เพราะเหตุใดเราจึงควรฟังคำเตือนของ “โฮเวิร์ด มาร์กส์”

IMG_9009

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ผมเคยเกริ่นถึงโฮเวิร์ด มาร์กส์ ไปครั้งหนึ่ง ว่าเป็นนักลงทุนและผู้จัดการกองทุนที่ได้รับการยอมรับนับถือที่สุดคนหนึ่งของสหรัฐอเมริกา เขาทำผลตอบแทนทบต้นได้ถึง 19% ต่อปีจากการบริหารกองทุน Oaktree Capital Management เป็นเวลาหลายสิบปี

ความมั่งคั่งปัจจุบันของเขาอยู่ที่  2,200 ล้านเหรียญ เป็นอันดับที่ 370 ใน Forbes 400 ซึ่งเป็นอันดับคนรวยที่สุดของสหรัฐฯ

และผมก็เล่าด้วยว่า มาร์กส์เป็นที่รู้จักมากที่สุดจาก “เมโม” ซึ่งเขาเขียนถ่ายทอดความรู้และมุมมองต่อการลงทุนและเศรษฐกิจไว้ในเว็บไซต์ แม้แต่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ยังเคยบอกว่า “เวลาผมเห็นเมโมของโฮเวิร์ด มาร์กส์ ในกล่องจดหมาย มันเป็นสิ่งแรกที่ผมจะเปิดอ่าน และผมก็ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เสมอ”

นั่นคือความน่าเชื่อถือของมาร์กส์ ที่แม้แต่นักลงทุนหมายเลขหนึ่งของโลกอย่างบัฟเฟตต์ยังต้องฟังเขา

ในช่วงเวลาที่ตลาดกำลังเฟื่องฟู มาร์กส์มักเตือนคนในแวดวงการลงทุนเสมอว่าให้เพิ่มความระมัดระวัง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปี 1999 ซึ่งเป็นยุค “ด็อทคอม” บูม มาร์กส์กล่าวว่า

“บรรทัดสุดท้ายก็คือ นักลงทุนจำนวนมากที่เป็นคนตั้งราคาในตลาดหุ้น ไม่สนใจการประเมินมูลค่าแม้แต่น้อย ผมไม่เห็นเหตุผลเลยว่า พวกนักวิเคราะห์และผู้บริหารพอร์ตทั้งหลาย ที่หนุนหลังหุ้นเติบโตมูลค่าตลาดขนาดใหญ่และหุ้นอินเทอร์เน็ตที่กำลังพุ่งทะยาน เอาอะไรมาคิดว่าราคาที่เป็นอยู่นี้ จะคงอยู่ได้อย่างไร หรือให้ตายเถอะ จะขายมันต่อได้อย่างไร”

หลังจากนั้นไม่กี่ปี ก็อย่างที่เรารู้กัน คือฟองสบู่อินเทอร์เน็ตแตกออกดังโพล๊ะ คนในตลาดจำนวนมากที่เข้าไปเก็งกำไรหุ้นด็อทคอมที่ยังแทบไม่ได้ทำธุรกิจอะไรเป็นรูปเป็นร่างต่างพากันสิ้นเนื้อประดาตัว

ต่อมาในปี 2007 ขณะที่ตลาดกำลังเมามันส์กับหลักทรัพย์ที่ยัดไส้ไว้ด้วยสินเชื่อที่อยู่อาศัยคุณภาพต่ำ มาร์กส์เป็นคนแรกๆ ที่ออกมาเตือนให้เฝ้าระวังให้ดี

“สุดท้ายแล้ว ผู้ซื้อคือผู้ที่แบกหนี้จดจำนองไว้มากที่สุด เมื่อดูจากรายได้ของพวกเขาและอัตราดอกเบี้ย หนี้ก้อนนั้นจะทำให้พวกเขาได้เข้าไปอยู่ในบ้านในฝัน และอยู่ในนั้นไปเรื่อยๆ ตราบเท่าที่สถานการณ์ไม่ทรุดหนักลง แต่มันหนีไม่พ้นหรอกที่จะต้องทรุดหนักในที่สุด 

