สรุปไฮไลท์จากจดหมายถึงผู้ถือหุ้นปี 2020 ของปู่

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ผมสรุปไฮไลท์สำคัญจากจดหมายถึงผู้ถือหุ้นเบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ ปี 2020 ที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ประธานบริษัท เขียนถึงผู้ถือหุ้นของตนเอง แม้จะสั้นลงกว่าปีที่ผ่านๆ มาตามเรี่ยวแรงของปู่ แต่ก็มีประเด็นที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว ดังนี้ครับ

1. ไม่เคยแทรกแซงการดำเนินงานของบริษัท

ปู่ยืนยันเหมือนเดิมว่า แกและชาร์ลี มังเกอร์ เพื่อนคู่หู มองหุ้นที่เบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ ถือ ซึ่งวันนี้มีมูลค่ารวมกันประมาณ 281,000 ล้านเหรียญ เป็นคอลเลคชั่นของสารพัดธุรกิจ โดย “เราไม่ได้เข้าไปควบคุมการดำเนินงานของบริษัทเหล่านั้น แต่เรามีส่วนในความเจริญรุ่งเรืองของพวกเขาตามสัดส่วนของเรา”

2. “บิ๊กโฟร์ของเบิร์กเชียร์

ปู่บอกว่า สินทรัพย์ที่สำคัญที่สุดของเบิร์กเชียร์มีสี่กลุ่ม  

หนึ่ง คือ ธุรกิจประกันในเครือทั้งหมด 

สอง คือ บริษัทรถไฟ BNSF ซึ่งเบิร์กเชียร์เป็นเจ้าของ 100% 

สาม คือ หุ้น 5.4% ใน Apple 

สี่ คือ บริษัท เบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ เอ็นเนอร์จี (BHE) ธุรกิจน้ำมัน ซึ่งเบิร์กเชียร์ถือหุ้นอยู่ 91%

(ปู่บอกว่าอันดับที่ 2 และ 3 สำคัญพอๆ กัน จนแทบจะต้องโยนหัวก้อย)

3. สภาพคล่อง 138,000 ล้านเหรียญ

ปู่บอกว่า ปัจจุบัน เบิร์กเชียร์สบายใจกับ “สภาพคล่อง” (float) 138,000 ล้านเหรียญ ซึ่งมาจากธุรกิจประกัน เป็น “เงินทุนซึ่งไม่ใช่ของเรา แต่เป็นเงินที่เราเอาไปใช้ได้” จะเอาไปซื้อหุ้นกู้ หุ้น สินทรัพย์ที่เทียบเท่าเงินสด หรือพันธบัตรรัฐบาลก็ได้ทั้งนั้น และคาดว่าสภาพคล่องดังกล่าวจะอยู่ในระดับนี้ไปอีกหลายปี

ด้วยเหตุนี้ ปู่จึงยกธุรกิจประกันเป็นสินทรัพย์สำคัญที่สุดอันดับ 1 ของเบิร์กเชียร์

4. พันธบัตรไม่ใช่คำตอบ

ปู่บอกว่า “ทุกวันนี้พันธบัตรไม่ใช่คำตอบ” โดยพันธบัตร 10 ปีของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทน 0.93% ลดลงถึง 94% จากเมื่อเดือนกันยายนปี 1981 ซึ่งให้ผลตอบแทน 15.8% ในประเทศสำคัญๆ อย่างเยอรมนีและญี่ปุ่น คนที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลได้ผลตอบแทนติดลบด้วยซ้ำไป

“นักลงทุนที่ลงทุนเพื่อผลตอบแทนคงที่ ต่างเผชิญกับอนาคตที่มืดมน” ปู่อธิบาย โดยมองว่าการซื้อหุ้นสหรัฐฯ แล้วถือไว้เป็นการลงทุนที่ดีกว่าเยอะ

