มหัศจรรย์ “หุ้น 30 เด้ง” ของ บัฟเฟตต์ และ มังเกอร์

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

เมื่อหลายปีก่อน บริษัท Berkshire Hathaway ภายใต้การนำของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ได้เข้าลงทุนใน BYD บริษัทผลิตรถยนต์ใช้ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ของจีน

โดย Berkshire ทุ่มเงินก้อนแรก 232 ล้านเหรียญ เพื่อซื้อหุ้น 225 ล้านหุ้นของ BYD เมื่อปี 2008 คิดเป็นราคาประมาณหุ้นละ 1 เหรียญ และผู้ที่แนะนำให้บัฟเฟตต์ซื้อ ก็คือ ชาร์ลี มังเกอร์ รองประธานบริษัท ซึ่งถนัดหาหุ้นต่างประเทศมากกว่าบัฟเฟตต์

ผมยังจำได้ว่าในเวลานั้นหลายคนมองว่า BYD เป็นการลงทุนที่ผิดพลาดของ Berkshire ด้วยความที่ราคาหุ้นติดลบอยู่เป็นเวลานาน และเมื่อถูกถามเรื่อง BYD ในการประชุมผู้ถือหุ้น บัฟเฟตต์ก็จะโยนให้มังเกอร์เป็นผู้ตอบเพราะแกไม่ค่อยรู้เรื่อง 

ทว่าผ่านมา 13 ปี หุ้น BYD ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงกลับกลายเป็นหุ้น “30 เด้ง” โดยราคาล่าสุดอยู่ที่ประมาณ “33 เหรียญ” เอาเฉพาะปีที่แล้วก็พุ่งขึ้นถึงห้าเท่า ทำให้มูลค่าตลาดของบริษัท จาก 3,000 ล้านเหรียญ กลายเป็น 95,000 ล้านเหรียญ เข้าไปแล้ว

และแน่นอนว่าทำให้เงินลงทุนของ 232 ล้านเหรียญของ Berkshire ทวีมูลค่ากลายเป็น 7,400 ล้านเหรียญ คิดเป็นกำไรเหนาะๆกว่า 7,000 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 3,000%!!

ทั้งหมดนี้เกิดจากการเติบโตของบริษัท โดยรายได้ของ BYD เพิ่มขึ้นจาก 26 ล้านหยวน (แค่ประมาณ 120 ล้านบาท) ในวันที่ Berkshire เข้าซื้อหุ้นกลายเป็น 122,000 ล้านหยวน (5.64 แสนล้านบาท) ในปี 2019 ขณะที่กำไรโตจากหนึ่งล้านหยวน (แค่สี่ล้านกว่าบาท คิดดูก็แล้วกันว่าจิ๊บจ๊อยขนาดไหน) กลายเป็น 1,600 ล้านหยวน (7,400 ล้านบาท) ในช่วงเวลาเดียวกัน

บัฟเฟตต์เคยให้สัมภาษณ์ CNBC ว่าดีลนี้มังเกอร์เป็นคนโทรหาเขาเองโดยบอกว่า “เราต้องซื้อ BYD ให้ได้นะ เจ้าคนที่บริหารมันเก่งยิ่งกว่าโธมัส เอดิสัน อีก” 

อันที่จริง มังเกอร์เคยพูดไว้ก่อนหน้านั้นแล้วเมื่อปี 2009 หลังจากซื้อ BYD ได้ไม่นาน บอกว่า หวังฉวนฝู ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ BYD คือส่วนผสมระหว่าง โธมัส เอดิสัน กับ แจ็ค เวลช์ กล่าวคือ มีทักษะของเอดิสันในการประดิษฐ์คิดค้น และมีทักษะของเวลช์ในการบริหารองค์กร ซึ่งเป็นอะไรที่หาได้ยากยิ่ง เพราะอัจฉริยะส่วนใหญ่จะมีอยู่เพียงหนึ่งในสองอย่างเท่านั้น 

“ผมไม่เคยเจออะไรแบบนี้มาก่อนเลย” มังเกอร์อธิบายถึงความมหัศจรรย์ของอาหวัง

ด้านบัฟเฟตต์เองก็เห็นด้วยกับเพื่อนซี้ และเคยเสนอที่จะซื้อหุ้นของบริษัทถึง 25% ในทีแรก ทว่าหวังปฏิเสธ ซึ่งปู่ก็ไม่ว่า แต่กลับชอบใจ และตกลงซื้อเพียง 9.9%

“นี่คือคนที่ไม่อยากขายบริษัทของตัวเอง” เทพเจ้าแห่งโอมาฮาบอกกับนิตยสาร Fortune “มันคือสัญญาณที่ดีเลยล่ะ”

