อย่ามองข้าม “กำไรตรงกลาง”

ebit

โดย ชนิดา พัธโนทัย

หากพูดถึง งบกำไรขาดทุน ซึ่งเป็นงบที่แสดงผลการดำเนินงานของบริษัทแล้ว จุดหลักที่นักลงทุนต้องดูก่อนเลยก็คือ “Top line” ซึ่งหมายถึง “รายได้หลัก” ของบริษัท เช่น ยอดขาย หรือ รายได้จากการให้บริการต่างๆ ว่ามีอัตราการเติบโตมากน้อยเพียงใด

อีกจุดหนึ่ง ได้แก่ “Bottom line” คือเปิดดู “ตัวเลขบรรทัดสุดท้าย” ซึ่งหมายถึง “กำไรสุทธิ” เพราะถ้าขายได้เยอะ แต่ได้กำไรกลับมาน้อย ก็ย่อมจะไม่ดี

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่อยากให้พิจารณา คือ “กำไรที่อยู่ตรงกลาง”

กำไรที่อยู่ตรงกลางระหว่างบรรทัด หรือที่เราเรียกว่า “EBIT” ชื่อภาษาไทยคือ “กำไรก่อนหักดอกเบี้ยจ่ายและภาษี” (Earnings before interest and tax) หรือบ้างก็เรียกว่า “กำไรจากการดำเนินงาน” (Operating profit) เป็นกำไรอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กัน

EBIT คือกำไรที่มาจาก รายได้จากการขาย หัก ต้นทุนขาย หัก ค่าใช้จ่ายในการขาย หัก ค่าใช้จ่ายในการบริหาร พูดง่ายๆ คือ รายได้ทั้งหมดของบริษัทหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดของบริษัท ยกเว้นเพียงสองรายการ คือ ดอกเบี้ยจ่าย และ ภาษีเงินได้

ดังนั้น EBIT จึงเอาไว้ใช้พิจารณากำไรของบริษัทที่ได้จากการประกอบกิจการจริงๆ ซึ่งยังไม่รวมผลของค่าใช้จ่ายที่เกิดจากโครงสร้างทางการเงินของบริษัท (ดอกเบี้ยจ่าย) และปัจจัยภายนอก (ภาษีเงินได้) นั่นเอง

Profits2

ในกรณีที่กิจการของบริษัทสามารถสร้างกำไรได้มาก EBIT ก็จะเยอะ แต่ถ้าบริษัทก่อหนี้ไว้เยอะ ดอกเบี้ยจ่ายก็จะมากัดกินกำไรนั้นจนลดลง …

หากเราดูกำไรแค่บรรทัดสุดท้าย เราจะมองไม่เห็นว่า จริงๆ แล้วบริษัทนี้มีผลการดำเนินงานที่ดี เพียงแต่มีภาระดอกเบี้ยเยอะ ซึ่งถ้าสามารถเคลียร์หนี้ได้หมด ก็จะเป็นอีกบริษัทหนึ่งที่น่าสนใจ

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่ราคาหุ้นของบางบริษัทจะสูงขึ้นทันที เมื่อบริษัทประกาศว่าจะปรับโครงสร้างทางการเงิน หรือใช้วิธีใดก็ตามที่สามารถเคลียร์หนี้ให้น้อยลงได้ เพราะนั่นจะทำให้กำไรสุทธิค่อยๆ เพิ่ม และ P/E ก็จะลดลงตามไปด้วย (แต่ถ้าบริษัทเคลียร์หนี้ด้วยการเพิ่มทุน อันนี้ต้องดูอีกทีว่า EPS มีการ Dilute ลงมากน้อยแค่ไหน)

ดังนั้น EBIT จึงเป็นกำไรของทั้ง “ผู้ถือหุ้น” และ “เจ้าหนี้” (เนื่องจากยังไม่ได้จ่ายดอกเบี้ยออกไป) ต่างจาก Net Profit ซึ่งเป็นกำไรของ “ผู้ถือหุ้น” เท่านั้น

(อ่านเรื่อง EBITDA ต่อได้ ที่นี่)


** หลักสูตร  “ประเมินมูลค่าหุ้น และ DCF” รุ่น ๘  สอนทำ valuation อย่างมืออาชีพ 26 พ.ค. 61 ที่โรงแรม ดิ เอมเมอรัล รัชดา คลิกที่นี่

** หลักสูตร “อ่านงบการเงิน” ออนไลน์ รับชมทาง Facebook Closed Group คลิกที่นี่

 

