วอร์เรน บัฟเฟตต์ กับความผิดหวัง และการ Live & Learn

skateboard-331751_960_720

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

วอร์เรน บัฟเฟตต์ มีความฝันในวัยเด็กอยู่ประการหนึ่งคือ แกอยากเป็น “มิลเลียนแนร์” นั่นคือมีความมั่งคั่ง “หนึ่งล้านเหรียญ” (35 ล้านบาท) ให้ได้เมื่ออายุครบ 35 ปี เป็นความฝันที่อยู่ในใจเรื่อยมา จนถึงวันที่เรียนจบมหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ตาม ปู่ยังมีความมุ่งมั่นอีกอย่างหนึ่งคือ แกอยากเข้าเรียนที่ฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งแท้จริงแล้วค่อนข้างขัดแย้งกับตัวตนของแกอยู่พอสมควร เพราะปู่เป็นคนที่ไม่ค่อยสนใจการศึกษาตามแบบแผนเท่าไรนัก โดยชอบศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเองซะมากกว่า (ว่ากันตรงๆ คือ เพราะแกเก่งกว่าอาจารย์แทบจะทุกคน) ทว่าการได้เข้าเรียนที่ฮาร์วาร์ดก็ยังเป็นความฝันของปู่ เช่นเดียวกับคนหนุ่มสาวทั่วโลก

ด้วยเหตุนี้ หลังจบปริญญาตรีขณะอายุแค่ 19 (เห็นมั้ยครับว่าเก่งขนาดไหน) ปู่จึงไปสมัครเรียนปริญญาโทที่ฮาร์วาร์ด โดยแกมั่นใจอย่างยิ่งว่า ฮาร์วาร์ดต้องรับแกแน่ๆ นอกจากนี้ แกยังได้ไปขอทุนการศึกษาไว้ล่วงหน้าและได้รับทุนเรียบร้อยแล้วด้วย นั่นแปลว่าถ้าได้เรียน ก็จะไม่ต้องจ่ายเงินแม้แต่เพนนีเดียว

ปู่เล่าย้อนความหลังให้ฟังว่า วันที่เดินทางจากโอมาฮาไปยังชิคาโก้เพื่อสอบสัมภาษณ์เข้าฮาร์วาร์ดนั้น (ม.ฮาร์วาร์ดอยู่ที่เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเสตส์ แต่การสัมภาษณ์ครั้งนั้นมีขึ้นที่ชิคาโก้) แกตื่นตั้งแต่กลางดึก และขึ้นรถไฟไปคนเดียว และแม้พ่อแกจะเป็น ส.ส. ปู่ก็ไม่ได้ขอให้พ่อใช้เส้นสายช่วยเหลือใดๆ ทั้งสิ้น

ปู่เล่าว่า แกเตรียมตัวสอบสัมภาษณ์โดยตั้งใจว่าจะ “โชว์” ความรู้เรื่องหุ้นอย่างเต็มที่ ทว่านั่นเป็นความคิดที่ผิด เพราะปู่ไม่ได้มีความเข้าใจในเนื้อแท้ของฮาร์วาร์ด เนื่องจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ต้องการคนที่มีบุคลิก “เป็นผู้นำ” ซึ่งสิ่งสำคัญอย่างยิ่งก็คือ ต้องมีความมั่นคงในตัวเอง

ปู่เล่าว่า อาจารย์ผู้สัมภาษณ์เขา ได้มองทะลุท่วงท่าที่ดูมั่นใจและความช่ำชองในความรู้เรื่องหุ้น จนเห็นถึงแก่นแท้ของตัวแก ซึ่งยังมิได้มีความมั่นคงและวุฒิภาวะเพียงพอ

“ตอนนั้นผมดูเหมือนเด็กอายุสิบหก อารมณ์เหมือนเด็กเก้าขวบ ผมใช้เวลาประมาณสิบนาทีพูดคุยกับผู้สัมภาษณ์ซึ่งเป็นศิษย์เก่าฮาร์วาร์ด และพวกเขาก็ปฎิเสธผม” ปู่กล่าว

