สรุปไฮไลท์จาก วอร์เรน บัฟเฟตต์ ณ การประชุมผู้ถือหุ้น Berkshire Hathaway 2020

Warren_Buffett_at_the_2015_SelectUSA_Investment_Summit

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ผมได้สรุปไฮไลท์คำพูดของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ จากการประชุมผู้ถือหุ้น Berkshire Hathaway ปี 2020 เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมา หลังจากแปลสดๆ ลงเพจ Club VI ไปก่อนหน้านี้ เอาแบบสั้นๆ กระชับ คัดเฉพาะเนื้อๆ มาให้อ่านกันนะครับ

เนื้อหาแบ่งออกเป็นสองช่วง ช่วงแรกมาจาก speech ที่ปู่บรรยายเพื่อเปิดการประชุม (ซึ่งแกจะทำอย่างนี้ทุกปี) และช่วงที่สองจะเป็นการตอบคำถามที่ส่งกันเข้ามาจากทางบ้าน เนื่องจากปีนี้เป็นปีแรก (และอาจจะเป็นปีเดียว) ที่ไม่มีผู้ถือหุ้นเข้าร่วม

ช่วงที่ 1  : speech เปิดงาน

1. ขอบคุณหมอ – ปู่บอกว่าอเมริกาโชคดีมากๆ ที่มี ดร.แอนโธนี ฟอซี ผอ.สถาบันควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติ คอยอธิบายให้ข้อมูลเกี่ยวกับโคโรนาไวรัส ปู่บอกด้วยว่าตัวเองเก่งเลข แต่ห่วยมากเรื่องสุขภาพ ดีที่มี ดร.ฟอซี คอยอธิบายให้ฟัง แกรู้สึกขอบคุณและติดหนี้บุญคุณคุณหมอฟอซีเป็นอย่างยิ่ง

2. มองอเมริกาเป็นบวก – ปู่ยังมองอเมริกาเป็นบวกมาก (พูดซ้ำหลายครั้ง) โดยเปรียบสหรัฐฯ เป็นรถไฟขบวนหนึ่ง สมัยปี 2008-9 รถไฟขบวนนี้ตกราง ถนนหนทางก็ไม่ค่อยจะดี อันเนื่องมาจากปัญหาธนาคาร แต่ครั้งนี้รถไฟกลับมาวิ่งบนรางปกติแล้ว เราแค่หยุดมันชั่วไว้ครู่เท่านั้น

3. การสร้างมูลค่าของอเมริกา ปู่บอกว่าตั้งแต่แกจบมหาวิทยาลัย สหรัฐอเมริกาสามารถทำให้เงินทุกๆ 1 เหรียญกลายเป็น 100 เหรียญ เท่ากับว่าสหรัฐฯ เดินหน้าเต็มตัวเรื่อยมา

สหรัฐอเมริกาในปี 2020 มี wealth 100 ล้านล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 แสนเท่าจากเงินทุกๆ 1 เหรียญตอนที่ก่อตั้งประเทศ หากเทียบเป็นค่าเงินระดับเดียวกัน คือได้กำไร 5,000 เท่า

ดังนั้น ถ้าลองมองวิกฤต 2-3 เดือนที่ผ่านมา ต้องถือว่าเป็นเรื่องชั่วคราว และอเมริกาจะกลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้งอย่างแน่นอน สิ่งที่คุณต้องทำก็เพียงเชื่อมั่นในอเมริกาเท่านั้น คุณต้องเชื่อว่ามหัศจรรย์แห่งอเมริกาจะไม่มีวันจางหาย

ปู่ย้ำว่า “อย่าเดิมพันตรงข้ามกับอเมริกา”

4. ย้อนถึง The Great Depressionปู่บอกว่าช่วง Great Depression มันแย่มาก รู้สึกยาวนานมากๆ และไม่มีใครคิดว่ามันจะจบ แต่แล้ววันหนึ่งเศรษฐกิจก็กลับมา

ปู่เล่าว่าช่วง Great Depression เงินในตลาดหุ้น 1,000 เหรียญ ลดเหลือ 170 เหรียญในเวลาแค่สองปี

