Tap Dancing to Work ภาคภาษาไทย พร้อมเปิดตัว

tapdancingthai2

ตอนนี้หนังสือ “Tap Dancing to Work” ภาคภาษาไทย ในชื่อไทยว่า “เต้นรำไปทำเงิน” แปลโดยคุณชัชวนันท์ สันธิเดช และคุณสุภศักดิ์ จุลละศร สองทีมงาน Club VI สำเร็จเสร็จสิ้นออกมาเป็นรูปเล่มเรียบร้อยแล้วนะครับ

หลายคนบอกว่า นี่คือหนังสือลงทุนที่เป็นที่จับตามองที่สุดเล่มหนึ่งของปีนี้เลยทีเดียว

ขอขอบพระคุณพี่เวป พรชัย รัตนนนทชัยสุข แฟนพันธุ์แท้วอร์เรน บัฟเฟตต์ และหนึ่งในผู้ถือหุ้นเบิร์คเชียร์ แฮธาเวย์ กับ พี่โจ อนุรักษ์ บุญแสวง นายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) ที่ให้เกียรติเขียนคำนิยมให้ด้วยครับ

ในวันพฤหัสที่ 17 ต.ค. เวลา 12.00-13.00 น. จะมีงานเปิดตัวหนังสือ ณ เวทีกลาง ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยผู้แปลทั้งสองคนจะไปพูด และจะไปแจกลายเซ็นต่อที่บู๊ธ L06 สำนักพิมพ์โพสต์บุ๊กส์ ผู้สนใจไปพบกันได้ครับ

*******************

เต้นรำไปทำเงิน

ทุกเรื่องราวเกี่ยวกับวอร์เรน บัฟเฟตต์ ตั้งแต่ยังไม่เป็นที่รู้จักจนกลายมาเป็นนักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่ของโลก

หนังสือเล่มนี้จะทำให้เราได้เห็นถึงการผจญภัยในโลกธุรกิจของวอร์เรน บัฟเฟตต์ เห็นถึงพัฒนาการความคิด การลงทุน การตัดสินใจ หรือแม้แต่การบริหารธุรกิจที่เรามักจะไม่ค่อยได้เห็นในตัวของบัฟเฟตต์บ่อยนัก ทั้งหมดมีอยู่ในหนังสือเล่มนี้ แม้แต่ความผิดพลาดของวอร์เรน บัฟเฟตต์ อะไรที่ทำนายไว้แล้วเป็นจริง อะไรที่ทำนายไว้แล้วไม่เป็นจริง สิ่งเหล่านี้ได้ถูกบันทึกไว้ในหนังสือเล่มนี้แล้วเช่นกัน 

ในหนังสือประกอบไปด้วย – บทความเกี่ยวกับวอร์เรน บัฟเฟตต์ ของนิตยสาร Fortune ตั้งแต่ปี 1966 – 2012 – ข้อเขียนของวอร์เรน บัฟเฟตต์ เอง – จดหมายถึงผู้ถือหุ้น ซึ่งคัดเฉพาะส่วนที่สำคัญ – จดหมายที่บิลล์ เกตส์ เขียนถึงวอร์เรน บัฟเฟตต์ – พลาดไม่ได้! กับบทสนทนา บทสัมภาษณ์ และการเป็นวิทยากรบนเวทีเดียวกันของบิลล์ เกตส์ และวอร์เรน บัฟเฟตต์

******************

วีไอระดับบริษัท

โดย สุภศักดิ์ จุลละศร

ในฐานะของนักลงทุนรายย่อย ผมคิดว่าหลายท่านที่เป็น Value Investor หรือ VI คงทราบกันดีอยู่แล้วว่า เราต้องซื้อหุ้นที่มี “ราคา” ต่ำกว่า “มูลค่า” กล่าวได้ว่าสิ่งนี้เป็นหัวใจสำคัญของการเป็นวีไอ

สิ่งอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ถือเป็นเรื่องเสริม ไม่ว่าจะเป็นเงินปันผล การถือยาว การเติบโต ฯลฯ ถ้าเราลงทุนโดยเน้นสิ่งเหล่านี้ แต่ไม่ได้สนใจประเมินมูลค่าหุ้นหรือประเมินไม่เป็น แบบนั้นก็ไม่ใช่วีไอ และนี่ก็เป็นสาเหตุที่เราเรียกการลงทุนแบบนี้ว่า Value Investment …

ไม่ใช่ Dividend Investment, Long-term Investment หรือ Growth Investment!