งบปี 57 ADVANC-DTAC

ais-dtac

โดย ชนิดา พัธโนทัย

ผลการดำเนินงานปี 2557 ของบริษัทจดทะเบียนทยอยประกาศกันออกมาเยอะแล้ว ในตอนนี้ขอหยิบยกเอาธุรกิจสื่อสารมาพูดคุยกัน เนื่องจากเป็นธุรกิจที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และมีความน่าสนใจค่อนข้างมากค่ะ

เรามาเปรียบเทียบงบปี 57 ของ ADVANC กับ DTAC กันก่อนนะคะว่าเป็นอย่างไร (ส่วน TRUE ณ เวลาที่เขียนบทความนี้งบยังไม่ออก จึงต้องขอยกยอดไปตอนหน้า)

เริ่มกันที่ “รายได้หลัก” ของทั้งสองบริษัท ประกอบไปด้วย

(1) รายได้จากการให้บริการ แบ่งเป็น Voice (รายได้จากบริการเสียง) กับ Non-voice (รายได้จากการให้บริการข้อมูล) และ (2) รายได้จากการขายเครื่องโทรศัพท์

ถ้าพิจารณาจาก “รายได้หลัก” ADVANC มีรายได้หลักเพิ่มขึ้น 1.3% (ปี 2557 = 148,729 ล้านบาท, ปี 2556 = 146,811 ล้านบาท) ในขณะที่ DTAC มีรายได้หลักลดลง 4.6% (ปี 2557 = 90,136 ล้านบาท, ปี 2556 = 94,457 ล้านบาท)

เห็นได้ชัดเจนจากจำนวนผู้ใช้บริการ โดยผู้ใช้บริการของ ADVANC เพิ่มขึ้นจาก 40.86 ล้าน ในปี 2556 เป็น 44.3 ล้าน ในปี 2557 หรือเพิ่ม 8.2% ในขณะที่จำนวนผู้ใช้บริการของ DTAC เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจาก 27.94 ล้าน ในปี 2556 เป็น 28ล้าน ในปี 2557 หรือเพิ่มขึ้น 0.24%

ยิ่งถ้าเข้าไปดูละเอียดมากขึ้นจะเห็นว่า ในปี 2557 ADVANC มีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น “ทุกไตรมาส” ในขณะที่ DTAC กลับออกอาการ “สะดุด” คือยอดผู้ใช้บริการลดลงในไตรมาส 2 และ 3 ของปี 2557ตามตารางที่แสดงด้านล่างนี้

จำนวนผู้ใช้บริการของ ADVANC และ DTAC

ADVANC Q4/2556 Q1/2557 Q2/2557 Q3/2557 Q4/2557
จน.ผู้ใช้ (ล้านเลขหมาย) 40.86 42.36 42.88 43.80 44.30
% เพิ่มขึ้น 3.7% 1.2% 2.1% 1.2%

 

DTAC Q4/2556 Q1/2557 Q2/2557 Q3/2557 Q4/2557
จน.ผู้ใช้ (ล้านเลขหมาย)       27.94       28.23       28.04       27.78       28.01
% เพิ่มขึ้น(ลดลง) 1.0% (0.7%) (0.9%) 0.8%

ในขณะที่ DTAC มีการเติบโตของ Non-voice เพิ่มขึ้น 23% แต่ Voice ก็ลดลง 16% เช่นกัน ทว่าเนื่องจากจำนวนผู้ใช้บริการของ DTAC ลดลง จึงทำให้รายได้หลักของ DTAC ลดลงด้วย ดังจะเห็นได้ในตารางด้านบนค่ะรายได้จากการให้บริการของ ADVANC เพิ่มขึ้น อันเป็นผลจากธุรกิจ Non-voice ที่เติบโตขึ้น 34% ในขณะที่รายได้จากธุรกิจ Voice ลดลงอีก 14% โดยในปี 2557 บริษัทได้มีการขยายโครงข่าย 3G-2.1GHz ให้ครอบคลุม 97% ของประชากร และมีจำนวนสถานีฐาน 3G มากที่สุดในประเทศ ทำให้จำนวนลูกค้าบนใบอนุญาตนี้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้สัดส่วนรายได้จากใบอนุญาต 2.1GHz เติบโตขึ้นเป็น 78% ของรายได้รวม

ต่อไป มาดู “กำไรขั้นต้น” กันบ้าง

กำไรขั้นต้นของ ADVANC และ DTAC

ADVANC ปี 2556 ปี 2557
กำไรขั้นต้น (ลบ.) 61,641.66 65,780.78
อัตรากำไรขั้นต้น (% Gross Profit Margin) 40.9% 44%

