นักวิเคราะห์ดังฟันธง ตลาดหุ้น “เด้งหลอก”

 

image-asset

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

แกรี ชิลลิง นักวิเคราะห์และนักเขียนด้านการเงินชื่อดังของสหรัฐฯ เตือนว่า การเด้งขึ้นของตลาดหุ้นขณะนี้ อาจเป็นการ “เด้งหลอก” เหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้ง Great Depression หรือ “เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่” ประมาณ 90 ปีที่แล้ว

ชิลลิง ซึ่งคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงการลงทุนมาตลอดชีวิตบอกกับ CNBC ว่า ตลาดหุ้นปีหน้าอาจปรับตัวลงได้ถึง 30-40% เมื่อนักลงทุนเห็นแล้วว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังต้องใช้เวลาอีกนาน

“ผมคิดว่าเดี๋ยวจะมีลงรอบสอง ซึ่งเหมือนมากๆ กับที่เคยเกิดขึ้นในยุค 1930 คือผู้คนเริ่มรู้ตัวว่าการถดถอยและความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นมันสาหัสขนาดไหน และต้องใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะฟื้นกลับมา”

ทั้งนี้ ในสมัย The Great Depression หุ้นร่วงลงถึง 48% ในปี 1929 ซึ่งเป็นจุดเร่ิมต้นของวิกฤต แต่แล้วก็เด้งกลับขึ้นมา ณ จุดเดิมในเดือน เม.ย. ปี 1930

ทว่าเมื่อปรากฏชัดแล้วว่าสภาพเศรษฐกิจขณะนั้นฟอนเฟะเพียงใด ตลาดก็ร่วงลงไปอีกรอบ และครั้งนี้เป็นการร่วงหนักถึง 86% (หากนับจากจุดสูงสุดในปี 1929 ก่อนฟองสบู่แตก จะเท่ากับร่วงถึง 89%)

… เรียกได้ว่าเละเทะไม่มีชิ้นดี

“หุ้นตอนนี้เหมือนตอนที่เด้งกลับมาในปี 1929 มาก คนเชื่อกันสุดๆ ว่าเราคุมไวรัสได้เบ็ดเสร็จ แถมยังอัดเงินกระตุ้นทางการเงินการคลังเข้ามามโหฬารเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ” นักวิเคราะห์อาวุโสชี้

สำหรับตลาดหุ้นไทย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ก็เตือนเช่นกันว่า ตลาดหุ้นไทยที่เด้งขึ้นมาเวลานี้ อาจเป็น technical rebound คือขึ้นเพราะลงมาเยอะ

คล้ายคลึงกับเมื่อครั้งวิกฤตต้มยำกุ้งปี 40 ที่หุ้นร่วงลงหนักมาก ก่อนจะเด้งขึ้นมาอย่างแรง แต่แล้วก็ปรับตัวลงอีกครั้ง และขึ้นๆ ลงๆ อีกหลายรอบ ทว่าในที่สุดก็ “หมดแรง” โดยร่วงลงยาวๆ และโงหัวไม่ขึ้นอีกหลายปี

“คำว่า techical rebound คือขึ้นเพราะมันลงมาหนัก แล้วคนเข้ามาช้อน แต่ว่าถ้าเศรษฐกิจไม่สามารถฟื้นได้ มันจะตกใหม่ และตกแรง นี่คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 40” ต้นแบบแห่งวีไอไทยกล่าว


ข้อมูลประกอบ : CNBC คลิกที่นี่ , คลิปสัมภาษณ์จาก The Secret Sauce คลิกที่นี่

ภาพประกอบจาก : agaryshilling .com

ดร.ศุภชัย ชี้ความเป็นไปได้ “ต้มยำกุ้ง 2”

