บทสัมภาษณ์ในตำนานของ ปีเตอร์ ลินช์ ถึง “วิกฤตต้มยำกุ้ง” และอื่นๆ

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ปีเตอร์ ลินช์ คือหนึ่งในผู้จัดการกองทุนที่ดีที่สุดของโลกตลอดกาล กองทุนฟิเดลิตี้ แม็คเจลแลน ที่เขาบริหาร ทำผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นได้ 29% ตลอดระยะเวลา 13 ปี ซึ่งเป็นสถิติที่ไม่มีใครเคยทำได้

เขาเป็นที่รู้จักของนักลงทุนทั่วโลก จากผลงานหนังสือที่เขียนหลายเรื่อง โดยเฉพาะ One Up on Wall Street ซึ่งเป็นเบสต์เซลเลอร์ระดับตำนาน

ลินช์บอกว่า นักลงทุนทั่วไปสามารถประสบความสำเร็จในการลงทุนได้ ด้วยการลงทุนในหุ้นคุณภาพดีที่ตนเองรู้จักและคุ้นเคย เป็นหุ้นที่อยู่ใกล้ๆ ตัว และถือมันไว้ในระยะยาว

บทสัมภาษณ์นี้ ปีเตอร์ ลินช์ ให้สัมภาษณ์ชาร์ลี โรส พิธีกรชื่อดังทางช่อง Bloomberg เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 1997 เป็นการพูดคุยสั้นๆ ไม่ถึง 15 นาที แต่เนื้อหาอัดแน่น

ที่สำคัญ การสัมภาษณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ ขณะประเทศไทยและเอเชียกำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ หรือที่เรียกว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” และบังเอิญว่าก่อนหน้าวันที่ลินช์มาให้สัมภาษณ์นั้น ตลาดสหรัฐฯ เองก็ร่วงลงเกือบ 7% จึงมีเนื้อหาหลายๆ อย่างที่น่าสนใจอย่างมาก

ผมสรุปเป็นประเด็นๆ ไว้ด้านล่าง ลองอ่านดูนะครับ แล้วจะรู้ว่าการลงทุนหุ้นนั้น ขอเพียงเลือกใช้วิธีที่ถูกต้อง คุณก็สามารถประสบความสำเร็จเหนือพวกผู้จัดการกองทุนมืออาชีพได้ ทั้งยังทำให้รู้ว่า ผู้ชายคนนี้พูดอะไรไว้ไม่เคยผิดจริงๆ

คนที่กำลังจะเริ่มต้นลงทุน หรือคนที่ลงทุนในหุ้นอยู่แล้ว โดยเฉพาะ หุ้นต่างประเทศ ควรอ่านอย่างยิ่งครับ !!


ปีเตอร์ ลินช์ ให้สัมภาษณ์หลังเกษียณตัวเองมาได้หลายปี ขณะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย

สรุปเนื้อหาจากการให้สัมภาษณ์ของปีเตอร์ ลินช์ ในรายการ ชาร์ลี โรส (พิธีกรชื่อเดียวกับรายการ) ทางช่อง Bloomberg ออกอากาศวันที่ 28 ต.ค. 1997 

เรียบเรียงโดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

(รายการนี้ ออกอากาศในช่วงเช้าวันอังคารที่ 28 ต.ค. 1997 โดยก่อนหน้านั้น 1 วัน คือวันจันทร์ที่ 27 ต.ค. ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ร่วงลงอย่างหนักถึง 6.8% จากวันศุกร์ที่ 24 ต.ค. เป็นการปรับลดลงมโหฬารภายในวันทำการเดียว) 

1. ตลาดลงหนักคือเรื่องธรรมดา

ลินช์บอกโรสว่า ตลาดขึ้นมาเยอะแล้ว จาก 4,000 จุดเมื่อสองปีครึ่งที่แล้ว (ต้นปี 1995) กลายเป็น 8,300 จุดเมื่อสองเดือนที่ผ่านมา (สิงหาคม 1997) จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องลง ลินช์บอกว่าตัวเขาไม่ได้ห่วงอะไร ใช้คำว่า “มันดีงาม” (It’s Healthy)

ลินช์บอกว่า P/E ตลาดหุ้นสหรัฐฯ 30 ปีก่อนหน้านี้อยู่ที่ระหว่าง 10 ถึง 20 เท่า เวลานี้ (ต.ค. 1997) อยู่แถวๆ 20 เท่า ซึ่งเป็นขอบบนแล้ว จึงถึงเวลาที่จะลง ครั้งก่อนหน้าที่ P/E อยู่ที่ 20 แบบเดียวกันนี้คือยุค ’60 ซึ่งดอกเบี้ยเป็นศูนย์

