เมื่อ “ปู่” พูดถึง “ทอง”

IMG_1749

แปลและเรียบเรียง โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

“ถ้าคุณเอาทองคำในโลกมาหลอมรวมกัน มันจะเป็นก้อนลูกบาศก์ขนาดด้านละ 67 ฟุต และด้วยทองคำก้อนนี้ มันจะมีค่าเท่ากับเงินทุกวันนี้ 7 ล้านล้านเหรียญ .. ซึ่งคุณเอาไปซื้อไร่ทั้งหมดในสหรัฐฯ และเอ็กซอนโมบิลได้อีก 7 บริษัท แล้วยังเหลือเงินติดกระเป๋าอีก 1 ล้านล้านเหรียญ  .. และถ้าคุณให้ผมเลือกระหว่างทองคำ 67 ฟุตให้ผมนั่งมองทั้งวัน คุณให้ผมจับและเพลิดเพลินกับมัน … คุณอาจจะว่าผมบ้าก็ได้นะ แต่ผมจะเลือกไร่และเอ็กซอนโมบิล”

“ผมยอมรับว่า แม้อีกหนึ่งศตวรรษนับจากนี้ เมื่อผู้คนเกิดความกลัว พวกเขาก็น่าจะยังแห่กันไปหาทองคำ อย่างไรก็ตาม ผมก็มั่นใจอย่างยิ่งว่า ก้อน A มูลค่า 9.6 ล้านล้านเหรียญ (ไร่ทั้งหมดในสหรัฐฯ กับเอ็กซอนโมบิล 7 บริษัท) จะทบทวีขึ้นไปในอัตราเหนือกว่าที่ก้อน B (ทองคำทั้งโลก) ทำได้แน่นอน”

“ทองคำถูกขุดขึ้นจากดินในแอฟริกาหรือที่อื่นๆ จากนั้นเราก็หลอมมัน ขุดหลุมอีกหนึ่งหลุม ฝังกลบมันลงไป แล้วก็จ้างคนมายืนรอบๆ หลุมเพื่อเฝ้ามันไว้ ไม่มีประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น ถ้ามีสิ่งมีชีวิตมองลงมาจากดาวอังคาร มันคงเกาหัวแกรกๆ ด้วยความงง”

“ทองคำมีข้อเสียใหญ่ๆ อยู่สองข้อ คือมันใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้มากนัก ทั้งยังสร้างผลผลิตอะไรไม่ได้เลย จริงอยู่ ทองคำอาจจะมีอรรถประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมและใช้เป็นเครื่องประดับได้บ้าง แต่อุปสงค์ในแง่ดังกล่าวยากเหลือเกินที่จะดูดซับผลผลิตที่ออกมาใหม่”

“ถ้าคุณถือทองคำไว้หนึ่งออนซ์ตลอดกาล คุณจะยังมีทองคำแค่หนึ่งออนซ์ตลอดไป”

“ทองคำคือวิธี long ความกลัว และมันก็เป็นวิธี long ความกลัวที่ดีอยู่บ้างเป็นครั้งคราว แต่คุณต้องหวังมากๆ เลยว่า ในอีกหนึ่งหรือสองปีข้างหน้า จะมีคนที่กลัวมากกว่าที่คุณกลัวอยู่ในตอนนี้ และถ้าพวกเขากลัวมากกว่าคุณ คุณจึงจะได้เงิน แต่ถ้าพวกเขากลัวน้อยกว่าคุณ คุณก็จะเสียเงิน แต่ทองคำด้วยตัวของมันเองจะไม่ให้อะไรคุณเลย”

 