“ไม่ว่าจะเฉือนออกมาดูมุมไหนอย่างไร มาตรฐานของสินเชื่ออสังหาฯ ก็ตกต่ำลงมากในช่วงปีหลังๆ และความเสี่ยงก็เพิ่มขึ้นเยอะ เรื่องนี้มีตรรกะรองรับหรือเปล่า? ก็ไม่แน่ มันถูกโน้มนำด้วยวัฏจักรจนร้อนแรงมากไปหรือเปล่า? ถ้าถามผม ผมคิดว่าใช่ ที่แน่ๆ ก็คือ การปล่อยสินเชื่อถูกทำกันแบบเสี่ยงขึ้นเยอะ อีกไม่กี่ปีเราจะได้เห็นกันเองแหละว่า มันคือความเสี่ยงอย่างชาญฉลาด หรือระเบียบของการแข่งขันที่ล้นเกินกันแน่”

ซึ่งก็อย่างที่เราทราบกันดี ไม่กี่เดือนหลังมาร์กส์ออกมาเตือน สินเชื่อที่อยู่อาศัยเหล่านั้นก็เริ่มกลายเป็นหนี้เสียและส่งผลลุกลามกลายเป็นวิกฤตซับไพรม์ส ก่อนจะลามทุ่งกลายเป็นวิกฤตการเงินที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 80 ปี

สำหรับวิกฤตโคโรน่าไวรัสครั้งนี้ ที่ตลาดหุ้นร่วงลงไปเพียงชั่วประเดี๋ยว ก่อนจะเด้งกลับขึ้นมาหลังเฟดเข้าไปตะลุยซื้อสินทรัพย์ ก็เป็นอีกครั้งที่มาร์กส์ออกมาเตือน โดยกล่าวไว้เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาว่า

“ผมไม่รู้ว่ากระสุนของเฟดไม่มีขีดจำกัดจริงหรือเปล่า ผมรู้แค่ว่าเฟดสามารถทำให้ตลาดขึ้น และขึ้นอยู่อย่างนั้นได้ ตราบเท่าที่มันยังซื้ออยู่ แต่ผมก็ไม่รู้ว่ามันจะซื้อได้ตลอดไปหรือไม่ ตอนนี้เราเข้ามาอยู่ในเขตแดนใหม่ ในประวัติศาสตร์ เฟดไม่เคยซื้อตราสารของบริษัทมาก่อนเลย แต่รอบนี้ พวกเขาซื้อตราสารบริษัทเข้าไว้ด้วย แถมยังขยับขยายไปซื้อตราสารบริษัทที่ไม่ได้อยู่ในระดับลงทุนอีกต่างหาก

“การซื้อของเฟดอาจทำให้สิ่งต่างๆ ขึ้นได้ก็จริง แต่ก็จะขึ้นตราบเท่าที่มันยังคงซื้ออยู่เท่านั้น ผมมองมันเหมือนกับ เราเห็นกันมาแล้วว่า มันเหมือนกับน้ำที่ยกตัวขึ้นมา โดยมีลูกบอลลอยอยู่เหนือน้ำ
และตราบเท่าที่มีแรงดันจากใต้น้ำ บอลก็ยังลอยอยู่ได้ น้ำหยุดดันเมื่อไร บอลก็ร่วงลงสู่พื้นดินเมื่อนั้น”

และนี่เสียงเตือนครั้งล่าสุดของมาร์กส์ ผู้ไม่เคยอ่านสถานการณ์ครั้งใหญ่ๆ ผิดพลาดเลย

(มีต่อตอนหน้า)


แหล่งที่มา : คลิปสัมภาษณ์ “Oaktree’s Howard Marks on Fed Support, Credit Market Distress, Virus Impact” ทาง Youtube Channel ช่อง Bloomberg Markets and Finance, คลิปบรรยาย “The Most Important Things – Origins and Inspiration | Talks at Google” ทาง Youtube

Image credit : Facebook Page “Howard Marks” Facebook.com/HowardMarksBooks

บทเรียนจากการลงทุนในวิกฤตโคโรนาไวรัส

IMG_8814

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

หลังวิกฤตโคโรนาไวรัสเกิดขึ้นอย่างไม่มีใครคาดฝันตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และส่งผลกระทบไปยังเศรษฐกิจรวมถึงตลาดหุ้นทั่วโลก