2. ธุรกิจดี ราคาจะดีเอง

ลินช์บอกว่า ธุรกิจที่ดี จะเห็นความสัมพันธ์ในเชิงบวกระหว่างกำไรกับราคาหุ้น อย่างแม็คโดนัลด์ 30 ปีที่ผ่านมา กำไรดีขึ้นมาตลอด ราคาหุ้นก็ดีขึ้นมาด้วยเช่นกัน ดังนั้น ในระยะยาว ราคาจะเป็นไปตามกำไรเสมอ

3. สัญญาณเตือนภัยของสหรัฐฯ

โรสถามว่า เมื่อวานนี้กับวันนี้ พื้นฐานของบริษัทต่างๆ ไม่ได้เปลี่ยนไปเลย แต่ทำไมราคาหุ้นทั้งตลาดกลับลดลงอย่างมาก วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผลหรือไม่ ลินช์บอกว่า “มีผล แต่ไม่มาก” (in a small way) แต่ก็เป็น “wake up call” หรือสัญญาณเตือนของสหรัฐฯ

(หมายเหตุจากผู้แปล – หลังจากนั้น 4 ปี สหรัฐฯ เกิดปรากฏการณ์ฟองสบู่ด็อทคอมแตกในปี 2001 และตามด้วยวิกฤตหนี้อสังหาฯ – วิกฤตการเงินในปี 2007-2009 เป็นวิกฤตสองครั้งใหญ่ในช่วงเวลาไม่ถึง 10 ปี)

4. เศรษฐกิจไทยเจ๊ง อเมริกากระทบหรือไม่ ?

ลินช์บอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทย ไม่ได้มีผลต่อสหรัฐฯ เท่ากับสิ่งที่เกิดขึ้นในเม็กซิโก ถ้าเม็กซิโกเจอวิกฤตเศรษฐกิจเหมือนในเมืองไทยตอนนี้ ก็จะกระทบสหรัฐฯ มากกว่าเยอะ เพราะเม็กซิโกเป็นเพื่อนบ้าน เป็นลูกค้ารายใหญ่ของสหรัฐฯ

5. องค์ประกอบของบริษัทที่ลินช์ชอบ

ลินช์บอกว่า บริษัทที่เขาชอบ คือบริษัทที่พื้นฐานดี กำไรดี คู่แข่งกำลังแย่ ธุรกิจที่เป็นแบบนี้ ถ้าราคาหุ้นลงมาเยอะๆ เช่น จาก 40 ลงมาเหลือ 30 เหรียญ เพราะตลาดปรับลดลงมาทั้งตลาด มันคือโอกาสซื้อ

6. ต้อง “ตัดสินใจไว้ก่อน”

แต่นั่นไม่เหมือนกับหุ้นที่ราคา overpriced อยู่ก่อน แล้วพอตลาดร่วง ราคาหุ้นก็ลงมาอยู่ในระดับ fairly priced เช่น จาก 50 ลงมาเหลือ 30 เหรียญ อย่างนี้ไม่ควรซื้อ เพราะมันไม่ได้ถูก แค่ไม่แพงเหมือนแต่ก่อน นักลงทุนต้องแยกตรงนี้ให้ออก

ลินช์บอกว่า คุณควรจะ “ตัดสินใจไว้ก่อน” ว่าต้องการหุ้นตัวไหน รอจนมันปรับตัวลงมา จึงค่อยเข้าไปซื้อ

7. หุ้นตก คือ “โอกาส” จงทำการบ้านให้หนัก

ที่ผมชอบมากๆ ก็คือ โรสถามลินช์ซึ่งเกษียณตัวเองไปหลายปีแล้วว่า ถ้าวันนี้คุณเป็นบริหารกองทุนฟิเดลิตี้ แม็คเจลแลน อยู่ คุณคงซื้อแหลกเลยล่ะสิ ลินช์บอกว่า “ผมจะทำการบ้านแหลกเลยต่างหาก” (I will research like crazy) 

8. เลือกบริษัทที่หุ้นตก แต่พื้นฐานไม่เปลี่ยน

ลินช์บอกว่า เขาจะดูว่าบริษัทไหนยังมี story เหมือนเดิม โดยยังทำธุรกิจได้ดีและไม่ถูกกระทบจากการปรับลดลงของตลาด (เขาใช้คำว่า this is a non-event for them แปลว่าการที่ตลาดปรับตัวลดลง ไม่เกี่ยวกับบริษัทนั้นๆ) หรือแม้จะเกิด recession ขึ้นจริง แต่บริษัทไม่กระทบ นั่นแหละคือบริษัทที่เขาจะเข้าไปซื้อ