บางคนคิดว่า Value Investment (ย่อว่า VI เหมือนกัน) เป็นเรื่องของนักลงทุนที่จะซื้อขายหุ้น แต่ที่จริงแนวคิดนี้สามารถเอาไปใช้ในระดับบริษัทได้ด้วย … และถ้ามันอยู่ใน “สายเลือด” ของบริษัทไหน นักลงทุนวีไอเองก็ไม่ควรพลาดศึกษาบริษัทนั้นด้วยเช่นกัน

บริษัทก็เป็น VI ได้

หลายท่านเห็นภาพชัดเจนแล้วว่า นักลงทุนบุคคลสามารถทำตัวเป็นวีไอได้โดยการประเมินมูลค่าหุ้น และใช้ประโยชน์จากการที่ราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง พวกเขาอาจสงสัยว่า อ้าว! แล้วบริษัทจะประเมินมูลค่าหุ้นไปทำไมล่ะ? ผมจะอธิบายอย่างนี้ครับ

ในการดำเนินธุรกิจ บริษัทจะต้องตัดสินใจในกิจกรรมต่างๆ เช่น การวิจัยตลาด การผลิต การหาลูกค้า หรือแม้แต่การขยายกิจการก็ตาม กิจกรรมพวกนี้ล้วนเป็นสิ่งที่มี “มูลค่า” ในตัวเอง เพราะฉะนั้นโดยทั่วไปแล้วบริษัทก็จะไม่ได้ประเมินมูลค่าหุ้น หากแต่ประเมินมูลค่าของกิจกรรมเหล่านี้แทน

โดยปกติถ้าเป็นโครงการใหญ่ที่ต้องมีการตัดสินใจ เช่น การเปิดสายการผลิตใหม่ หรือการโหมจัดแคมเปญส่งเสริมการขาย บริษัทก็มักจะมีการประเมินความคุ้มค่าของโครงการกันก่อนอยู่แล้ว แต่บางกิจกรรมที่ผู้บริหารมองว่า “ทำแน่” อย่างนี้ก็อาจทำเลย โดยไม่ต้องสั่งลูกน้องให้ไปประเมินความคุ้มค่าของโครงการมาอีก

ในจุดนี้ผู้บริหารที่มีหัวใจเป็น VI จะมีความได้เปรียบ เพราะพวกเขาสามารถประมาณได้ด้วยประสบการณ์ว่ากิจกรรมใดมีคุณค่าหรือมูลค่าสูง เมื่อเทียบกับ resource ที่ต้องใช้ ซึ่ง resource นี้ก็ไม่ได้คิดแต่ที่เป็นตัวเงิน แต่ว่าคิดไปถึงเวลา ความเหนื่อยยากของทีมงาน และการเสียโอกาสที่จะไปสร้างสรรค์งานอย่างอื่นด้วย

แม้ในส่วนที่ต้องพิจารณาความคุ้มค่าของโครงการ พวกเขาก็ยังคงใช้แนวคิดของวีไอ โดยใช้การประเมินอย่างระมัดระวังและใช้ “มูลค่าขั้นต่ำ” ที่จะได้รับจากโครงการ หากถึงกระนั้นแล้วมูลค่าก็ยังคงสูงคุ้มค่าน่าพอใจ พวกเขาจึงค่อยลงมือทำ

สิ่งนี้เหมือนกับที่นักลงทุนวีไอคำนวณมูลค่าหุ้นแบบอนุรักษ์นิยม แล้วก็นั่งรอจนกว่าราคาหุ้นจะต่ำกว่ามูลค่าไปมากๆ ถึงจะเข้าซื้อ อย่างที่เราเรียกกันว่ามี “Margin of Safety” ในระดับที่น่าพอใจนั่นเอง และในเมื่อพวกเขาซื้อในจุดที่ downside แทบไม่มีแล้ว ผลตอบแทนของพวกเขาจึงสูงได้ ทั้งๆ ที่ความเสี่ยงต่ำ

รอคอยโอกาสดี

ทั้งนี้ผมไม่ได้หมายความว่า บริษัทควรนั่งจับเจ่าและรอคอยจนกว่าจะมีโครงการที่ดีสุดยอดผ่านเข้ามา เพราะความเข้มงวดของบริษัทที่เป็นวีไอย่อมปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ หากเป็นการดำเนินงานปกติ ก็อาจมองหา Margin of Safety ที่ไม่ต้องมากนัก แต่ถ้าเป็นโครงการยักษ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง แบบนี้ก็ควรมองหา Margin of Safety ที่มากหน่อย