ป๋าคลั่ง! ตะลุยซื้อทองหมื่นกว่าล้าน

IMG_1654
โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
เรย์ ดาลิโอ ยังแน่วแน่ไม่เปลี่ยน ล่าสุด กองทุนบริดจ์วอเทอร์ของเขา ไล่เก็บทองคำมูลค่า
ถึง 400 ล้านเหรียญ (12,800 ล้านบาท) ในไตรมาสที่สอง
จากแบบ 13F ที่รายงานต่อ กลต.เปิดเผยว่า บริษัทของป๋าได้สอยทองคำเข้าพอร์ต ไว้ใน ETF ทองคำสองกอง ได้แก่ iShares Gold Trust และ SPDR Gold Trust ซึ่งทั้งสองกองเป็น ETF ทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ทั้งนี้ มูลค่าทองคำใน SPDR กองเดียว ก็ปาเข้าไปถึง 914.3 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก Q1 ซึ่งอยู่ที่ 600 ล้านเหรียญ หรือเพิ่มราว 52% เช่นเดียวกับกองทุน iShares ที่มีทองเพิ่มขึ้นจาก 176 ล้าน เป็น 268.4 ล้านเหรียญ เพิ่มราว 52% เช่นกัน โดยทั้งสองกองถือทองคำไว้ 40 และ 16 ล้านออนซ์ ตามลำดับ
จะเห็นได้ว่า “ป๋าเรย์” กำลังไล่เก็บทองคำอุตลุตเลยทีเดียว
โดย ณ สิ้นสุด Q2 พอร์ตของบริดจ์วอเทอร์ มีมูลค่าอยู่ที่ 5,960 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นจาก Q1 ประมาณ 1,000 ล้านเหรียญ ซึ่งถือว่าไม่ขี้เหร่ แม้ก่อนหน้านี้ในช่วงต้นของการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส ดาลิโอจะบ่นว่าตัวเองทำพลาดไปมากมาย
ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ราคาทองคำได้ปรับตัวขึ้นถึง 26% และยังอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ ทำให้นักลงทุนแห่กันเข้ามาซื้อ ETF ทองคำเป็นจำนวนมาก จนล่าสุด ETF ทั่วโลกถือทองคำไว้รวมกันมากกว่าธนาคารกลางเยอรมนีเสียอีก จะเป็นรองก็แต่ธนาคารกลางสหรัฐฯ เท่านั้น

สาเหตุสำคัญที่ราคาทองคำขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี ได้แก่ การอ่อนลงของเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ อันเป็นผลจากนโยบายการเงินที่ปั๊มเงินเข้าระบบเพื่อกู้เศรษฐกิจจากวิกฤตโคโรน่าไวรัส ส่งผลให้ค่าเงินอ่อนและดอกเบี้ยต่ำ คนจึงหันมาสะสมทองคำ ซึ่งถูกทองว่าเป็นแหล่งเก็บเงินที่ปลอดภัย

และแม้เมื่อไม่กี่วันก่อนทองจะตกลงมาเยอะ เพราะมีการเตือนกันว่าราคาเฟ้อเกินไปแล้ว แต่หลายฝ่ายก็เชื่อว่า ด้วยสถานการณ์โลกที่ยังไม่มีความแน่นอน บวกกับเงินดอลลาร์ที่สาละวันเตี้ยลง น่าจะทำให้ราคาทองคำยังเป็นขาขึ้นต่อไป
———
ข้อมูลประกอบจาก Business Insider และ Bloomberg

บัฟเฟตต์: ทำไม “หุ้น” จึงเหนือกว่า “ทองคำ”

[บทความต่อไปนี้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ เขียนลงในนิตยสาร Fortune ฉบับวันที่ 27 ก.พ. 2012 ถอดความเป็นภาษาไทยโดย คุณชัชวนันท์ สันธิเดช หนึ่งในทีมงาน Club VI เผยแพร่ไว้ตั้งแต่เดือน ก.พ. 2012 ปัจจุบันมีผู้ “ตัดตอน” บางส่วนของบทความแปลนี้ ไปโพสต์ในเว็บไซต์ต่างๆ ดังนั้น Club VI จึงขอเอา “ฉบับเต็ม” จากผู้แปล มาเผยแพร่ไว้ ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่งครับ]

“หุ้น” เหนือกว่า “ทองคำ” และ “พันธบัตร” อย่างไร

วอร์เรน บัฟเฟตต์ เขียน
ชัชวนันท์ สันธิเดช แปล

ผู้คนมักกล่าวว่า การลงทุน คือการกระบวนการในการเอาเงินออกมาบริหาร โดยหวังว่าจะได้รับเงินมากขึ้นในอนาคต

