มหัศจรรย์ “หุ้น 30 เด้ง” ของ บัฟเฟตต์ และ มังเกอร์

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

เมื่อหลายปีก่อน บริษัท Berkshire Hathaway ภายใต้การนำของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ได้เข้าลงทุนใน BYD บริษัทผลิตรถยนต์ใช้ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ของจีน

โดย Berkshire ทุ่มเงินก้อนแรก 232 ล้านเหรียญ เพื่อซื้อหุ้น 225 ล้านหุ้นของ BYD เมื่อปี 2008 คิดเป็นราคาประมาณหุ้นละ 1 เหรียญ และผู้ที่แนะนำให้บัฟเฟตต์ซื้อ ก็คือ ชาร์ลี มังเกอร์ รองประธานบริษัท ซึ่งถนัดหาหุ้นต่างประเทศมากกว่าบัฟเฟตต์

ผมยังจำได้ว่าในเวลานั้นหลายคนมองว่า BYD เป็นการลงทุนที่ผิดพลาดของ Berkshire ด้วยความที่ราคาหุ้นติดลบอยู่เป็นเวลานาน และเมื่อถูกถามเรื่อง BYD ในการประชุมผู้ถือหุ้น บัฟเฟตต์ก็จะโยนให้มังเกอร์เป็นผู้ตอบเพราะแกไม่ค่อยรู้เรื่อง 

ทว่าผ่านมา 13 ปี หุ้น BYD ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงกลับกลายเป็นหุ้น “30 เด้ง” โดยราคาล่าสุดอยู่ที่ประมาณ “33 เหรียญ” เอาเฉพาะปีที่แล้วก็พุ่งขึ้นถึงห้าเท่า ทำให้มูลค่าตลาดของบริษัท จาก 3,000 ล้านเหรียญ กลายเป็น 95,000 ล้านเหรียญ เข้าไปแล้ว

และแน่นอนว่าทำให้เงินลงทุนของ 232 ล้านเหรียญของ Berkshire ทวีมูลค่ากลายเป็น 7,400 ล้านเหรียญ คิดเป็นกำไรเหนาะๆกว่า 7,000 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 3,000%!!

ทั้งหมดนี้เกิดจากการเติบโตของบริษัท โดยรายได้ของ BYD เพิ่มขึ้นจาก 26 ล้านหยวน (แค่ประมาณ 120 ล้านบาท) ในวันที่ Berkshire เข้าซื้อหุ้นกลายเป็น 122,000 ล้านหยวน (5.64 แสนล้านบาท) ในปี 2019 ขณะที่กำไรโตจากหนึ่งล้านหยวน (แค่สี่ล้านกว่าบาท คิดดูก็แล้วกันว่าจิ๊บจ๊อยขนาดไหน) กลายเป็น 1,600 ล้านหยวน (7,400 ล้านบาท) ในช่วงเวลาเดียวกัน

บัฟเฟตต์เคยให้สัมภาษณ์ CNBC ว่าดีลนี้มังเกอร์เป็นคนโทรหาเขาเองโดยบอกว่า “เราต้องซื้อ BYD ให้ได้นะ เจ้าคนที่บริหารมันเก่งยิ่งกว่าโธมัส เอดิสัน อีก” 

อันที่จริง มังเกอร์เคยพูดไว้ก่อนหน้านั้นแล้วเมื่อปี 2009 หลังจากซื้อ BYD ได้ไม่นาน บอกว่า หวังฉวนฝู ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ BYD คือส่วนผสมระหว่าง โธมัส เอดิสัน กับ แจ็ค เวลช์ กล่าวคือ มีทักษะของเอดิสันในการประดิษฐ์คิดค้น และมีทักษะของเวลช์ในการบริหารองค์กร ซึ่งเป็นอะไรที่หาได้ยากยิ่ง เพราะอัจฉริยะส่วนใหญ่จะมีอยู่เพียงหนึ่งในสองอย่างเท่านั้น 