นอกจากการดำเนินงานของบริษัทแล้ว ในบางกรณีบริษัทก็อาจทำตัวเป็น “นักลงทุน” ได้ด้วยเหมือนกัน อย่างเช่น การลงทุนในทรัพย์สิน หรือการเข้าซื้อกิจการ เป็นต้น

โดยปกติเรามักเห็นบริษัทออกมา “ช้อปปิ้ง” ในขณะที่กิจการกำลังเฟื่องฟู (คล้ายๆ กับที่ผู้คนชอบออกมาจับจ่ายใช้สอยเงินในช่วงที่รายได้ดีหรือเพิ่งได้โบนัส) ซึ่งก็มักเป็นช่วงที่เศรษฐกิจดีและกิจการอื่นๆ ก็เฟื่องฟูอยู่ด้วยเหมือนกัน การออกมาซื้อกิจการในช่วงเวลานี้จึงมักเป็นการซื้อ “ของดีราคาแพง” ซึ่งไม่ใช่แนวคิดของวีไอเลย

ในทางตรงข้าม บริษัทที่มีความเป็นวีไอจะเก็บเงินเอาไว้ก่อนในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจดี โดยอาจเก็บเป็นเงินสด เงินลงทุนระยะสั้น หรือไม่เช่นนั้นก็เอาไปลดหนี้ การกระทำเช่นนี้เป็นการเตรียมตัวเองให้พร้อมสำหรับโอกาสที่จะผ่านเข้ามา และเมื่อโอกาสนั้นผ่านเข้ามาจริงๆ พวกเขาก็จะมีเงินสดเอาไว้ช้อปปิ้ง “ของดีราคาถูก” หรืออย่างน้อยก็มีวงเงินกู้เอาไว้ใช้ในสถานการณ์ดังกล่าวได้

บมจ. เฮ้าส์ เอ็นเนอร์จี

ขอยกกรณีสมมติ บมจ. เฮ้าส์ เอ็นเนอร์จี ซึ่งเป็นเจ้าของเหมืองถ่านหินหลายแห่งในประเทศอินโดนีเซีย ในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ไม่กี่ปี ในช่วงที่ราคาถ่านหินเพิ่งจะบูมไปกับราคาน้ำมันด้วย (ก่อนที่จะตกสวรรค์ลงมาเหมือนกัน) เฮ้าส์ เพิ่งซื้อกิจการถ่านหินรายใหญ่รายหนึ่งในประเทศออสเตรเลียและก่อหนี้ก้อนใหญ่ขึ้นมา ซึ่งถ้าจะว่ากันตามจริงนี่ก็เป็นการลงทุนที่ไม่ขี้เหร่เท่าไหร่นัก และในเวลานั้นเฮ้าส์ก็เป็นบริษัทที่มีหนี้สินน้อยมาก

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาราคาถ่านหินก็ตกต่ำ ทั้งจากปัญหาเศรษฐกิจโลกและในส่วนของธุรกิจพลังงานเองที่มีการนำ “เชลล์แก๊ส” มาใช้ จนใครๆ ก็บอกว่าถ่านหินจบเห่แล้ว และแม้ว่าเฮ้าส์จะสามารถผลิตถ่านหินได้มากขึ้น แต่ก็เป็นการเพิ่มขึ้นในด้านปริมาณเท่านั้น เพราะเมื่อขายได้ราคาต่ำ รายได้ก็หดหาย กำไรก็ลดลง สิ่งนี้เกิดขึ้นกับผู้ผลิตถ่านหินทุกราย ไม่ใช่แค่เฮ้าส์เท่านั้น นอกจากนี้บางเหมืองที่มีต้นทุนสูงก็จำใจต้องปิดตัวลง

ในเวลานี้หากผู้บริหารของเฮ้าส์มีแนวคิดแบบวีไอมาก่อนหน้า พวกเขาอาจมีเงินสดและวงเงินกู้ยืมจำนวนมาก เพื่อเอามา “ช้อปปิ้ง” เหมืองถ่านหินที่มีคุณภาพดี มี facility พร้อม และมีต้นทุนต่ำ ภายใต้สมมติฐานว่าถ่านหินจะยังเป็นพลังงานจำเป็นของโลกใบนี้ต่อไป ซึ่งก็มีโอกาสที่จะเป็นเช่นนั้น