5. ซื้อหุ้นคืนเยอะมาก

ณ ราคาปิด 364,580 เหรียญ (วันที่ 26 ก.พ.) หุ้นเบิร์กเชียร์ซื้อขายกันอยู่ที่ระดับราคา 1.26 เท่าของมูลค่าทางบัญชี ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยหลายปีที่ผ่านมาที่ระดับ 1.4 ถึง 1.5 เท่า ปู่จึงซื้อหุ้นคืนถึง 5% ในปี 2020 เป็นเงิน 24,700 ล้านเหรียญ ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าโดยเนื้อแท้ (intrinsic value) ให้กับหุ้นของบริษัท

“เบิร์กเชียร์ซื้อหุ้นคืนมากกว่านั้นอีกนับตั้งแต่สิ้นปีที่ผ่านมา และน่าจะลดจำนวนหุ้นในตลาดลงไปอีกในอนาคต”

6. ย้ายไปประชุมที่แอลเอ

การประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีของเบิร์กเชียร์ปีนี้จะจัดที่ลอส แอนเจลิส (ปกติจะจัดที่โอมาฮา) และชาร์ลี มังเกอร์ รองประธานบริษัทจะกลับมาขึ้นเวทีคู่กับบัฟเฟตต์เพื่อตอบคำถามของนักลงทุนอีกครั้ง หลังจากปีที่แล้วมังเกอร์ไม่ได้มา จึงเป็น เกร็ก อาเบล (รองประธานฝ่าย non-insurance) มานั่งคู่กับบัฟเฟตต์แทน

“เห็นได้ชัดเลยว่าพวกคุณคิดถึงเขา” ปู่บอก (ข้อสังเกตของผมคือ มังเกอร์อาศัยอยู่ที่ลอสแอนเจลิส การไปจัดที่แอลเอ อาจจะเป็นการย้ายเพื่อความสะดวกของมังเกอร์ที่อายุเกือบ 100 แล้วหรือไม่?)

7. ปีที่แล้วกำไร 42,500 ล้านเหรียญ

เบิร์กเชียร์ทำกำไรได้ 42,500 ล้านเหรียญในปี 2020 ตามหลักการบัญชีที่ได้รับการยอมรับกันทั่วไป (ที่มักเรียกกันว่า “GAAP”) 

ตัวเลขดังกล่าวประกอบด้วย กำไรจากการดำเนินงาน (operating income) 21,900 ล้านเหรียญ กำไรส่วนต่างเงินทุนที่ realize แล้ว (กำไรจากหุ้นที่ซื้อแล้วขายทิ้งในราคาสูงกว่าตอนซื้อมา) 4,900 ล้านเหรียญ กำไรส่วนต่างเงินทุนที่ยังไม่ realize (กำไรจากหุ้นที่ซื้อแล้วราคาขึ้น แต่ยังไม่ได้ขายหุ้นนั้น) และสุดท้าย ผลขาดทุน 11,000 ล้านเหรียญจากการปรับมูลค่าสินทรัพย์ของบริษัทในเครือ

อย่างไรก็ตาม ปู่ไม่ค่อยชอบสัดส่วนนี้เท่าไรนัก ปู่บอกว่า “กำไรจากการดำเนินงาน คือส่วนที่สำคัญที่สุด” เพราะมันคือกำไรจากการทำธุรกิจจริงๆ (ไม่ใช่กำไรจากการที่หุ้นขึ้น)

ปู่เคยบอกด้วยว่า อยากจะให้กำไรส่วนนี้เป็นสัดส่วนที่สูงที่สุด แต่ถึงตอนนี้ก็ยังทำไม่สำเร็จ โดยในปี 2020 กำไรจากการดำเนินงานยังลดลง 9%

8. ชื่นชมบริษัทรถไฟกับบริษัทพลังงาน

ปู่บอกว่า BNSF บริษัทรถไฟลูกรักที่ซื้อมาตั้งแต่ประมาณสิบปีก่อน กับ BHE หรือเบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ เอ็นเนอร์จี บริษัทพลังงาน ทำกำไรเป็นกอบเป็นกำให้เบิร์กเชียร์ตลอดมา โดยในปี 2011 สองบริษัททำกำไรรวมกันได้ 4,200 ล้านเหรียญ พอถึงปี 2020 แม้จะเจอโควิด แต่ยังทำกำไรรวมกันได้ 8,300 ล้านเหรียญ