Great Depression คงอยู่เป็นเวลานานหลายปี แต่ในความรู้สึกของผู้คนกลับนานยิ่งกว่านั้น แม้ว่าต่อมาเศรษฐกิจจะกลับมาได้ แต่ความกลัวในจิตใจของผู้คนยังไม่จางหายไป มันกลายเป็นเรื่องเล่าขาน พ่อแม่เล่าให้ลูกฟังถึงความน่ากลัวของวิกฤติครั้งนั้น

ดังนั้น สิ่งสำคัญในตอนนี้คือต้อง “อย่าเสียศรัทธากับประเทศ”

5. อย่าคาดเดาตลาด – ไม่มีใครรู้ว่าตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไรในวันพรุ่งนี้ สัปดาห์หน้า เดือนหน้า ปีหน้า รู้แต่ว่าอเมริกาจะก้าวหน้าไป ไม่มีใครรู้แน่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในวันที่ 10 .. 2001 (หลัง 9/11) เหมือนที่ไม่มีใครรู้ว่าไวรัสครั้งนี้จะเกิดขึ้น

ปู่บอกว่า คุณเดิมพันฝั่งเดียวกับอเมริกาได้เสมอ แต่ก็ต้องระวัง เพราะคุณเชื่อใจอเมริกาได้ก็จริง แต่เชื่อใจตลาดหุ้นไม่ได้ เนื่องจากตลาดสามารถทำอะไรได้ทุกอย่าง

6. อย่ากู้เงินมาลงทุนปู่บอกว่า อย่ากู้เงิน อย่าใช้มาร์จิ้นมาลงทุนในวิกฤตโคโรนาไวรัสครั้งนี้ เนื่องจากมีความไม่แน่นอนสูงมาก มีปัจจัยต่างๆ ที่คาดเดาไม่ได้มากมาย ปู่บอกว่า มีเหตุผลทุกประการที่ควรลงทุนกับการก้าวหน้าไปของอเมริกา ยกเว้นการกู้เงินมาลงทุน

7. ซื้อ S&P 500 ดีที่สุด – ปู่ยังคงแนะนำเหมือนเดิมว่า สำหรับคนส่วนใหญ่ การถือกองทุนอิงดัชนี S&P 500 เป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว ดีกว่าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล และดีกว่าทำตามพรายกระซิบ

8. เชื่อมั่นประธานเฟด – ปู่เชื่อมั่นในตัวประธานเฟด เจโรม พาวเวลล์ โดยยกไว้ในระดับเดียวกับ พอล โวลค์เกอร์ ซึ่งเป็นอดีต ปธ. อีกคนที่แกชื่นชม เนื่องจากพาวเวลล์เทคแอ็คชั่นตั้งแต่กลาง มี.ค. ซึ่งน่าจะเป็นการปรับเอาบทเรียนจาก 2008-9 มาใช้ ถ้าวันนั้นเฟดไม่ลงมือรวดเร็วและเด็ดขาด วันนี้คงแย่กว่านั้นเยอะ

9. ยอมรับความผิดพลาดที่ลงทุนในสายการบิน – อันนี้สำคัญมาก ปู่บอกว่าแกทำ “ความผิดพลาดที่เข้าใจได้” ด้วยการเข้าซื้อหุ้นสายการบินทั้งสี่ “ตอนที่เราซื้อ (หุ้นสายการบิน) เรากำลังจะได้เงินก้อนโตจากการลงทุนในหลายๆ สายการบิน” แต่แล้ว “กลับกลายเป็นว่าผมคิดผิดเกี่ยวกับตัวธุรกิจ” โดยปู่ไม่ได้โทษ CEO ของทั้งสี่สายการบินแต่อย่างใด เนื่องจากวิกฤตครั้งนี้ไม่ใช่ความผิดของพวกเขา แต่เป็นสิ่งที่ไม่คาดฝัน