ผมเคยคุยกับเพื่อนที่เป็นวิศวกรในแวดวงนี้ และเห็นตรงกันว่า ถ่านหินส่วนมากขุดขึ้นมาแล้วก็ถูกส่งไปที่โรงไฟฟ้า และการจะเปลี่ยน (convert) ประเภทโรงไฟฟ้า เช่น จากโรงไฟฟ้าถ่านหินไปเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้แก๊สหรือน้ำมันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้งต้นทุนก็คงสูงจนไม่คุ้มที่จะทำ สรุปก็คือ โรงไฟฟ้าโรงไหนที่ใช้ถ่านหินก็คงจะต้องใช้ต่อไป

นั่นหมายความว่า demand ของถ่านหินในอนาคตอย่างน้อยๆ ก็ไม่น่าจะลดลง ส่วน supply ส่วนเกินก็น่าจะค่อยๆ ถูกดูดซับไป (อย่าลืมว่าบางเหมืองที่สู้ต้นทุนไม่ได้ก็ปิดดำเนินการไปบ้างแล้ว) เมื่อทั้งสองฝั่งเกิดสมดุลมากขึ้น ราคาถ่านหินก็น่าจะมีเสถียรภาพได้

ดังนั้น หากเฮ้าส์สามารถออกไปช้อปปิ้งกิจการดีๆ ในช่วงเวลานี้ บางทีนี่จะเป็นการ “ตีแตก” ในระดับบริษัท เหมือนอย่างที่ ดร.นิเวศน์ เคยทำได้มาแล้วในระดับบุคคลก็เป็นได้ … แต่ก็น่าเสียดายที่มันไม่ได้เกิดขึ้น

การซื้อหุ้นคืนของเฮ้าส์         

อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งดีๆ ที่ บมจ. เฮ้าส์ เอ็นเนอร์จี ลงมือทำ นั่นคือ “การซื้อหุ้นคืน” ซึ่งเป็นแอ็คชั่นที่เรียกได้ว่า วีไอ๊… วีไอ

การซื้อหุ้นคืนเป็นการที่บริษัทออกมาซื้อหุ้นของตัวเองเสมือนว่าเป็นผู้เล่นรายหนึ่งในตลาดหุ้น ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ราคาหุ้นตกต่ำลงมากจนถือได้ว่า “ต่ำเกินไป” ในสายตาของผู้บริหาร และดูไปแล้วก็น่าจะมี Margin of Safety ที่มากพอสมควร ดังนั้นแทนที่จะไปลงทุนอย่างอื่นให้ได้ผลตอบแทนดีๆ ก็ลงทุนในหุ้นของบริษัทตัวเองที่รู้จักตื้นลึกหนาบางเป็นอย่างดีก็แล้วกัน… ผลก็คือ

1) demand ของหุ้นในตลาดสูงขึ้นและส่งผลดีต่อราคา โดยราคาหุ้นอาจจะดีขึ้น หรือถ้าตกก็คงตกเบาลง ขณะเดียวกันหุ้นที่ถูกบริษัทซื้อไปก็จะถูกดูดซับออกจากตลาด นั่นหมายความว่า supply ของหุ้นจะลดลงด้วยในอนาคต

2) หุ้นที่ถูกซื้อคืน เรียกว่า treasury stocks เป็นส่วนที่ไม่มีสิทธิ์รับเงินปันผล กล่าวได้ว่า “คนแย่งเค้ก” ของเรามีน้อยลง และในทำนองเดียวกัน เมื่อจำนวนหุ้นลดลง ตัวหารก็ลดลง กำไรต่อหุ้นหรือ EPS ก็เพิ่มขึ้น

3) เป็นการจัดโชว์สองอย่างพร้อมๆ กัน อย่างแรกเป็นการ “โชว์ป๋า” เพื่อบอกว่าตัวเองมีเงินสดมาก และอย่างที่สองเป็นการ “โชว์เก๋า” ส่งสัญญาณบอกนักลงทุนว่าราคาหุ้นในตลาดต่ำเกินจริง ทำนองว่า นี่ไง ฉันเองยังควักเงินซื้อเลย!