แต่ที่เบิร์คไชร์ แฮธาเวย์ เราใช้หลักที่เข้มงวดกว่านั้นมาก เราให้คำจำกัดความของ การลงทุน ว่าเป็นการส่งต่ออำนาจซื้อไปสู่ผู้อื่น ด้วยความคาดหวังอย่างมีเหตุผลว่าจะเกิดเป็นอำนาจซื้อที่มากขึ้นในอนาคต หลังจากหักภาษีในอัตราที่น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้

หากจะให้ชี้ชัดยิ่งขึ้น ต้องบอกว่า การลงทุนคือการผัดผ่อนการบริโภค ณ วันนี้ เพื่อให้มีความสามารถที่จะบริโภคได้มากขึ้นในวันข้างหน้า

ด้วยนิยามของเรา จึงก่อให้เกิดผลที่ตามมาอันสำคัญยิ่งประการหนึ่ง กล่าวคือ ความเสี่ยงจากการลงทุน มิอาจวัดได้โดยค่าเบต้า (อันเป็นค่าที่คนในวอลล์สตรีทชอบใช้กัน) หากแต่วัดได้โดยหลักความน่าจะเป็น แต่ต้องเป็น ความน่าจะเป็นอย่างมีเหตุผล ที่ผู้ที่เป็นเจ้าของเงินจะสูญเสียอำนาจซื้อหลังจากถือสินทรัพย์นั้นไประยะหนึ่ง

ทั้งนี้ ราคาของสินทรัพย์อาจผันผวนขึ้นลงอย่างรุนแรงได้โดยไม่มีความเสี่ยงอันใด หากว่ามันยังคงเพิ่มอำนาจซื้อให้กับผู้ถือสินทรัพย์นั้นอย่างมั่นคงและแน่นอน หลังจากถือมันไว้ระยะหนึ่ง ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า แม้สินทรัพย์ที่ราคาไม่ผันผวนเลย ก็อาจเต็มไปด้วยความเสี่ยงได้

ความน่าจะเป็นในการลงทุนนั้นมีอยู่มากมายและหลากหลาย อย่างไรก็ตาม ความน่าจะเป็นดังกล่าวสามารถแบ่งออกได้เป็นสามประเภทหลักๆ ซึ่งเราจำเป็นที่จะต้องเข้าใจคุณลักษณะของความน่าจะเป็นแต่ละประเภท เรามาดูกันเถอะครับ

การลงทุนต่างๆ ที่อิงกับค่าเงิน เช่น กองทุนตลาดเงิน (Money Market Fund) พันธบัตร การจดจำนอง เงินฝากธนาคาร และอื่นๆ มักถูกเข้าใจว่ามี “ความปลอดภัย” แต่ที่จริงแล้ว พวกมันคือสินทรัพย์ที่อันตรายที่สุด ค่าเบต้าของมันอาจจะเป็นศูนย์ แต่ความเสี่ยงนั้นมากมายเหลือเกิน

ในศตวรรษที่ผ่านมา เครื่องมือเหล่านี้ได้ทำลายอำนาจซื้อของนักลงทุนในหลายต่อหลายประเทศ แม้ว่าคนที่ถือมันอยู่จะได้รับผลตอบแทนเป็นระยะๆ ทั้งในรูปของดอกเบี้ยและเงินต้น แต่ผลลัพธ์อันอัปลักษณ์จะยังคงอยู่ตลอดไป

รัฐบาลเป็นผู้กำหนดมูลค่าของเงินตรา แต่ระบบที่เป็นอยู่จะบีบบังคับให้รัฐบาลต้องไหลตามน้ำ โดยใช้นโยบายที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ และมีหลายครั้งหลายหนที่นโยบายเหล่านั้นหลุดออกไปอยู่เหนือความควบคุม

แม้แต่ในสหรัฐอเมริกา ประเทศที่ผู้คนคาดหวังว่าค่าเงินน่าจะมีความแข็งแกร่ง เงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ก็ยังลดค่าลงถึง 86% ตั้งแต่ปี 1965 ซึ่งเป็นเวลาที่ผมเข้ามาบริหารเบิร์คไชร์ ณ วันนี้ เราต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 7 ดอลล่าร์ เพื่อซื้อสิ่งที่เราเคยซื้อได้ด้วยเงิน 1 ดอลล่าร์ ในเวลานั้น

