แอนโธนี่ โบลตัน สุภาพบุรุษยอดนักลงทุน

81RlnTfMf2L

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

แอนโธนี่ โบลตัน เป็นผู้จัดการกองทุนชื่อดังชาวอังกฤษ เขาได้รับการยอมรับว่าเป็นนักลงทุนที่ดีที่สุดของสหราชอาณาจักร แม้ ปีเตอร์ ลินช์ สุดยอดผู้จัดการกองทุนระดับตำนานยังยกย่องว่า โบลตันเป็นนักลงทุนที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของโลก

โบลตันเกิดเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 1950 ในครอบครัวชนชั้นกลางที่ประเทศอังกฤษ พ่อของเขาเป็นทนายความ และได้เลี้ยงดูฟูมฟักลูกชายในแบบของผู้ดีอังกฤษแท้ๆ เขาเป็นคนบุคลิกดี สุขุม สุภาพ ซื่อสัตย์ รู้จักวางตัวและให้เกียรติผู้อื่น ว่ากันว่าใครที่ได้รู้จักโบลตันต่างนิยมชมชอบเขาแทบทุกคน

โบลตันเรียนจบปริญญาตรีที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ก่อนจะหันเหไปทำงานในสายการเงิน โดยทำงานกับบริษัทหลักทรัพย์สองแห่ง ก่อนที่ในปี 1979 จะมาลงเอยกับ ฟิเดลิตี้ บริษัทการลงทุนชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ซึ่ง ปีเตอร์ ลินช์ ทำงานอยู่ ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการลงทุน สาขาลอนดอน คนแรกของฟิเดลิตี้

ทันทีที่รับตำแหน่ง โบลตันได้รับมอบหมายให้บริหารกองทรัสต์ชื่อ Fidelity Special Situations Trust โดยเน้นลงทุนในหุ้นยุโรป เขาได้รับอิสระอย่างเต็มที่ในการบริหาร และทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม โดยทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ถึง 19.5% ในระยะเวลา 28 ปี ระหว่างปี 1980-2007 เอาชนะ FTSE หรือดัชนีรวมหุ้นทุกตัวถึง 6 %

คนที่ลงทุนในกองทุนที่โบลตันบริหารตั้งแต่แรกเริ่มเมื่อปี 1980 ด้วยเงิน 10,000 เหรียญ เงินจำนวนนั้นจะทวีมูลค่ากลายเป็น 1,480,200 เหรียญ ณ สิ้นปี 2007

ตรงจุดนี้ ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตว่า แม้โบลตันจะทำได้ 19.5% ด้อยกว่า ปีเตอร์ ลินช์ ที่ทำได้ 29.2% เกือบ 10% แต่ลินช์บริหารกองทุนแม็คเจลแลนอยู่เพียง 13 ปี แล้วเกษียณตัวเองอย่างรวดเร็ว ขณะที่โบลตันทำงานต่อเนื่องยาวนานถึง 28 ปี ซึ่งย่อมต้องผ่านวัฏจักรต่างๆ ของตลาดหุ้นมามากกว่า

หลักการลงทุนของโบลตัน ข้อสำคัญที่สุดคือต้องกล้า “สวนกระแส” ต้องกล้าทำตรงข้ามกับฝูงชน รู้จักมองหาหุ้นที่ไม่มีใครสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทที่กำลังประสบปัญหา แต่มีสัญญาณว่ากำลังจะฟื้นตัวกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมักเป็นโอกาสงามๆ ในการลงทุน

โบลตันให้ความสำคัญกับพื้นฐานของกิจการตามหลักของ เบนจามิน เกรแฮม เขาเน้นว่าในการซื้อหุ้น เราต้องมองว่ากำลังซื้อ “ส่วนหนึ่งของธุรกิจ” และถามตัวเองว่าถ้าต้องซื้อบริษัทนั้นทั้งบริษัท จะซื้อหรือไม่ รวมทั้งควรศึกษาถึงความได้เปรียบในการแข่งขัน แฟรนไชส์ของบริษัท อุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของคู่แข่ง เขานิยมบริษัทที่เข้าใจง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เป็นบริษัทที่มีความมั่นคงถาวร