การซื้อหุ้นคืนจึงเป็นทั้งการช่วยพยุงราคาหุ้น, เพิ่มคุณค่าหุ้น และจัด โชว์ป๋า+โชว์เก๋า ไปพร้อมๆ กัน ที่สำคัญเป็นการซื้อของดีราคาถูกด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ จะชื่นชอบบริษัทที่มีการซื้อหุ้นคืนอย่างมาก

ว่ากันตามจริงแล้ว การซื้อหุ้นคืนดีกว่าการจ่ายเงินปันผลเสียด้วยซ้ำ เพราะการจ่ายเงินปันผล เราได้รับเงินแค่ครั้งเดียว (แถมยังเสียภาษีด้วย) แต่การลดตัวหารได้อย่างถาวรจะส่งผลดีตลอดไป แถมการลงมือในจังหวะที่หุ้นมีราคาถูก ทำให้บริษัทไม่ต้องควักกระเป๋าจ่ายแพงมาก ทั้งยังลดภาระเงินปันผลจ่ายในอนาคตลงได้บางส่วนอีกด้วย

การซื้อหุ้นคืนด้วยเหตุผลที่เหมาะสม ณ ราคาที่เหมาะสม เป็นการกระทำของผู้บริหารที่มีจิตวิญญาณของวีไอ แต่เราก็ต้องสังเกตดีๆ ด้วยว่า มันเกิดจากการใคร่ครวญอย่างรอบคอบ หรือเป็นแค่การสร้างข่าวเพื่อพยุงราคาหุ้น ซึ่งการจะตอบได้นั้น เราต้องศึกษารายละเอียดของการซื้อให้ดี

ลงทุนแบบ VI กับบริษัทที่เป็น VI  

บริษัทที่มีความเป็นวีไออย่างชัดเจนที่สุดก็คือ เบิร์กไชร์ ฮาทาเวย์ ของ วอร์เรน บัฟเฟตต์

เบิร์กไชร์เป็นบริษัทที่เข้าถือหุ้นบริษัทอื่นๆ ในขณะที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง แต่เนื่องจากเบิร์กไชร์เองก็จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นนิวยอร์ก (NYSE) เพราะฉะนั้นตัวของมันเองก็มีโอกาสซื้อขายกันต่ำกว่ามูลค่าได้ด้วยเหมือนกัน และหากว่าคุณสามารถคว้าโอกาสนั้นไว้ได้ ผลตอบแทนของคุณก็จะเจ๋งยิ่งกว่าวอร์เรน บัฟเฟตต์ เสียอีก (อย่างน้อยก็ในช่วงเวลานั้นๆ)

ลองคิดดูว่าจะมีอะไรดีไปกว่าการลงทุนแบบวีไอในบริษัทที่เป็นวีไอเสียอีกล่ะ!?

สำหรับพวกเราที่อยู่ในตลาดหุ้นไทยคงไม่ต้องคิดไปไกลถึงเบิร์กไชร์หรอก เยี่ยมๆ มองๆ หากิจการชั้นดีที่คิดและทำแบบวีไอ จากนั้นก็รอซื้อเมื่อมี Margin of Safety ที่น่าพอใจ…

 แค่นี้ก็หรูแล้วครับ

“20 คำถาม” กับ “VI พันธุ์แท้”

questionmark

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ปีเตอร์ ลินช์ เป็นสุดยอดผู้จัดการกองทุนในตำนาน กองทุนฟิเดลิตี้ แม็คเจลเลน ที่เขาบริหาร มีหุ้นอยู่ในพอร์ตนับพันๆ ตัว ด้วยความที่มีหุ้นอยู่มากมาย ทำให้เขาต้องศึกษาหาข้อมูลเยอะมาก

ลินช์มีวิธีง่ายๆ ในการทดสอบว่า ผู้ลงทุน “เข้าใจ” ในบริษัทที่จะลงทุนจริงหรือไม่ เขาเรียกมันว่า “แบบฝึก 2 นาที” (Two-Minute Drill) กล่าวคือ ให้ผู้ลงทุนอธิบายเกี่ยวกับบริษัทที่สนใจจะเข้าลงทุนให้คนใกล้ตัวฟัง โดยมีเวลาเพียง 2 นาที ถ้าพูดให้ผู้ฟังเข้าใจได้ ถือว่า “สอบผ่าน” ซึ่งลินช์ก็ใช้วิธีนี้ฝึกฝนตัวเองเสมอ

“แบบฝึก 2 นาที” ของ ปีเตอร์ ลินช์ นอกจากจะเป็นการทดสอบความรู้ของตัวเราเองแล้ว ยังช่วยให้เรารู้จักเรียบเรียงข้อมูล ฝึกจัดระเบียบความรู้ในหัวสมอง และถ่ายทอดมันออกมา ซึ่งทำให้พบช่องโหว่ของตัวเองได้ในทันที ว่าเรารู้อะไร และยังไม่รู้อะไร

