นักวิเคราะห์ดังฟันธง ตลาดหุ้น “เด้งหลอก”

 

image-asset

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

แกรี ชิลลิง นักวิเคราะห์และนักเขียนด้านการเงินชื่อดังของสหรัฐฯ เตือนว่า การเด้งขึ้นของตลาดหุ้นขณะนี้ อาจเป็นการ “เด้งหลอก” เหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้ง Great Depression หรือ “เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่” ประมาณ 90 ปีที่แล้ว

ชิลลิง ซึ่งคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงการลงทุนมาตลอดชีวิตบอกกับ CNBC ว่า ตลาดหุ้นปีหน้าอาจปรับตัวลงได้ถึง 30-40% เมื่อนักลงทุนเห็นแล้วว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังต้องใช้เวลาอีกนาน

“ผมคิดว่าเดี๋ยวจะมีลงรอบสอง ซึ่งเหมือนมากๆ กับที่เคยเกิดขึ้นในยุค 1930 คือผู้คนเริ่มรู้ตัวว่าการถดถอยและความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นมันสาหัสขนาดไหน และต้องใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะฟื้นกลับมา”

ทั้งนี้ ในสมัย The Great Depression หุ้นร่วงลงถึง 48% ในปี 1929 ซึ่งเป็นจุดเร่ิมต้นของวิกฤต แต่แล้วก็เด้งกลับขึ้นมา ณ จุดเดิมในเดือน เม.ย. ปี 1930

ทว่าเมื่อปรากฏชัดแล้วว่าสภาพเศรษฐกิจขณะนั้นฟอนเฟะเพียงใด ตลาดก็ร่วงลงไปอีกรอบ และครั้งนี้เป็นการร่วงหนักถึง 86% (หากนับจากจุดสูงสุดในปี 1929 ก่อนฟองสบู่แตก จะเท่ากับร่วงถึง 89%)

… เรียกได้ว่าเละเทะไม่มีชิ้นดี

“หุ้นตอนนี้เหมือนตอนที่เด้งกลับมาในปี 1929 มาก คนเชื่อกันสุดๆ ว่าเราคุมไวรัสได้เบ็ดเสร็จ แถมยังอัดเงินกระตุ้นทางการเงินการคลังเข้ามามโหฬารเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ” นักวิเคราะห์อาวุโสชี้

สำหรับตลาดหุ้นไทย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ก็เตือนเช่นกันว่า ตลาดหุ้นไทยที่เด้งขึ้นมาเวลานี้ อาจเป็น technical rebound คือขึ้นเพราะลงมาเยอะ

คล้ายคลึงกับเมื่อครั้งวิกฤตต้มยำกุ้งปี 40 ที่หุ้นร่วงลงหนักมาก ก่อนจะเด้งขึ้นมาอย่างแรง แต่แล้วก็ปรับตัวลงอีกครั้ง และขึ้นๆ ลงๆ อีกหลายรอบ ทว่าในที่สุดก็ “หมดแรง” โดยร่วงลงยาวๆ และโงหัวไม่ขึ้นอีกหลายปี

“คำว่า techical rebound คือขึ้นเพราะมันลงมาหนัก แล้วคนเข้ามาช้อน แต่ว่าถ้าเศรษฐกิจไม่สามารถฟื้นได้ มันจะตกใหม่ และตกแรง นี่คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 40” ต้นแบบแห่งวีไอไทยกล่าว


ข้อมูลประกอบ : CNBC คลิกที่นี่ , คลิปสัมภาษณ์จาก The Secret Sauce คลิกที่นี่

ภาพประกอบจาก : agaryshilling .com

คำแนะนำที่ชัดเจนที่สุดของ ดร.นิเวศน์ ต่อการลงทุนในวิกฤต Covid-19 และราคาน้ำมัน

nives-2018

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ผมถอดความ การให้สัมภาษณ์ของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ต้นแบบแห่งวีไอไทย ในรายการ Suthichai Live ท่านได้พูดถึงการลงทุนในวิกฤต Covid-19 บวกกับราคาน้ำมัน ไว้อย่างชัดเจนมากๆ สรุปไว้เป็นข้อๆ แล้ว ลองอ่านดูนะครับ

