โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
ผมเคยเกริ่นถึงโฮเวิร์ด มาร์กส์ ไปครั้งหนึ่ง ว่าเป็นนักลงทุนและผู้จัดการกองทุนที่ได้รับการยอมรับนับถือที่สุดคนหนึ่งของสหรัฐอเมริกา เขาทำผลตอบแทนทบต้นได้ถึง 19% ต่อปีจากการบริหารกองทุน Oaktree Capital Management เป็นเวลาหลายสิบปี
ความมั่งคั่งปัจจุบันของเขาอยู่ที่ 2,200 ล้านเหรียญ เป็นอันดับที่ 370 ใน Forbes 400 ซึ่งเป็นอันดับคนรวยที่สุดของสหรัฐฯ
และผมก็เล่าด้วยว่า มาร์กส์เป็นที่รู้จักมากที่สุดจาก “เมโม” ซึ่งเขาเขียนถ่ายทอดความรู้และมุมมองต่อการลงทุนและเศรษฐกิจไว้ในเว็บไซต์ แม้แต่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ยังเคยบอกว่า “เวลาผมเห็นเมโมของโฮเวิร์ด มาร์กส์ ในกล่องจดหมาย มันเป็นสิ่งแรกที่ผมจะเปิดอ่าน และผมก็ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เสมอ”
นั่นคือความน่าเชื่อถือของมาร์กส์ ที่แม้แต่นักลงทุนหมายเลขหนึ่งของโลกอย่างบัฟเฟตต์ยังต้องฟังเขา
ในช่วงเวลาที่ตลาดกำลังเฟื่องฟู มาร์กส์มักเตือนคนในแวดวงการลงทุนเสมอว่าให้เพิ่มความระมัดระวัง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปี 1999 ซึ่งเป็นยุค “ด็อทคอม” บูม มาร์กส์กล่าวว่า
“บรรทัดสุดท้ายก็คือ นักลงทุนจำนวนมากที่เป็นคนตั้งราคาในตลาดหุ้น ไม่สนใจการประเมินมูลค่าแม้แต่น้อย ผมไม่เห็นเหตุผลเลยว่า พวกนักวิเคราะห์และผู้บริหารพอร์ตทั้งหลาย ที่หนุนหลังหุ้นเติบโตมูลค่าตลาดขนาดใหญ่และหุ้นอินเทอร์เน็ตที่กำลังพุ่งทะยาน เอาอะไรมาคิดว่าราคาที่เป็นอยู่นี้ จะคงอยู่ได้อย่างไร หรือให้ตายเถอะ จะขายมันต่อได้อย่างไร”
หลังจากนั้นไม่กี่ปี ก็อย่างที่เรารู้กัน คือฟองสบู่อินเทอร์เน็ตแตกออกดังโพล๊ะ คนในตลาดจำนวนมากที่เข้าไปเก็งกำไรหุ้นด็อทคอมที่ยังแทบไม่ได้ทำธุรกิจอะไรเป็นรูปเป็นร่างต่างพากันสิ้นเนื้อประดาตัว
ต่อมาในปี 2007 ขณะที่ตลาดกำลังเมามันส์กับหลักทรัพย์ที่ยัดไส้ไว้ด้วยสินเชื่อที่อยู่อาศัยคุณภาพต่ำ มาร์กส์เป็นคนแรกๆ ที่ออกมาเตือนให้เฝ้าระวังให้ดี
“สุดท้ายแล้ว ผู้ซื้อคือผู้ที่แบกหนี้จดจำนองไว้มากที่สุด เมื่อดูจากรายได้ของพวกเขาและอัตราดอกเบี้ย หนี้ก้อนนั้นจะทำให้พวกเขาได้เข้าไปอยู่ในบ้านในฝัน และอยู่ในนั้นไปเรื่อยๆ ตราบเท่าที่สถานการณ์ไม่ทรุดหนักลง แต่มันหนีไม่พ้นหรอกที่จะต้องทรุดหนักในที่สุด