ปู่เล่าด้วยว่า ระหว่างการสัมภาษณ์ แกยังไม่ได้มีโอกาสพูดเรื่องหุ้นด้วยซ้ำไป โดยผู้สัมภาษณ์ได้ตัดบทแล้วบอกแกอย่างสุภาพว่า “อีกสองสามปี เธอจะมีโอกาสมากกว่านี้” แต่ตอนนั้น ด้วยความอ่อนต่อโลก แกจึงไม่เข้าใจความหมายของคำพูดดังกล่าว ต้องรอจนจดหมายปฏิเสธส่งมาถึงบ้าน จึงได้รู้ความจริง

ปู่บอกว่า พอรู้ผล แกถึงกับช็อค เพราะไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะไม่ผ่านสัมภาษณ์ แกยังนึกในใจเลยว่า “นี่เราจะบอกพ่อยังไงดี” ซึ่งแม้พ่อของแกจะไม่ได้ว่าอะไร แต่ปู่ก็ยังไม่สามารถลืมความผิดหวังครั้งนั้นได้

จากนั้น ปู่จึงเริ่มมองหามหาวิทยาลัยอื่นๆ เพื่อเข้าเรียน และไปเจอกับ “ชื่อสองชื่อ” เป็นอาจารย์สองคนที่สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย คนแรกคือ เดวิด ด็อดด์ และอีกคนหนึ่งคือ เบนจามิน แกรแฮม ผู้เขียนหนังสือ “The Intelligent Investor” ซึ่งแกเคยอ่านแล้วชื่นชอบอย่างยิ่ง

ไม่ต้องเล่าต่อ ท่านก็คงพอเดาได้แล้วใช่ไหมครับว่า ปู่ได้ไปสมัครเข้าเรียนที่ ม.โคลัมเบีย และคราวนี้ก็ไม่พลาด ได้เรียนสมใจ โดยได้ศึกษาหาความรู้จากทั้ง เดวิด ด็อดด์ และ เบนจามิน แกรแฮม ครั้นเรียนจบไม่กี่ปี แกก็ได้ไปทำงานกับแกรแฮม ก่อนจะเอาความรู้ทั้งหมดจากครูผู้นี้ มาเปิดห้างหุ้นส่วนลงทุนของตัวเอง

…. เรื่องราวต่อจากนั้น คือประวัติศาสตร์

อาจกล่าวได้ว่า การถูกปฏิเสธจากฮาร์วาร์ด คือหนึ่งในสิ่งที่ดีที่สุดที่เคยเกิดขึ้นกับชีวิตของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ เพราะมันทำให้แกได้มาเรียนกับ เบน แกรแฮม

และจากการที่ปู่เคยบอกไว้ว่า การลงทุนของแกทุกวันนี้ มาจากแกรแฮมถึง “85 เปอร์เซ็นต์” จึงอาจกล่าวได้ว่า หากวันนั้น ปู่ไม่ถูก “เซย์โน” จากฮาร์วาร์ด วันนี้โลกทั้งโลกก็อาจไม่รู้จักนักลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ชื่อ “วอร์เรน บัฟเฟตต์”

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ชีวิตคนเรา ย่อมมีทั้งความสมหวังและผิดหวัง จงอย่าท้อถอยในวันที่ต้องพลาดหวังหรือสิ่งต่างๆ ไม่ได้อย่างใจ เพราะสิ่งไม่ดีสิ่งหนึ่ง อาจแปรเปลี่ยนเป็นสิ่งที่ดีกว่า ซึ่งอาจจะเปลี่ยนชีวิตของเราไปตลอดกาลเลยก็ได้

สิ่งที่เราทุกคนควรทำก็คือ “จงใช้ชีวิต และเรียนรู้จากมัน” เอาประสบการณ์ทุกอย่างไม่ว่าดีหรือร้ายมาเป็นบทเรียน และเลือกก้าวเดินไปในหนทางที่ดีที่สุดที่ชีวิตมอบให้แก่เรา

เพียงเท่านั้นก็น่าจะเพียงพอแล้วไม่ใช่หรือ กับคำว่า “ชีวิต”

(ข้อมูลประกอบจากหนังสือ  The Snowball)