  • ประเทศไทย ยังไงก็หนีไม่พ้นต้องลดดอกเบี้ย แม้จะไม่ถึง 0 โดยการ take action ที่เป็นอยู่นี่ถือว่าช้าแล้ว
  • มาตรการหลายอย่างของทางการไทยถือว่าช้ามาก ขาดความรวดเร็วและการมองไปข้างหน้า
  • สำหรับนักลงทุน อยู่ที่ว่า กล้าคิดต่างแล้วเข้าไปซื้อหรือไม่ ถ้าคิดว่าลงมากเกินไปก็ควรเข้าไปซื้อ นี่คือหลักพื้นๆ
  • แม้กระนั้น ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะจิตใจเรามักไม่แข็งแกร่งพอ พอหุ้นลงมาเยอะๆ เราก็จะใจเสีย คิดว่า “หุ้นตายแน่แล้ว”
  • และในเวลาที่คนส่วนใหญ่คิดว่า “หุ้นตายแน่แล้ว” นี่แหละ คือโอกาสที่จะเข้าไปลงทุน โดยเฉพาะสำหรับพวกวีไอ หรือนักลงทุนระยะยาว
  • แต่ทั้งนี้ ต้องกล้าแล้วตัดสินใจถูกด้วย ถ้ากล้าแล้วตัดสินใจผิดก็ตายอยู่ดี เพราะฉะนั้น จึงต้องวิเคราะห์ให้ลึกซึ้ง
  • ให้มองหุ้นที่ราคาตก แต่มั่นใจว่าถือไว้ 2-3 ปีแล้วจะกลับมา
  • ให้มองหุ้นที่เป็นบริษัทหลักๆ สถาบันหลักๆ ของประเทศ เป็นหุ้นที่ถ้าเจ๊ง ประเทศไทยจะอยู่ไม่ได้ พวกนี้ลงทุนได้
  • เวลาจะเข้าซื้อ ต้องใจแข็ง ต้องบอกตัวเองว่า เราเข้าซื้อรอบนี้ ถึงลงต่อเราก็ไม่ขาย จะลงก็ลงไป แต่อย่าลงเงินไปทั้งหมด อย่าทุ่มสุดตัว ไม่งั้นถ้าหุ้นกลับมาช้าเราจะแย่
  • คนที่มีโอกาสดีที่สุดตอนนี้ คือคนที่ไม่มีหุ้นเลย และไม่เคยลงทุน เป็นเวลาดีที่จะเริ่ม
  • ราคาหุ้นบลูชิพหลายตัวเป็นราคาที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เป็นราคาย้อนหลังไปสิบปี หมายความว่า ถ้าคุณลงทุนมาสิบปี มันเอาคืนไปหมดแล้ว
  • เช่น หุ้นตัวใหญ่ๆ หุ้นแบงก์ บางตัว ราคาลงมาครึ่งหนึ่ง ปันผลก็ 6-7% เข้าไปแล้ว ถ้าเรามั่นใจว่าอีก 2-3 ปีมันจะฟื้นขึ้นมาได้ ก็ลงทุนได้เลย (หุ้นพวกนี้ถ้าตัวแกเองมีเงินเยอะจะซื้อแน่ แต่ตอนนี้เหลือเงินน้อย จึงต้องรอให้นิ่งก่อน)
  • อเมริกาหุ้นก็ตกพอๆ กับเรา แต่ที่ต่างกันคือช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หุ้นอเมริกาขึ้นมาตลอด ถ้าลงทุนระยะยาวแล้วถือมาเรื่อยๆ ยังไงก็ยังกำไร
  • ต่างจากเมืองไทย ที่ดัชนีหุ้น 7-8 ปี ไม่เคยขึ้นเลย เคยขึ้นไป 1700-1800 แล้วก็ตกลงมา ไม่ไปไหนเลย 7-8 ปี
  • เพราะฉะนั้น ตอนนี้เราเจ็บกว่าคนอื่น เพราะคนอื่นขึ้นแล้วตก ขณะที่เราไม่ขึ้น แต่เวลาตก ตกเท่ากับเค้า
  • ช่วงวิกฤตซับไพร์ม หุ้นไทยตกจาก 800 เป็น 400 จุด แต่แค่สองปีก็กลับขึ้นเป็น 1010 จุด ซึ่งก็คือจุดที่เป็นอยู่ตอนนี้ เท่ากับว่า เวลาผ่านมาสิบปี เราย้อนกลับไปสู่จุดเดิม ซึ่งเป็นอะไรที่หนักมาก