ด้วยเหตุนี้ กองทุนหรือสถาบันการเงินใดๆ ที่ไม่มีภาระต้องจ่ายภาษี จึงต้องทำดอกเบี้ยให้ได้ถึง 4.3% ต่อปี จากการลงทุนในตั๋วเงินคลังของสหรัฐอเมริกาตลอดระยะเวลาดังกล่าว จึงจะสามารถรักษาอำนาจซื้อของตัวเองไว้ได้ ผู้จัดการของกองทุนหรือสถาบันการเงินเหล่านั้นคงกำลังหลอกตัวเองแน่ๆ ถ้าพวกเขาจะเรียกดอกเบี้ยที่ได้รับว่า “รายได้”

สำหรับนักลงทุนที่ต้องจ่ายภาษีอย่างคุณและผม ภาพที่เห็นกลับเลวร้ายยิ่งขึ้น ตลอดระยะเวลา 47 ปีที่ผ่านมา ตั๋วเงินคลังของสหรัฐอเมริกาให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5.7% ต่อปี ฟังดูแล้วเหมือนจะน่าพอใจ แต่ถ้านักลงทุนแต่ละคนจ่ายภาษีในอัตรา 25% ต่อปี ผลตอบแทน 5.7% นี้ จะทำให้พวกเขาไม่ได้อะไรเลยในแง่ของรายได้ที่แท้จริง

ภาษีเงินได้ที่พวกเขาต้องจ่าย จะกินผลตอบแทนที่ว่าไปถึง 1.4% ในขณะที่ “ภาษีเงินเฟ้อ” ซึ่งมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น จะกัดกินผลตอบแทนอีก 4.3% ที่เหลือจนหมดสิ้น

ที่น่าสังเกตก็คือ ภาษีเงินเฟ้อ มีค่ามากกว่าภาษีเงินได้ธรรมดาที่นักลงทุนคิดว่าเป็นภาระหลักของพวกเขาถึงเกือบ 3 เท่า

ในธนบัตรอาจมีคำว่า “เราเชื่อมั่นในพระเจ้า” (In God We Trust) อยู่ก็จริง แต่มือที่ทำให้เครื่องพิมพ์เงินของประเทศเราพิมพ์ธนบัตรออกมานั้น เป็นมือของคนเดินดินธรรมดาๆ นี่เอง

แน่นอนว่าอัตราดอกเบี้ยสูงๆ จะช่วยชดเชยความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่เกิดจากการลงทุนซึ่งอิงกับค่าเงินได้ และอัตราดอกเบี้ยในทศวรรษที่ 80 ก็อยู่ในระดับที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน ไม่สามารถที่จะครอบคลุมความเสี่ยงจากการสูญเสียอำนาจซื้อดังกล่าวได้เลยแม้แต่น้อย ที่จริงแล้ว พันธบัตรควรมีฉลากคำเตือนให้ระวังอันตรายแปะอยู่ด้วยซ้ำ

ภายใต้สภาวการณ์ทุกวันนี้ ผมจึงไม่ชอบการลงทุนใดๆ ที่อิงกับค่าเงิน อย่างไรก็ตาม เบิร์คไชร์ ฮาแธเวย์ ก็ยังมีการลงทุนเหล่านั้นอยู่พอสมควรในรูปแบบของการลงทุนระยะสั้นต่างๆ สำหรับ เบิร์คไชร์ สภาพคล่องจำนวนมหาศาลถือเป็นหัวใจสำคัญ และเป็นสิ่งที่เรา ไม่มีทาง จะละเลย

เราจำเป็นต้องมองข้ามอัตราผลตอบแทนที่ไม่เพียงพอนั้น เพื่อคงไว้ซึ่งสภาพคล่องมหาศาล เราจึงถือตั๋วเงินคลัง ซึ่งเป็นการลงทุนประเภทเดียวที่พอจะไว้วางใจได้ในเรื่องของสภาพคล่อง ภายใต้สภาวะทางเศรษฐกิจที่แสนจะสับสนอลหม่านดังเช่นในปัจจุบัน บนหน้าตักของเราในเวลานี้มีอยู่ราวๆ 2 หมื่นล้านดอลล่าร์ และอย่างน้อยที่สุดต้องมี 1 หมื่นล้านดอลล่าร์สำรองไว้เสมอ