ฝ่ายมังเกอร์ก็เคยพูดถึง BYD ในการประชุมผู้ถือหุ้นปี 2009 (ซึ่งเวลานั้นหุ้น BYD ยังไม่ไปไหนเลย) ไว้อีกว่า BYD ไม่ใช่สตาร์ทอัพธรรมดาที่จับพลัดจับผลู ได้เงินก้อนโตจาก VC แล้วก็ใหญ่ขึ้นมา 

ตรงกันข้ามเลย ชาร์ลีบอกว่าอาหวังผู้ก่อตั้งบริษัทเป็นคนที่เก่งมาก เขาสร้างปาฏิหาริย์ขึ้นมาหลายครั้งแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการปั้นบริษัทให้กลายเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมชาร์จซ้ำได้และผู้ผลิตชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือชั้นนำของโลก ทั้งๆ ที่มีเงินทุนจำกัดและเจอกับการแข่งขันที่รุนแรง ก่อนจะทำให้ BYD กลายเป็นโมเดลรถยนต์ที่ขายดีที่สุดในประเทศจีนได้สำเร็จ

“นี่มันโคตรปาฏิหาริย์เลย” มังเกอร์ชี้ชัด 

ที่ผมมองว่าน่าสนใจที่สุดก็คือ มังเกอร์บอกกับผู้ถือหุ้นหลายหมื่นคนในการประชุมผู้ถือหุ้นปี 2010 ว่า หากโอกาสลงทุนใน BYD มาถึงตั้งแต่ 5 หรือ 10 ปีก่อนหน้านั้นเขาคงจะไม่ลงทุน เพราะเวลานั้นเขายังไม่รู้อะไรเกี่ยวกับอุตสาหกรรมนี้

มังเกอร์พูดติดตลกว่า คนแก่อย่างพวกเรายังคงเรียนรู้ต่อเนื่องอยู่เสมอ ตรงนี้แหละที่สำคัญสุดๆ

ผมมองว่าบทเรียนที่เราควรจะได้รับจากเรื่องนี้มีอยู่หลายประการด้วยกัน

หนึ่ง) คนเราควรเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง บางเรื่องเราไม่รู้ในวันนี้ แต่ถ้าเราเริ่มต้นเรียนรู้มัน สักวันเราก็อาจเข้าใจและพบโอกาสดีๆ ได้ เหมือนที่มังเกอร์ขยันเรียนรู้ในวัยแปดสิบกว่าๆ จนได้หุ้น 30 เด้งมาครอบครอง (ปัจจุบัน ปู่มังก์อายุเก้าสิบกว่าแล้ว)

สอง) การกล้าลงทุนใน “คน” เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง มังเกอร์ชวนบัฟเฟตต์ลงทุนใน BYD เพราะเขาเชื่อมั่นในตัว หวังฉวนฝู มากกว่าที่เชื่อมั่นในรถยนต์หรือแบตเตอรี่ของบริษัทเสียอีก ถ้าเราเจอคนที่ยอดเยี่ยม การลงทุนกับเขาก็เป็นทางเลือกที่ควรทำ

คำถามสำคัญก็คือ “คุณอ่านคนออกเหมือนที่มังเกอร์มองอาหวังออกหรือเปล่า?” 

สาม) จงไว้ใจและให้เกียรติเพื่อนร่วมงานของคุณ แม้มังเกอร์จะพบเพชรเม็ดงามอย่างอาหวัง แต่ดีล BYD จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าบัฟเฟตต์ซึ่งไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับเมืองจีนไม่อนุมัติ ที่มันเกิดขึ้นได้ เป็นเพราะบัฟเฟตต์ไว้ใจและเคารพในการตัดสินของมังเกอร์ เพื่อนผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเขามาค่อนชีวิต 

สี่) อย่าลงทุนในบริษัทที่เจ้าของเก่งแต่ผลาญเงิน สตาร์ทอัพบางรายทำอะไรใหญ่ๆ โตๆ ได้เพราะได้เงินจาก VC แล้วก็เอามาลองผิดลองถูก ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเจ๊ง ลงทุนในบริษัทพวกนี้เหมือนเล่นไฮโล แต่ให้ลงทุนในบริษัทที่มีการพิสูจน์มาแล้วว่าเจ้าของรู้จริง เก่งจริง เหมือนที่มังเกอร์กล้าลงทุนกับบริษัทของหวังฉวนฝู เพราะเห็น “ปาฏิหาริย์เล็กๆ” ของเขามาก่อนแล้ว