“ผมไม่เคยเจออะไรแบบนี้มาก่อนเลย” มังเกอร์อธิบายถึงความมหัศจรรย์ของอาหวัง

ด้านบัฟเฟตต์เองก็เห็นด้วยกับเพื่อนซี้ และเคยเสนอที่จะซื้อหุ้นของบริษัทถึง 25% ในทีแรก ทว่าหวังปฏิเสธ ซึ่งปู่ก็ไม่ว่า แต่กลับชอบใจ และตกลงซื้อเพียง 9.9%

“นี่คือคนที่ไม่อยากขายบริษัทของตัวเอง” เทพเจ้าแห่งโอมาฮาบอกกับนิตยสาร Fortune “มันคือสัญญาณที่ดีเลยล่ะ”

ฝ่ายมังเกอร์ก็เคยพูดถึง BYD ในการประชุมผู้ถือหุ้นปี 2009 (ซึ่งเวลานั้นหุ้น BYD ยังไม่ไปไหนเลย) ไว้อีกว่า BYD ไม่ใช่สตาร์ทอัพธรรมดาที่จับพลัดจับผลู ได้เงินก้อนโตจาก VC แล้วก็ใหญ่ขึ้นมา 

ตรงกันข้ามเลย ชาร์ลีบอกว่าอาหวังผู้ก่อตั้งบริษัทเป็นคนที่เก่งมาก เขาสร้างปาฏิหาริย์ขึ้นมาหลายครั้งแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการปั้นบริษัทให้กลายเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมชาร์จซ้ำได้และผู้ผลิตชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือชั้นนำของโลก ทั้งๆ ที่มีเงินทุนจำกัดและเจอกับการแข่งขันที่รุนแรง ก่อนจะทำให้ BYD กลายเป็นโมเดลรถยนต์ที่ขายดีที่สุดในประเทศจีนได้สำเร็จ

“นี่มันโคตรปาฏิหาริย์เลย” มังเกอร์ชี้ชัด 

ที่ผมมองว่าน่าสนใจที่สุดก็คือ มังเกอร์บอกกับผู้ถือหุ้นหลายหมื่นคนในการประชุมผู้ถือหุ้นปี 2010 ว่า หากโอกาสลงทุนใน BYD มาถึงตั้งแต่ 5 หรือ 10 ปีก่อนหน้านั้นเขาคงจะไม่ลงทุน เพราะเวลานั้นเขายังไม่รู้อะไรเกี่ยวกับอุตสาหกรรมนี้

มังเกอร์พูดติดตลกว่า คนแก่อย่างพวกเรายังคงเรียนรู้ต่อเนื่องอยู่เสมอ ตรงนี้แหละที่สำคัญสุดๆ

ผมมองว่าบทเรียนที่เราควรจะได้รับจากเรื่องนี้มีอยู่หลายประการด้วยกัน

หนึ่ง) คนเราควรเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง บางเรื่องเราไม่รู้ในวันนี้ แต่ถ้าเราเริ่มต้นเรียนรู้มัน สักวันเราก็อาจเข้าใจและพบโอกาสดีๆ ได้ เหมือนที่มังเกอร์ขยันเรียนรู้ในวัยแปดสิบกว่าๆ จนได้หุ้น 30 เด้งมาครอบครอง (ปัจจุบัน ปู่มังก์อายุเก้าสิบกว่าแล้ว)

สอง) การกล้าลงทุนใน “คน” เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง มังเกอร์ชวนบัฟเฟตต์ลงทุนใน BYD เพราะเขาเชื่อมั่นในตัว หวังฉวนฝู มากกว่าที่เชื่อมั่นในรถยนต์หรือแบตเตอรี่ของบริษัทเสียอีก ถ้าเราเจอคนที่ยอดเยี่ยม การลงทุนกับเขาก็เป็นทางเลือกที่ควรทำ

คำถามสำคัญก็คือ “คุณอ่านคนออกเหมือนที่มังเกอร์มองอาหวังออกหรือเปล่า?” 