นอกเหนือจากความจำเป็นในเรื่องของสภาพคล่องและกฎระเบียบต่างๆ แล้ว เราจะซื้อหลักทรัพย์ที่อิงกับค่าเงินก็ต่อเมื่อมีโอกาสที่มันจะให้ผลตอบแทนในระดับที่สูงผิดปกติเท่านั้น เช่น เมื่อมีการตั้งราคาสินเชื่อผิดๆ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวในช่วงเวลาของวิกฤตการเงิน จนเกิดเป็นพันธบัตรขยะ (Junk Bonds) มากมาย หรือเมื่ออัตราดอกเบี้ยนั้นสูง จนเราสามารถที่จะทำกำไรจากพันธบัตรชั้นดีได้ในเวลาที่อัตราดอกเบี้ยนั้นลดลง

แม้ว่าในอดีต เราจะเคยศึกษาถึงโอกาสที่ทั้งสองเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้น และอาจทำการศึกษาซ้ำอีกในอนาคต แต่ตอนนี้ เราแทบไม่เห็นว่าความคาดหวังดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้เลย

ณ วันนี้ ความเห็นของ เชลบี้ คัลลอม คนในวอลล์สตรีทที่เคยพูดเอาไว้เมื่อนานมาแล้วดูเหมือนจะเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน “พันธบัตรที่เชื่อกันว่าให้ผลตอบแทนโดยไม่มีความเสี่ยง กำลังถูกตั้งราคาราวกับมันเป็นสิ่งที่ให้ความเสี่ยงโดยไม่มีผลตอบแทน”

การลงทุนอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องของสินทรัพย์ที่ไม่มีวันจะทำให้เกิดผลิตผลอะไรขึ้นมาได้เลย แต่ผู้คนกลับชอบที่จะซื้อหา เนื่องจากผู้ซื้อมีความหวังว่าใครสักคน ซึ่งย่อมรู้เช่นเดียวกันว่าสินทรัพย์ชนิดนี้จะไม่มีวันทำให้เกิดประโยชน์โพดผลใดๆ จักยอมจ่ายในราคาที่สูงกว่าเพื่อซื้อมัน อาทิเช่น ดอกทิวลิป ซึ่งได้กลายเป็นสินค้ายอดนิยมของผู้คนในศตวรรษที่ 17

การลงทุนจำพวกนี้ ต้องมีกลุ่มของผู้ซื้อที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ โดยผู้ซื้อถูกล่อให้แห่กันเข้ามาด้วยความเชื่อที่ว่ากลุ่มของคนที่เป็นแบบพวกเขาจะขยายตัวต่อไปอีก

ผู้ถือสินทรัพย์ชนิดนี้มิได้มีแรงบันดาลใจว่าตัวสินทรัพย์ที่พวกเขาถือจะสร้างผลผลิตใดๆ ทั้งยังรู้ดีกว่าสินทรัพย์นั้นจะยังคงไร้ชีวิตตลอดไป พวกเขาเพียงหวังว่าคนอื่นๆ จะปรารถนามันมากยิ่งขึ้นในอนาคต

ในบรรดาสินทรัพย์จำพวกนี้ อันดับหนึ่งคือ “ทองคำ” ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของนักลงทุนที่กลัวสินทรัพย์อื่นๆ แทบจะทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินกระดาษ (อันที่จริง สินทรัพย์หลายชนิดก็มีเหตุผลควรที่สมควรจะกลัวอยู่)

อย่างไรก็ตาม ทองคำมีจุดอ่อนอยู่สองประการ คือ ตัวมันเองเอาไปใช้ประโยชน์อะไรไม่ค่อยได้ ทั้งยังไม่ทำให้เกิดผลิตผลอะไรขึ้นมาได้เลย จริงอยู่ที่ทองคำมีประโยชน์ในแง่ของอุตสาหกรรมและใช้เป็นเครื่องประดับได้ แต่อุปสงค์ในแง่ดังกล่าวมีอยู่จำกัด และไม่สามารถทำให้ทองเพิ่มปริมาณขึ้นได้