เรื่องค่า P/E ที่ควรรู้

PE-fon

โดย ชนิดา พัธโนทัย

มองดูดัชนีตลาดหุ้นไทยตอนนี้ หลายคนคงรู้สึกว่าหุ้นไทยแพงเกินไปแล้วที่จะซื้อ (แม้จะตกลงมาบ้างในช่วงไม่กี่วันนี้) ซึ่งก็อาจจะจริง อย่างไรก็ตาม เราควรกลับมาพิจารณาหุ้นเป็นรายตัวเสียก่อน เพราะหุ้นแต่ละตัวมีอัตราความสามารถในการทำกำไรที่แตกต่างกัน มีลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกัน

โดยวิธีการง่ายๆ ที่ใช้พิจารณาว่าหุ้น “ถูก” หรือ “แพง” ซึ่งเป็นที่นิยมกันก็คือ “ค่า P/E”

ค่า P/E คือการวัดความถูกแพงของหุ้น โดยเปรียบเทียบ ราคา (P = Price) กับ กำไรต่อหุ้น (E = Earnings per share) ของบริษัท ถ้า “P/E ต่ำ” หมายความว่า หุ้นนั้นราคาถูก และหากเข้าไปซื้อ ก็จะใช้เวลา “คืนทุน” เร็ว

เช่น P/E = 6 เท่า หมายความว่า หากบริษัทยังได้กำไรในระดับเดิมเท่ากันทุกปี ผู้ที่ซื้อหุ้นนั้นก็จะใช้เวลา 6 ปีในการคืนทุน ในทางตรงกันข้าม ถ้า “P/E สูง” แปลว่าหุ้นนั้นแพง และจะใช้เวลาคืนทุนนานกว่านั่นเอง

แต่การพิจารณาค่า P/E ไม่ใช่ว่านำตัวเลขมาหารกันง่ายๆ หรือดูเอาดื้อๆ จากเว็บไซต์หรือหนังสือพิมพ์ธุรกิจ แล้วจะสรุปได้เลยว่าหุ้นตัวนั้นถูก ตัวนี้ถูก เข้าซื้อได้แล้ว การกระทำเช่นนั้น อาจนำไปสู่การวิเคราะห์ที่ผิดพลาด และอาจสร้างความเสียหายให้แก่การลงทุนของเราได้ ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าตัวเราขาดความรู้ความเข้าใจที่ลึกซึ้ง

ถามว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าควรลงทุนได้หรือยัง ในประเด็นนี้ สิ่งที่สำคัญมากๆ และอยากให้พิจารณาก็คือ คุณภาพของ E

คุณภาพของ E หมายถึง “คุณภาพของกำไรของบริษัท” นั่นเอง โดยเราต้องดูว่าบริษัทมีกำไรที่สม่ำเสมอและเติบโตอย่างมั่นคงหรือไม่

กรณีที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งก็คือ บริษัทมี “กำไรจากรายการพิเศษ” อันหมายถึงกำไรที่เกิดขึ้นแค่งวดบัญชีเดียว ซึ่งต้องระวัง!!! เพราะมันเป็นหลุมพรางอันอาจทำให้เราเข้าใจผิดคิดไปว่า P/E ที่ออกมาต่ำนั้น บ่งบอกว่าหุ้นตัวนั้น “ราคาถูก”

ครั้นถึงปีถัดมา บริษัทไม่มีกำไรพิเศษอีกต่อไป P/E จึงดีดตัวสูงขึ้น และสะท้อนให้เห็นว่า แท้จริงแล้วหุ้นนั้น “แพง” กว่าที่เราคิด

การจะดูว่าตัวเลขกำไรสุทธิมีการเติบโตอย่างยั่งยืนและสม่ำเสมอหรือไม่ จึงควรนำงบการเงินมาเปิดดู และต้องเอากำไรจากการดำเนินธุรกิจจริงๆ มาพิจารณา โดยตัดพวกกำไรจากรายการพิเศษ หรือที่เรียกกันว่า “Non-recurring items” ออก ซึ่งจะทำให้เราเห็นภาพการเติบโตของกำไรที่แท้จริงของบริษัท