อีกจุดหนึ่งที่โบลตันให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือเรื่องของ “ผู้บริหาร” เขาเน้นว่าผู้บริหารต้องมีความสามารถ และมีธรรมาภิบาล บริหารงานอย่างโปร่งใส พูดความจริง ไม่โม้ ที่สำคัญคือถ้าทำผิดแล้วต้องยอมรับผิด จุดนี้จุดเดียวทำให้รู้ได้เลยว่าผู้บริหารคนไหนไว้ใจได้หรือไม่ โดยเขาไม่เคยละเลยที่จะสานสัมพันธ์กับผู้บริหารบริษัทต่างๆ อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ โบลตันจะนัดประชุมกับผู้บริหารของบริษัทที่เขาเข้าไปลงทุนอยู่เสมออย่างน้อยไตรมาสละ 1 ครั้ง โดยเขาจะจดบันทึกรายละเอียดในการประชุมทุกครั้งไว้เสมอ

ในเชิงปริมาณ โบลตันจะพิจารณาราคาหุ้นย้อนหลัง 3 – 10 ปี รวมทั้งตัวแปรอื่นๆ คือ ค่า P/E ค่า P/BV, กระแสเงินสดอิสระต่อหุ้น (FCF), ดูผลตอบแทนจากเงินลงทุนเป็นกระแสเงินสด (CFROI), ดูอัตราส่วนราคาต่อยอดขาย ดูรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ ดูสัดส่วนของหุ้นที่คนในถือ ดูรายงานทางการเงิน อันดับเครดิตของบริษัท ดูความเห็นของนักวิเคราะห์เพื่อทราบถึงความนิยมที่ผู้คนมีต่อหุ้นตัวนั้น

ที่สำคัญคือ โบลตันต้องการชุดของข้อมูลย้อนหลังไป 20 ปี หรืออย่างน้อยต้องไม่น้อยกว่า 10 ปี เขาบอกว่า ข้อมูลที่ไม่ถึง 10 ปี อาจไม่ครอบคลุมถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจนั้นๆ

โบลตันเชื่อว่านักลงทุนต้องมีคุณสมบัติหลายอย่างในการที่จะประสบความสำเร็จ โดยต้องรู้จักคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ใช้ตรรกะ อย่าใช้อารมณ์ ต้องกล้าคิดอย่างเป็นอิสระ อย่าหลงใหลไปตามกระแสของคนหมู่มาก ขณะเดียวกันก็ต้องอ่อนน้อมถ่อมตน อย่าหลงลำพอง มีความยืดหยุ่นและกล้าที่จะปรับเปลี่ยน ต้องรู้จักตั้งคำถาม รู้จักวิเคราะห์ รู้จักมองการณ์ไกล โดยให้ดูหุ้นเป็นรายตัว อย่าไปสนใจเรื่องมหภาคมากนัก

ก่อนวางมือไม่นาน โบลตันได้เอาเงินของกองทุนไปลงทุนในตลาดหุ้นจีน เพราะเล็งเห็นว่าแผ่นดินมังกรจะกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต ซึ่งการณ์ก็เป็นไปตามที่เขาคาดทุกประการ

โบลตัน เกษียณตัวเองในปี 2007 ขณะอายุ 57 ปี โดยหันไปเล่นดนตรี และเคยออกอัลบั้มของตัวเองด้วย นอกจากนี้ เขายังเขียนคอลัมน์ลงใน นสพ. Financial Times เพื่อให้คำแนะนำด้านการลงทุน ทว่าล่าสุด ในปี 2009 เขาทนความเย้ายวนของตลาดหุ้นจีนไม่ไหว จึงกลับเข้าทำงานกับฟิเดลิตี้อีกครั้งหนึ่ง โดยรับตำแหน่งเป็นประธานฝ่ายการลงทุน ก่อนจะย้ายไปพำนักในฮ่องกงและเน้นลงทุนในตลาดหุ้นจีนโดยเฉพาะ