ถ้าคุณมีทองคำหนึ่งออนซ์ ทองคำนั้นย่อมมีปริมาณหนึ่งออนซ์เท่าเดิมตราบจนชั่วกัลปาวสาน

สิ่งสำคัญที่ดึงดูดแฟนพันธุ์แท้ทองคำคือความเชื่อที่ว่า ผู้คนจะเกิดความกลัวในสินทรัพย์อื่นมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ความเชื่อดังกล่าวก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นความจริง

ยิ่งไปกว่านั้น ราคาที่สูงขึ้นของทองคำก็ยิ่งทำให้คนมีความกระตือรือร้นอยากจะซื้อมัน จนดึงดูดให้ผู้ลงทุนเชื่อว่าการเพิ่มขึ้นของราคาทองเป็นไปตามข้อสรุปทางการลงทุนที่สมเหตุสมผลแล้ว

นักลงทุนที่ชอบแห่ตามกันไม่ว่าจะเป็นการลงทุนประเภทไหน มักจะสร้างความจริงของตัวเองขึ้นมาเสมอ อย่างน้อยก็ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ทั้งหุ้นอินเทอร์เน็ตและบ้านได้แสดงให้เห็นถึงภาวะความเฟ้อเกินไป อันเป็นผลมาจากการผสมผสานกันระหว่างข้อสรุปที่มีเหตุผลกับราคาที่เกินกว่าเหตุ

ในภาวะฟองสบู่ มหาชนที่เคยลังเลสงสัย มักยอมศิโรราบต่อ “ข้อพิสูจน์” ที่ตลาด “จัดให้” และกลุ่มของผู้ซื้อก็จะขยายตัวออกไปอย่างใหญ่หลวง จนเพียงพอที่จะทำให้พฤติกรรมแห่ตามกันนั้นหมุนเวียนต่อไปเรื่อยๆ แต่แล้วฟองสบู่ที่โตเกินก็จะแตกโพละออก และเมื่อนั้น ภาษิตโบราณก็จักได้รับการตอกย้ำอีกครั้งหนึ่ง …

“สิ่งที่คนฉลาดทำในตอนเริ่มต้น คนโง่จะทำมันในท้ายที่สุด”

ณ วันนี้ คลังทองคำของโลกมีอยู่ประมาณ 170,000 เมตริกตัน หากเอาทองทั้งหมดมาหลอมรวมกัน เราจะได้ลูกบาศก์ทองคำที่มีความกว้างยาวลึกด้านละ 68 ฟุต (เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ขนาดของมันวางลงบนสนามเบสบอลได้พอดิบพอดี) ณ ราคา 1,750 ดอลล่าร์ต่อออนซ์ ในเวลาที่ผมเขียนบทความนี้ ราคาของทองคำทั้งหมดในโลกจะมีมูลค่ารวมกันเท่ากับ 9.6 ล้านล้านดอลล่าร์ โดยเราจะเรียกสิ่งนี้ว่า “ก้อน A”

เอาล่ะ ทีนี้มาสร้าง “ก้อน B” กันบ้าง ก้อน B ที่ว่านี้มีราคาเท่ากับก้อน A แต่เราสามารถใช้มันซื้อไร่นาทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา (จำนวน 400 ล้านเอเคอร์ ทำรายได้รวมกัน 2 แสนล้านเหรียญต่อปี) บวกกับบริษัท Exxon Mobil จำนวน 16 บริษัท (Exxon Mobil คือบริษัทที่ทำกำไรได้มากที่สุดในโลก โดยสมมุติว่าเรามีบริษัทนี้อยู่ 16 แห่ง แต่ละแห่งทำกำไรได้ปีละ 4 หมื่นล้านเหรียญ) หลังจากซื้อของดังกล่าวแล้ว เราจะยังเหลือเงินติดตัวไว้ใช้ราวๆ หนึ่งล้านล้านดอลล่าร์ (สมมุติว่าเราไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองใช้เงินเกินตัว)

คุณพอจะใช้จินตนาการได้ไหมว่า จะมีนักลงทุนคนไหนในโลกที่มีเงิน 9.6 ล้านล้านดอลล่าร์ แล้วจะเลือกซื้อก้อน A แทนที่จะซื้อก้อน B ?!!