 

DTAC ปี 2556 ปี 2557
กำไรขั้นต้น (ลบ.) 30,023.14 29,027.82
อัตรากำไรขั้นต้น (% Gross Profit Margin) 31.7% 32.1%

จากตารางจะเห็นได้ว่า ADVANC มีกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น 6.7% จากปี 2556 และอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 44% ในปี 2557 สูงขึ้นจากปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ 40.9% อันเป็นผลมาจากต้นทุนค่าธรรมเนียมและส่วนแบ่งรายได้ที่ลดลง จากการที่สามารถ Upgrade ลูกค้าให้มาใช้บริการ 3G มากขึ้นนั่นเอง (ระบบ 3G อยู่บนใบอนุญาตที่มีต้นทุนค่าธรรมเนียมลดลงกว่าแต่ก่อนมาก)

ขณะที่ DTAC กำไรขั้นต้นปี 2557 ลดลง 3.3% จากปี 2556 โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 32.1% ในปี 2557 เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ 31.7% การที่กำไรขั้นต้นลดลงนั้นก็มาจากรายได้หลักที่ลดลงนั่นเอง อย่างไรก็ตาม DTAC ยังมีอัตรากำไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากเหตุผลเดียวกับ ADVANC คือลูกค้าย้ายมาใช้ 3G มากขึ้น ทำให้ต้นทุนค่าธรรมเนียมและส่วนแบ่งรายได้ลดลงเช่นกัน

[ข้อควรรู้: ต้นทุนหลักของธุรกิจสื่อสารคือ “ต้นทุนค่าธรรมเนียมและส่วนแบ่งรายได้” คิดเป็นประมาณ 34-37% ของต้นทุนรวม และ “ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย” คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 33-36% ของต้นทุนรวม]

มาดูกำไรขั้นต่อไป ซึ่งมีความสำคัญและใช้ในการพิจารณาความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ ICT ได้เป็นอย่างดี นั่นก็คือกำไรที่เรียกว่า “EBITDA” (กำไรจากการดำเนินงานที่อยู่ในรูปของเงินสด)

เนื่องจากธุรกิจของ ADVANC และ DTAC มีค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่มีจำนวนสูงมาก (ADVANC ประมาณ 19,000 กว่าล้านบาท และ DTAC ประมาณ 16,000 กว่าล้านบาท) โดยที่ค่าใช้จ่ายส่วนนี้บริษัทไม่ได้จ่ายเงินสดออกไปจริง เป็นเพียงค่าใช้จ่ายทางบัญชีเท่านั้น เวลานักลงทุนต้องการดูกำไรที่เป็นเงินสดจริงๆ ของธุรกิจสื่อสาร จึงต้องดูที่ EBITDA มากกว่า EBIT (ท่านที่ยังไม่เข้าใจเรื่อง EBITDA หรืออยากทบทวน ย้อนไปอ่านบทความเก่าของเราได้ ที่นี่)

EBITDA ของ ADVANC และ DTAC

ADVANC ปี 2556 ปี 2557
EBITDA (ลบ.) 63,691.00 66,428.00
% EBITDA Margin 43.40% 44.70%

 

DTAC ปี 2556 ปี 2557
EBITDA (ลบ.) 30,047 31,069.00
% EBITDA Margin 31.76% 34.36%

จากตารางจะเห็นได้ว่า ADVANC มี EBITDA เพิ่มขึ้น 2,737 ล้านบาท หรือประมาณ 4.3% ในขณะที่ DTAC มี EBITDA เพิ่มขึ้นประมาณ 1,022 ล้านบาท หรือประมาณ 3.4% ในขณะที่ EBITDA margin ของทั้งสองบริษัทต่างก็เพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดย ADVANC มี margin เพิ่มขึ้น 1.3% ในขณะที่ DTAC margin เพิ่มขึ้นถึง 2.6%

ที่น่าสังเกตก็คือ เมื่อดูกำไรที่ไม่ได้หักค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ต้องถือว่า DTAC ทำ margin ได้ดี ไม่ได้เลวร้ายมากนัก แต่ในอีกมุมหนึ่งก็อาจมองได้ว่า รายได้ของ DTAC ยังโตไม่ทันต้นทุนค่าสัมปทานและใบอนุญาตที่ไปประมูลมานั่นเอง