สาม) จงไว้ใจและให้เกียรติเพื่อนร่วมงานของคุณ แม้มังเกอร์จะพบเพชรเม็ดงามอย่างอาหวัง แต่ดีล BYD จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าบัฟเฟตต์ซึ่งไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับเมืองจีนไม่อนุมัติ ที่มันเกิดขึ้นได้ เป็นเพราะบัฟเฟตต์ไว้ใจและเคารพในการตัดสินของมังเกอร์ เพื่อนผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเขามาค่อนชีวิต 

สี่) อย่าลงทุนในบริษัทที่เจ้าของเก่งแต่ผลาญเงิน สตาร์ทอัพบางรายทำอะไรใหญ่ๆ โตๆ ได้เพราะได้เงินจาก VC แล้วก็เอามาลองผิดลองถูก ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเจ๊ง ลงทุนในบริษัทพวกนี้เหมือนเล่นไฮโล แต่ให้ลงทุนในบริษัทที่มีการพิสูจน์มาแล้วว่าเจ้าของรู้จริง เก่งจริง เหมือนที่มังเกอร์กล้าลงทุนกับบริษัทของหวังฉวนฝู เพราะเห็น “ปาฏิหาริย์เล็กๆ” ของเขามาก่อนแล้ว

ห้า) ลงทุนแล้วต้องมั่นใจและกล้าถือยาว ผมจำได้ว่าตอนที่ Berkshire เพิ่งลงทุนใน BYD ผมเพิ่งทำ Club VI ใหม่ๆ ตอนนั้นไม่ว่าจะแปลหนังสือหรืออ่านข้อมูลในเน็ต ใครๆก็บอกว่า BYD คือการลงทุนที่ล้มเหลว ถ้าวันนั้นมังเกอร์และบัฟเฟตต์ไม่เชื่อมั่นในตัวเอง หรือหวั่นไหวไปตามคนส่วนใหญ่ เขาก็คงขายมันทิ้งตัดขาดทุนไปแล้ว

แต่เพราะพวกเขารู้ดีว่าตนเองทำอะไรอยู่ Berkshire จึงมีหุ้น 30 เด้งที่ชื่อ BYD อยู่ในมือทุกวันนี้

หก) ธุรกิจ EV และแบตเตอรี่ไฟฟ้าคือธุรกิจแห่งอนาคต บริษัทรถยนต์เก่าๆ กำลังล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ นี่คือโลกใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม แต่เราจะได้กำไรก็ต่อเมื่อเรามีวิสัยทัศน์เหนือคนอื่นๆ และเข้าลงทุนก่อนที่มันจะ “มา” เท่านั้น

และนี่คือ success story “หุ้น 30 เด้ง” ของบัฟเฟตต์และมังเกอร์ที่เอามาเล่าสู่กันฟัง หวังว่าจะปรับไปใช้กับชีวิตการลงทุนของท่านได้บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ


ข้อมูลประกอบ : https://markets.businessinsider.com/news/stocks/warren-buffett-berkshire-hathaway-gain-byd-electric-vehicles-investment-2021-1-1029995920

ภาพประกอบ : Yahoo! Finance live streaming Berkshire AGM, Wikipedia: BYD

20 วรรคทองล่าสุดจากปาก ชาร์ลี มังเกอร์

เรียบเรียงโดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ผมอ่านเว็บไซต์ Business Insider เจอวรรคทองของชาร์ลี มังเกอร์ รองประธานเบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ ซึ่งไปพูดที่ ​California Institute of Technology เมื่อวันจันทร์ที่ 15 ธ.ค. 2020 ผ่านมา

โดย มังเกอร์ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทและมือขวาของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ พูดถึงความร้อนแรงของตลาดหุ้น ณ ตอนนี้ และฝากไว้ด้วยข้อคิดคมๆ มากมายตามสไตล์ ผมสรุปมาให้อ่านกันเป็นข้อๆ รวม 20 ข้อ ดังนี้ครับ

