โดย ชนิดา พัธโนทัย
มองดูดัชนีตลาดหุ้นไทยตอนนี้ หลายคนคงรู้สึกว่าหุ้นไทยแพงเกินไปแล้วที่จะซื้อ (แม้จะตกลงมาบ้างในช่วงไม่กี่วันนี้) ซึ่งก็อาจจะจริง อย่างไรก็ตาม เราควรกลับมาพิจารณาหุ้นเป็นรายตัวเสียก่อน เพราะหุ้นแต่ละตัวมีอัตราความสามารถในการทำกำไรที่แตกต่างกัน มีลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกัน
โดยวิธีการง่ายๆ ที่ใช้พิจารณาว่าหุ้น “ถูก” หรือ “แพง” ซึ่งเป็นที่นิยมกันก็คือ “ค่า P/E”
ค่า P/E คือการวัดความถูกแพงของหุ้น โดยเปรียบเทียบ ราคา (P = Price) กับ กำไรต่อหุ้น (E = Earnings per share) ของบริษัท ถ้า “P/E ต่ำ” หมายความว่า หุ้นนั้นราคาถูก และหากเข้าไปซื้อ ก็จะใช้เวลา “คืนทุน” เร็ว
เช่น P/E = 6 เท่า หมายความว่า หากบริษัทยังได้กำไรในระดับเดิมเท่ากันทุกปี ผู้ที่ซื้อหุ้นนั้นก็จะใช้เวลา 6 ปีในการคืนทุน ในทางตรงกันข้าม ถ้า “P/E สูง” แปลว่าหุ้นนั้นแพง และจะใช้เวลาคืนทุนนานกว่านั่นเอง
แต่การพิจารณาค่า P/E ไม่ใช่ว่านำตัวเลขมาหารกันง่ายๆ หรือดูเอาดื้อๆ จากเว็บไซต์หรือหนังสือพิมพ์ธุรกิจ แล้วจะสรุปได้เลยว่าหุ้นตัวนั้นถูก ตัวนี้ถูก เข้าซื้อได้แล้ว การกระทำเช่นนั้น อาจนำไปสู่การวิเคราะห์ที่ผิดพลาด และอาจสร้างความเสียหายให้แก่การลงทุนของเราได้ ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าตัวเราขาดความรู้ความเข้าใจที่ลึกซึ้ง
ถามว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าควรลงทุนได้หรือยัง ในประเด็นนี้ สิ่งที่สำคัญมากๆ และอยากให้พิจารณาก็คือ “คุณภาพของ E”
คุณภาพของ E หมายถึง “คุณภาพของกำไรของบริษัท” นั่นเอง โดยเราต้องดูว่าบริษัทมีกำไรที่สม่ำเสมอและเติบโตอย่างมั่นคงหรือไม่
กรณีที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งก็คือ บริษัทมี “กำไรจากรายการพิเศษ” อันหมายถึงกำไรที่เกิดขึ้นแค่งวดบัญชีเดียว ซึ่งต้องระวัง!!! เพราะมันเป็นหลุมพรางอันอาจทำให้เราเข้าใจผิดคิดไปว่า P/E ที่ออกมาต่ำนั้น บ่งบอกว่าหุ้นตัวนั้น “ราคาถูก”
ครั้นถึงปีถัดมา บริษัทไม่มีกำไรพิเศษอีกต่อไป P/E จึงดีดตัวสูงขึ้น และสะท้อนให้เห็นว่า แท้จริงแล้วหุ้นนั้น “แพง” กว่าที่เราคิด
การจะดูว่าตัวเลขกำไรสุทธิมีการเติบโตอย่างยั่งยืนและสม่ำเสมอหรือไม่ จึงควรนำงบการเงินมาเปิดดู และต้องเอากำไรจากการดำเนินธุรกิจจริงๆ มาพิจารณา โดยตัดพวกกำไรจากรายการพิเศษ หรือที่เรียกกันว่า “Non-recurring items” ออก ซึ่งจะทำให้เราเห็นภาพการเติบโตของกำไรที่แท้จริงของบริษัท
ข้อควรระวังอีกประการหนึ่งก็คือ กรณีที่บริษัทมีการเพิ่มทุนบ่อยๆ หรือแจก “วอร์แรนต์” (warrant หรือ ใบสำคัญแสดงสิทธิการซื้อหุ้น) ฟรี เพราะเมื่อวอร์แรนต์เหล่านั้นแปลงสิทธิมาเป็น “หุ้น” จำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ EPS ลดลงทันที และค่า P/E ก็จะสูงขึ้นทันทีเช่นกัน
ประการสุดท้ายที่นักลงทุนมักมองข้ามคือ มีบางอุตสาหกรรมที่ไม่เหมาะในการใช้ค่า P/E วัดความถูกแพงของหุ้น อาทิ ธุรกิจที่กำไรไม่สม่ำเสมอ ธุรกิจที่เป็น Cycle หรือขายสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ (ประเด็นนี้หากจะให้ลงรายละเอียดคงต้องว่ากันยาว เพราะเป็นเรื่องอันเกี่ยวเนื่องกับ Business Nature หรือธรรมชาติของธุรกิจนั้นๆ)
โดยสรุปก็คือ ในการดูค่า P/E เราควรพิจารณาหลายสิ่งหลายอย่าง และคำนึงถึงข้อจำกัดต่างๆ หลายประการ
ดังนั้น การเป็นนักลงทุนที่ดี จึงจำเป็นต้องมีความรอบรู้เกี่ยวกับตัวธุรกิจและเรื่องราวทางการเงินของบริษัท จึงจะสามารถนำมาวิเคราะห์และปรับใช้กับการลงทุนได้
ถึงตอนนี้ เหลือเวลาอีกแค่ 3 เดือนก็จะสิ้นปี 2557 นักลงทุนอย่างเราๆ ได้รับรู้กำไรของบริษัทมา 9 เดือนเต็มแล้ว เราจึงอาจลองคาดการณ์กำไรไตรมาสสุดท้าย เพื่อที่จะหากำไรของทั้งปี 2557 ได้ หรือหากใคร Advanced ขึ้นมาหน่อย ก็อาจคาดการณ์กำไรปี 2558 ทั้งปี แล้วคำนวณหาค่า P/E ดูว่า หุ้นที่เราเล็งอยู่ “ถูกหรือแพง” ขนาดไหนอย่างไร
.. แล้วค่อยตัดสินใจ ว่าจะ “ซื้อ” หรือ “ไม่ซื้อ” ดี