10. ไม่รู้อนาคตธุรกิจการบิน – ที่ผมมองว่าน่าสนใจที่สุดก็คือ ปู่มองอนาคตสายการบิน “เป็นลบ” โดยบอกว่า แม้ 3-4 ปีต่อจากนี้ ก็ไม่รู้ว่าคนจะกลับมาบินมากเหมือนเดิมหรือไม่ และเครื่องบินก็มีอยู่เยอะแยะ (สืบเนื่องจากปู่ ตามหลักวีไอ ต้องบอกว่า “พื้นฐานเปลี่ยน” แล้ว สำหรับธุรกิจสายการบิน และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบินด้วย)

P071811PS-0254_(5951720542)

ช่วงที่ 2 : ตอบคำถาม

11. ขายหุ้นสายการบินทั้งหมดแล้ว – อันนี้ฮือฮาที่สุด คือ ปู่ยอมรับว่าขายหุ้นสายการบินทั้งหมดแล้ว โดยขายไปเป็นเงิน 6,509 ล้านเหรียญ “โลกเปลี่ยนไปแล้วสำหรับสายการบิน และผมก็ไม่รู้ว่ามันเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ผมหวังว่ามันจะแก้ไขตัวเองได้ด้วยวิธีที่รวดเร็ว” และ “ผมไม่รู้ว่าคนอเมริกันเปลี่ยนนิสัยหรือจะเปลี่ยนนิสัย (เกี่ยวกับการบิน) หรือไม่” ปู่บอกว่า มีหลายอุตสาหกรรมที่กระทบจากวิกฤตโคโรนาไวรัส และสายการบินก็เป็นหนึ่งในนั้นที่เจ็บหนักมากจนควบคุมไม่ได้

12. ทำไมไม่ซื้ออะไรสักที – ต่อข้อสงสัยว่าทำไมหุ้นลงมาขนาดนี้แล้ว เงินสดก็เหลือเยอะแยะ แต่ไม่ยอมทำอะไรสักที ปู่บอกว่า “เรายังไม่ทำอะไร เพราะเราไม่เห็นอะไรน่าสนใจ” แต่ก็บอกด้วยว่า แกพร้อมจะลงทุนครั้งใหญ่ อาจจะ 30,000 40,000 หรือ 50,000 ล้านเหรียญ ทันทีที่เห็นโอกาสที่น่าลงทุน แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นเลย โดยล่าสุด BRK มีเงินสดถึง 137,000 ล้านเหรียญ

13. อนาคตของ Berkshire – เกร็ก อาเบล รองประธานฝ่ายธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับประกัน ซึ่งปีนี้ขึ้นมานั่งคู่บัฟเฟตต์แทน ชาร์ลี มังเกอร์ บอกว่า ไม่ว่าบัฟเฟตต์และมังเกอร์จะอยู่หรือไม่ วัฒนธรรมองค์กรของ Berkshire ก็จะไม่เปลี่ยน “เราไม่มีใครดีกว่าวอร์เรนและชาร์ลี แต่เรามีทีมที่เก่งเทียบเท่ากันที่เบิร์คเชียร์” (เรื่องมุมมองต่ออนาคตของ BRK แนะนำอ่านหนังสือ Berkshire Beyond Buffett ของ ศ.ลอว์เรนซ์ คันนิงแฮม ที่ผมเป็นผู้แปล ดีมากๆ และลึกที่สุดแล้ว – ชัชวนันท์)

14. ทายาทของปู่ – เกี่ยวกับเรื่องทายาทที่จะมารับไม้ต่อจากบัฟเฟตต์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งคำถามหลักที่คนอยากรู้ โดยเฉพาะเมื่อ ชาร์ลี มังเกอร์ รองประธานวัย 96 ไม่ได้มานั่งตอบคำถามในปีนี้ และเป็นครั้งแรกที่มังเกอร์ไม่มา ปู่ยืนยันว่า ตัวแกและ “ปู่มัง” ยังแข็งแรง แถมบอกด้วยว่า ตอนนี้มังเกอร์ใช้ Zoom ประชุมเป็นแล้วด้วย

สำหรับคนที่จะมาแทนแกนั้น ปู่บอกรายชื่อออกมาสามคน คือ เกร็ก อาเบล (รองประธานฯ ที่มานั่งข้างแกแทนมังเกอร์วันนี้) และสองขุนพล ท็อดด์ คอมบ์ส กับ เท็ด เวลช์เลอร์ อย่างไรก็ตาม ปู่บอกว่า “เราจะไม่สมัครใจยอมจากไปไหน แต่เราอาจจะต้องไปโดยไม่สมัครใจในเวลาไม่นานนัก”

ตรงนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ในมุมมองของผม เพราะ เป็นครั้งแรกที่บัฟเฟตต์แย้มชื่อออกมาชัดเจนที่สุดแล้ว โดยตัดเหลือสามคน และเป็นครั้งแรกที่แกพูดทีเล่นทีจริงทำนองว่า ตัวแกกับมังเกอร์อาจจะต้องจากไปในเวลาไม่นาน หลังจากก่อนหน้านี้เคยบอกมาตลอดว่าจะทำงานจน “จำหน้ากันและกันไม่ได้”

15. การแตกบริษัท – ปู่บอกว่า จะไม่ “แตก” Berkshire ออกเป็นบริษัทย่อยๆ เพราะแม้บางคนมองว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้น แต่มันจะโดนภาษีและค่าธรรมเนียมมากมาย ปู่บอกว่า แกคิดทุกอย่างมาดีแล้ว การเก็บ Berkshire ไว้เป็นกลุ่มบริษัท (conglomerate) อย่างนี้ นอกจากจะทำให้เงินทั้งหมดที่ Berkshire ทำได้กลายเป็นของการกุศลแล้ว ยังทำให้พวก “สุนัขจิ้งจอก” เข้ามายุ่มย่ามไม่ได้

16. การซื้อหุ้นคืน – ต่อข้อถามว่า จะซื้อหุ้น BRK คืนหรือไม่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งคำถามที่คนสงสัยกันมาก เพราะปู่ชอบการซื้อหุ้นคืนเมื่อมันต่ำกว่ามูลค่า แต่ที่ผ่านมากลับซื้อคืนน้อยมาก ทั้งที่ตลาดลงมาเยอะ

ปู่บอกว่า ตอนนี้มีกระแสไม่ชอบการซื้อหุ้นคืนเยอะมาก “มีคนพูดอะไรบ้าๆ เกี่ยวกับการซื้อหุ้นคืนกันมากมาย” ทั้งที่จริงแล้ว การซื้อหุ้นคืนเป็นสิ่งที่เรียบง่าย ไม่มีอะไรซับซ้อนเลย มันคือการส่งมอบเงินสดคืนให้ผู้ถือหุ้น อย่างไรก็ตาม ถ้า BRK จะซื้อหุ้น ก็ต้องทำโดยคำนึงถึงราคาและความจำเป็นให้มากที่สุด และเมื่อสถานการณ์มันใช่จึงจะทำ โดยต้องไม่ให้ผู้ถือหุ้นเสียประโยชน์เหมือนการจ่ายปันผล (ที่ต้องถูกหักภาษี)

นอกจากนี้ แกยังเสริมอีกว่า ที่ซื้อหุ้นคืนน้อยมากในช่วง Q1 (ซื้อคืนแค่ 1,700 ล้าน เมื่อเทียบกับเงินสด 137,000 ล้านที่มี) ตอนที่ตลาดหุ้นถล่มลงมานั้น เป็นเพราะราคายังไม่ถูกพอ “ราคาตอนนั้นยังไม่ได้อยู่ในระดับที่รู้สึกว่า มันดีกว่าเยอะเมื่อเทียบกับสิ่งอื่นๆ รวมทั้งเมื่อคำนึงถึงมูลค่าของเงิน พอที่จะให้เราลงมือครั้งใหญ่ได้”

สรุปก็คือ ปู่ยังนิยมการซื้อหุ้นคืนเหมือนเคย แต่พูดเป็นนัยว่าตอนนี้ยังไม่ถึงเวลา

17. ประเทศที่ดี ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง – มีคำถามว่า วิกฤตครั้งนี้มีผู้เสียสละมากมาย ทั้งบุคลากรด้านสาธารณสุข บุคลากรด้านสายอุปทานอาหาร เดลิเวอรี่ การบริการชุมชน ประเทศของเราจะดูแลพวกเขาอย่างไร?

