
ผมได้ฟังเรื่อง “บิทคอยน์” (Bitcoin) จากเพจ “ถามอีกกับอิก เรื่องการลงทุน” ของคุณอิก บรรพต ธนาเพิ่มสุข พิธีกร ที่ได้สัมภาษณ์ผู้รู้ ชื่อ “พี่รัน” (เขาไม่ได้บอกชื่อจริง) ผู้เชี่ยวชาญ และเขาก็อธิบายได้เคลียร์มากๆ ผมจึงขอสรุปความ และเอามาเรียบเรียงไว้ ณ ที่นี้ โดยได้เสริมถ้อยคำของตนเองเข้าไปเล็กน้อยเพื่อความเข้าใจ ขอบคุณ อิก และผู้ให้สัมภาษณ์ที่ถ่ายทอดข้อมูลดีๆ ไว้ด้วยนะครับ – ชัชวนันท์
(ฟังคลิปฉบับเต็มได้ที่ Youtube ของ “ถามอีกกับอิก เรื่องลงทุน” ที่นี่ )
เรียบเรียง โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
บิทคอยท์ ทำหน้าที่เหมือนกับ “ทองคำ”
สมัยก่อนที่ทองคำมีค่าขึ้นมา ก็เพราะคนใช้มันเป็น “สื่อกลางในการแลกเปลี่ยน”
คุณลักษณะของสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน คือต้องหายาก ปลอมยาก และได้รับความเชื่อมั่น
“ความเชื่อมั่น” ( trust) และ “จำนวนที่จำกัด” (limited supply) คือองค์ประกอบสำคัญที่สุด
นึกถึงภาพวาดของ แวนโก๊ะ ทั้งหมดมีอยู่ไม่กี่ร้อยภาพ
แต่ในสมัยที่แวนโก๊ะยังมีชีวิต มันกลับขายไม่ได้ เพราะคนไม่เชื่อมั่นในแวนโก๊ะ ไม่รู้ว่าเขาคือใคร
ตลอดชีวิตของแวนโก๊ะ เขาขายภาพได้แค่ภาพเดียว
ทว่าเมื่อเขาตายไปนานแล้ว ความเชื่อมั่นก็เกิดขึ้น ภาพของเขาจึงมีมูลค่าขึ้นมา

ดังที่กล่าวไปแล้วว่า คนสมัยก่อนใช้ “ทองคำ” เป็นตัวกลาง แต่ด้วยความที่ทองคำพกพาได้ยาก
เลยมีการพิมพ์ “กระดาษ” ออกมาเพื่อใช้แทนมูลค่าของทองคำ
นี่เป็นที่มาของเงินสกุลต่างๆ หรือ currency ภาษาไทยคือ “อัตราแลกเปลี่ยน” นั่นเอง
เงินดอลล่าร์ เงินปอนด์ เงินเยน และเงินหลายสกุลทั่วโลก เหล่านี้ล้วนเป็น currency
เมื่อก่อน การที่ชาติหนึ่งๆ จะพิมพ์เงินออกมาได้ ต้องมีทองคำฝากไว้ที่สวิตเซอร์แลนด์ โดยสามารถพิมพ์เงินได้ตามมูลค่าทองคำที่ตัวเองมีอยู่
แต่แล้ว พอสหรัฐอเมริกาบุกเวียดนาม สหรัฐฯ ต้องใช้เงินมหาศาล จึงพิมพ์เงินออกมามากกว่าทองคำที่ค้ำไว้ ซึ่งผิดข้อตกลง
ด้วยเหตุนี้ ในปี 1971 ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน จึงประกาศเลิกผูกเงินดอลล่าร์กับทองคำ และสหรัฐฯ ก็พิมพ์เงินออกมาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้ (มูลค่าทองคำต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ จึงสูงขึ้นตลอดมา)