9. โอกาสได้-โอกาสเสีย และ “จุดตัดสินใจ” ในการเข้าลงทุน

อันนี้สำคัญมากๆ ลินช์บอกว่า ก่อนซื้อ เขาจะคิดก่อนว่า “ถ้าคิดถูก ผมจะได้เท่าไร ถ้าคิดผิด ผมจะเสียเท่าไร” อัตราส่วนที่เขาชอบ คือถ้าเขาถูก หุ้นนั้นจะขึ้นไป “2-3 เท่า” แต่ถ้าคิดผิด หุ้นนั้นจะลงไป “30-40%” นี่คือสถานการณ์ที่ควรเข้าลงทุน 

สถานการณ์ที่ลินช์ไม่ชอบ คือถึงเขาคิดถูก หุ้นก็ไม่ขึ้นอีกแล้ว เพราะรับเอาข่าวดีมาหมดแล้ว แต่ถ้าคิดผิด มันจะลงไปเยอะมาก อย่างนี้เขาไม่ซื้อเด็ดขาด

10. ลงทุนในสิ่งที่ตัวเองรู้และอยู่ใกล้ตัว

ลินช์บอกว่า ให้ลงทุนในสิ่งที่ตนเองรู้ เขาไม่ได้ใช้คำว่า circle of competence (ขอบข่ายแห่งความชำนาญ) เหมือนวอร์เรน บัฟเฟตต์ แต่อธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ ว่า คุณต้องมี edge หรือ “ความได้เปรียบ” เหนือคนอื่น เช่น คุณเคยทำงานในธุรกิจร้านอาหารมา 30 ปี คุณควรจะซื้อ Taco Bell หรือ Pizza Hut แทนที่จะไปซื้อบริษัทไบโอเทค ที่คุณไม่รู้เรื่องอะไรเลย

ลงทุนหุ้นต่างประเทศด้วยความมั่นใจ กับ My VALUE by Club VI subscription plan ที่จะให้แนวทางในการตัดสินใจ ให้ท่านลงทุนได้ “แม่นยำ” ยิ่งกว่าเดิม ด้วยบทวิเคราะห์หุ้นเชิงลึก และเนื้อหาที่คัดสรรจากสำนักข่าวสายการเงินระดับโลก พร้อม “พอร์ตหุ้นจำลอง” เพื่อวัดผลการลงทุน

คลิก ที่นี่

11. อย่าลงทุนในสิ่งที่ตนเองไม่รู้ แม้ธุรกิจจะดี เพราะเราสู้คนอื่นไม่ได้

เขายกตัวอย่างว่า เขาไม่รู้เรื่อง networking ในท้องถิ่น ดังนั้น เขาจะไม่ซื้อหุ้น Cisco ถึงแม้มันจะเป็นหุ้นที่ดี เพราะเขาไม่รู้จักมัน และมีคนอีกมากทำได้ดีกว่าเขา

12. ถือหุ้นดีไม่กี่ตัว แล้วอยู่กับมันยาวๆ

ลินช์บอกว่า คุณตื่นขึ้นมาตอนเช้า มีหุ้นให้เลือก 5,000 ตัว แต่ขอให้เลือกแค่ 4-5 ตัวที่คุณรู้จักและทำการบ้านได้ “ทั้งหมดที่คุณต้องมีในช่วงเวลาหนึ่งทศวรรษ คือหุ้นดีๆ ไม่กี่ตัวเท่านั้น”

13. “ตัวช่วย” ในวันที่เพิ่งจะมี “อินเทอร์เน็ต”

อีกหนึ่งช็อตเด็ดที่ผมชอบในการสัมภาษณ์วันนั้น ซึ่งโลกเพิ่งรู้จักอินเทอร์เน็ต คือตอนที่โรสหยิบเอากล่อง “ซีดีรอม” ขึ้นมา เป็นซีดีรอมที่ลินช์ร่วมผลิตกับฟิเดลิตี้

ลินช์บอกโรสว่า นี่คืออุปกรณ์ที่ยอดเยี่ยม เพียงต่อเข้ากับพีซี จะได้ข้อมูลบริษัท 5-6000 บริษัท อัพเดตตลอด และเป็นข้อมูลย้อนหลังไป 10 ปี ทั้งงบการเงิน ตัวเลขกำไร ตัวเลขสินค้าคงเหลือ 

โรสถามว่า มันก็ดูได้จาก Bloomberg Terminal อยู่แล้วไม่ใช่หรือ ลินช์บอกว่า ของ Bloomberg Terminal จะไม่อัพเดต และย้อนหลังไปได้แค่ 5 ปี แต่ซีดีรอมตัวนี้ สมัครสมาชิกกับฟิเดลิตี้เพียง 6.95 เหรียญต่อเดือนเท่านั้น แถมมีช่วง free trial ให้ทดลองก่อนด้วย

ทั้งนี้ กำไรในส่วนของลินช์ทั้งหมด เขาบริจาคให้การกุศล

(หมายเหตุจากผู้แปล – ลองคิดดูก็แล้วกันว่านักลงทุนวันนี้ได้เปรียบคนสมัยก่อนขนาดไหน ถ้ายังไม่ศึกษาหาข้อมูลต้องถือว่าน่าเสียดายมากๆ)