เป็นการทดสอบขั้นต้นที่ยอดเยี่ยมมากทีเดียว ลองทำกันดูนะครับ ผมเองก็ใช้อยู่บ่อยๆ

นอกจาก “แบบฝึก 2 นาที” ของลินช์แล้ว ผมยังมี “การทดสอบ” ของตัวเอง ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากลินช์ อยากเล่าให้ทุกท่านฟัง

ผมเรียกมันว่า “การทดสอบ คำถามที่ 2” (Second-Question Test)

“การทดสอบคำถามที่ 2” เกิดจากประสบการณ์ส่วนตัวของผม ที่มี “เพื่อนเม่า” ค่อนข้างเยอะ เพื่อนหลายคนชอบเล่นหุ้นเก็งกำไร บางคนชอบหุ้นปั่น เข้าเร็ว ออกไว ใจร้อน

เวลาผมถามเพื่อนเหล่านี้ว่า ที่ “เล่นหุ้น” ตัวนั้นตัวนี้ เคยรู้บ้างไหมว่าบริษัทเขาทำธุรกิจอะไร?!!

ท่านอาจนึกว่า พวกนั้นเป็นแมงเม่า คงไม่รู้หรอก แต่ผิดคาดครับ เชื่อไหมว่า เพื่อนเม่าของผม “ตอบได้” เสียเป็นส่วนใหญ่

โดยมากแล้ว พวกเขามักจะรู้อยู่ว่า บริษัทนั้นๆ ทำมาหากินอะไร เช่น รับเหมาก่อสร้าง เหล็ก เดินเรือ ยางพารา ฯลฯ

แทบทุกคนตอบ “คำถามแรก” ได้ ไม่ขัดเขิน

แต่แล้ว พอผมยิง “คำถามที่ 2” ว่า กำไรของบริษัทในปีที่แล้วเป็นอย่างไร? รายได้เป็นอย่างไร? ROE เป็นเท่าไร? คู่แข่งมีใครบ้าง? พลพรรคเพื่อนเม่าของผมก็มักจะ “จอด” ตรงนี้

ผมพบว่า เพื่อนๆ ของผมที่เป็นนักเก็งกำไร มักจะ “รู้ตื้น” แต่ “รู้ไม่ลึก” แม้บางคนจะรู้กว้าง แต่ก็เป็นความกว้างที่ขาด “ความลึก” ถามผิวเผินยังพอตอบได้ แต่ถามมากกว่านั้นกลับไปไม่เป็น

แค่ใช้ “คำถามที่ 2” ทดสอบดู ก็รู้แล้ว

นี่ยังไม่ได้ถามคำถามที่ 3, 4, 5 นะครับ ถ้าลองถามต่อไปว่า กำไร-รายได้ย้อนหลัง 5 ปีโตปีละกี่เปอร์เซ็นต์? กระแสเงินสดเป็นอย่างไร? Market Share กี่เปอร์เซ็นต์? ใครถือหุ้นใหญ่? แบบนี้เพื่อนๆ เม่าของผมอาจ “แพ้น็อค” เลยก็เป็นได้

ที่จริงก็ไปว่าเขาไม่ได้นะครับ จะว่าไปพวกเขาก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปรู้อะไรมากมายจริงๆ นั่นแหล่ะ ก็จะรู้ไปทำไมเล่า ถือแป๊บเดียว เดี๋ยวก็ขายทิ้งแล้ว

แต่สำหรับคนที่ปวารณาตัวเองเป็น VI นี่คือเรื่องสำคัญครับ เราต้องตอบ “คำถามที่ 2” ให้ได้ ถ้าทำไม่ได้ก็เหมือน “มวยคางเปราะ” นึกว่าตัวเองเก่งแล้ว แต่พอขึ้นไปชก คู่ชกแย็บๆ คลำๆ ดูไม่กี่ทีก็รู้แล้วว่าจุดอ่อนเราอยู่ตรงไหน โดนซัดจังๆ มีหวัง “ร่วง” แน่นอน

และที่จริง แค่ 2 คำถามสำหรับ VI ยังไม่พอ ถ้าเป็น “มวยระดับแชมป์” หรือเป็น “วีไอสายดำ” ท่านควรตอบให้ได้มากกว่านั้น ตอบให้ได้มากที่สุด