ห้า) ลงทุนแล้วต้องมั่นใจและกล้าถือยาว ผมจำได้ว่าตอนที่ Berkshire เพิ่งลงทุนใน BYD ผมเพิ่งทำ Club VI ใหม่ๆ ตอนนั้นไม่ว่าจะแปลหนังสือหรืออ่านข้อมูลในเน็ต ใครๆก็บอกว่า BYD คือการลงทุนที่ล้มเหลว ถ้าวันนั้นมังเกอร์และบัฟเฟตต์ไม่เชื่อมั่นในตัวเอง หรือหวั่นไหวไปตามคนส่วนใหญ่ เขาก็คงขายมันทิ้งตัดขาดทุนไปแล้ว

แต่เพราะพวกเขารู้ดีว่าตนเองทำอะไรอยู่ Berkshire จึงมีหุ้น 30 เด้งที่ชื่อ BYD อยู่ในมือทุกวันนี้

หก) ธุรกิจ EV และแบตเตอรี่ไฟฟ้าคือธุรกิจแห่งอนาคต บริษัทรถยนต์เก่าๆ กำลังล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ นี่คือโลกใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม แต่เราจะได้กำไรก็ต่อเมื่อเรามีวิสัยทัศน์เหนือคนอื่นๆ และเข้าลงทุนก่อนที่มันจะ “มา” เท่านั้น

และนี่คือ success story “หุ้น 30 เด้ง” ของบัฟเฟตต์และมังเกอร์ที่เอามาเล่าสู่กันฟัง หวังว่าจะปรับไปใช้กับชีวิตการลงทุนของท่านได้บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ


ข้อมูลประกอบ : https://markets.businessinsider.com/news/stocks/warren-buffett-berkshire-hathaway-gain-byd-electric-vehicles-investment-2021-1-1029995920

ภาพประกอบ : Yahoo! Finance live streaming Berkshire AGM, Wikipedia: BYD

เมื่อ “ปู่” พูดถึง “ทอง”

IMG_1749

แปลและเรียบเรียง โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

“ถ้าคุณเอาทองคำในโลกมาหลอมรวมกัน มันจะเป็นก้อนลูกบาศก์ขนาดด้านละ 67 ฟุต และด้วยทองคำก้อนนี้ มันจะมีค่าเท่ากับเงินทุกวันนี้ 7 ล้านล้านเหรียญ .. ซึ่งคุณเอาไปซื้อไร่ทั้งหมดในสหรัฐฯ และเอ็กซอนโมบิลได้อีก 7 บริษัท แล้วยังเหลือเงินติดกระเป๋าอีก 1 ล้านล้านเหรียญ  .. และถ้าคุณให้ผมเลือกระหว่างทองคำ 67 ฟุตให้ผมนั่งมองทั้งวัน คุณให้ผมจับและเพลิดเพลินกับมัน … คุณอาจจะว่าผมบ้าก็ได้นะ แต่ผมจะเลือกไร่และเอ็กซอนโมบิล”

“ผมยอมรับว่า แม้อีกหนึ่งศตวรรษนับจากนี้ เมื่อผู้คนเกิดความกลัว พวกเขาก็น่าจะยังแห่กันไปหาทองคำ อย่างไรก็ตาม ผมก็มั่นใจอย่างยิ่งว่า ก้อน A มูลค่า 9.6 ล้านล้านเหรียญ (ไร่ทั้งหมดในสหรัฐฯ กับเอ็กซอนโมบิล 7 บริษัท) จะทบทวีขึ้นไปในอัตราเหนือกว่าที่ก้อน B (ทองคำทั้งโลก) ทำได้แน่นอน”

“ทองคำถูกขุดขึ้นจากดินในแอฟริกาหรือที่อื่นๆ จากนั้นเราก็หลอมมัน ขุดหลุมอีกหนึ่งหลุม ฝังกลบมันลงไป แล้วก็จ้างคนมายืนรอบๆ หลุมเพื่อเฝ้ามันไว้ ไม่มีประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น ถ้ามีสิ่งมีชีวิตมองลงมาจากดาวอังคาร มันคงเกาหัวแกรกๆ ด้วยความงง”

“ทองคำมีข้อเสียใหญ่ๆ อยู่สองข้อ คือมันใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้มากนัก ทั้งยังสร้างผลผลิตอะไรไม่ได้เลย จริงอยู่ ทองคำอาจจะมีอรรถประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมและใช้เป็นเครื่องประดับได้บ้าง แต่อุปสงค์ในแง่ดังกล่าวยากเหลือเกินที่จะดูดซับผลผลิตที่ออกมาใหม่”