14. เหตุที่เราต้องเข้าใจงบการเงิน

ลินช์บอกว่า เหตุที่เราต้องเข้าใจงบการเงิน เพราะถ้าไม่รู้จักงบการเงิน ไม่รู้จักเงินสด ไม่รู้จักหนี้สิน ก็อาจจะเลือกลงทุนผิดบริษัทได้

เช่น คุณอาจจะไปลงทุนในบริษัทที่กำลังจะล้มละลาย แทนที่จะเลือกบริษัทที่ทำเงินสดได้เป็นล้านล้านเหรียญ 

หรือบางบริษัทราคาหุ้นแค่ 2-3 เหรียญ ดูเหมือนเป็นหุ้นที่ถูก แต่จริงๆ แล้วบริษัทกำลังขาดทุนเป็นสิบๆ ล้านเหรียญ ถ้าดูงบไม่เป็นแล้วเข้าไปซื้อก็แย่

โรส หยิบกล่องซีดีรอมของลินช์ขึ้นมา

15. ซื้อหุ้นเองหรือซื้อกองทุนรวมดี

โรสถามว่า ถ้าอย่างนั้น ลินช์กำลังบอกให้เลือกหุ้นเอง แทนที่จะซื้อกองทุนรวมใช่หรือไม่

ลินช์บอกว่า คุณทำได้ทั้งสองอย่าง คุณอาจจะซื้อกองทุนรวมไว้ แล้วหาจังหวะซื้อหุ้นเมื่อมีโอกาส เป็นหุ้นที่คุณรู้จัก อยู่ใกล้ตัวคุณ และคุณมีข้อมูล

16. อยากทำนายตลาด ต้อง “โยนเหรียญ”

โรสถามว่า รู้ไหมว่าตลาดจะเป็นอย่างไรต่อไป (อย่าลืมว่าในขณะนั้นหุ้นเพิ่งลงวันเดียว 6.8% ถือเป็นเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานมากๆ)

ลินช์บอกว่า คงต้อง “โยนเหรียญเอา” ก่อนจะขยายความว่า เขาไม่รู้หรอกว่าหุ้นจะขึ้นอีก 1000 จุดเมื่อไร จะขึ้นไปอีก 6000 จุดเมื่อไร จะขึ้นไปอีก 14,000 หรือ 20,000 จุดเมื่อไร ไม่มีใครรู้

17. สิ่งที่เรารู้ได้

ส่ิงที่เรารู้คือ กำไรของบริษัทจะเพิ่มมากขึ้นกว่านี้มากในอีก 10 และ 20 ปีข้างหน้า นี่ต่างหากคือสิ่งที่เรารู้ได้ เมื่อ 20 ปีก่อนไม่มีไมโครซอฟท์ ไม่มี FedEx มีบริษัทใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอ นี่ต่างหากคือสิ่งที่ทำให้ประเทศนี้ก้าวไปข้างหน้า ไม่ใช่คอยดูว่าดัชนีจะขึ้นหรือลง

18. ไม่เอา “อนุพันธ์”

โรสถามลินช์ว่า มองอนุพันธ์อย่างไร ?

ลินช์บอกว่า  มันสับสนมาก มากเกินไปสำหรับเขา (โรสถามย้ำว่า ยากเกินไปสำหรับคุณเนี่ยนะ?) ลินช์บอกว่า ชีวิตนี้เขาไม่เคยซื้อออปชั่น เพราะการซื้อหุ้นเท่ากับเวลาอยู่ข้างเราอยู่แล้ว เขาไม่รู้เรื่อง พุต ดาวน์ ฟิวเจอร์ส ไม่แตะต้องเลย

“ผมทำไม่ได้” เขาบอก

19. อย่ากลัว recession อย่ากลัววิกฤต

ลินช์บอกว่า เรามี recession มาแล้วเก้าครั้งนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง และเดี๋ยวก็จะมีอีก แต่ไม่มีใครบอกได้ว่าเมื่อไร อย่าไปกังวล แต่เขามั่นใจในเศรษฐกิจอเมริกา และบริษัทที่ดีก็จะอยู่รอดปลอดภัย

20. เอเชียและเมืองไทยจะไม่ตาย

โรสถามลินช์ว่า เอเชียจบเห่หรือยัง (ขณะนั้นเมืองไทยเพิ่งลอยตัวค่าเงินบาทได้สองเดือนว่า เป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยอยู่ที่ก้นเหว และลากเอาเกือบทั้งเอเชียตามลงไปด้วย) ??