ปัจจุบัน หลายชาติ รวมทั้งญี่ปุ่น มีการพิมพ์เงินออกมาเอง โดยไม่ผูกกับทองคำ แบบที่สหรัฐฯ ทำ และเมื่อไม่นานมานี้ ญี่ปุ่นก็เพิ่งทำ QE โดยใส่เงินเพิ่มเข้าไปในระบบ ตามรอยอเมริกา
นั่นทำให้ในโลกยุคปัจจุบัน “เงิน” ที่เราใช้กันอยู่ เหลือแต่ “trust” แต่ความเป็น “limited supply” นั้น หมดไปแล้ว
เหตุที่สกุลเงินต่างๆ ยังรักษาคุณค่าของมันอยู่ได้ เพราะผู้คนมีความเชื่อถือในประเทศนั้นๆ ไม่ใช่เพราะความ “มีอยู่จำกัด” ของ “เงิน” อีกต่อไป
ดู “ซิมบับเว” เป็นตัวอย่าง ซิมบับเวเป็นประเทศที่ไม่มี “trust” พอพิมพ์แบงก์ออกมามากๆ จึงเกิดเงินเฟ้ออย่างรุนแรง
ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ปัจจุบัน เพดานหนี้ภาครัฐของหลายประเทศ ยกระดับขึ้นไปสูงมาก และหากรัฐบาลหนึ่งเกิดไม่ชำระหนี้ (default) ก็อาจส่งผลเป็นโดมิโนไปทั่วโลก
(ขอเสริมว่าเพราะโลกทุกวันนี้มีความเชื่อมโยงทางการเงินสูง มีการให้กู้ ให้เงินช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หากชาติหนึ่งหยุดชำระหนี้ ชาติเจ้าหนี้ย่อมได้รับผลกระทบ ดังกรณีของกรีซ หากกรีซหยุดชำระหนี้ เยอรมนีและอีกหลายๆ ชาติเจ้าหนี้จะเจ็บหนักที่สุด- ผู้เรียบเรียง)
และผู้คนอาจไม่เชื่อถือใน “เงินตรา” แบบดั้งเดิมอีก
จากปัญหาทั้งหมดข้างต้น ทำให้มีคนๆ หนึ่ง ใช้ชื่อว่า “ซาโตชิ นากาโมโต้” คิดค้นส่ิงที่เรียกว่า “บิทคอยน์” (bitcoin) ขึ้นมา
บิทคอยน์เป็น “อัตราแลกเปลี่ยน” ชนิดหนึ่ง ทำหน้าที่เหมือนกับ “ทองคำ” ในสมัยก่อน โดยซาโตชิได้ทำให้มันมีจำนวนจำกัด (limited supply) เพื่อให้มีคุณค่าในการแลกเปลี่ยน
(ทองคำทั้งโลกมีแค่ 2 แสนตัน ส่วนบิทคอยน์ ถูกทำขึ้นมาเพียง 21 ล้านเหรียญบิทคอยน์ และจะไม่เพิ่มมากไปกว่านี้)
ในเรื่องของความปลอดภัย ถามว่า มีโอกาสหรือไม่ที่บิทคอยน์จะถูกแฮ็ค? ก็ต้องตอบว่า กลไกของบิทคอยน์ คือการเก็บข้อมูล transaction ไว้ในคอมพิวเตอร์ทั่วโลก จึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะโดนแฮ็ค เพราะนั่นหมายถึงต้องแฮ็คคอมฯ ที่กระจายกันอยู่ทั่วโลก
ด้วยเหตุนี้ บิทคอยน์ จึงเป็นธนาคารที่ไม่มีวันถูกปล้น แต่เหตุที่มีข่าวว่ามีการ “แฮ็คบิทคอยน์” กันอยู่บ่อยๆ นั้น เป็นเพราะคนที่มีบิทคอยน์ เอาบิทคอยน์ไปฝากไว้กับ exchange agent แล้วตัว agent โดนแฮ็ค บิทคอยน์จึงถูกขโมยไป
ถามว่า บิทคอยน์จะเข้ามาหมุนเวียนในระบบได้อย่างไร?
คำตอบก็คือ ก็เหมือนกับ “ทองคำ” คือต้องมีคนไป “ขุด” มันขึ้นมา

ถามต่อว่า การ “ขุด” บิทคอยน์ ทำอย่างไร?