อ่านถึงตรงนี้คงพอเห็นภาพแล้วนะคะว่า “เบอร์ 1” กับ “เบอร์ 2” แตกต่างกันแค่ไหนอย่างไร เดี๋ยวรองบของ “เบอร์ 3” ออก เราจะมา Review กันบ้าง รับรองว่ามีประเด็นที่น่าสนใจ และไม่แน่ว่าในอนาคต อันดับ 1, 2, 3 ที่เราคุ้นเคย อาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้วก็ได้

รอติดตามตอนต่อไปค่ะ

PE Band ของโรงพยาบาล

peband-hc

ชนิดา พัธโนทัย

[ต่อจากตอนที่แล้ว]

ในตอนที่แล้ว เราได้อธิบายเรื่องของ PE Band ไว้โดยละเอียด โดยยกตัวอย่างช่วง P/E ของเซกเตอร์ ICT ให้เห็นกันไปแล้ว (ท่านที่ยังไม่ได้อ่านตอนที่แล้ว คลิกที่นี่ )

วันนี้ขอเลือกเป็นเซกเตอร์ที่ได้รับความนิยมสูงมากในหมู่นักลงทุนไทย นั่นก็คือเซกเตอร์ “โรงพยาบาล” กันนะคะ

peband-hospital

 [PE Band ของหุ้นโรงพยาบาล แนะนำให้คลิกที่ภาพแล้วซูมเข้ามาดูใกล้ๆ ค่ะ]

ระหว่างปี 2554  จนถึงกลางปี 2557 P/E ของกลุ่มโรงพยาบาล อยู่ในช่วง 20-30 เท่า (สังเกตจากเส้นสีฟ้า แสดงกรอบบนและล่าง) โดยค่าเฉลี่ย P/E จะอยู่ที่ประมาณ 25 เท่า (สังเกตจากเส้นประสีส้ม)

แต่หลังจากกลางปี 2557 เป็นต้นมา P/E ของกลุ่มโรงพยาบาลก็เริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนทะลุกรอบบนของ P/E Band (วงกลมสีเหลือง) ประกอบกับการเติบโตของกำไรของกลุ่มที่ก้าวกระโดด ก็ยิ่งทำให้ราคาสูงขึ้น โดยจะเห็นได้จากความชันของเส้นดัชนีของกลุ่ม (เส้นเขียวๆ แดงๆ ข้างบนสุด) ที่มากขึ้นนั่นเอง

จะเห็นได้ว่า เซกเตอร์โรงพยาบาล เป็นตัวอย่างของกลุ่มอุตสาหกรรมที่ราคาไม่ค่อยจะลงมาให้ซื้อมากนัก ค่า P/E ไม่เคยต่ำ แต่กลับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

จนถึง ณ ขณะนี้  P/E ของกลุ่มอยู่ที่ “37 เท่า” ซึ่งถือว่าสูงมาก!!

อย่างไรก็ตาม การจะด่วนตัดสินว่าหุ้นในเซกเตอร์โรงพยาบาลนั้นแพงจนซื้อไม่ได้แล้วก็อาจเร็วเกินไปหน่อย เพราะแม้หุ้นจะแพง แต่บริษัทในอุตสาหกรรมนี้ก็โตเร็วมาก

ดังนั้น สิ่งที่เราควรทำ คือต้องเอาเรื่องของ “การเติบโต” มาพิจารณาด้วย ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดก็คือ หาค่า “PEG” ออกมาเพื่อประกอบการตัดสินใจนั่นเอง (เรื่อง PEG เคยอธิบายเอาไว้โดยละเอียดแล้วก่อนหน้านี้ สนใจตามไปอ่านได้ คลิกที่นี่ ค่ะ )

และนี่ก็คือ P/E Band ของกลุ่มโรงพยาบาล อุตสาหกรรมที่หุ้นไม่มีวัน “ถูก” เดี๋ยวตอนหน้าจะมาว่ากันต่อในเซกเตอร์ที่น่าสนใจอื่นๆ ค่ะ 

 —————————

หลักสูตร VI101 “พื้นฐานการลงทุนเน้นมูลค่า” รุ่นที่ 4 โดย Club VI  วันเสาร์ที่ 7 ก.พ. นี้ สำหรับผู้ที่อยากลงทุนแนววีไอ แต่ยังไม่มีพื้นฐานหรือพื้นฐานยังน้อย สมัครได้เลย คลิกที่นี่ 

หลักสูตรระดับกลาง ยอดนิยม VI201 “อ่านงบการเงิน” วันที่ 7 มี.ค. และ VI202 “ประเมินมูลค่าหุ้น” วันที่ 28-29 มี.ค. สมัครได้เลย คลิกที่นี่