  • การจะซื้อหุ้นได้หรือยัง ต้องดูพื้นฐานเศรษฐกิจ ดูเรื่องของโควิด แกเชื่อว่าถ้าโควิดดีขึ้น มีความชัดเจนขึ้น ส่วนราคาน้ำมัน เดี๋ยวเค้าคงต้องทำอะไรให้มันปรับขึ้นมา ถึงจุดนั้นหุ้นจะเด้งแน่นอน แล้วคนที่กล้าลงตอนนี้ก็จะได้กำไร
  • แต่หลังจากนั้น เมื่อวิกฤตหายไป เมื่อฝุ่นหายตลบ สิ่งสำคัญก็จะกลายเป็นเรื่องพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่น่าเสียดายที่พื้นฐานเศรษฐกิจของไทยตกต่ำมานานหลายปี 5-6 ปี ที่ผ่านมา GDP โตแค่ 3% และจะลดลงอีก ส่วนสำคัญเพราะคนอายุมากขึ้น 
  • นอกจากนี้ เมืองไทยนอกจากคนจะแก่ตัวลงแล้ว ยังไม่มีเศรษฐกิจใหม่ๆ โอกาสเพิ่มประสิทธิภาพจึงยาก
  • ทุกคนถ้ามีเงินเหลือต้องลงทุน อย่าเอาเงินฝากไว้เฉยๆ เพราะการฝากเงินเป็นการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนน้อยมาก และสุดท้ายดอกเบี้ยจะลงไปเกือบเป็นศูนย์ ถ้าทิ้งเงินไว้ในแบงก์จะเสียหายเยอะ และเสียหายไปเรื่อยๆ ทุกปี
  • ตอนนี้หุ้นไทยให้ผลตอบแทน 4% แล้ว หากลงทุนในหุ้นต่อไป ต่อให้ไม่ขึ้น ก็ยังได้ปันผลอาจถึง 5-6% แล้วอย่างนี้จะไม่เอาหรือ?
  • หุ้นใหญ่ๆ ตอนนี้ลงมามาก จนลงต่อได้ยากแล้ว ต้องกล้าเข้า และต้องตัดสินใจเลือกให้ถูก ให้ดูเป็นรายตัว แต่ถ้าไม่รู้จริงๆ ก็ซื้อ SET50 ไปเลย
  • ให้ดูหุ้นที่เจ๊งไม่ได้ เช่น หุ้นโทรศัพท์มือถือ เศรษฐกิจจะตกต่ำยังไง คนก็ต้องใช้ ยิ่งคนออกจากบ้านไม่ได้ ก็ย่ิงต้องใช้โทรศัพท์ ใช้เน็ต รายได้-กำไรจึงไม่น่าจะลด ปันผลตอนนี้ 4-5% หุ้นพวกนี้ถ้าเจ๊ง ตัวเราเองก็มีชีวิตอยู่ไม่ได้ ไม่มีโทรศัพท์ ไม่มีเน็ต จะอยู่ได้อย่างไร
  • หรือพวกสาธารณูปโภค พวกธนาคาร พวกนี้ถ้าเจ๊ง ชีวิตเราอยู่ไม่ได้ แต่ต้องดูปันผลด้วย อย่าไปซื้อหุ้นปันผลน้อยๆ
  • ให้ดูหุ้นเป็นรายตัว เกณฑ์คือ ต้องมั่นคง ไม่ถูกดิสรัป มีความจำเป็น รายได้กำไรไม่ลด ปันผลต้องดี 4% ขึ้นไป อาจไม่ต้องเป็นหุ้นใหญ่มาก แต่เป็นหุ้นหลักของอุตสาหกรรม
  • ไม่ต้องไปมองพันธบัตร ดอกเบี้ยแค่ 2-3% แต่เสี่ยงกว่าซะอีก ยิ่งหุ้นกู้ เศรษฐกิจไม่ดี ยิ่งไม่รู้บริษัทจะมีปัญญาใช้หนี้เรามั้ย แม้จะให้ดอกเบี้ยดี แต่ไม่รู้ซื้อไปแล้วจะได้เงินคืนมั้ย จะไปซื้อทองก็ไม่มีดอกผล บางทีอยู่ๆ ก็ตก
  • ตัว ดร.นิเวศน์ เองพลาดมาก เพราะเคยมองว่าวิกฤตจะมา จึงทยอยขายหุ้น จนถือเงินสด 20% ปรากฏว่าพอหุ้นไม่ลงสักที ก็คิดว่าวิกฤตไม่มาแล้ว เลยเข้าไปซื้อ พอซื้อแล้ววิกฤตค่อยมา ก็เลยเจ็บตัว
  • แต่ในเมื่อเจ็บตัวแล้ว “จงอย่าเจ็บแบบหายนะ” ตอนนี้ตัวแกเองกำเงินสด 5% ที่เหลือ กำลังรอเข้ารอบสุดท้ายอยู่