แอนโธนี่ โบลตัน เป็นนักลงทุนในแบบฉบับของ “ผู้ดีอังกฤษ” แท้ๆ ผู้มากไปด้วยความสามารถและอุปนิสัยอันงดงาม การที่ ปีเตอร์ ลินช์ ยกย่องโบลตันว่าเป็นหนึ่งในนักลงทุนที่เก่งที่สุดในโลก ย่อมเป็นเครื่องการันตีความสามารถของสุภาพบุรุษนักลงทุนผู้นี้ได้เป็นอย่างดี

———-

แหล่งข้อมูล : The Great Investors, Wikipedia ภาพประกอบ : หนังสือ Investing Against the Tide สำนักพิมพ์ FT Prentice Hall

PEG “อาวุธหนัก” ของคนหวังผลไกล

PEGโดย ชัชวนันท์ สันธิเดช และ สุภศักดิ์ จุลละศร

ดังที่ได้อธิบายมาในตอนก่อนหน้านี้แล้วว่า เราสามารถวัดความถูกแพงของหุ้นโดยใช้ค่า P/E (ซึ่งได้จาก “ราคา” หารด้วย “กำไรต่อหุ้น”) แต่มันก็ไม่ได้ถูกต้องเสมอไป อีกทั้งยังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ

หุ้น 2 ตัว แม้ค่า P/E จะเท่ากัน แต่ความน่าซื้ออาจไม่เท่ากันก็ได้

หุ้นบางตัวเราคิดว่า “ถูก” เพราะเห็นว่ามีค่า P/E ต่ำ แต่ที่จริงมันอาจไม่ได้น่าซื้อ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่อยู่ในขาลง ในทางกลับกัน หุ้นบางตัวเราคิดว่า “แพง” เพราะเห็นค่า P/E สูง แต่ความจริงมันอาจไม่ได้แพงเลยเมื่อเทียบกับตัวกิจการที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด

คงจะพอเห็นแล้วใช่มั้ยครับว่า ค่า P/E ได้มองข้ามบางสิ่งบางอย่างที่สำคัญมากๆ ไป และสิ่งนั้นก็คือ “ศักยภาพในการเติบโต” นั่นเอง หากเรามัวแต่มองค่า P/E เราก็ แทบจะ ไม่มีวันได้ซื้อหุ้นที่หลายคนมองว่า “เจ๋ง” ที่สุดในตลาด นั่นก็คือ “หุ้นเติบโต”

ด้วยเหตุนี้ เราจึงมักใช้ค่า PEG ซึ่งเป็นการวัดความถูกแพงของหุ้นอีกวิธีหนึ่ง โดยให้น้ำหนักกับเรื่องของ “การเติบโต” เป็นสำคัญ

PEG หรือ P/E to Growth เป็นเครื่องมือโปรดของ ปีเตอร์ ลินช์ ผู้จัดการกองทุนแม็คเจลแลน และสุดยอดนักลงทุนคนหนึ่งของโลก เนื่องจากเขาเน้นลงทุนใน Growth Stock หรือ “หุ้นเติบโต” เป็นหลัก ซึ่งทำให้ VI ทั่วโลกที่เดินตามรอยลินช์ นิยมหาค่า PEG เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนด้วยเช่นกัน

ตัว “G” หรือ Growth นั้นก็คือ “การเติบโต” ในที่นี้หมายถึงการเติบโตของ “กำไร” เท่านั้น (ไม่ใช่ ยอดขาย, เงินปันผล หรืออื่นๆ)

ในการหาค่า PEG เราจำเป็นต้องรู้ทั้งค่า P/E และค่า G แต่ส่วนใหญ่ความยากอยู่ที่การหาตัว G นี่เอง เพราะเราต้องทราบถึงการเติบโตที่ผ่านมาอย่างน้อย 3-5 ปีเสียก่อน โดยหาค่าที่เรียกว่า “CAGR” (Compounding Annual Growth Rate) หรือ อัตราการเติบโตแบบทบต้นของกำไรสุทธิ