จนถึงปัจจุบัน หุ้นไทยปรับตัวขึ้นมาประมาณ 30% จากจุดต่ำสุด เช่นเดียวกับหุ้นสหรัฐฯ ที่ขึ้นเอาๆ จาก new low ผมจึงลองเขียนทบทวนประสบการณ์ตลอดสองเดือนกว่าๆ ที่ผ่านมา โดยเน้นที่ความผิดพลาดของตัวเอง เพื่อวิเคราะห์หาบทเรียน และเผื่อจะเป็นประโยชน์กับผู้อื่นด้วย ประมาณนี้ครับ

1. ปลอดภัยไว้ก่อน ช่วยได้

ผมเป็นคนที่ระมัดระวังกับบริษัทที่มีหนี้สูงค่อนข้างมาก ใครที่ตามงานของผมมาตลอดจะเห็นว่า ผมจะย้ำเสมอว่าค่า D/E ที่เหมาะสมนั้น ไม่ควรเกิน 1-1.25 เท่า ยิ่งถ้าเป็น net D/E หรือหนี้สินที่มีดอกเบี้ย (ไม่รวมเจ้าหนี้การค้า) ยิ่งไม่ควรเกิน 1 เท่า

ด้วยเกณฑ์เช่นนี้ ทำให้ผมไม่ลงทุนในหลายๆ บริษัทที่กำลังโตไว มีบริษัทขนาดใหญ่บางบริษัทที่มีธุรกิจครอบคลุมไปในหลายประเทศทั่วโลกซึ่งผมมีหุ้นอยู่ พอเริ่มกู้มามากขึ้นเรื่อยๆ จน net D/E สูง ผมก็ทยอยขายหุ้นทิ้งจนหมด

ก่อนหน้านี้ ผมเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราเข้มงวดเกินไปจนทำให้เสียโอกาสในการลงทุนหรือไม่ เพราะแม้หนี้จะสูง แต่เขาก็มีปัญญาชำระมาตลอด แต่แล้วหลังเกิดวิกฤต สิ่งที่ปรากฏทุกวันนี้ก็ชัดเจนแล้วว่าผมตัดสินใจถูกต้อง มีหลายบริษัทที่สถานะเริ่มสั่นคลอน และราคาหุ้นก็ร่วงลงมโหฬารเพราะนักลงทุนไม่มั่นใจในความสามารถในการชำระหนี้

บทเรียนจากเรื่องนี้ก็คือ สิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้น ไม่ใช่ว่ามันจะไม่เกิด และแม้จะไม่เคยเกิดมานานมากแล้ว สักวันหนึ่งมันอาจจะเกิดขึ้นก็ได้ การใช้เกณฑ์ “ปลอดภัยไว้ก่อน” ของผมช่วยผมไว้ได้เยอะจริงๆ

2. diversify ไม่พอ

โดยปกติ ผมมักกระจายการลงทุนอยู่เสมอ แต่วิกฤตครั้งนี้ทำให้ผมตระหนักว่า ที่ผ่านมาผมยังกระจายการลงทุนไม่พอ เช่น ผมเคยกระจายการลงทุนไปในหุ้นสนามบินของหลายๆ ประเทศ ผมคิดเอาเองว่านั้นคือการกระจายการลงทุนที่เพียงพอแล้ว

แต่แล้ว เมื่อปรากฏการณ์ Black Swan อย่างโคโรนาไวรัสเกิดขึ้น มันได้กวาดเอาหุ้นท่องเที่ยวทุกประเภทพังครืนลงไปตามๆ กัน ไม่เว้นแม้แต่หุ้นสนามบินของผม ซึ่งอุตส่าห์ซื้อไว้ทั่วโลก กะว่าถ้าประเทศหนึ่งแย่ เช่น สมมุติว่าท่องเที่ยวไทยแย่ ก็ยังมีสนามบินของประเทศอื่นๆ ช่วงพยุงไว้ แต่ปรากฏว่ารอบนี้มันกอดคอลงพร้อมกันไปหมด

บทเรียนจากเรื่องนี้ก็คือ ต้อง diversify ให้ทั่ว ไม่ใช่แค่ “หลายประเทศ” แต่ต้องกระจายไปใน “หลายอุตสาหกรรม” อย่ากระจุกอยู่ในอุตสาหกรรมเดียว หรือประเทศเดียวมากเกินไป