ลินช์บอกว่า “ไม่หรอก ให้ตายสิ ไม่จบหรอก” แต่พวกเขาต้องถอยออกมาก้าวหนึ่ง หาทางออก แล้วก้าวต่อไป เขาย้ำว่า “เอเชียยังไม่จบเห่แน่นอน ไม่มีทางเลย”

และทั้งหมดนี้ คือบทสัมภาษณ์หายากของสุดยอดนักลงทุนที่ชื่อ ปีเตอร์ ลินช์ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย อย่าลืมแบ่งปันให้คนที่คุณรักที่สนใจลงทุนในตลาดหุ้นอ่านด้วยนะครับ


ลงทุน “หุ้นต่างประเทศ” ด้วยความ “มั่นใจ” กับ My VALUE , subscription plan ที่จะให้แนวทางในการตัดสินใจ เพื่อให้ท่านลงทุนได้ “แม่นยำ” ยิ่งขึ้นกว่าเดิม ด้วยเนื้อหาที่คัดสรรและบทความที่เรียบเรียงมาจากสำนักข่าวสายการเงินการลงทุนระดับโลก คลิก ที่นี่ เลย


ข้อมูลอ้างอิง : Youtube – Investor Archive

ความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่สุดของ ปีเตอร์ ลินช์

Peter-lynch

 

เขียนโดย :  ปีเตอร์ ลินช์

แปลโดย : ชัชวนันท์ สันธิเดช

ความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่สุดของผม คือการขายหุ้นเร็วเกินไปอยู่เสมอ

ที่จริงแล้ว ผมเคยได้รับโทรศัพท์จาก วอร์เรน บัฟเฟตต์ เมื่อปี 1989 ลูกสาวผมรับแล้วบอกว่า “คุณบัฟเฟตต์โทรมาค่ะพ่อ” แต่ผมนึกว่าสงสัยเพื่อนคงอำเล่นมั้ง เพราะลูกสาวผมเพิ่งจะ 6 ขวบเท่านั้นเอง

พอยกหูขึ้นมา จึงได้ยินปลายสายพูดว่า “นี่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ จากโอมาฮานะครับ”

เขาพูดเร็วมากเลย บอกว่า “ผมชอบหนังสือของคุณมาก ‘One Up on Wall Street’ น่ะ และอยากจะขอยืมสักประโยคมาไว้ในรายงานประจำปีของผม ผมต้องใช้มันจริงๆ ขออนุญาตใช้ได้ไหมครับ?”

ผมก็ตอบไปว่า “ได้สิครับ ว่าแต่ประโยคไหนหรือ?”

เขาบอกว่า “การขายหุ้นผู้ชนะและเก็บหุ้นผู้แพ้ไว้ ก็เหมือนการเด็ดดอกไม้ทิ้งแล้วรดน้ำให้วัชพืช”

และประโยคเดียวในหนังสือของผมที่เขายืมไปใช้นั่นเอง ที่เป็นความผิดพลาดครั้งยิ่งใหญ่ของผมตลอดมา

ผมเคยไปดู โฮม ดีโป้ สาขาแรกที่สร้าง แล้วก็ขายหุ้นทิ้งไปหลังจากมันขึ้นมาสามเด้ง ปรากฏว่ามันขึ้นต่อไปอีกห้าสิบเด้ง

หากคุณเก่งจริงในธุรกิจนี้ คุณจะทำถูกสักหกในสิบครั้ง แต่ในครั้งที่คุณทำถูก คุณอาจจะได้หุ้นสามเด้งหรือสิบเด้ง ซึ่งจะชดเชยความผิดพลาดของคุณได้ทั้งหมด คุณจึงต้องหาหุ้นผู้ชนะเจ๋งๆ ให้ได้

ผมขายโฮม ดีโป้ เร็วเกินไปมาก ผมขายดังกิ้น โดนัทส์ เร็วเกินไปมาก

ทำไมเป็นยังงั้นน่ะหรือ? ก็ผมโง่ไง

หากคุณถือบริษัทที่ดีไว้ ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไร ยิ่งเป็นผลดีกับคุณเท่านั้น

————————–

แหล่งที่มา : Forbes. com Lessons from the 100 Greatest Living Business Minds

ภาพประกอบ : Cuentapabro

 

 

“20 คำถาม” กับ “VI พันธุ์แท้”

questionmark

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ปีเตอร์ ลินช์ เป็นสุดยอดผู้จัดการกองทุนในตำนาน กองทุนฟิเดลิตี้ แม็คเจลเลน ที่เขาบริหาร มีหุ้นอยู่ในพอร์ตนับพันๆ ตัว ด้วยความที่มีหุ้นอยู่มากมาย ทำให้เขาต้องศึกษาหาข้อมูลเยอะมาก