ผมจึงคิดเกมที่เรียกว่า “เกม 20 คำถาม” (Twenty-question Game) โดยให้เพื่อน ให้คนในครอบครัว หรือใครก็ตาม ลองยิงคำถามเกี่ยวกับบริษัทที่เราถือหุ้นอยู่ ให้เขาถามให้หมดเปลือก ถามอะไรก็ได้เกี่ยวกับบริษัท แต่อย่านอกเรื่อง (คนละอย่างกับเกม 20 คำถาม ที่เราเคยเล่นกันสมัยเด็กนะ)

ถ้าเราตอบได้ไม่ต่ำกว่า 80% (16 คำถาม) ถือว่าได้ “เกรด A” ผ่านฉลุย แต่ถ้าตอบได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง (น้อยกว่า 10 คำถาม) ถือว่าสอบตก ต้องไปศึกษาหาข้อมูลเพิ่มโดยด่วน

อ้อ.. ถ้าให้คนที่รู้เรื่องการลงทุน และพอจะรู้จักบริษัทนั้นๆ อยู่บ้างมาถาม จะดีมากครับ เพราะจะถามได้ทั้งใน “เชิงปริมาณ” และ “เชิงคุณภาพ” ซึ่งจะครอบคลุมรอบด้านกว่า ยิ่งถ้าเขาเคยใช้สินค้าหรือบริการของบริษัทมาก่อน ก็จะยิ่งถามได้ใน “เชิงลึก” ขึ้น

ผมจะลองยกตัวอย่าง “20 คำถาม” ที่ “VI พันธุ์แท้” ทุกคนควรตอบให้ได้ เช่น

  1. บริษัทมีรายได้ทั้งปีเท่าไร? (ถ้าบอกได้ถึงไตรมาสล่าสุดเลยยิ่งดี)
  2. บริษัทมีกำไรทั้งปีเท่าไร? (เช่นเดียวกันครับ ถ้าบอกได้ถึงไตรมาสล่าสุดเลยจะดีมาก)
  3. ROE ปัจจุบันประมาณกี่เปอร์เซ็นต์?
  4. กระแสเงินสดเป็นอย่างไร? (อธิบายโดยภาพรวมให้พอเข้าใจ เช่น บริษัทนี้เงินสดเหลือเฟือ เพราะเป็นบริษัทค้าปลีก ขายสินค้าเป็นเงินสด แต่ซื้อของเป็นเงินเชื่อ หรือบริษัทนี้เป็นบริษัทลีสซิ่ง เงินสดไม่มาก ลูกหนี้เยอะ เป็นต้น)
  5. Gross Margin, Net Margin ปัจจุบันประมาณกี่เปอร์เซ็นต์? มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหรือลดลงหรือไม่?
  6. D/E (อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น) อยู่ที่เท่าไร? มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหรือลดลง?
  7. Market Cap. ประมาณเท่าไร? (ตัวเลขนี้ดูใน Settrade.com ก็รู้แล้ว)
  8. กำไรของบริษัทย้อนหลัง 5 ปี โตปีละกี่เปอร์เซ็นต์? มีความสม่ำเสมอหรือไม่อย่างไร? (อันนี้สำคัญมากครับ อดีตบอกอนาคต ถ้าโตมาตลอด แปลว่ามีโอกาสจะโตต่อไปเรื่อยๆ)
  9. รายได้ของบริษัทย้อนหลัง 5 ปี โตปีละกี่เปอร์เซ็นต์? มีความสม่ำเสมอหรือไม่อย่างไร? (เช่นเดียวกับคำถามก่อนหน้า .. อดีตบอกอนาคต)
  10. บริษัทมีความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนก้อนใหญ่อยู่เสมอหรือไม่? ถ้าใช่ จะหาแหล่งเงินทุนอย่างไร? (ถ้ากู้มาก็ต้องใช้หนี้กันเหนื่อย ถ้าเพิ่มทุน EPS ก็จะลด มูลค่าหุ้นถูก Dilute เดือดร้อนเราต้องไปหาเงินมาเติมอีก)
  11. ปัจจุบันมี Market Share กี่เปอร์เซ็นต์? เป็นอันดับที่เท่าไรของตลาด?
  12. ใครเป็นคู่แข่งสำคัญของบริษัท? เปรียบเทียบส่วนแบ่งตลาดของบริษัทกับบริษัทคู่แข่ง มากน้อยต่างกันอย่างไร ?
  13. ศักยภาพในการแข่งขันของบริษัทเป็นอย่างไร? มี Competitive Advantage เหนือบริษัทอื่นหรือไม่? (อันนี้เป็นเรื่องเชิงคุณภาพครับ ต้องวิเคราะห์ธุรกิจเป็นด้วย)
  14. มีการซื้อหุ้นคืน เพิ่มทุน หรือออกวอร์แรนต์มั้ย?
  15. ผู้บริหารคือใคร เคยมีประวัติปั่นหุ้น หรือทุจริตอะไรมั้ย?
  16. ผู้บริหารเก่งจริงมั้ย? ทำอะไรมาก่อน? ธุรกิจที่เคยบริหารสอดคล้องกับธุรกิจที่บริหารอยู่ในปัจจุบันหรือไม่? เคยประสบความสำเร็จอะไรมาบ้าง? เคยทำบริษัทเจ๊งมาหรือเปล่า?
  17. แผนการเติบโตของบริษัทในอนาคตเป็นอย่างไร? (หาฟังได้จาก Opp Day หรือถามจากผู้บริหารเวลาเข้าประชุมผู้ถือหุ้น หรือคอยตามข่าวในสื่อต่างๆ)
  18. P/E ปัจจุบันเท่ากับเท่าไร? และค่า P/E เฉลี่ยในอดีต 10 ปี ที่ผ่านมาอยู่ที่เท่าไร?
  19. P/BV ปัจจุบันเท่ากับเท่าไร?
  20. นโยบายการจ่ายปันผลเป็นอย่างไร จ่ายกี่เปอร์เซ็นต์ของกำไร? จ่ายสม่ำเสมอหรือไม่?