ปู่บอกว่า พวกเขาเหมือนทหารที่นอร์มังดี พวกเขาเหน็ดเหนื่อย ทุกข์ทรมาน ทำงาน 24 ชม. แต่เราไม่รู้แม้กระทั่งชื่อของพวกเขา

ปู่บอกว่า ประเทศนี้ต้องทำสิ่งต่างๆ เพื่อช่วยพวกเขา เราเป็นประเทศที่ร่ำรวย พวกเขาเสียสละกว่าคนบางคน ซึ่งเพียงแค่เกิดมาในมดลูกที่ถูกต้อง เราต้องสร้างสังคมที่ภายใต้สถานการณ์ปกติ คนที่ทำงานมากกว่าสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมงต้องมีชีวิตที่ดี มีลูกสองสามคนได้โดยไม่ต้องมี second job

“พวกเขาใช้ชีวิตเหมือนพระราชาไม่ได้ก็จริง แต่นั่นไม่ใช่ความหมายของผม ไม่มีใครควรถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง”


Credit : ข้อมูลประกอบจากเว็บ Yahoo! Finance, CNBC และลิงค์การถ่ายทอดสดของ Yahoo! Finance ภาพประกอบจาก Yahoo! Finance

วอร์เรน บัฟเฟตต์ สอนวิธีเป็นมหาเศรษฐีที่ทุกคนทำได้

buff-munger-brk18

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ เป็นข้อคิดจาก วอร์เรน บัฟเฟตต์ จากการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น เบิร์คเชียร์ แฮธาเวย์ ปี 2018 โดยปู่ได้ kick off มหกรรม woodstock แห่งโลกทุนนิยม ด้วยการเล่าเรื่อง “หุ้นตัวแรก” ในชีวิตของแก

ในวันที่ 11 มี.ค. 1942 ปู่ซื้อหุ้น cities service จำนวนสามหุ้น ด้วยเงินเก็บทั้งหมดที่มี โดยหุ้นตัวนี้ราคาตกลงมาเยอะมาก ปีก่อนหน้านั้นอยู่ที่ 84 เหรียญ ก่อนจะตกลงมากว่าเหลือสามสิบกว่าเหรียญภายในปีเดียว ปู่เห็นว่าถูกมากแล้วจึงตัดสินใจเข้าซื้อ ณ ราคา 38.25 ก่อนที่หุ้นดังกล่าวจะปิดตลาดที่ราคา 37 เหรียญในวันเดียวกัน

ปู่พูดขำๆ ว่า นั่นเป็นสัญญาณแรกที่บอกว่า แกคงเป็นนักเก็งกำไรไม่ได้ เพราะเริ่มต้นก็เห็นแล้วว่า timing ในการเข้าซื้อแย่มากๆ

จากนั้น ราคาหุ้น cities ก็ตกลงไปอีก ทำเอาปู่เริ่มกระวนกระวาย ครั้นมันกลับขึ้นมาเท่าทุน และขึ้นต่อไปจนถึง 40 เหรียญ ปู่จึงตัดสินใจขายทิ้งทั้งหมด ทำกำไรได้รวม 5.25 เหรียญ

แต่แล้ว หลายสิบปีต่อมา ราคาของหุ้นตัวนี้เพิ่มขึ้นไปถึงกว่า 200 เหรียญ ถือเป็นค่าเสียโอกาสมากมายมหาศาล มองย้อนกลับไป ปู่บอกว่านี่คือบทเรียนในการลงทุนที่สอนให้แกรู้ว่า เมื่อเจอหุ้นดี จงถือมันไว้ อย่าขาย

ที่น่าสนใจก็คือ ในช่วงเดียวกับที่ปู่ซื้อหุ้น คือเดือนมีนาคมปี 1942  นั้น โลกกำลังอยู่ในภาวะสงคราม ยุโรปกำลังป่วน ญี่ปุ่นเพิ่งบุกยึดนิวกินี ยึดพม่า ฟิลิปปินส์เพิ่งแตก อเมริกาเข้าร่วมสงครามโลกได้เพียงสามเดือน และทำท่าว่าจะแพ้