นอกจากมูลค่าของทองจะถูกประเมินอย่างไม่สมเหตุสมผลแล้ว ราคาปัจจุบันยังทำให้ตัวมันถูกผลิตขึ้นปีละคิดเป็นมูลค่า 160,000 ล้านดอลล่าร์ ซึ่งผู้ซื้อ ไม่ว่าจะซื้อเพื่อเป็นเครื่องประดับหรือซื้อไปใช้ในทางอุตสาหกรรม รวมทั้งคนที่กำลังกลัวและนักเก็งกำไร จะค่อยๆ รับเอาอุปทานส่วนเพิ่มนี้ไว้เรื่อยๆ ก่อนที่ราคา ณ ปัจจุบันจะกลายเป็นราคาสมดุลในที่สุด

ในเวลาหนึ่งศตวรรษนับจากนี้ ที่ดิน 400 ล้านเอเคอร์จะผลิตข้าวโพด ธัญพืช ค้อตต้อน และพืชผลอื่นๆ ได้อีกเป็นจำนวนมาก และจะผลิตผลผลิตที่มีคุณค่าเหล่านั้นต่อไป ไม่ว่าค่าเงินจะเป็นอย่างไรก็ตาม ในขณะที่ Exxon Mobil จะทำเงินปันผลให้กับเจ้าของอีกนับล้านล้านเหรียญ และจะเป็นเจ้าของสินทรัพย์มูลค่าหลายล้านล้านเหรียญเช่นกัน (อย่าลืมว่าคุณมี Exxon อยู่ 16 บริษัท) ในขณะที่ทองคำ 170,000 ตัน จะไม่เพิ่มปริมาณขึ้นเลยแม้แต่นิดเดียว และไม่สามารถสร้างผลิตผลอะไรใดๆ ได้ทั้งสิ้น

คุณอาจลูบคลำก้อนทองคำนี้ด้วยความรัก แต่มันจะไม่มีปฏิกริยาตอบสนองใดๆ แน่นอน

ต้องยอมรับว่า เมื่อคนในยุคหนึ่งร้อยปีนับจากนี้รู้สึกกลัว พวกเขาก็จะยังกระโดดเข้าหาทองคำอยู่นั่นเอง อย่างไรก็ตาม ผมมั่นใจว่า ก้อน A ที่มีมูลค่า 9.6 ล้านล้านเหรียญ จะทวีมูลค่าต่อไปในอนาคตในอัตราที่ด้อยกว่าก้อน B อย่างมากเป็นแน่แท้

การลงทุนสองประเภทที่เราได้กล่าวไปจะได้รับความนิยมสูงสุดในเวลาที่ความกลัวพุ่งขึ้นถึงขีดสุด ความหวาดกลัวว่าเศรษฐกิจจะล่มสลาย ทำให้ผู้คนพากันไปถือสินทรัพย์ที่อิงกับค่าเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎข้อบังคับต่างๆ ของสหรัฐอเมริกาและความกลัวว่าค่าเงินจะล่มสลาย เป็นสิ่งที่ทำให้คนแห่กันไปหาทรัพย์สินที่เคลื่อนไหวไม่ได้อย่างทองคำมากที่สุด

เราได้ยินคำว่า “เงินสดคือพระเจ้า” (Cash is King) ในปี 2008 ซึ่งเป็นเวลาที่เราควรเอาเงินสดออกมาลงทุน ไม่ใช่เก็บไว้ เราได้ยินคำว่า “เงินสดคือขยะ” ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 อันเป็นเวลาที่การลงทุนแบบตรึงกับค่าเงินดอลล่าร์อยู่ในระดับที่น่าดึงดูดในที่สุดในความทรงจำ

ในช่วงเวลานั้น นักลงทุนที่จะทำอะไรก็ต้องรอให้ฝูงชนเห็นด้วยเสียก่อน จึงพลาดโอกาสงามๆ ครั้งใหญ่ในชีวิตไป