ต้นแบบวีไอไทย

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร เกิดในครอบครัวคนจีนยากจนที่กรุงเทพมหานครในย่านตรอกจันทน์ เขตยานนาวา เขาไม่ทราบแม้วันเกิดที่แท้จริงของตัวเอง บิดามารดาเป็นคนจีนกวางตุ้ง เดินทางมาจากเมืองจีนแบบเสื่อผืนหมอนใบ สมัยเด็กอยู่บ้านหลังคามุงจาก พ่อเป็นช่างก่อสร้าง หาเช้ากินค่ำ ความเป็นอยู่ลำบากมาก ของขวัญวันเกิดที่วิเศษมากสำหรับเขาคือได้กินบะหมี่หนึ่งชาม

ดร.นิเวศน์มีพี่น้องสามคน โดยตัวเองเป็นคนสุดท้อง และเป็นคนเดียวในครอบครัวที่ได้เรียนหนังสือ เด็กชายนิเวศน์เริ่มเรียนหนังสือที่ “โรงเรียนวัดดอน” (วัดที่ร่ำลือไปทั่วประเทศว่ามีป่าช้าผีดุมาก คือ “ป่าช้าวัดดอน” นั่นเอง) จนถึง ป.7 แล้วมาศึกษาต่อมัธยมศึกษาที่ รร.วัดสุทธิวราราม จนถึง ม.3 ก่อนจะสอบเข้า ม.ปลาย ที่ รร.เตรียมอุดมศึกษา

สมัยเด็ก เขาเคยทำการค้าเล็กๆ น้อยๆ โดยซื้อหมากฝรั่งหนึ่งแถวราคา 7.50 บาท เอามาขายปลีก ขายจนหมดทั้งแถวได้เงิน 11 บาท แล้วเอาไปซื้อขนมอื่นๆ จากตลาดน้อยมาขายเพิ่ม (คล้ายกับวอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่ซื้อโค้กหนึ่งแพ็คมาขายปลีกยังไงยังงั้น)

ดร.นิเวศน์เป็นคนเรียนดีมาโดยตลอด วิชาที่เขาชอบมากคือคณิตศาสตร์และเรขาคณิต แม้จะเรียนเก่ง แต่เขาไม่สนใจที่จะเรียนแพทย์ เพราะไม่ชอบวิชาชีววิทยา และรู้สึกว่าอาชีพหมอใช้เวลาเรียนนานเกิน เนื่องจากตัวเขาฐานะยากจน จึงอยากเรียนจบเร็วๆ เพื่อออกมาทำงานหาเงินใช้มากกว่า ทำให้ตัดสินใจสอบเอ็นทรานซ์เข้าเรียนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาเครื่องกล

ระหว่างเรียนที่จุฬาฯ ดร.นิเวศน์ทำกิจกรรมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการออกค่าย สร้างฝายเก็บน้ำ ทำห้องสมุดให้กับเด็กยากไร้ ฯลฯ ซึ่งทำให้เขาได้เห็นโลกในมุมมองที่กว้างขวางขึ้น เขาบอกว่า ประสบการณ์ชีวิตสมัยเรียนปริญญาตรี มีส่วนสำคัญที่สุดในการหล่อหลอมให้เขาเป็นตัวเขาอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

หลังจากเรียนจบ งานแรกของ ดร.นิเวศน์ คือทำงานที่โรงงานน้ำตาลแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ที่ต่างจังหวัด เหตุผลที่เลือกงานดังกล่าวเพราะมี OT ทำให้ได้เงินเดือนเพิ่มเกือบสองเท่า ทั้งยังกินอยู่ฟรี หลังจากทำงานได้สองปี ดร.นิเวศน์ ได้มาเรียนต่อปริญญาโทที่นิด้า สาขาการตลาด จากการชักชวนของ ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา เพื่อนสนิท

พอจบโทได้สองปี ดร.นิเวศน์จึงลาออกจากงานที่โรงงานน้ำตาล เพื่อตาม ดร.ไพบูลย์ ไปเรียนต่อปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา ณ University of Mississippi โดยต้องสอบโทเฟลถึงสองรอบจึงผ่าน เนื่องจากไม่เก่งภาษาอังกฤษ