แม้จะเป็นเวลาที่เลวร้ายสุดๆ มาดูกันเถอะว่า อะไรจะเกิดขึ้น หากคุณเริ่มต้นลงทุนในวันเดียวกับปู่ ?

nyt

ปู่เอาสถิติมากางให้ดูว่า คนที่ซื้อหุ้นใน S&P 500 ด้วยเงิน 10,000 เหรียญ ณ วันนั้น แล้วถือไว้จนถึงวันนี้ มันจะเพิ่มมูลค่าขึ้นเป็น “51 ล้านเหรียญ” (กว่า 5,000 เท่า) โดยไม่ต้องทำอะไรเลย เรียกได้ว่า ลงทุนครั้งเดียว สบายไปตลอดชาติ (ปู่บอกด้วยว่า ปี 1942 ไม่ใช่โอกาสซื้อที่ดีที่สุดด้วยซ้ำไป ยังมีเวลาที่ดีกว่านั้นอีก)

ในทางตรงข้าม ถ้าเอาเงินจำนวนเดียวกัน คือ 10,000 เหรียญ ไปซื้อทองคำ จะซื้อได้ประมาณ 300 ออนซ์ และทองก็จะแช่อยู่อย่างนั้น จะมอง จะลูบคลำมันอย่างไร มันก็ไม่ตอบสนอง และไม่ให้ผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น ขณะที่ธุรกิจจะทำงานของมันไปเรื่อยๆ

และถ้าคุณถือทอง 300 ออนซ์จนถึงวันนี้ มูลค่าของมันจะอยู่ที่ 400,000 เหรียญ เรียกได้ว่าต่ำกว่าหุ้นกว่า “100 เท่า” นี่คือผลลัพธ์จากการลงทุนในสิ่งที่ “ไม่ให้ผลผลิต” เมื่อเทียบกับสินทรัพย์ที่ให้ผลผลิตอย่างหุ้น

ปู่จึงชี้ชัดว่า คุณแทบไม่มีทางเจ๊งได้เลย ถ้าคุณใช้วิธีซื้อหุ้นที่ดีแล้วถือไว้ (เว้นเสียแต่จะซื้อผิดตัว หรือตื่นตกใจจนขายทิ้งไปในเวลาที่ไม่ควรจะขาย)

ดังนั้น การซื้อสินทรัพย์ที่ไม่มีผลผลิต หรือแม้จะซื้อหุ้น แต่ใช้วิธีซื้อๆ ขายๆ ไม่มีทางเทียบเท่าการถือหุ้นดีไว้เฉยๆ ได้

ปู่สรุปปิดท้ายด้วยว่า วิธีนี้ดีที่สุดแล้วสำหรับนักลงทุนทั่วไป สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมโดยไม่ต้องพึ่งมืออาชีพที่ไหนทั้งนั้น ทั้งยังผ่อนคลาย ไม่ต้องรู้เรื่องบัญชี ไม่ต้องรู้คำศัพท์เฉพาะทางด้านการลงทุนต่างๆ ไม่ต้องสนใจว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีกกี่ครั้ง

และนี่คือ วิธีเป็น “มหาเศรษฐี” จากปู่ ที่ทุกคนทำได้ง่ายๆ ขอเพียงเริ่มต้นทันที และอย่าไขว้เขวออกนอกลู่นอกทางไปไหนก็แล้วกัน

(มีต่อด้านล่าง)


** หลักสูตร  “ประเมินมูลค่าหุ้น และ DCF” รุ่น ๘  สอนทำ valuation อย่างมืออาชีพ 26 พ.ค. 61 ที่โรงแรม ดิ เอมเมอรัล รัชดา คลิกที่นี่

** หลักสูตร “อ่านงบการเงิน” ออนไลน์ รับชมทาง Facebook Closed Group คลิกที่นี่


แล้วนักลงทุนไทยควรทำอย่างไร?