ข้อควรระวังอีกประการหนึ่งก็คือ กรณีที่บริษัทมีการเพิ่มทุนบ่อยๆ หรือแจก “วอร์แรนต์” (warrant หรือ ใบสำคัญแสดงสิทธิการซื้อหุ้น) ฟรี เพราะเมื่อวอร์แรนต์เหล่านั้นแปลงสิทธิมาเป็น “หุ้น” จำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ EPS ลดลงทันที และค่า P/E ก็จะสูงขึ้นทันทีเช่นกัน

ประการสุดท้ายที่นักลงทุนมักมองข้ามคือ มีบางอุตสาหกรรมที่ไม่เหมาะในการใช้ค่า P/E วัดความถูกแพงของหุ้น อาทิ ธุรกิจที่กำไรไม่สม่ำเสมอ ธุรกิจที่เป็น Cycle หรือขายสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ (ประเด็นนี้หากจะให้ลงรายละเอียดคงต้องว่ากันยาว เพราะเป็นเรื่องอันเกี่ยวเนื่องกับ Business Nature หรือธรรมชาติของธุรกิจนั้นๆ)

โดยสรุปก็คือ ในการดูค่า P/E เราควรพิจารณาหลายสิ่งหลายอย่าง และคำนึงถึงข้อจำกัดต่างๆ หลายประการ

ดังนั้น การเป็นนักลงทุนที่ดี จึงจำเป็นต้องมีความรอบรู้เกี่ยวกับตัวธุรกิจและเรื่องราวทางการเงินของบริษัท จึงจะสามารถนำมาวิเคราะห์และปรับใช้กับการลงทุนได้

ถึงตอนนี้ เหลือเวลาอีกแค่ 3 เดือนก็จะสิ้นปี 2557 นักลงทุนอย่างเราๆ ได้รับรู้กำไรของบริษัทมา 9 เดือนเต็มแล้ว เราจึงอาจลองคาดการณ์กำไรไตรมาสสุดท้าย เพื่อที่จะหากำไรของทั้งปี 2557 ได้ หรือหากใคร Advanced ขึ้นมาหน่อย ก็อาจคาดการณ์กำไรปี 2558 ทั้งปี แล้วคำนวณหาค่า P/E ดูว่า หุ้นที่เราเล็งอยู่ “ถูกหรือแพง” ขนาดไหนอย่างไร

.. แล้วค่อยตัดสินใจ ว่าจะ “ซื้อ” หรือ “ไม่ซื้อ” ดี

ว่าด้วยเรื่อง “การเพิ่มทุน”

เพิ่มทุนเพื่อ

โดย ชนิดา พัธโนทัย (CPA)

ช่วงนี้มีการ “เพิ่มทุน” ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เกิดขึ้นบ่อยมาก ดีลใหญ่ๆ ก็อย่างเช่น ทรู กับ China Mobile และล่าสุด BGH ก็เพิ่งประกาศเพิ่มทุนไปเมื่อ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมา

สำหรับคนที่ยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องของการเพิ่มทุน ขออธิบายคร่าวๆ ดังนี้ค่ะ

จุดประสงค์ของการเพิ่มทุน แบ่งออกได้เป็น 3 ข้อ คือ

1) เพื่อการขยายธุรกิจ
2) เพื่อใช้คืนหนี้ เงินกู้ต่างๆ
3) เพื่อล้างขาดทุนสะสม (ให้สามารถจ่ายปันผลได้ในอนาคต)

ทั้งนี้ การเพิ่มทุนแต่ละครั้ง ย่อมมีทั้ง ข้อดี และ ข้อไม่ดี อยู่ที่ว่าบริษัทใช้เงินที่ได้จากการเพิ่มทุนอย่างไร มีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน

การเพิ่มทุนที่ดี คือการเพิ่มทุนที่ทำให้มูลค่าของกิจการเพิ่มสูงขึ้น

อาทิ ใช้เงินที่ได้จากการเพิ่มทุนเพื่อขยายกิจการ เช่น เพิ่มกำลังการผลิตครั้งใหญ่ ขยายสาขา หรือเอาเงินไปซื้อกิจการ (Acquisition) หรือควบรวมกิจการ (Merger) กับบริษัทอื่น เพื่อต่อยอดธุรกิจของบริษัท กิจกรรมเหล่านี้จะทำให้บริษัทมีรายได้และกำไรเข้ามามากขึ้น