ลินช์มีวิธีง่ายๆ ในการทดสอบว่า ผู้ลงทุน “เข้าใจ” ในบริษัทที่จะลงทุนจริงหรือไม่ เขาเรียกมันว่า “แบบฝึก 2 นาที” (Two-Minute Drill) กล่าวคือ ให้ผู้ลงทุนอธิบายเกี่ยวกับบริษัทที่สนใจจะเข้าลงทุนให้คนใกล้ตัวฟัง โดยมีเวลาเพียง 2 นาที ถ้าพูดให้ผู้ฟังเข้าใจได้ ถือว่า “สอบผ่าน” ซึ่งลินช์ก็ใช้วิธีนี้ฝึกฝนตัวเองเสมอ

“แบบฝึก 2 นาที” ของ ปีเตอร์ ลินช์ นอกจากจะเป็นการทดสอบความรู้ของตัวเราเองแล้ว ยังช่วยให้เรารู้จักเรียบเรียงข้อมูล ฝึกจัดระเบียบความรู้ในหัวสมอง และถ่ายทอดมันออกมา ซึ่งทำให้พบช่องโหว่ของตัวเองได้ในทันที ว่าเรารู้อะไร และยังไม่รู้อะไร

เป็นการทดสอบขั้นต้นที่ยอดเยี่ยมมากทีเดียว ลองทำกันดูนะครับ ผมเองก็ใช้อยู่บ่อยๆ

นอกจาก “แบบฝึก 2 นาที” ของลินช์แล้ว ผมยังมี “การทดสอบ” ของตัวเอง ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากลินช์ อยากเล่าให้ทุกท่านฟัง

ผมเรียกมันว่า “การทดสอบ คำถามที่ 2” (Second-Question Test)

“การทดสอบคำถามที่ 2” เกิดจากประสบการณ์ส่วนตัวของผม ที่มี “เพื่อนเม่า” ค่อนข้างเยอะ เพื่อนหลายคนชอบเล่นหุ้นเก็งกำไร บางคนชอบหุ้นปั่น เข้าเร็ว ออกไว ใจร้อน

เวลาผมถามเพื่อนเหล่านี้ว่า ที่ “เล่นหุ้น” ตัวนั้นตัวนี้ เคยรู้บ้างไหมว่าบริษัทเขาทำธุรกิจอะไร?!!

ท่านอาจนึกว่า พวกนั้นเป็นแมงเม่า คงไม่รู้หรอก แต่ผิดคาดครับ เชื่อไหมว่า เพื่อนเม่าของผม “ตอบได้” เสียเป็นส่วนใหญ่

โดยมากแล้ว พวกเขามักจะรู้อยู่ว่า บริษัทนั้นๆ ทำมาหากินอะไร เช่น รับเหมาก่อสร้าง เหล็ก เดินเรือ ยางพารา ฯลฯ

แทบทุกคนตอบ “คำถามแรก” ได้ ไม่ขัดเขิน

แต่แล้ว พอผมยิง “คำถามที่ 2” ว่า กำไรของบริษัทในปีที่แล้วเป็นอย่างไร? รายได้เป็นอย่างไร? ROE เป็นเท่าไร? คู่แข่งมีใครบ้าง? พลพรรคเพื่อนเม่าของผมก็มักจะ “จอด” ตรงนี้

ผมพบว่า เพื่อนๆ ของผมที่เป็นนักเก็งกำไร มักจะ “รู้ตื้น” แต่ “รู้ไม่ลึก” แม้บางคนจะรู้กว้าง แต่ก็เป็นความกว้างที่ขาด “ความลึก” ถามผิวเผินยังพอตอบได้ แต่ถามมากกว่านั้นกลับไปไม่เป็น

แค่ใช้ “คำถามที่ 2” ทดสอบดู ก็รู้แล้ว

นี่ยังไม่ได้ถามคำถามที่ 3, 4, 5 นะครับ ถ้าลองถามต่อไปว่า กำไร-รายได้ย้อนหลัง 5 ปีโตปีละกี่เปอร์เซ็นต์? กระแสเงินสดเป็นอย่างไร? Market Share กี่เปอร์เซ็นต์? ใครถือหุ้นใหญ่? แบบนี้เพื่อนๆ เม่าของผมอาจ “แพ้น็อค” เลยก็เป็นได้

ที่จริงก็ไปว่าเขาไม่ได้นะครับ จะว่าไปพวกเขาก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปรู้อะไรมากมายจริงๆ นั่นแหล่ะ ก็จะรู้ไปทำไมเล่า ถือแป๊บเดียว เดี๋ยวก็ขายทิ้งแล้ว

แต่สำหรับคนที่ปวารณาตัวเองเป็น VI นี่คือเรื่องสำคัญครับ เราต้องตอบ “คำถามที่ 2” ให้ได้ ถ้าทำไม่ได้ก็เหมือน “มวยคางเปราะ” นึกว่าตัวเองเก่งแล้ว แต่พอขึ้นไปชก คู่ชกแย็บๆ คลำๆ ดูไม่กี่ทีก็รู้แล้วว่าจุดอ่อนเราอยู่ตรงไหน โดนซัดจังๆ มีหวัง “ร่วง” แน่นอน

