต์เข้ามาตั้งรกรากในโอมาฮา

ต่อมา ซิดนีย์แยกออกไปเปิดร้านขายของชำของตัวเอง ร้านของเขาขายผัก ผลไม้ ไพ่ และของเล่นต่างๆ ซิดนีย์เป็นคนขยัน เปิดร้านถึงห้าทุ่มทุกวัน จนธุรกิจของเขาเจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ

ซิดนีย์มีลูกหกคน ตายไปสี่คน สองคนที่ไม่ตาย คือ เออร์เนสต์ และแฟรงก์ ทั้งสองต่างก็ช่วยงานในร้านของพ่อ

วันหนึ่ง มีสาวสวยคนหนึ่งชื่อ เฮนเรียตต้ามาสมัครงาน ทั้งเออร์เนสต์และแฟรงก์ต่างก็แย่งกันจีบ แต่เออร์เนสต์หล่อกว่า จึงจึบได้ ซึ่งทำให้แฟรงก์เจ็บใจมาก หลังจากนั้น สองพี่น้องไม่พูดคุยกันอีกเลยจนวันตาย โดยแฟรงก์ไม่ยอมแต่งงานตลอดชีวิตด้วย

เออร์เนสต์ กับเฮนเรียตต้า มีลูกสามคน คนสุดท้องคือ โฮเวิร์ด (พ่อของวอร์เรน) หลังจากแต่งงาน ทั้งคู่แยกออกมาเปิดร้านขายของชำของตัวเอง โดยร้านใหม่นี้ เออร์เนสต์ร่วมหุ้นกับซิดนีย์ ผู้พ่อ

โฮเวิร์ด ลูกของเออร์เนสต์ ได้เข้าเรียนในโรงเรียนลูกคนรวย เขาจึงรู้สึกแปลกแยกอยู่ไม่น้อย เพราะพ่อของเขาเป็นแค่เจ้าของร้านขายของชำ อีกทั้งตัวโฮเวิร์ดยังเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์ (ต่อมา วอร์เรนก็ส่งหนังสือพิมพ์ตามรอยพ่อ) และยังใส่เสื้อผ้าเก่าๆ ที่ถูกโละมาจากพี่สองคน แต่เขาก็ยังรักดี และเรียนดีด้วย

โฮเวิร์ดเข้าเรียนที่คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยเนบราสก้า เขาเป็นกอง บก. หนังสือพิมพ์ของมหาวิทยาลัย ต่อมา เขาพบกับเลล่า (แม่ของวอร์เรน) ซึ่งเป็นคนสนใจในงานด้านสื่อสิ่งพิมพ์เหมือนกัน ทั้งคู่แต่งงานกันและมีลูกสามคน คือ ดอริส วอร์เรน และโรเบิร์ตต้า

ต่อมา โฮเวิร์ดกลายเป็น “นักลงทุน” และเปิดบริษัทลงทุนของตัวเอง ทั้งยังลงเล่นการเมือง และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. พรรครีพับลิกัน เขาเป็นนักการเมืองที่ซื่อสัตย์ และเชื่อมั่นในทุนนิยมอย่างยิ่ง

วอร์เรน บัฟเฟตต์ บอกว่า โฮเวิร์ดผู้พ่อคือต้นแบบของเขา ซึ่งเมื่อดูจากประวัติชีวิตของปู่ ก็พบว่าเป็นจริงตามนั้น ไม่ว่าจะเป็นการหาเงินด้วยการส่งหนังสือพิมพ์ และการเลือกอาชีพเป็นนักลงทุน วอร์เรนล้วนเดินตามรอยพ่อทั้งสิ้น ยกเว้นเรื่องการเมือง ที่ปู่หันมาสนับสนุนพรรคเดโมแครต ไม่เหมือนพ่อที่เป็นลูกหม้อรีพับลิกัน (ส่วนหนึ่งเพราะซูซี่ ภรรยาสุดที่รักของปู่เป็นนักสิทธิมนุษยชนซึ่งมาในแนวเดโมแครต)

ผมจบบทความนี้ ด้วยข้อความที่เซบูลอน บัฟเฟตต์ (ปู่ของปู่ของพ่อของวอร์เรน) เคยเขียนถึงซิดนีย์ผู้เป็นหลาน หลังจากซิดนีย์ทิ้งปู่และอพยพไปยังโอมาฮา จนกลายเป็นรกรากใหม่ของตระกูลบัฟเฟตต์จนถึงทุกวันนี้ โดยคำสอนในกระดาษนี้เอง เป็นสิ่งยืนยันถึงการมีตัวตนของเซบูลอน ซึ่งเป็นตระกูลบัฟเฟตต์คนแรกที่ยืนยันได้ว่าเคยมีชีวิตอยู่

เนื้อหามีดังนี้

“เวลาดีลอะไรกับใคร ต้องตรงเวลา”

“คนบางคนดีลอะไรด้วยยาก ให้พยายามหลีกเลี่ยง”

“จงรักษาเครดิตไว้ให้ดี เพราะมันเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าเงิน”

“หากจะทำธุรกิจ จงพอใจกับผลตอบแทนระดับปานกลาง อย่าดิ้นรนจะรวยมากเกินไป”

“จงใช้ชีวิตให้พอเหมาะ อยู่ให้พอควร ตายให้พอดี”