3. มีเงินสดน้อยเกินไป

ประเด็นนี้เป็นปัญหาของวีไอจำนวนมาก รวมทั้งผมเองด้วย ก่อนหน้านี้ผมเคยมีเงินสดประมาณ 20% ในพอร์ต แต่แล้วเมื่อวิกฤตไม่มาสักที ผมก็ทยอยเอาเงินกลับเข้าไปซื้อหุ้น จนเมื่อวิกฤตโคโรนาไวรัสมาถึง ผมมีเงินสดเหลือติดพอร์ตเพียง 7-8% เท่านั้น ทำให้เสียโอกาสไปค่อนข้างมาก แม้วันนี้ผมจะหาเงินมาเพิ่มได้ แต่ก็พลาดโอกาสที่จะซื้อในจุดต่ำสุดไป (แม้ไม่รู้ว่าจะมีจุดต่ำกว่าอีกหรือเปล่า)

แม้ว่าจะฟังดูธรรมดา เพื่อนผมหลายคนถือหุ้น 100% ไม่มีเงินสดเลย บางคนเหลือเงินสดอยู่ 3-5% ขณะวิกฤตมา แต่การที่คนอื่นพลาดเหมือนเรา ไม่ได้แปลว่าเราไม่พลาด เราแค่มีเพื่อนเท่านั้น นี่จึงเป็นบทเรียนหนึ่งซึ่งผมต้องจำไว้ แม้การถือเงินสดไว้เยอะๆ จะไม่ใช่สิ่งที่ควรกระทำ แต่เมื่อถึงวงรอบของวิกฤต (10 ปี) ไม่ว่าทุกอย่างจะดูดีแค่ไหน ยังไงก็ต้องมีเงินติดพอร์ตไว้สัก 10-15% เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสทอง

4. ดูเบาสถานการณ์

ผมลงทุนก้อนแรกหลังเกิดวิกฤตโคโรนาไวรัสใน “หุ้นจีน” ช่วงที่จีนปิดเมืองอู่ฮั่นมาได้ระยะหนึ่ง เพราะเชื่อในศักยภาพว่าทางการจีนน่าจะคุมโรคได้แน่ๆ แม้จะคิดไม่ผิด แต่สิ่งที่ผมคาดไม่ถึงก็คือ โรคนี้ได้แพร่กระจายไปยังประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้หุ้นทั่วโลกทรุดลงไปตามๆ กัน ขณะที่ทางฝั่งจีน แม้จะคุมโรคได้แล้ว แต่หุ้นกลับไม่โงหัวขึ้นมามากนัก (ส่วนหนึ่งเพราะสถานการณ์นอกประเทศยังไม่ดี) และทำให้เงินส่วนนั้นของผมยังขาดทุนจนถึงวันนี้

แม้จะเชื่อว่าสุดท้ายหุ้นจีนที่ซื้อไว้จะได้กำไรค่อนข้างแน่ แต่ก็ถือว่าผม “ดูเบาสถานการณ์” จนพลาดโอกาสที่จะทำกำไรได้มากกว่านี้

(มีต่อตอนหน้า)

โชคดีที่ไม่มีเงินสด

smiley-2979107_960_720

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

หุ้นไทยที่ปรับตัวลงมากว่าสิบเปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ต้นปี ทำเอานักลงทุนจำนวนมากอกสั่นขวัญหาย แม้ผมจะบอกให้นักลงทุนใจเย็นๆ อย่าหวั่นไหวกับราคาหุ้นที่ร่วงลงมาเยอะ แต่ให้ใช้เวลานี้ตั้งสติและเตรียมตัวหาโอกาสเข้าไปเก็บหุ้น ก็มักมีเสียงบ่นกลับมาเสมอว่า “เงินหมดแล้ว” “ไม่มีเงินแล้ว ทำอะไรไม่ได้แล้ว” ฯลฯ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมอยากให้ “มองบวก” เข้าไว้ การที่ท่านไม่มีเงินสด หรือมีเงินสดเพียงเล็กน้อยอยู่ในมือ นั่นหมายความว่าท่านใช้ “กลยุทธ์ที่ถูกต้อง” มาตลอด

กล่าวคือ ท่าน “ไม่ได้ถือเงินสดไว้เยอะเกินไป”

ลองคิดดูนะครับว่า

หนึ่ง) ตลาดหุ้นไทยเติบโตต่อเนื่องมาหลายปี หากท่านถือเงินสดรอโอกาสไว้ ท่านจะเสียโอกาสไปเยอะมาก ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าท่านอยากได้หุ้นสนามบินตัวหนึ่งตั้งแต่กลางปี 2016 หรือเมื่อสองปีที่แล้ว แล้วท่านก็ถือเงินสดรอไว้ อะไรจะเกิดขึ้น?