IMG_6138
เรียบเรียงโดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่ WTO ให้สัมภาษณ์นิตยสาร Asian Nikkei Review โดยชี้ถึงสัญญาณอันตรายของเศรษฐกิจไทยและเอเชีย ผมไปอ่านเจอและเห็นว่ามีประโยชน์มากทีเดียว จึงขอสรุปออกมาเป็นข้อๆ ให้เข้าใจกันง่ายๆ นะครับ
1. ถามว่า เอเชียมีโอกาสเจอวิกฤตเศรษฐกิจอีกครั้งหรือไม่ ดร. ศุภชัย ตอบว่า ตอนนี้ทุกอย่างยังดูดีอยู่ เศรษฐกิจอเมริกาดีขึ้นเรื่อยๆ ตลาดหุ้นก็ขึ้นตาม หุ้นเอเชียก็ขึ้น ส่วนจีนกำลังปรับโครงสร้าง
สิ่งที่ต้องระวัง คือปัจจัยที่จะมาทำให้ภาพที่กำลังดีเหล่านี้สิ้นสุดลง
2. ถามว่า ปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นคืออะไร ก็ อาทิเช่น ถ้าค่าเงินหยวนร่วงลงรุนแรง จะฉุดให้ค่าเงินเอเชียร่วงลงไปด้วยทั้งภูมิภาค และลุกลามกลายเป็นวิกฤตได้ แต่ตอนนี้รัฐบาลจีนก็ดูเรื่องนี้อยู่ และหยวนต่อดอลล่าร์ก็เริ่มทรงตัวแล้ว
3. ถามว่า แล้วประเทศไทยเองเสี่ยงที่จะเจอวิกฤตเหมือนเมื่อครั้งต้มยำกุ้งอีกหรือไม่ ตอบว่า เศรษฐกิจยังไปได้อยู่ มีเงินสำรองต่างประเทศเพียงพอ อัตราการว่างงานต่ำกว่า 1% ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพ แต่ก็ด้วยความแข็งของค่าเงินบาท ทำให้เศรษฐกิจไทยโตยาก
4. สิ่งที่น่าเป็นห่วงของเมืองไทย คือความสามารถในการแข่งขัน
ประเทศอื่นๆ ในเอเชียตามเราทันหมดแล้ว และอาจแซงเราได้ในเร็ววันนี้ ทั้ง อินโดฯ อินเดีย ที่โตเร็วมาก เช่นเดียวกับ จีน ฟิลิปปินส์ ทุกวันนี้เศรษฐกิจไทยโตปีละ 3% เทียบกับทั่วโลกถือว่าไม่น้อย แต่เราแพ้เพื่อนบ้านที่โตกันปีละ 5-6%
5. ถามว่า เรื่องฟองสบู่อสังหาล่ะ น่าเป็นห่วงหรือไม่
ดร.ศุภชัย ตอบว่า ปัจจุบันมีการปล่อยสินเชื่ออสังหาฯ ในปริมาณที่สูงมาก ทำให้เกิดโครงการใหม่ๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด จนที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยเกิด oversupply อยู่หลายหมื่นยูนิต ผู้ประกอบการจึงหันไปจับลูกค้ากลุ่มบนและชาวต่างชาติแทน
แต่การไปจับลูกค้าต่างชาติก็ต้องระวัง เพราะถ้าวันหนึ่งพวกเขาหยุดซื้อขึ้นมา สินเชื่อจำนวนมากจะกลายเป็น NPL และสุดท้ายแบงก์ก็จะมีปัญหาจนส่งผลกระทบไปถึงเศรษฐกิจโดยรวม
อย่าชะล่าใจว่าปัญหายังไกลตัว สมัยก่อนคนก็พูดแบบนี้ สุดท้ายจึงกลายเป็นวิกฤตต้มยำกุ้ง!!
6. ปัจจัยเสี่ยงอีกประการหนึ่งมาจากต่างประเทศ คือถ้าดอกเบี้ยขึ้นเร็ว ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ตามเทรนด์เศรษฐกิจโลกเวลานี้ ราคาอสังหาก็อาจร่วงลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน
7. ถามว่า แล้วจะเตรียมตัวป้องกันวิกฤตกันอย่างไร ดร.ศุภชัย ตอบว่า ประเทศเอเชียต้องช่วยกันระวังและสนับสนุนกันและกัน เงินทุนที่ประเทศเอเชียใช้ล้วนมาจากภายนอก เป็นการเข้ามาโดยปราศจากการควบคุม ปราศจาก governance
เงินพวกนี้ ถ้าวันหนึ่งจะไหลออก มันก็ออกได้ทันที พวกผู้จัดการกองทุนเขาไม่สนใจหรอกว่า ค่าเงินที่ผันผวนจะส่งผลเสียหายอย่างไรบ้าง!!
8. ประเทศในกลุ่มอาเซียนต้องใช้ประโยชน์จากความเป็น AEC หานโยบายที่จะป้องกันผลกระทบในทางลบที่อาจเกิดกับเรา โดยเป็นนโยบายที่กระตุ้นการเติบโตและสนับสนุนการค้าการลงทุน ถ้าทำได้ก็จะลดแรงกระแทกหากทางต่างประเทศเกิดอะไรขึ้น
นี่ AEC ก็เริ่มมาปีกว่าแล้ว แต่ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย มีแต่ชื่อสวยๆ เท่านั้น ควรทำอะไรที่เป็นรูปธรรมได้แล้ว
———
ที่มาของข้อมูล : Nikkei Asian Review June 26- July 2, 2017
Image credit : Roberto Barroso / Abr (source: wikipedia)
หมายเหตุ –  ข้อเขียนนี้เป็นการสรุปความ มิได้แปลออกมาแบบคำต่อคำ โดยผมพยายามถอดความให้ใกล้เคียงกับต้นฉบับที่สุด หากมีข้อผิดพลาดใดๆ ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้