“ถ้าคุณถือทองคำไว้หนึ่งออนซ์ตลอดกาล คุณจะยังมีทองคำแค่หนึ่งออนซ์ตลอดไป”

“ทองคำคือวิธี long ความกลัว และมันก็เป็นวิธี long ความกลัวที่ดีอยู่บ้างเป็นครั้งคราว แต่คุณต้องหวังมากๆ เลยว่า ในอีกหนึ่งหรือสองปีข้างหน้า จะมีคนที่กลัวมากกว่าที่คุณกลัวอยู่ในตอนนี้ และถ้าพวกเขากลัวมากกว่าคุณ คุณจึงจะได้เงิน แต่ถ้าพวกเขากลัวน้อยกว่าคุณ คุณก็จะเสียเงิน แต่ทองคำด้วยตัวของมันเองจะไม่ให้อะไรคุณเลย”

 

โกลด์แมน แซคส์ ยอมจ่าย 3,900 ล้าน จบข้อพิพาทรัฐบาลมาเลย์

Warren_Buffett_at_the_2015_SelectUSA_Investment_Summit

โดย Club VI

โกลด์แมน แซคส์ สถาบันการเงินชื่อดัง ยอมควักเงินให้รัฐบาลมาเลเซียถึง  2,500 ล้านเหรียญ และยอมรับประกันการฟื้นฟูความเสียหายมูลค่า 1,400 ล้านบาท จากกรณีการทุจริตสุดอื้อฉาวของกองทุน 1MDB เพื่อจบข้อพิพาทกับรัฐบาลมาเลเซีย

โดยก่อนหน้านี้ โกลด์แมนเป็นนายแบงก์หลักของกองทุน 1 Malaysian Development Bhd. หรือ “1IMDB” แห่งรัฐบาลมาเลย์ และเป็นผู้ระดมทุนให้กองทุนดังกล่าวถึง 6,500 ล้านเหรียญ ผ่านการออกหุ้นกู้สามล็อตในปี 2012-13 ก่อนที่เงินนั้นจะถูกขโมยไปโดยคนของกองทุน รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของโกลด์แมนสองคน จนกลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก

กรณีอื้อฉาวดังกล่าว นำไปสู่ขาลงของนายนาจีบ ราซัค อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่พ่ายแพ้การเลือกตั้ง และถูกดำเนินคดีในข้อหาฟอกเงินและใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ ซึ่งนาจีบยังคงปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

ข้อมูลจาก Wall Street Journal ระบุว่า ทางการสหรัฐฯ กล่าวหาว่า ส่วนหนึ่งของเงินก้อนโตได้ถูกขโมยไปโดยนายโจ โลว อดีตที่ปรึกษาของรัฐบาลมาเลเซีย โดยอัยการสหรัฐฯ อ้างว่า โกลด์แมนละเลยสัญญาณเตือนเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลของนายโลวหลายประการ เพราะเห็นแก่ค่าธรรมเนียม 600 ล้านเหรียญ  อันนำไปสู่ความเสียหายดังกล่าว

ที่ผมมองว่าน่าสนใจโดยส่วนตัวก็คือ การที่บริษัท เบิร์คเชียร์ แฮธาเวย์ ของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายสำคัญ ได้เทขายหุ้นจำนวนมากของโกลด์แมนออกมา ท่ามกลางความงุนงงของคนทั่วโลก อาจมีสาเหตุสำคัญมาจากกรณีนี้หรือไม่? เพราะตั้งแต่ปีที่แล้ว รวมถึงปีนี้ บัฟเฟตต์ก็เทขายหุ้นของ เวลส์ ฟาร์โก ธนาคารลูกรักที่เกิดเรื่องอื้อฉาวจากกรณีทุจริตปลอมบัญชีลูกค้ามาแล้ว

ในทางตรงข้าม ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน “ปู่” เพิ่งเก็บหุ้นของ Bank of America เพิ่มเติม โดยที่ BOA ไม่ได้มีเรื่องเสียหายอันใด

จึงยิ่งเป็นข้อสันนิษฐานได้ว่า ปู่อาจไม่ได้มองธุรกิจแบงก์แย่ไปเสียทั้งหมด หรือไม่ได้มองว่าจะถูก “ดิสรัป” หรือไม่ได้มองแม้กระทั่งว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะกลายเป็นหายนะจากวิกฤตโควิด แต่ที่เทขายหุ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะปัจจัยเฉพาะตัวของแต่ละธนาคารก็เป็นได้


ข้อมูลประกอบจาก Wall Street Journal