ครั้นจบปริญญาเอก ได้เป็นด็อกเตอร์ เขาจึงกลับมาเมืองไทย และเข้าสู่แวดวงการเงินเป็นครั้งแรก โดยไปทำงานที่ IFCT ก่อนจะย้ายไปทำงานที่นวธนกิจ เมื่อนวธรกิจปิดกิจการจึงไปเป็นที่ปรึกษาของดีแทค และไปทำงานที่ธนาคารนครหลวงไทยเป็นที่สุดท้าย

ดร.นิเวศน์เริ่ม “เล่นหุ้น” ในปี 2539 ระหว่างทำงานที่นวธรกิจ โดยใช้วิธีเก็งกำไร ซื้อๆ ขายๆ เหมือนนักลงทุนทั่วไป ก่อนจะเบนเข็มมาศึกษาแนวทาง “การลงทุนแบบเน้นคุณค่า” โดยอ่านคัมภีร์ของกูรูระดับโลกมากมายหลายเล่ม ที่สำคัญคือหนังสือ “The Intelligent Investor” ของเบนจามิน เกรแฮม ซึ่งเป็นเล่มเดียวกับที่จุดประกายให้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ สนใจการลงทุน เช่นเดียวกับ ดร.นิเวศน์เองที่ตัดสินใจเลือกแนวทางนี้ตลอดมา

ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 40 ดร.นิเวศน์ได้ใช้แนวทาง Value Investment เข้าไปเก็บหุ้นไทยในภาวะที่หุ้นทั้งตลาดราคาถูกมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ด้วยเงินต้น “10 ล้านบาท” ที่เก็บหอมรอมริบจากการทำงานประจำมาตลอดชีวิต ก่อนจะใช้เวลาสิบปี ทำให้พอร์ตการลงทุนเติบโตขึ้นจนมีมูลค่ากว่า “1,000 ล้านบาท” !!

นอกจากการเป็นนักลงทุนแล้ว ในปี 2541 เขายังได้เขียนหนังสือชื่อ “ตีแตก” ซึ่งเป็นเรื่องราวของโอกาสและความเป็นไปได้เพื่อประยุกต์ใช้กับการลงทุน และกลายเป็นหนังสือการลงทุนยอดนิยมของเมืองไทยมาเป็นเวลากว่าหนึ่งทศวรรษจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนี้ เขายังมีผลงานหนังสืออีกหลายเล่ม และจัดรายการโทรทัศน์ – วิทยุ ซึ่งมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก

ดร.นิเวศน์ บอกว่าจุดเปลี่ยนที่ทำให้เลือกเส้นทางเดินนี้ก็เพราะเขาได้ค้นพบตัวเองแล้วว่าชีวิตของเขาจะต้องเป็น “นักลงทุน” เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เขาบอกว่าตนเองได้รู้เป้าหมายของชีวิตอย่างชัดเจน จึงเลือกที่จะทำในสิ่งที่นำตัวเองไปมุ่งสู่เป้าหมายที่ต้องการ โดยจะไม่ “แวะข้างทาง” ให้เสียเวลาอีกต่อไป

ทุกวันนี้ แม้จะไม่เป็นที่เปิดเผยอย่างเป็นทางการ แต่จากการคิดคำนวณของ VI ไทยหลายคน คาดกันว่าพอร์ตการลงทุนของ ดร.นิเวศน์ มีค่าร่วม 1,500 ล้าน หรืออาจจะเกิน 2,000 ล้านบาท เอาเฉพาะเงินปันผลของเขาแต่ละปี ก็เกินกว่าเงินต้น 10 ล้านบาทที่เริ่มลงทุนไปหลายต่อหลายเท่า

คุณูปการของ ดร.นิเวศน์ ประการหนึ่งซึ่งประเมินค่าไม่ได้สำหรับแวดวงการลงทุนไทยก็คือ เขาเป็นผู้พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า การลงทุนแบบเน้นคุณค่านั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปได้จริงในประเทศนี้ และลบล้างความเชื่อที่ว่า ตลาดหลักทรัพย์ไทยไม่สามารถใช้การลงทุนแบบเน้นพื้นฐานออกไปได้อย่างถาวร

ทุกวันนี้ หลายคนขนานนาม ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ว่าเป็น “วอร์เรน บัฟเฟตต์ เมืองไทย” แต่ที่แน่ๆ เขาคือ “ต้นแบบของวีไอไทย” ตัวจริงเสียงจริง ชนิดที่ไม่มีใครกล้าปฏิเสธอย่างแน่นอน