ปู่บอกว่า บริษัท asset-heavy อย่างนี้ ก็สามารถเป็นการลงทุนที่ดีได้

9. Apple คือสุดยอดการลงทุน

ปู่บอกว่า ตั้งแต่เข้าเก็บหุ้น Apple เมื่อช่วงปลายปี 2016 และเก็บได้ประมาณ 1,000 ล้านหุ้นในช่วงต้นปี 2018 จนมีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 5.2% ใช้ทุนไป 36,000 ล้านเหรียญ ได้ปันผลมาปีละประมาณ 775 ล้านเหรียญ และได้เงินสดมาอีก 11,000 ล้านเหรียญจากการตัดขายบางส่วนออกไปในปี 2020

ทว่าแม้จะขายหุ้นทิ้ง ฮูเร่! ตอนนี้เบิร์กเชียร์กลับมีหุ้น 5.4% ใน Apple ส่วนที่เพิ่มขึ้นนั้นแทบประเมินมูลค่าไม่ได้เลยสำหรับเรา ที่เราได้มันมา ก็เพราะ Apple ซื้อหุ้นคืนอย่างต่อเนื่อง และลดจำนวนหุ้นที่มีอยู่ลงเยอะมาก

ปู่ยังบอกด้วยว่า ด้วยความที่เบิร์กเชียร์เองก็ซื้อหุ้นคืนด้วย ปัจจุบันผู้ถือหุ้นเบิร์กเชียร์จึงมีหุ้น Apple เพิ่มขึ้นถึง 10% นับจากกลางปี 2018 และเบิร์กเชียร์รวมทั้ง Apple ก็จะซื้อหุ้นคืนต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้ผู้ถือหุ้นเบิร์กเชียร์ถือหุ้นโดยอ้อมใน Apple เพิ่มขึ้นไปอีก

“สิ่งดีๆ ที่มีมากเกินมันช่าง … ยอดเยี่ยมเสียนี่กระไร” ปู่อ้างคำพูดของเม เวสต์

10. ยอมรับผิดจากการซื้อ Precision Castparts

ปู่บอกว่า ตนเองตัดสินใจผิดพลาดที่เข้าซื้อ Precision Castparts (PCC) บริษัทผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินด้วยเงินที่มากเกินไปเมื่อปี 2016 พอถึงปีที่แล้ว บริษัทก็แย่ลงจากการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมอวกาศ ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของ PCC 

ปู่บอกว่า แม้ตนเองจะมองถูกต้องแล้ว ว่า PCC จะใช้สินทรัพย์ที่มีตัวตนสร้างผลตอบแทนให้เบิร์กเชียร์ แต่จุดที่มองผิดก็คือ ประเมินกำไรในอนาคตที่บริษัทจะทำได้มากเกินไป ทำให้จ่ายแพงเกินไปเพื่อซื้อบริษัท PCC ส่งผลให้ในปีที่แล้วต้องตัดมูลค่าสินทรัพย์ลงไปถึง 11,000 ล้านเหรียญ

และทั้งหมดนี้ คือไฮไลท์จากจดหมายถึงผู้ถือหุ้นปี 2020 ของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่เผยแพร่เมื่อปลายเดือน ก.พ. 2021 ที่ผ่านมา ก่อนจะถึงการประชุมประจำปีในเดือน พ.ค.นี้

ดูจากสังขารและตัวเลขวัยของปู่ ไม่แน่ว่านี่อาจเป็นครั้งท้ายๆ แล้วก็ได้ที่เราจะได้อ่านจดหมายดีๆ อันทรงคุณค่าเช่นนี้

เมื่อ “ปู่” พูดถึง “ทอง”