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ จากวันนั้นถึงวันนี้ หุ้นสนามบินตัวดังกล่าว ราคาสูงขึ้นจากประมาณ 450 บาท มาอยู่ที่ 670 บาท ณ ปัจจุบัน หรือเพิ่มขึ้นมาเกือบ 50% ซึ่งต่อให้ครั้งนี้เกิดวิกฤตจริง ก็ไม่แน่ว่าหุ้นสนามบินตัวนี้จะราคาตกลงไปถึง 50%

ดังนั้น ถ้าท่านเข้าซื้อหุ้นสนามบินตั้งแต่เวลานั้น ก็อาจเป็นสิ่งที่ดีกว่าการรอจนถึงวันนี้แล้วค่อยซื้อ

สอง) แม้กระทั่ง “ต้นแบบแห่งวีไอไทย” อย่าง ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ยังพูดอยู่บ่อยครั้งว่า ตัวท่านได้ลดการถือหุ้นมาถือเงินสดอยู่หลายปี ซึ่งทำให้เสียโอกาสไปไม่น้อย ช่วงหลังๆ จึงทยอยเอาเงินกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทย

หากแม้แต่นักลงทุนหมายเลขหนึ่งยังรู้สึกเสียดายที่ตัวเองถือเงินสดไว้ ท่านก็ไม่ควรโทษตัวเองหากวันนี้qไม่มีเงิน

สาม) อันนี้จากประสบการณ์ส่วนตัว คือ สมัยเริ่มแรกที่ผมลงทุนเมื่อสิบกว่าปีก่อน นักลงทุนเน้นมูลค่าจำนวนมาก นิยมที่จะถือ “หุ้น 100%” ด้วยซ้ำไป แม้ในช่วง 2-3 ปีหลัง ดัชนีจะพุ่งขึ้นมาทะลุ 1,800 จุด แต่จากที่ผมได้พูดคุยกับเพื่อนฝูงซึ่งฝีมือลงทุนระดับท้อปหลายคน ต่างคนต่างก็พูดตรงกันว่า ไม่เคยถือเงินสดเกิน 30 เปอร์เซ็นต์เลย (ผมเองก็ไม่เคยถือเงินสดเงิน 20 เปอร์เซ็นต์)

ดังนั้น ถ้าท่านมีเงินสดไม่เกิน 30% ผมก็ยืนยันโดยไม่มีหลักฐานใดๆ ได้ว่า ท่านไม่ได้แตกต่างจากคนเก่งๆ อีกจำนวนมาก

โดยสรุปก็คือ หากวันนี้ท่านไม่มีเงินสดหรือมีเงินสดในมือเพียงเล็กน้อย ท่านต้องอย่าโทษตัวเอง เพราะท่าน “ได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว”

สิ่งที่ควรทำ ณ ตอนนี้ คือเลิกเสียดายสิ่งที่ผ่านพ้นไป แต่จงขวนขวายหาเงินสดมาเพิ่มให้ได้

บางคนอาจเถียงในใจว่า “ก็กูบอกอยู่นี่ว่าไม่มีเงิน จะให้ไปหาเงินจากไหน?!!”

ผมขอเสนอว่า ให้ท่านคิด “เสมือนคนจนตรอก” เช่นคิดว่า “ถ้าเรากำลังป่วยหนัก ต้องหาเงินมารักษา ไม่งั้นจะตาย เราจะหาเงินมาจากไหน?” หากคิดเช่นนี้ สุดท้ายแล้วท่านจะหาทางออกจนพบ คือหาเงินมาซื้อหุ้นจนได้

ฝรั่งเค้าบอก “Where there is a will, there is a way” ที่ไหนมีฝัน ที่นั่นมีหนทาง คนเราถ้าพยายามเพียงพอ ก็ย่อมจะหาทางออกได้ทุกเรื่อง

ขอแสดงความยินดีกับผู้โชคดีทุกท่านมา ณ โอกาสนี้ครับ