และที่จริง แค่ 2 คำถามสำหรับ VI ยังไม่พอ ถ้าเป็น “มวยระดับแชมป์” หรือเป็น “วีไอสายดำ” ท่านควรตอบให้ได้มากกว่านั้น ตอบให้ได้มากที่สุด

ผมจึงคิดเกมที่เรียกว่า “เกม 20 คำถาม” (Twenty-question Game) โดยให้เพื่อน ให้คนในครอบครัว หรือใครก็ตาม ลองยิงคำถามเกี่ยวกับบริษัทที่เราถือหุ้นอยู่ ให้เขาถามให้หมดเปลือก ถามอะไรก็ได้เกี่ยวกับบริษัท แต่อย่านอกเรื่อง (คนละอย่างกับเกม 20 คำถาม ที่เราเคยเล่นกันสมัยเด็กนะ)

ถ้าเราตอบได้ไม่ต่ำกว่า 80% (16 คำถาม) ถือว่าได้ “เกรด A” ผ่านฉลุย แต่ถ้าตอบได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง (น้อยกว่า 10 คำถาม) ถือว่าสอบตก ต้องไปศึกษาหาข้อมูลเพิ่มโดยด่วน

อ้อ.. ถ้าให้คนที่รู้เรื่องการลงทุน และพอจะรู้จักบริษัทนั้นๆ อยู่บ้างมาถาม จะดีมากครับ เพราะจะถามได้ทั้งใน “เชิงปริมาณ” และ “เชิงคุณภาพ” ซึ่งจะครอบคลุมรอบด้านกว่า ยิ่งถ้าเขาเคยใช้สินค้าหรือบริการของบริษัทมาก่อน ก็จะยิ่งถามได้ใน “เชิงลึก” ขึ้น

ผมจะลองยกตัวอย่าง “20 คำถาม” ที่ “VI พันธุ์แท้” ทุกคนควรตอบให้ได้ เช่น

  1. บริษัทมีรายได้ทั้งปีเท่าไร? (ถ้าบอกได้ถึงไตรมาสล่าสุดเลยยิ่งดี)
  2. บริษัทมีกำไรทั้งปีเท่าไร? (เช่นเดียวกันครับ ถ้าบอกได้ถึงไตรมาสล่าสุดเลยจะดีมาก)
  3. ROE ปัจจุบันประมาณกี่เปอร์เซ็นต์?
  4. กระแสเงินสดเป็นอย่างไร? (อธิบายโดยภาพรวมให้พอเข้าใจ เช่น บริษัทนี้เงินสดเหลือเฟือ เพราะเป็นบริษัทค้าปลีก ขายสินค้าเป็นเงินสด แต่ซื้อของเป็นเงินเชื่อ หรือบริษัทนี้เป็นบริษัทลีสซิ่ง เงินสดไม่มาก ลูกหนี้เยอะ เป็นต้น)
  5. Gross Margin, Net Margin ปัจจุบันประมาณกี่เปอร์เซ็นต์? มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหรือลดลงหรือไม่?
  6. D/E (อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น) อยู่ที่เท่าไร? มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหรือลดลง?
  7. Market Cap. ประมาณเท่าไร? (ตัวเลขนี้ดูใน Settrade.com ก็รู้แล้ว)
  8. กำไรของบริษัทย้อนหลัง 5 ปี โตปีละกี่เปอร์เซ็นต์? มีความสม่ำเสมอหรือไม่อย่างไร? (อันนี้สำคัญมากครับ อดีตบอกอนาคต ถ้าโตมาตลอด แปลว่ามีโอกาสจะโตต่อไปเรื่อยๆ)
  9. รายได้ของบริษัทย้อนหลัง 5 ปี โตปีละกี่เปอร์เซ็นต์? มีความสม่ำเสมอหรือไม่อย่างไร? (เช่นเดียวกับคำถามก่อนหน้า .. อดีตบอกอนาคต)
  10. บริษัทมีความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนก้อนใหญ่อยู่เสมอหรือไม่? ถ้าใช่ จะหาแหล่งเงินทุนอย่างไร? (ถ้ากู้มาก็ต้องใช้หนี้กันเหนื่อย ถ้าเพิ่มทุน EPS ก็จะลด มูลค่าหุ้นถูก Dilute เดือดร้อนเราต้องไปหาเงินมาเติมอีก)
  11. ปัจจุบันมี Market Share กี่เปอร์เซ็นต์? เป็นอันดับที่เท่าไรของตลาด?
  12. ใครเป็นคู่แข่งสำคัญของบริษัท? เปรียบเทียบส่วนแบ่งตลาดของบริษัทกับบริษัทคู่แข่ง มากน้อยต่างกันอย่างไร ?
  13. ศักยภาพในการแข่งขันของบริษัทเป็นอย่างไร? มี Competitive Advantage เหนือบริษัทอื่นหรือไม่? (อันนี้เป็นเรื่องเชิงคุณภาพครับ ต้องวิเคราะห์ธุรกิจเป็นด้วย)
  14. มีการซื้อหุ้นคืน เพิ่มทุน หรือออกวอร์แรนต์มั้ย?
  15. ผู้บริหารคือใคร เคยมีประวัติปั่นหุ้น หรือทุจริตอะไรมั้ย?
  16. ผู้บริหารเก่งจริงมั้ย? ทำอะไรมาก่อน? ธุรกิจที่เคยบริหารสอดคล้องกับธุรกิจที่บริหารอยู่ในปัจจุบันหรือไม่? เคยประสบความสำเร็จอะไรมาบ้าง? เคยทำบริษัทเจ๊งมาหรือเปล่า?
  17. แผนการเติบโตของบริษัทในอนาคตเป็นอย่างไร? (หาฟังได้จาก Opp Day หรือถามจากผู้บริหารเวลาเข้าประชุมผู้ถือหุ้น หรือคอยตามข่าวในสื่อต่างๆ)
  18. P/E ปัจจุบันเท่ากับเท่าไร? และค่า P/E เฉลี่ยในอดีต 10 ปี ที่ผ่านมาอยู่ที่เท่าไร?
  19. P/BV ปัจจุบันเท่ากับเท่าไร?
  20. นโยบายการจ่ายปันผลเป็นอย่างไร จ่ายกี่เปอร์เซ็นต์ของกำไร? จ่ายสม่ำเสมอหรือไม่?