ตัวอย่างเช่น “บมจ.โชห่วยหมด” ทำธุรกิจร้านค้าปลีกเครือข่าย มีสาขากระจายทั่วประเทศไทย โดยมีกำไรสุทธิในรอบ 4 ปีที่ผ่านมาดังนี้

ปี

กำไร (ขาดทุน)

อัตราการเติบโต

2554

8,008

20.2%

2553

6,663

33.5%

2552

4,992

51.2%

2551

3,301

แม้เราจะเห็นว่าอัตราการเติบโตของ บมจ.โชห่วยหมด ในปี 2554 เท่ากับ (8008 / 6663) – 1 = 20.2% แต่นี่ก็เป็นการเติบโตที่เทียบ “ปีต่อปี” คือ เอากำไรของปี 2554 เทียบกับของปี 2553 ตามสมการ

หากต้องการหาอัตราการเติบโต 3 ปีย้อนหลัง เราจะคำนวณแบบ CAGR ซึ่งก็คล้ายๆ กับสมการข้างต้น เพียงแต่เราเอากำไรของปี 2554 เทียบกับของปี 2551 แทน และเนื่องจากเป็นการเทียบข้ามไป 3 ปี เราจึงต้องถอดรากที่ 3 ด้วย ดังสมการ

เมื่อกดเครื่องคิดเลขก็จะได้ค่า CAGR ย้อนหลัง 3 ปี เท่ากับ 34.4% ปัญหาก็คือ เราจะเชื่ออัตราการเติบโตแบบปีต่อปี (20.2%) หรือว่าแบบ CAGR (34.4%) ดี ซึ่งผมมองอย่างนี้ครับ…

หากย้อนกลับไปดูอัตราการเติบโตแบบปีต่อปีในตาราง เราจะพบว่าการเติบโตของกำไรในแต่ละปีมีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าบริษัทเก่งน้อยลง แต่น่าจะเป็นเพราะ “ฐานกำไร” ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นแม้กำไรของบริษัทจะยังคงเติบโตได้ปีละ 2 พันล้านบาท แต่เมื่อคิดการเติบโตเป็นเปอร์เซ็นต์ก็จะดูว่ามันค่อยๆ ลดลง

เมื่อมองไปในอนาคต ผมจึงค่อนข้างเทใจให้อัตราการเติบโตที่ 20.2% มากกว่า และจะใช้ตัวเลขนี้เป็น “ค่า G” ในกรณีของ บมจ.โชห่วยหมด ทีนี้พอได้ค่า G ออกมาก็ไม่มีอะไรยากแล้วครับ เอา P/E ตั้ง หารด้วย G ก็ได้ค่า PEG ออกมาแล้ว

สำหรับเกณฑ์โดยทั่วไป ค่า PEG ของกิจการที่เหมาะสมไม่ควรเกิน “1” มิฉะนั้นอาจมองได้ว่าแพงเกินไปเมื่อเทียบกับการเติบโต

หรือพูดง่ายๆ ก็คือ … “ค่า G เท่ากับเท่าไร ค่า P/E ก็ไม่ควรสูงกว่านั้น!!”

PEG-G

จากตัวอย่างเดิมอีกครั้ง สมมติค่า P/E ของ บมจ.โชห่วยหมด อยู่ที่ 33.5 เท่า, เอา 33.5 ตั้ง หารด้วย 20.2 (ตัดเครื่องหมาย เปอร์เซ็นต์ ออกนะครับ) จะได้ค่า PEG เท่ากับ 1.66 จะเห็นได้ว่า แม้ตัวธุรกิจจะดีเยี่ยม แต่ราคาหุ้นค่อนข้างสูงแล้ว ผู้จะเข้าไปลงทุนจึงควรคิดพิจารณาให้ดี