ต้องอธิบายถึงระบบของบิทคอยน์ก่อนว่า ในการโอนเงินให้กันและกันของบิทคอยน์ ข้อมูลจะถูกส่งไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในระบบ ซึ่งจะทำให้มีคนรับรู้มากมาย และโกงกันไม่ได้
พูดอีกอย่างคือ จะมี “พยาน” ที่รับรู้การโอนเงินดังกล่าว
คนที่เป็น “พยาน” ในที่นี้ เรียกว่า miner หรือ “นักขุด” แต่ไม่ใช่ใคร อยู่ๆ จะมาขุดก็ได้ โดยคนที่จะมาเป็น miner ต้องมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า “เครื่องขุด” ซึ่งก็คือ “การ์ดจอ” (เป็นอุปกรณ์ที่มีขายในท้องตลาด โดยราคาของมันมักจะขึ้นลงตามตัวบิทคอยน์)
และ “ค่าตอบแทน” ของการเป็น miner ก็คือตัว “บิทคอยน์” นั่นเอง

สำหรับกระบวนการขุดนั้น เมื่อมีอุปกรณ์แล้ว ก็แค่เปิดเครื่อง ลงโปรแกรม แล้วเริ่มขุดได้ โดยซีพียูจะถอดสมการคณิตศาสตร์ไปเรื่อยๆ (เป็นสมการที่ ซาโตชิ เป็นคนคิด ซึ่งผู้ขุดไม่ต้องคิดเลขแก้สมการเอง เพียงเปิดคอมฯ ทิ้งไว้เฉยๆ ให้ซีพียูของการ์ดจอคิดให้) เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้ขุดก็จะได้บิทคอยน์ออกมา
อาจกล่าวได้ว่า ผู้คิดค้นบิทคอยท์ สร้างระบบที่ดึงดูดคนมาทำงานให้ แล้วจ่ายค่าตอบแทนเป็น product ของระบบนั้นเอง เหมือนเจ้าของบริษัทปลากระป๋อง จ้างคนมาทำงานในโรงงาน แล้วให้ปลากระป๋องเป็นค่าตอบแทน ซึ่งถือว่าฉลาดมากๆ – ผู้เรียบเรียง
(อย่างไรก็ตาม สมการที่ว่าน้ีจะยากขึ้นเรื่อยๆ พอถึงจุดนึง นักขุดจึงต้องซื้อการ์ดจอที่สเปคสูงกว่าเดิม ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีการลงทุนเพิ่ม เหตุที่ซาโตชิเขียนระบบเช่นนี้ก็เพื่อสร้างบาลานซ์ไม่ให้บิทคอยน์ถูกขุดกันได้ง่ายเกิน ซึ่งจะส่งผลให้ตัวของมันสูญเสียมูลค่า)
เมื่อได้บิทคอยน์มา ผู้ขุดก็มีทางเลือก คือจะขายต่อเอาเงิน หรือเก็บมันไว้ก็ได้ โดยทุกวันนี้ มีคนมากมายเข้ามา “ซื้อๆ ขายๆ” (trade) บิทคอยน์ เพื่อทำกำไร
จะเห็นได้ว่า ผู้เล่นในตลาดบิทคอยน์มีอยู่สองกลุ่ม คือ “นักขุด” (miner) และ “นักเทรด” (trader)
ว่ากันว่า ถึงวันหนึ่ง เมื่อบิทคอยน์ถูกขุดขึ้นมาหมดแล้ว สภาพคล่องของมันจะหมดไป แต่มูลค่าของมันจะเริ่มมีเสถียรภาพ ไม่เหวี่ยงไปมาเหมือนทุกวันนี้
นั่นจะทำให้บิทคอยน์สามารถเอาไปใช้งานได้จริง และกลายเป็นอีกหนึ่งสกุลเงินทางเลือก โดยการที่มันจะถูกหรือแพง ก็ขึ้นอยู่กับ trust ของคน เหมือนสกุลเงินทั่วไปในปัจจุบัน
ทั้งนี้ เป็นเรื่องธรรมดา ที่รัฐบาลของหลายประเทศจะไม่ยอมรับบิทคอยน์ เพราะกลัวว่าจะทำให้เงินของประเทศตนด้อยค่าลง แต่ในบางประเทศอย่าง เวเนซูล่า ที่คนไม่เชื่อถือในเงินตรา ไม่เชื่อมั่นในรัฐบาล ธุรกิจบิทคอยน์กลับเฟื่องฟูมาก
ทุกวันนี้ ในประเทศอย่าง ญี่ปุ่น และ อเมริกา บิทคอยน์สามารถใช้ซื้อของได้บ้างแล้ว และวันหนึ่ง เมื่อความเชื่อมั่นเกิดขึ้น บิทคอยน์จะทำหน้าที่เป็น medium of exchange ได้อย่างสมบูรณ์
คำถามยอดฮิตก็คือ บิทคอยน์เวลานี้เป็น “ฟองสบู่” หรือยัง?
ก็ต้องบอกว่า ปัญหาของบิทคอยน์ คือคนไม่ได้มองมันในฐานะ “อัตราแลกเปลี่ยน” จริงๆ แต่สนใจเพราะอยากเข้าไป “เก็งกำไร”
และเหตุที่ราคาบิทคอยน์ผันผวนมาก ก็เพราะมันอยู่ในภาวะที่เรียกว่า “เงินฝืดรุนแรง” จากปริมาณที่มีอยู่น้อย นี่แหละ ทำให้ราคาของมันพุ่งขึ้นไปอย่างรวดเร็วและขึ้นลงหวือหวา
จึงต้องจับตาดูกันต่อไป ว่าสักวันจะมีปัจจัยมาทำให้ราคาบิทคอยน์ลดฮวบลงมาหรือเปล่า? และอนาคตของบิทคอยน์จะเป็นอย่างไร? จะมีวันที่มันพัฒนาขึ้นมาเป็นอัตราแลกเปลี่ยนมาตรฐานของโลกหรือไม่
แม้จะไม่มีใครชี้ชัดได้ในเวลานี้ แต่เชื่อว่าคำตอบนั้นคงมาถึงในอีกไม่นาน!!
———————————–