นักลงทุนไทยที่ได้ยินเรื่องประมาณนี้ คำถามที่มักเกิดขึ้นเสมอก็คือ แล้วสำหรับหุ้นไทยล่ะ จะทำได้หรือไม่ ถือไว้เฉยๆ หลายสิบปีแล้วจะได้ผลอย่างเดียวกับอเมริกาจริงหรือ?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ แม้เราจะไม่ได้มีมุมมองที่ bullish ต่อประเทศไทยเหมือนสหรัฐฯ หรือจีน แต่เดี๋ยวนี้กำแพงการลงทุนน่าจะถูกทำลายลงไปได้ส่วนหนึ่งแล้ว ผมเชื่อว่าต่อไป การซื้อกองทุน S&P 500 ผ่าน บลจ.ไทย ค่าธรรมเนียมก็น่าจะลดลง ซึ่งน่าจะช่วยให้นักลงทุนไทยทำตามสูตรของบัฟเฟตต์ได้

หรือแม้จะลงทุนในกองทุนอิงดัชนีอื่นๆ หรือเลือกหุ้นดีแล้ว “ถือไว้เฉยๆ” หากทำผลตอบแทนได้เพียงปีละ 10% เงินหนึ่งล้านบาท ก็จะกลายเป็น 17.5 ล้านบาทได้ในเวลา 30 ปีเช่นเดียวกัน)


Image Credit  :  Yahoo Finance! Berkshire Hathaway’s 2018 Shareholders’ Meeting Live Streaming

ทริป ประชุมเบิร์คเชียร์-ตามรอยบัฟเฟตต์ : นิวยอร์ก – โอมาฮา (ปฐมฤกษ์) โดย Club VI

kiewit plaza

หลังจากวางแผนกันมานาน ในปี 2016 ที่จะถึงนี้ Club VI จะจัดทริป “ประชุมเบิร์คเชียร์ ตามรอยบัฟเฟตต์ : นิวยอร์ก-โอมาฮา (ปฐมฤกษ์)” เพื่อนำท่านเข้าร่วมการประชุมสามัญประจำปี บมจ.เบิร์คเชียร์ แฮธาเวย์ ของ วอร์เรน บ้ฟเฟตต์ นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลก

พวกเราจะไปเที่ยวชมเมืองโอมาฮา รัฐเนบราสก้า สัมผัสวิถีชีวิตแบบปู่บัฟฟ์ พร้อมเข้าร่วมการประชุมเบิร์คเชียร์ รวมทั้งเที่ยวมหานครนิวยอร์ก และเยี่ยมชม “วอลสตรีท” ศูนย์กลางการเงินการลงทุนของโลก และอื่นๆ อีกมากมาย

เดินทาง 23 เม.ย.- 3 พ.ค. 2016 นำทีมโดยวิทยากรของ Club VI ผู้แปลหนังสือ Berkshire Beyond Buffett, Tap Dancing to Work และหนังสือเกี่ยวกับบัฟเฟตต์อีกหลายเล่ม ที่จะมาร่วมให้ความรู้ตลอดทริป ในแบบวีไอพันธุ์แท้ (จัดโดยบริษัททัวร์รับอนุญาต)

nyse-ann

ท่านใดอยากได้รับประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิต ด้วยการเข้าไปซึมซับบรรยากาศจริงของสุดยอดมหกรรมแห่งโลกทุนนิยม สามารถขอรายละเอียดและลงชื่อจองได้ทันทีตั้งแต่วันนี้ ที่อีเมล ClubVIdotcom@gmail.com หรือส่งข้อความมาทาง Inbox พร้อมอีเมลแอดเดรสของท่าน (เหตุที่ต้องรีบดำเนินการเนื่องจากในช่วงของการประชุม โรงแรมในโอมาฮาจะถูกจองเต็มหมด)

บอกได้เลยว่าทริปแบบนี้ไม่ได้ไปกันง่ายๆ ท่านใดมีความฝันเหมือนกัน มาทำความฝันให้เป็นจริงพร้อมๆ กันนะครับ

[ภาพประกอบ(บน) : อาคารคีวิต พลาซ่า ที่ตั้ง สนง.ใหญ่ของเบิร์คเชียร์ แฮธาเวย์ โดย JonClee86 จากวิกีพีเดีย ภาษาอังกฤษ , ภาพประกอบ(ล่าง): อาคารตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ค NYSE ของ Club VI]