  1. “เห็นได้ชัดมากๆ เลยว่าความได้เปรียบในระยะยาวที่คนอย่างเราๆ ได้รับจากการพยายามไม่โง่อยู่เสมอ แทนที่จะพยายามฉลาดอยู่เสมอนั้นมากมายเพียงใด”
  2. “มีกิจกรรมบ้าๆ เกิดขึ้นในสนามการลงทุนมากมาย เกือบทุกคนที่เฉลียวฉลาดต่างถูกเงินดูดเข้าไปในสนามการลงทุน แต่ผมไม่เห็นด้วยเลยแม้แต่น้อย ผมไม่คิดว่าเราอยากเห็นคนทั้งโลกดิ้นรนไขว่คว้าหาความรวยด้วยการพยายามเอาชนะคนอื่นๆ”
  3. “เทคโนโลยีเป็นนักฆ่า พอๆ กับที่เป็นโอกาส”
  4. “เบิร์คเชียร์เป็นเจ้าของ เบอร์ลิงตัน นอร์ธเทิร์น เรลโร้ด คุณคงนึกแทบไม่ออกเลยว่าจะมีธุรกิจไหนที่เชยได้มากกว่าธุรกิจรถไฟ ก็ไอ้บ้าที่ไหนล่ะจะมาสร้างรางรถไฟสำหรับขนของ เราทำอย่างนี้จนสำเร็จ ไม่ใช่ด้วยการเอาชนะการเปลี่ยนแปลง แต่ด้วยการหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลง”
  5. “ผมคอยเตือนตัวเองอยู่เสมอว่าเคยทำผิดพลาดอะไรมาแล้วบ้าง โดยพยายามทำทุกสิ่งให้เรียบง่ายและพื้นๆ ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และผมก็ชอบคอนเซ็ปต์ทางวิศวกรรมของส่วนต่างแห่งความปลอดภัย ผมเป็นนักคิดประเภทชอบขวางและชอบปะทะ ทั้งหมดก็เพื่อพยายามและหลีกเลี่ยงที่จะไม่โง่เท่านั้นเอง”
  6. “สิ่งสำคัญที่สุดสิ่งเดียวที่คุณต้องการ คือหลีกเลี่ยงไม่ทำผิดพลาดแบบโง่ๆ รู้ขอบเขตความสามารถของตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมากเพราะความคิดของมนุษย์มักหลอกตัวเองว่าเราฉลาดว่าที่เราเป็น”
  7. “สิ่งสุดท้ายที่ผมอยากทำในธุรกิจค้าปลีกคือการแข่งกับคอสก์โก”
  8. “สิ่งที่บัฟเฟตต์และผมทำ คือเราซื้อสิ่งที่มีอนาคต บางครั้งเราอาจจะมีแรงหนุนจากเศรษฐกิจ บางครั้งเราอาจจะเจอแรงต้าน แต่เราก็ว่ายน้ำต่อไปเรื่อยๆ นี่แหละคือระบบของเรา”
  9. “คุณไม่มีทางประสบความสำเร็จในชีวิตได้ถ้าไม่ทำอะไรยากๆ แล้วผิดพลาดเสียบ้าง มันคือธรรมชาติของเกม และคุณคงไม่มีวันที่จะกล้าพอ ถ้าคิดแต่จะหลีกเลี่ยงทุกสิ่งซึ่งไม่เป็นไปอย่างที่คิด”
  10. “ผู้คนมากมายโดดเข้าไปร่วมวง ความบ้าคลั่งนั้นมากมายเหลือเกิน ระบบผลตอบแทนก็แสนโง่เง่า ผมเชื่อว่าสุดท้ายแล้วผลตอบแทนจะลดลงเอง (พูดถึงตลาดหุ้นสหรัฐฯ ขณะนี้)”
  11. “เราว่ายอยู่ในสายน้ำที่ไม่เคยมีใครแหวกว่ายมาก่อน ไม่เคยมีใครมาถึงจุดนี้ด้วยเงินที่ปริ๊นท์ออกมามากมายขนาดนี้ และลากยาวมาได้นานขนาดนี้โดยยังไม่เจอปัญหาอะไรเลย เราเล่นกับไฟมาจนถึงจุดที่อันตรายแล้วจริงๆ” (พูดถึงตลาดหุ้นสหรัฐฯ ขณะนี้)