ด้วยหลักในการดำเนินชีวิตตรงนี้ ทำให้คนในตระกูลบัฟเฟตต์ทุกคน ไม่มีใครยากจน แม้จะไม่มีใครทิ้งมรดกมากมายไว้ให้ลูกหลาน แต่ก็ไม่เคยมีใครจากโลกนี้ไปตัวเปล่าๆ ด้วยนิสัยรู้จักเก็บออมและใช้ชีวิตต่ำกว่าฐานะ

คำสอนอันล้ำค่าของตระกูลบัฟเฟตต์ ที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะจากโฮเวิร์ดผู้เป็นพ่อ น่าจะมีส่วนทำให้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ สร้างตัวเองขึ้นมา จนกลายเป็นนักลงทุนและนักบุญที่ยิ่งใหญ่เช่นทุกวันนี้

——————

(ข้อมูลประกอบจากหนังสือ The Snowball ครับ)

 

Magic Formula (2)

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ในตอนที่แล้วได้อธิบายสูตร magic formula ไปแล้วว่าหายังไง ตอนนี้จะพามาดูกันนะครับว่า หากใช้ MF กับ “ตลาดหุ้นไทย” จะได้ผลออกมาอย่างไรบ้าง (ใครยังไม่ได้อ่านบทความที่แล้ว คลิกที่ ลิงค์นี้ )

ผู้ที่ทำการศึกษาในเรื่องนี้ไม่ใช่ใครอื่น คือ ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา โดยคำนวณกับตลาดหุ้นไทยในช่วงปี 1996-2010 รวม 15 ปี ปรากฏว่า สูตรนี้ให้ผลตอบแทนมากมายมหาศาลถึง “66.18 %” ขณะที่ดัชนีตลาดทำได้เพียง 2.40%

… ถือได้ว่า “มหัศจรรย์” เข้าขั้น “เหลือเชื่อ”!!

โดย magic formula จะทำให้เงิน “1 ล้านบาท” ในปี 96 กลายเป็น “2,035 ล้านบาท” ในปี 2010 หรือเพิ่มขึ้น “2,035 เท่า”!! ขณะที่การลงทุนในดัชนีรวม (คือซื้อหุ้นทุกตัวในตลาด) ในช่วงเวลาเดียวกัน จะช่วยให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเพียง 1.4 เท่า จาก 1 ล้าน กลายเป็น 1.4 ล้านบาท เท่านั้น

เรียกได้ว่าคนละโลกกันเลย

[ เปเปอร์ของอาจารย์ไพบูลย์ ดาวน์โหลดได้ ที่นี่ ครับ ]

ทั้งนี้ ในการกรองหุ้นตาม MF มีหลายๆ เว็บไซต์ที่ให้เครื่องมืออยู่ สำหรับท่านที่อยากลงทุนโดยใช้ MF ณ เวลาปัจจุบัน เว็บไซต์ SiamQuant ได้หาหุ้นออกมาให้เรียบร้อยแล้ว เป็นข้อมูลอัพเดตล่าสุดของไตรมาส 4 ปี 2558 พร้อมให้ใช้ได้เลย ไม่ต้องคิดเอง

ปรากฏว่า ก็ได้หุ้นออกมา 30 ตัว มีหุ้นตัวใหญ่ๆ ที่เราคุ้นเคยหลายตัวด้วยกัน เช่น JAS, INTUCH, ADVANC, LPN เป็นต้น

[ รายชื่อหุ้นทั้งหมดพร้อมวิธีการหา อยู่ ที่นี่ ครับ  ]

ข้อสังเกตประการหนึ่งสำหรับการใช้ MF ก็คือ เราอาจ “ปรับเปลี่ยน” ตัวแปรหลายๆ อย่างได้ตามแต่จะเห็นสมควร ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับสูตรจนขยับตัวไม่ได้

เช่น อาจใช้เกณฑ์เรื่องของ market cap มาพิจารณาด้วย โดยไม่เลือกบริษัทที่มูลค่าตลาดเล็กกว่าเท่านั้นเท่านี้ หรือสำหรับ Joel Greenblatt ผู้คิดสูตรนี้ เขาจะคัดบริษัทด้านการเงิน เช่น ธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ ออกไปให้หมด เช่นเดียวกับบริษัทโภคภัณฑ์ เช่น พวกไฟฟ้า ประปา เป็นต้น

จากที่ได้เล่ามาทั้งหมด ท่านคงเห็นแล้วใช่มั้ยครับว่า การใช้ “สูตร” เพื่อการลงทุน หรือที่เขาเรียกว่า “formula investing” ไม่ใช่เรื่องเหลวไหลแต่อย่างใด และสามารถให้ผลตอบแทนในระดับเหนือความคาดหมาย

โดยเฉพาะ “ตลาดหุ้นไทย” ที่ได้ผลดีจนน่าตื่นตะลึง

ท่านที่สนใจ ขอแนะนำให้ศึกษาหาความรู้กันต่อไป โดยเฉพาะท่านที่สนใจจะไปลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศที่ยังไม่รู้จักคุ้นเคย สูตรนี้น่าจะเป็นตัวช่วยที่ดีมากๆ ครับ

——————————–

(ข้อมูลประกอบจาก เว็บไซต์ siamquant .com และผลการศึกษาของ ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา)

magic-184447_960_720