IMG_1749

แปลและเรียบเรียง โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

“ถ้าคุณเอาทองคำในโลกมาหลอมรวมกัน มันจะเป็นก้อนลูกบาศก์ขนาดด้านละ 67 ฟุต และด้วยทองคำก้อนนี้ มันจะมีค่าเท่ากับเงินทุกวันนี้ 7 ล้านล้านเหรียญ .. ซึ่งคุณเอาไปซื้อไร่ทั้งหมดในสหรัฐฯ และเอ็กซอนโมบิลได้อีก 7 บริษัท แล้วยังเหลือเงินติดกระเป๋าอีก 1 ล้านล้านเหรียญ  .. และถ้าคุณให้ผมเลือกระหว่างทองคำ 67 ฟุตให้ผมนั่งมองทั้งวัน คุณให้ผมจับและเพลิดเพลินกับมัน … คุณอาจจะว่าผมบ้าก็ได้นะ แต่ผมจะเลือกไร่และเอ็กซอนโมบิล”

“ผมยอมรับว่า แม้อีกหนึ่งศตวรรษนับจากนี้ เมื่อผู้คนเกิดความกลัว พวกเขาก็น่าจะยังแห่กันไปหาทองคำ อย่างไรก็ตาม ผมก็มั่นใจอย่างยิ่งว่า ก้อน A มูลค่า 9.6 ล้านล้านเหรียญ (ไร่ทั้งหมดในสหรัฐฯ กับเอ็กซอนโมบิล 7 บริษัท) จะทบทวีขึ้นไปในอัตราเหนือกว่าที่ก้อน B (ทองคำทั้งโลก) ทำได้แน่นอน”

“ทองคำถูกขุดขึ้นจากดินในแอฟริกาหรือที่อื่นๆ จากนั้นเราก็หลอมมัน ขุดหลุมอีกหนึ่งหลุม ฝังกลบมันลงไป แล้วก็จ้างคนมายืนรอบๆ หลุมเพื่อเฝ้ามันไว้ ไม่มีประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น ถ้ามีสิ่งมีชีวิตมองลงมาจากดาวอังคาร มันคงเกาหัวแกรกๆ ด้วยความงง”

“ทองคำมีข้อเสียใหญ่ๆ อยู่สองข้อ คือมันใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้มากนัก ทั้งยังสร้างผลผลิตอะไรไม่ได้เลย จริงอยู่ ทองคำอาจจะมีอรรถประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมและใช้เป็นเครื่องประดับได้บ้าง แต่อุปสงค์ในแง่ดังกล่าวยากเหลือเกินที่จะดูดซับผลผลิตที่ออกมาใหม่”

“ถ้าคุณถือทองคำไว้หนึ่งออนซ์ตลอดกาล คุณจะยังมีทองคำแค่หนึ่งออนซ์ตลอดไป”

“ทองคำคือวิธี long ความกลัว และมันก็เป็นวิธี long ความกลัวที่ดีอยู่บ้างเป็นครั้งคราว แต่คุณต้องหวังมากๆ เลยว่า ในอีกหนึ่งหรือสองปีข้างหน้า จะมีคนที่กลัวมากกว่าที่คุณกลัวอยู่ในตอนนี้ และถ้าพวกเขากลัวมากกว่าคุณ คุณจึงจะได้เงิน แต่ถ้าพวกเขากลัวน้อยกว่าคุณ คุณก็จะเสียเงิน แต่ทองคำด้วยตัวของมันเองจะไม่ให้อะไรคุณเลย”

 

ปู่ชนะขาด! เดิมพันแห่งทศวรรษ

Warren_Buffett_at_the_2015_SelectUSA_Investment_Summit

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

หลังจากวัดกันมาสิบปีเต็ม ก็จบลงแล้วอย่างเป็นทางการ สำหรับการท้าเดิมพันแห่งทศวรรษ ระหว่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ กับ ผจก.เฮดจ์ฟันด์ คนหนึ่ง ว่า “index fund” ค่าธรรมเนียมต่ำๆ กับ “เฮดจ์ฟันด์” ที่บริหารโดยฟันด์เมเนเจอร์ค่าตัวแพงนั้น อะไรจะทำผลตอบแทนได้ดีกว่ากัน