นี่เป็นหลักเกณฑ์ทั่วไป ซึ่งก็มีข้อยกเว้นในบางกรณี อาทิ บริษัท ก.ไก่ กำไรสุทธิโตแค่เฉลี่ย 2% ต่อปี นั่นไม่ได้แปลว่าค่า P/E ของบริษัท ก.ไก่ ควรเท่ากับ 2 ด้วย หรือหากการเติบโตของกำไรติดลบ (กำไรหดตัว) ก็ไม่ได้หมายความว่าค่า P/E ต้องติดลบด้วยจึงจะดี

แม้ PEG จะเป็นวิธีที่มีประโยชน์ เพราะเป็นการวัดความถูกแพงของราคา โดยเอาปัจจัยเรื่องของ “การเติบโต” มาร่วมคิดคำนวณ แต่ข้อเสียของมันก็คือ เราต้องใช้ข้อมูล “ในอดีต” เพื่อคาดการณ์ไป “ในอนาคต” ซึ่งย่อมเอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้

การหา PEG อาจทำได้ไม่ยากนัก สำหรับกิจการที่ดำเนินธุรกิจมานานพอสมควร มีความ “อยู่ตัว” ในระดับหนึ่ง มีแผนการดำเนินธุรกิจค่อนข้างชัดเจน ซึ่งทำให้คาดการณ์กำไรในอนาคตได้ง่าย แต่หากเป็นกิจการที่มีความแน่นอนต่ำ เช่น เพิ่งเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ ก็อาจทำให้คาดการณ์กำไรได้ยาก ซึ่งทำให้หา PEG ได้ยากไปด้วย

ตัวอย่างเช่น บริษัท K เดิมทำธุรกิจขายเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ประสบปัญหาทางการเงินมาโดยตลอด ต่อมาผู้บริหารได้ปรับโมเดล โดยหันมาขายเครื่องสำอาง และดูท่าว่ากำไรจะพลิกฟื้นขึ้นมา แบบนี้ทำนายการเติบโตของกำไรได้ยากมาก เพราะเราไม่รู้ว่าอะไรรออยู่ข้างหน้า แม้จะได้ค่า G ออกมา ค่า G นั้นก็ย่อมเชื่อถือไม่ได้ ค่า PEG จึงเชื่อไม่ได้เช่นกัน

หรือบางกรณี แม้กำไรย้อนหลังของบริษัทจะมีความสม่ำเสมอ เช่น 5 ปี ที่ผ่านมา บริษัท ก.ไก่ โตเฉลี่ย 6% แต่ ผู้บริหารเพิ่งออกมาประกาศว่า จะเข้าลงทุนในกิจการใหม่ๆ โดยมุ่งมั่นจะโตให้ได้ 20% แบบนี้เราก็ต้องชั่งใจว่า สิ่งที่ผู้บริหารพูดนั้นมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด หากมีความเป็นไปได้สูง มีแผนธุรกิจชัดเจน การเติบโตในอีก 5 ปีต่อไป ก็คงจะมากกว่า 6%

นอกจากนี้ “หุ้นวัฏจักร” ก็เป็นอีกจำพวกหนึ่งที่ใช้อดีตทำนายอนาคตได้ยากมาก เพราะกำไรมีการขึ้นลงอยู่เสมอ รอบหนึ่งอาจจะหลายปี จึงทำนายอนาคตได้ลำบาก เช่น พวกธุรกิจเดินเรือ ธุรกิจถ่านหิน ฯลฯ

หากจะเปรียบ P/E เป็นอาวุธ ก็คงเป็น “อาวุธเบา” ยิงเข้าเป้าได้ไม่ยาก แต่หวังผลอะไรมากไม่ได้ ส่วน PEG เปรียบเสมือน “อาวุธหนัก” ประกอบก็ลำบาก ใช้ก็ยาก แต่อานุภาพทำลายล้างมากมายนัก เรียกว่าช่วยให้ “รบชนะ” ได้ทันที นักลงทุนที่หวังผลไกล และไม่ได้หวังแค่ของถูก น่าจะศึกษาไว้ประกอบการลงทุนนะครับ