สำหรับความชอบส่วนตัวของผม ได้แก่ การลงทุนในประเภทที่สาม ซึ่งคุณก็รู้ว่าคืออะไร นั่นก็คือการลงทุนในสินทรัพย์ที่สร้างผลิตผล ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ เรือกสวนไร่นา หรืออสังหาริมทรัพย์ โดยอุดมคติแล้ว ทรัพย์สินทั้งหลายเหล่านี้มีศักยภาพที่จะสร้างผลตอบแทนอันทำให้ผู้เป็นเจ้าของมันยังคงรักษาอำนาจซื้อไว้ได้แม้ในเวลาที่เกิดภาวะเงินเฟ้อ โดยมีจำเป็นน้อยมากที่จะต้องเอาทุนใส่เพิ่มเข้าไป

เรือกสวนไร่นา อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจต่างๆ เช่น โคคาโคล่า ไอบีเอ็ม รวมทั้ง ซีส์ แคนดี ของเรา ได้ผ่านการทดสอบในช่วงที่เงินเฟ้อเป็นเลขสองหลักมาแล้ว ในขณะที่บริษัทอื่นๆ ก็มีบ้างที่แพ้เงินเฟ้อ เพราะต้องเอาเงินลงทุนใส่เพิ่มเข้าไปค่อนข้างมากเพื่อจะได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น เจ้าของสินทรัพย์เหล่านั้นจึงต้องลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้มากขึ้น แม้กระนั้น การลงทุนเหล่านี้ก็ยังเหนือกว่าพวกสินทรัพย์ที่ไม่สร้างผลิตผลและสินทรัพย์ที่อิงกับค่าเงินทั้งหลาย

ไม่ว่าค่าเงินในหนึ่งศตวรรษต่อจากนี้ไปจะอิงอยู่กับทองคำ เปลือกหอย ฟันฉลาม หรือกระดาษ (เหมือนที่เป็นอยู่ในวันนี้) ผู้คนก็พร้อมที่จะเอาแรงกายของตนเองในแต่ละวันเพื่อแลกกับโคคาโคล่าสักกระป๋องหรือถั่วของซีส์

ในอนาคต ประชากรอเมริกันที่เพิ่มจำนวนขึ้นย่อมจะบริโภคสินค้ามากขึ้น กินอาหารมากขึ้น และต้องการที่อยู่อาศัยมากขึ้นกว่าทุกวันนี้ ผู้คนย่อมจะแลกเปลี่ยนสิ่งที่ตัวเองผลิตได้กับสิ่งที่คนอื่นผลิตได้ตลอดไป ธุรกิจในประเทศของเราจะยังคงนำส่งสินค้าและบริการที่เป็นที่ต้องการให้กับประชาชนต่อไป

หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ธุรกิจเหล่านี้ก็คือ “วัว” ซึ่งจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกเป็นร้อยๆ ปี และให้ “นม” เราได้อีกมากมาย มูลค่าของมันมิได้วัดโดยตัวกลางในการแลกเปลี่ยนใดๆ แต่วัดจากความสามารถในการผลิตนมของมัน ยอดขายนมที่เพิ่มขึ้นจะทบต้นเป็นผลประโยชน์ของเจ้าของวัว เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อศตวรรษที่ 20 ที่ดาวเพิ่มจาก 66 ถึง 11,497 จุด (และให้ปันผลมากมายเช่นกัน)

เป้าหมายของเบิร์คไชร์ คือสะสมธุรกิจชั้นนำเข้ามาในพอร์ทให้มากขึ้น ทางเลือกแรกของเราคือเป็นเจ้าของมันทั้งหมด แต่อีกทางหนึ่งก็คือ เป็นเจ้าของโดยถือหุ้นซึ่งซื้อขายเปลี่ยนมือได้ของบริษัทนั้นในสัดส่วนพอสมควร

ผมเชื่อว่า เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง ธุรกิจเหล่านี้จะได้รับการพิสูจน์ว่าเป็น “ผู้ชนะ” เหนือกว่าสินทรัพย์ในอีกสองประเภทที่เราได้อรรถาธิบายให้ฟังแล้ว ที่สำคัญกว่าก็คือ มันจะเป็นการลงทุนที่ ปลอดภัยกว่ามาก

– จบ –

อ้างอิง – นิตยสาร Fortune ฉบับวันที่ 27 ก.พ. 2012