นี่แค่ตัวอย่างนะครับ ที่จริงจะถามให้ลึกไปกว่านี้ก็ยังได้ แต่ตอบได้ทั้งหมดนี่ก็ขั้นเทพแล้วล่ะ

บางท่านอาจนึกในใจว่า ไม่เห็นต้องให้ใครถามเลย เรา List คำถามออกมา แล้วตอบตัวเองก็ได้นี่… ก็ได้อยู่ครับ ไม่มีอะไรเสียหาย แต่การให้คนอื่นถาม จะเป็นการบังคับตัวเองให้เตรียมตัวให้พร้อมกว่า เพราะเราไม่รู้ว่าเขาจะถามอะไร อีกทั้งเมื่อตอบไปแล้ว จะเห็น Reaction ทันทีว่าคู่สนทนาเข้าใจในสิ่งที่เราพูดหรือไม่

ถ้าเราเข้าใจถ่องแท้จริงๆ เราย่อมสามารถพูดให้คนอื่นเข้าใจได้เช่นเดียวกัน แต่ถ้าพูดแล้วเขาไม่เข้าใจ เป็นไปได้ไหมว่าตัวเราเองอาจยังไม่กระจ่างแจ้งนัก หรือยัง “ติด” อะไรอยู่?

ท่านพุทธทาสภิกขุเคยเทศน์สอนไว้ว่า “ถ้าคุณอยากรู้เรื่องอะไร คุณจงตั้งต้นศึกษาเหมือนอย่างว่า เราจะไปเป็นครูเขาในเรื่องนั้น เรียนให้มากในเรื่องนั้น แล้วคุณจะรู้เรื่องนั้น ดีจนพอ..ดีจนเกินพอ”

การเล่น “เกม 20 คำถาม” คือการเปิดโอกาสให้คนอื่นถามเรา เหมือนเรากำลังฝึกตนเพื่อไปเป็น “ครู” ซึ่งยากกว่าเป็นนักเรียนแล้วอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบหลายเท่านัก แต่ถ้าทำได้ เราจะรู้จักบริษัทที่จะเข้าไปลงทุนชนิด.. “ดีจนเกินพอ”

อย่าลืมนะครับ “VI พันธุ์แท้” ทุกคน จะลงทุนในบริษัทไหน จงศึกษาหาความรู้ราวกับจะไปเป็น “ครู” สอนคนอื่นเขา แค่ “20 คำถาม” ก็รู้แล้วครับ!!

** สนใจหลักสูตรสัมมนา “ประเมินมูลค่าหุ้น” สอนวิธีหามูลค่าหุ้นหลักๆ ที่นักลงทุนระดับโลกนิยมใช้ ครบทุกวิธี เน้นความเข้าใจที่ถ่องแท้ เรียนจบ หามูลค่าหุ้นได้ โดยทีมงาน Club VI คลิกที่นี่ **

** สนใจหลักสูตร VI 101 “พื้นฐานการลงทุนเน้นมูลค่า” สำหรับผู้ที่อยากลงทุนแนววีไอ ต้องการสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนในระยะยาว แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะเริ่มต้นอย่างไร คลิกที่นี่ **

 ——————————