แต่แน่นอนว่า … การเพิ่มทุนจะทำให้ “จำนวนหุ้น” เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ “สัดส่วนการถือหุ้น” ของผู้ถือหุ้นลดลง หรือที่เรียกว่า “Dilution Effect” 

กุญแจสำคัญก็คือ เราต้องมองให้ออกว่า การเพิ่มทุนดังกล่าว จะทำให้บริษัทได้กำไรกลับมามากกว่าเดิมหรือไม่ และกำไรนั้นเป็นกำไรที่ยั่งยืนในระยะยาวหรือไม่ ซึ่งจะทราบได้โดยดูจากตัวเลขสองตัว นั่นคือ EPS และ ROE

EPS (กำไรต่อหุ้น)

หาก EPS หรือ“กำไรต่อหุ้น” ยังคงเดิม หรือ “เพิ่มขึ้น” แปลว่าการเพิ่มทุนดังกล่าว ทำให้บริษัทสามารถ

1) เพิ่มรายได้ (จากฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น สาขาที่มากขึ้น ฯลฯ) หรือ                                                2) ลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย

ข้อ 2 นี่สำคัญค่ะ ถ้าเป็นการ “ซื้อ” หรือ “ควบรวมกิจการ” กับ “บริษัทที่มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องกัน” ย่อมจะทำให้เกิด Synergy ทางธุรกิจ และก่อให้เกิด “ความประหยัดจากขนาด” หรือ Economies of scale จนสามารถลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายได้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรก EPS ย่อมจะลดลงก่อน เนื่องจากมี “ตัวหาร” มากขึ้น คือมีจำนวนหุ้นเยอะขึ้น แต่ในระยะยาว หากธุรกิจมีประสิทธิภาพสูงขึ้นจริง ผลดีก็ย่อมสะท้อนเข้ามาเอง 

ROE(อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น)

หากบริษัทสามารถ maintain ROE  ให้อยู่ในระดับเดิมหรือเพิ่มขึ้น แปลว่าการเพิ่มทุนครั้งนั้น “เป็นบวก” แต่ก็แน่นอนว่าในช่วงต้น ROE ของบริษัทจะลดลง เพราะ “ตัวฐาน” หรือ “ตัว E” ใหญ่ขึ้น จาก “ทุน” ที่เพิ่มเข้ามา 

ทว่าหากธุรกิจทำกำไรได้มากขึ้น “กำไรสุทธิ” หรือ “ตัว R” ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย และจะทำให้ ROE กลับสู่ระดับเดิม หรืออาจจะสูงขึ้นกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ

ช่วงเวลากว่าที่ ROE จะกลับคืนสู่จุดเดิม มองในอีกแง่ก็คือ “payback period” หรือ “ระยะเวลาคืนทุน” (ในรูปอัตราส่วน) จากการเพิ่มทุนในครั้งนั้นนั่นเอง  

ที่กล่าวมา คือ ตัวเลขทางการเงินสองตัว ที่เป็น “ตัวบ่งชี้” ผลของการเพิ่มทุน ได้ดีที่สุด

อีกกรณีหนึ่งคือการ “เพิ่มทุนเพื่อใช้หนี้” กรณีนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการที่บริษัทมีพันธมิตรทางธุรกิจ (Business Partner) หรือ พันธมิตรทางการเงิน (Financial Partner) เข้ามา

โดยขั้นแรกก็จะนำเงินมา “ลดหนี้” ก่อน เพื่อให้ต้นทุนทางทางการเงินต่ำลง (จะได้จ่ายดอกเบี้ยน้อยลง) แล้วค่อยขยายธุรกิจในขั้นต่อๆ ไป วิธีนี้จะทำให้สัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ลดลง และช่วยเพิ่มความสามารถทางการเงินของบริษัท

ทั้งหมดนี้ เป็นลักษณะของการเพิ่มทุนที่ดี คราวหน้าจะมายกตัวอย่างว่าบริษัทไหนบ้างที่เพิ่มทุนแล้ว “ดี” รวมทั้งจะมาอธิบายขยายความว่าลักษณะของการเพิ่มทุนที่ “ไม่ดี” เป็นอย่างไร ดูได้จากอะไร

โปรดติดตามค่ะ