นี่แค่ตัวอย่างนะครับ ที่จริงจะถามให้ลึกไปกว่านี้ก็ยังได้ แต่ตอบได้ทั้งหมดนี่ก็ขั้นเทพแล้วล่ะ

บางท่านอาจนึกในใจว่า ไม่เห็นต้องให้ใครถามเลย เรา List คำถามออกมา แล้วตอบตัวเองก็ได้นี่… ก็ได้อยู่ครับ ไม่มีอะไรเสียหาย แต่การให้คนอื่นถาม จะเป็นการบังคับตัวเองให้เตรียมตัวให้พร้อมกว่า เพราะเราไม่รู้ว่าเขาจะถามอะไร อีกทั้งเมื่อตอบไปแล้ว จะเห็น Reaction ทันทีว่าคู่สนทนาเข้าใจในสิ่งที่เราพูดหรือไม่

ถ้าเราเข้าใจถ่องแท้จริงๆ เราย่อมสามารถพูดให้คนอื่นเข้าใจได้เช่นเดียวกัน แต่ถ้าพูดแล้วเขาไม่เข้าใจ เป็นไปได้ไหมว่าตัวเราเองอาจยังไม่กระจ่างแจ้งนัก หรือยัง “ติด” อะไรอยู่?

ท่านพุทธทาสภิกขุเคยเทศน์สอนไว้ว่า “ถ้าคุณอยากรู้เรื่องอะไร คุณจงตั้งต้นศึกษาเหมือนอย่างว่า เราจะไปเป็นครูเขาในเรื่องนั้น เรียนให้มากในเรื่องนั้น แล้วคุณจะรู้เรื่องนั้น ดีจนพอ..ดีจนเกินพอ”

การเล่น “เกม 20 คำถาม” คือการเปิดโอกาสให้คนอื่นถามเรา เหมือนเรากำลังฝึกตนเพื่อไปเป็น “ครู” ซึ่งยากกว่าเป็นนักเรียนแล้วอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบหลายเท่านัก แต่ถ้าทำได้ เราจะรู้จักบริษัทที่จะเข้าไปลงทุนชนิด.. “ดีจนเกินพอ”

อย่าลืมนะครับ “VI พันธุ์แท้” ทุกคน จะลงทุนในบริษัทไหน จงศึกษาหาความรู้ราวกับจะไปเป็น “ครู” สอนคนอื่นเขา แค่ “20 คำถาม” ก็รู้แล้วครับ!!

** สนใจหลักสูตรสัมมนา “ประเมินมูลค่าหุ้น” สอนวิธีหามูลค่าหุ้นหลักๆ ที่นักลงทุนระดับโลกนิยมใช้ ครบทุกวิธี เน้นความเข้าใจที่ถ่องแท้ เรียนจบ หามูลค่าหุ้นได้ โดยทีมงาน Club VI คลิกที่นี่ **

** สนใจหลักสูตร VI 101 “พื้นฐานการลงทุนเน้นมูลค่า” สำหรับผู้ที่อยากลงทุนแนววีไอ ต้องการสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนในระยะยาว แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะเริ่มต้นอย่างไร คลิกที่นี่ **

 ——————————