“ไม่ว่าจะเฉือนออกมาดูมุมไหนอย่างไร มาตรฐานของสินเชื่ออสังหาฯ ก็ตกต่ำลงมากในช่วงปีหลังๆ และความเสี่ยงก็เพิ่มขึ้นเยอะ เรื่องนี้มีตรรกะรองรับหรือเปล่า? ก็ไม่แน่ มันถูกโน้มนำด้วยวัฏจักรจนร้อนแรงมากไปหรือเปล่า? ถ้าถามผม ผมคิดว่าใช่ ที่แน่ๆ ก็คือ การปล่อยสินเชื่อถูกทำกันแบบเสี่ยงขึ้นเยอะ อีกไม่กี่ปีเราจะได้เห็นกันเองแหละว่า มันคือความเสี่ยงอย่างชาญฉลาด หรือระเบียบของการแข่งขันที่ล้นเกินกันแน่”
ซึ่งก็อย่างที่เราทราบกันดี ไม่กี่เดือนหลังมาร์กส์ออกมาเตือน สินเชื่อที่อยู่อาศัยเหล่านั้นก็เริ่มกลายเป็นหนี้เสียและส่งผลลุกลามกลายเป็นวิกฤตซับไพรม์ส ก่อนจะลามทุ่งกลายเป็นวิกฤตการเงินที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 80 ปี
สำหรับวิกฤตโคโรน่าไวรัสครั้งนี้ ที่ตลาดหุ้นร่วงลงไปเพียงชั่วประเดี๋ยว ก่อนจะเด้งกลับขึ้นมาหลังเฟดเข้าไปตะลุยซื้อสินทรัพย์ ก็เป็นอีกครั้งที่มาร์กส์ออกมาเตือน โดยกล่าวไว้เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาว่า
“ผมไม่รู้ว่ากระสุนของเฟดไม่มีขีดจำกัดจริงหรือเปล่า ผมรู้แค่ว่าเฟดสามารถทำให้ตลาดขึ้น และขึ้นอยู่อย่างนั้นได้ ตราบเท่าที่มันยังซื้ออยู่ แต่ผมก็ไม่รู้ว่ามันจะซื้อได้ตลอดไปหรือไม่ ตอนนี้เราเข้ามาอยู่ในเขตแดนใหม่ ในประวัติศาสตร์ เฟดไม่เคยซื้อตราสารของบริษัทมาก่อนเลย แต่รอบนี้ พวกเขาซื้อตราสารบริษัทเข้าไว้ด้วย แถมยังขยับขยายไปซื้อตราสารบริษัทที่ไม่ได้อยู่ในระดับลงทุนอีกต่างหาก
“การซื้อของเฟดอาจทำให้สิ่งต่างๆ ขึ้นได้ก็จริง แต่ก็จะขึ้นตราบเท่าที่มันยังคงซื้ออยู่เท่านั้น ผมมองมันเหมือนกับ เราเห็นกันมาแล้วว่า มันเหมือนกับน้ำที่ยกตัวขึ้นมา โดยมีลูกบอลลอยอยู่เหนือน้ำ
และตราบเท่าที่มีแรงดันจากใต้น้ำ บอลก็ยังลอยอยู่ได้ น้ำหยุดดันเมื่อไร บอลก็ร่วงลงสู่พื้นดินเมื่อนั้น”
และนี่เสียงเตือนครั้งล่าสุดของมาร์กส์ ผู้ไม่เคยอ่านสถานการณ์ครั้งใหญ่ๆ ผิดพลาดเลย
(มีต่อตอนหน้า)
แหล่งที่มา : คลิปสัมภาษณ์ “Oaktree’s Howard Marks on Fed Support, Credit Market Distress, Virus Impact” ทาง Youtube Channel ช่อง Bloomberg Markets and Finance, คลิปบรรยาย “The Most Important Things – Origins and Inspiration | Talks at Google” ทาง Youtube
Image credit : Facebook Page “Howard Marks” Facebook.com/HowardMarksBooks