  12. “ผมยังจำได้ว่าเคยกินมื้อเย็น เป็นฟิเลมิยองเสิร์ฟห้าคอร์สราคาแค่ 60 เซนต์ที่โอมาฮาสมัยยังเด็ก โลกเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ”
  13. ไม่มีใครรู้หรอกว่าฟองสบู่จะแตกเมื่อไร แต่การที่มันคือตลาดแนสแด็ค ไม่ได้แปลว่ามันจะมีอย่างนี้เกิดขึ้นอีกในเร็ววัน ที่เป็นอยู่นี่มันเหลือเชื่อสุดๆ ไม่เคยมีเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นมาก่อนเลย” (พูดถึงตลาดหุ้นสหรัฐฯ ขณะนี้)
  14. “ลองนึกดูสิว่า Apple มีมูลค่าเท่าไร เมื่อเทียบกับอาณาจักรของจอห์น ดี ร็อคกีเฟลเลอร์ นี่คือสิ่งที่เหนือจริงที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของโลกการเงินจริงๆ”
  15. ใครจะไปคิดล่ะว่าพวกคอมมิวนิสต์ไม่กี่คน ที่บริหารโดยพรรคๆ เดียว จะสร้างสถิติการลงทุนที่ดีที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา
  16. “ผมคิดว่านักลงทุนระดับเซียนมีความคล้ายกับนักเล่นหมากรุกในระดับหนึ่ง คือแทบจะเกิดมาเป็นนักลงทุนเลยก็ว่าได้”
  17. “คุณต้องรู้ให้มากเข้าไว้ แต่ส่วนหนึ่งมันเป็นเรื่องของอารมณ์ ส่วนหนึ่งมันคือการอดทนรอสิ่งที่อยากได้ คุณต้องพร้อมที่จะรอ การลงทุนที่ดีต้องอาศัยทั้งความอดทนและความกล้า ซึ่งมีคนไม่มากนักหรอกที่จะมีสองสิ่งนี้ ทั้งยังต้องรู้จักตัวเองเป็นอย่างดีว่าคุณรู้มากแค่ไหนและยังไม่รู้อีกมากแค่ไหน คุณต้องรู้ขอบเขตความสามารถของตัวเอง คนฉลาดจำนวนมากคิดว่าตัวเองฉลาดกว่าที่เป็นจริง ซึ่งแน่นอนว่าทั้งอันตรายและก่อปัญหา”
  18. “สิ่งที่ช่วยทุกคนได้ คือการเกาะไปกับอะไรที่กำลังขึ้น มันจะลากคุณขึ้นไปเองโดยที่คุณไม่ต้องทำอะไรมากนัก”
  19. “ถ้าคุณไล่ล่าหางานโดยมีความคลั่งไคล้ มันก็น่าจะเวิร์กกว่าการที่ไม่มีความคลั่งไคล้อะไรเอาเสียเลย ลองดูวอร์เรน บัฟเฟตต์ สิ เขามีความสนใจระดับคลั่งไคล้ในการลงทุนมาตั้งแต่ยังเด็กมากๆ แล้วเขาก็ลงทุนทีละเล็กละน้อยเรื่อยมา สุดท้ายจึงค้นพบวิธีทำมันให้ดี”
  20. “ผมไม่ได้ภูมิใจกับการทำการกุศลของตัวเองมากนัก ผมมองว่ามันคือหน้าที่ขั้นต่ำสุดของคนที่ประสบความสำเร็จที่จะต้องรู้จักให้ ผมไม่คิดว่าควรคุณจะได้แต้มบุญใดๆ จากการกุศลที่คุณทำ”