ซึ่งผลก็ออกมาตามคาด โดยกองทุนอิงดัชนี S&P 500 ที่ปู่เลือกมา ทำผลตอบแทนทบต้นได้ปีละ 7.1% ขณะที่เฮดจ์ฟันด์ของฝ่ายผู้ท้าชิง ทำได้เพียงปีละ 2.2%

เรียกได้ว่า ปู่ชนะขาดลอยกระจุยกระจายไม่เห็นฝุ่น!!

ทั้งนี้ กองทุนที่ปู่เลือก ทำให้เงินต้นเมื่อสิบปีที่แล้วเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ขณะที่กองเฮดจ์ที่ผู้ท้าชิงเลือก ทำให้เงินต้นเพิ่มขึ้นเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น

และตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ “ผู้แพ้” จะต้องมอบเงิน 1 ล้านเหรียญให้การกุศล ตามมูลนิธิที่ “ผู้ชนะ” เป็นผู้เลือก ซึ่งปู่ก็เลือก Girl Inc. of Omaha มูลนิธิเพื่อเด็กผู้หญิงแห่งโอมาฮา เรียกได้ว่าจะแพ้หรือชนะ ก็ได้บุญกันทั้งคู่ (แต่ไม่รู้ผู้แพ้จะเต็มใจแค่ไหน)

การเดิมพันครั้งนี้ สืบเนื่องจากการที่ปู่เคยวิพากษ์วิจารณ์พวก ผจก.เฮดจ์ฟันด์ว่า ไม่สมควรที่จะได้รับค่าธรรมเนียมแพงๆ เพราะทำผลตอบแทนชนะกองทุนอิงดัชนีธรรมดาๆ ยังไม่ได้เสียด้วยซ้ำ แถมยังประกาศท้าใครที่ข้องใจให้มาเดิมพันกัน โดยตนเองจะเลือก index fund มากองนึง (ปู่เลือก กองทุน S&P 500) ให้ผู้ท้าชิงเลือกเฮดจ์ฟันด์ที่ต้องการมาได้เลย

และก็เป็น ทอม เซเดส ผู้จัดการบริษัท โพรเทเจ พาร์ทเนอร์ส LLC ที่ออกมารับคำท้า โดยเซเดสได้เลือกกองทุนของบริษัทตัวเองจำนวนห้ากอง ก่อนจะแพ้ย่อยยับดังกล่าว

ในสหรัฐฯ Index Fund ที่คิดค่าธรรมเนียมต่ำสุด อยู่ที่ราวๆ 0.03% ขณะที่เฮดจ์ฟันด์ มักใช้ระบบ “2- 20” คือ เก็บ 2% เป็นค่าบริหาร ไม่ว่าผลตอบแทนออกมาเป็นเช่นไร และหักอีก 20% จากกำไรที่ทำได้ ตรงนี้เองที่ปู่บอกว่า “แพงเว่อร์” ไม่สมเหตุสมผล

ผมเคยเขียนถึง index fund ไปแล้วหลายครั้ง รวมทั้งเทียบกับเมืองไทยให้เห็นกันด้วย จึงไม่ขอเพิ่มเติมในที่นี้ แค่อยากสรุปว่า …

ผลที่ออกมาครั้งนี้ เป็นการพิสูจน์คำสอนของปู่ที่ว่า ในโลกแห่งการลงทุน การทำอะไรที่ “เรียบง่าย” และ “น่าเบื่อ” สามารถเอาชนะการเล่นท่ายากท่าพิสดารได้เสมอครับ


ข้อมูลประกอบ :  ข้อมูลหลักจาก Yahoo Finance! ร่วมด้วย Forbes.com, Bloomberg.com