ภาพประกอบโดย Nick : https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=75743370

ข้อมูลประกอบจากเว็บ Business Insider โดย Theron Mohamed

วีไอไม่ง้อหุ้นเทคได้หรือไม่?

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ในยุคสมัยของหุ้นเทคเช่นทุกวันนี้ เริ่มมีคำถามเกิดขึ้นว่า วิธีลงทุนแบบวีไอยังใช้ได้หรือไม่ เรื่องนี้ โมนิช ปาบราย “วีไอดันโด” ได้ให้คำตอบไว้ โดยบอกเล่าเรื่องราวของ ชาร์ลี มังเกอร์ รองประธานบริษัท เบิร์คเชียร์ แฮธาเวย์ เพื่อนคู่หูของ วอร์เรน บัฟเฟตต์

ปาบรายเล่าว่า ชาร์ลี มังเกอร์ อ่านบาร์รอน (Barron’s) วารสารการลงทุนชื่อดังมาตั้งแต่ยังหนุ่ม โดยในแต่ละฉบับของบาร์รอน จะมีไอเดียธุรกิจที่น่าลงทุน 5-10 ไอเดีย

เวลาผ่านมา 50 ปี เขาอ่านบาร์รอนมาแล้ว 2,500 ฉบับ อ่านไอเดียธุรกิจในบาร์รอนมาแล้วร่วม 25,000 ไอเดีย แต่ไม่เคยลงมือเลยสักครั้ง เพิ่งมาลงมือกับไอเดียหนึ่งเดียวเมื่อไม่นานมานี้ ในปี 2002

เป็นหุ้นที่ชื่อ Tenneco (TEN) บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของสหรัฐอเมริกา

ย้อนไปตอนที่มังเกอร์เข้าซื้อ บริษัทนี้กำลังแย่ หุ้นตกลงไปเหลือ 1.60 เหรียญ ก่อนจะพลิกฟื้นและพุ่งกระฉูดขึ้นไปถึง 55 เหรียญ พอถึงปี 2004-5 เขาได้กำไรจาก Tenneco ประมาณ 8 เด้งกว่า

มังเกอร์ขาย Tenneco ไปที่ราคา 15-20 เหรียญ แม้จะดูเหมือนน่าเสียดาย แต่เงินที่ปู่มังก์ใส่ลงไป 10 ล้านเหรียญ ได้กลายเป็น 80 ล้านเหรียญในเวลาแค่ 2-3 ปี ถือว่าน่ามหัศจรรย์มากๆ

(ต่อมา มังเกอร์เอาเงินก้อนเดียวกันนี้ไปลงทุนกับ หลี่ ลู่ นักลงทุนและผู้จัดการเฮดจ์ฟันด์ชาวจีน (ซึ่งเป็นผู้แนะนำ BYD บริษัทผลิตแบตเตอรี่และรถยนต์ไฟฟ้าให้ทั้งมังเกอร์และบัฟเฟตต์ได้รู้จัก) ก่อนที่หลี่จะทำให้เงินก้อนนั้นทวีมูลค่ากลายเป็นประมาณ 500 ล้านเหรียญ)

ที่น่าสนใจก็คือ สตอรี่นี้ ไม่ได้เกิดขึ้นในยุค 60 เหมือนกับ success story จำนวนมากของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ แต่เกิดขึ้นในยุคของพวกเรา เป็นการลงทุนในหุ้น “ก้นบุหรี่” คือราคาถูกสุดๆ และเป็นธุรกิจ “ยุคเก่า” ตามตำราวีไอแท้ๆ ไม่ได้เกาะกระแส tech stock ไม่ได้ลงทุนในหุ้นอย่าง Google หรือ Amazon ซึ่งเติบโตขึ้นมาในช่วงเวลาเดียวกัน

ปาบรายบอกว่า ความสำเร็จนี้เกิดจากองค์ประกอบสามประการ หนึ่งคือ ความอดทนสุดขั้ว (กล้าอ่านหนังสือ 50 ปีโดยไม่ลงมือ) สองคือ ความกล้าตัดสินใจสุดขั้ว (กล้าซื้อหุ้นในเวลาที่หุ้นเผชิญวิกฤตสุดๆ) และสามคือ การมุ่งหวังของถูกแบบสุดขั้ว (ไม่ถูกจริงๆ ไม่ซื้อ)

สามประการนี้ ใครมีครบก็มีโอกาสได้ผลตอบแทนแบบบ้าคลั่งจากหุ้น “เพชรในตม” โดยไม่ต้องง้อหุ้นเทคเหมือนที่ “ปู่มังก์” ทำได้นั่นเอง

—————————–

ภาพและข้อมูลประกอบจาก : Stock Research Impacts Financial Health | Mohnish Pabrai | Talks at Google ชมได้ที่นี่