วีไอไม่ง้อหุ้นเทคได้หรือไม่?

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ในยุคสมัยของหุ้นเทคเช่นทุกวันนี้ เริ่มมีคำถามเกิดขึ้นว่า วิธีลงทุนแบบวีไอยังใช้ได้หรือไม่ เรื่องนี้ โมนิช ปาบราย “วีไอดันโด” ได้ให้คำตอบไว้ โดยบอกเล่าเรื่องราวของ ชาร์ลี มังเกอร์ รองประธานบริษัท เบิร์คเชียร์ แฮธาเวย์ เพื่อนคู่หูของ วอร์เรน บัฟเฟตต์

ปาบรายเล่าว่า ชาร์ลี มังเกอร์ อ่านบาร์รอน (Barron’s) วารสารการลงทุนชื่อดังมาตั้งแต่ยังหนุ่ม โดยในแต่ละฉบับของบาร์รอน จะมีไอเดียธุรกิจที่น่าลงทุน 5-10 ไอเดีย

เวลาผ่านมา 50 ปี เขาอ่านบาร์รอนมาแล้ว 2,500 ฉบับ อ่านไอเดียธุรกิจในบาร์รอนมาแล้วร่วม 25,000 ไอเดีย แต่ไม่เคยลงมือเลยสักครั้ง เพิ่งมาลงมือกับไอเดียหนึ่งเดียวเมื่อไม่นานมานี้ ในปี 2002

เป็นหุ้นที่ชื่อ Tenneco (TEN) บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของสหรัฐอเมริกา

ย้อนไปตอนที่มังเกอร์เข้าซื้อ บริษัทนี้กำลังแย่ หุ้นตกลงไปเหลือ 1.60 เหรียญ ก่อนจะพลิกฟื้นและพุ่งกระฉูดขึ้นไปถึง 55 เหรียญ พอถึงปี 2004-5 เขาได้กำไรจาก Tenneco ประมาณ 8 เด้งกว่า

มังเกอร์ขาย Tenneco ไปที่ราคา 15-20 เหรียญ แม้จะดูเหมือนน่าเสียดาย แต่เงินที่ปู่มังก์ใส่ลงไป 10 ล้านเหรียญ ได้กลายเป็น 80 ล้านเหรียญในเวลาแค่ 2-3 ปี ถือว่าน่ามหัศจรรย์มากๆ

(ต่อมา มังเกอร์เอาเงินก้อนเดียวกันนี้ไปลงทุนกับ หลี่ ลู่ นักลงทุนและผู้จัดการเฮดจ์ฟันด์ชาวจีน (ซึ่งเป็นผู้แนะนำ BYD บริษัทผลิตแบตเตอรี่และรถยนต์ไฟฟ้าให้ทั้งมังเกอร์และบัฟเฟตต์ได้รู้จัก) ก่อนที่หลี่จะทำให้เงินก้อนนั้นทวีมูลค่ากลายเป็นประมาณ 500 ล้านเหรียญ)

ที่น่าสนใจก็คือ สตอรี่นี้ ไม่ได้เกิดขึ้นในยุค 60 เหมือนกับ success story จำนวนมากของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ แต่เกิดขึ้นในยุคของพวกเรา เป็นการลงทุนในหุ้น “ก้นบุหรี่” คือราคาถูกสุดๆ และเป็นธุรกิจ “ยุคเก่า” ตามตำราวีไอแท้ๆ ไม่ได้เกาะกระแส tech stock ไม่ได้ลงทุนในหุ้นอย่าง Google หรือ Amazon ซึ่งเติบโตขึ้นมาในช่วงเวลาเดียวกัน

ปาบรายบอกว่า ความสำเร็จนี้เกิดจากองค์ประกอบสามประการ หนึ่งคือ ความอดทนสุดขั้ว (กล้าอ่านหนังสือ 50 ปีโดยไม่ลงมือ) สองคือ ความกล้าตัดสินใจสุดขั้ว (กล้าซื้อหุ้นในเวลาที่หุ้นเผชิญวิกฤตสุดๆ) และสามคือ การมุ่งหวังของถูกแบบสุดขั้ว (ไม่ถูกจริงๆ ไม่ซื้อ)

สามประการนี้ ใครมีครบก็มีโอกาสได้ผลตอบแทนแบบบ้าคลั่งจากหุ้น “เพชรในตม” โดยไม่ต้องง้อหุ้นเทคเหมือนที่ “ปู่มังก์” ทำได้นั่นเอง

—————————–

ภาพและข้อมูลประกอบจาก : Stock Research Impacts Financial Health | Mohnish Pabrai | Talks at Google ชมได้ที่นี่

ซื้อหุ้นแบบ “วีไอดันโด”

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

โมนิช พาบราย เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย เขาเป็นทั้งนักธุรกิจ นักลงทุน และนักการกุศล โดยในแวดวงการลงทุนมักรู้จักเขาจากผลงานหนังสือ “นักลงทุนดันโด” ที่นำเสนอวิธีลงทุนความเสี่ยงต่ำแต่ให้ผลตอบแทนสูง จนโด่งดัง

พาบรายเป็นนักลงทุนอีกผู้หนึ่งซึ่งชื่นชม วอร์เรน บัฟเฟตต์ มาก เขาพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า วิธีลงทุนของเขาลอกแบบจากบัฟเฟตต์

ขอยกตัวอย่างการลงทุนของพาบรายเอาไว้ในที่นี้ เพื่อให้เห็นถึงความเฉียบคม

พาบรายเคยไปบรรยายที่ Google โดยบอกว่า มนุษย์เรามีการหมุนเวียนและผสมผสานวิธีเคลื่อนย้ายตัวเอง (mobility) ไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการขี่จักรยาน ขับรถ เรียกแท็กซี่ กดแอพเรียกอูเบอร์ หรือต่อไปก็อาจจะหันไปใช้รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติและอื่นๆ

เพราะฉะนั้น จึงยากที่จะคาดเดาได้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร คนจะหันไปเดินทางด้วยวิธีไหนมากน้อยกว่ากัน แต่ที่แน่ๆ คือ มนุษย์จะมีวิธีเดินทางเพิ่มขึ้น ในราคาที่ถูกลงเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเพราะราคาน้ำมันต่ำลงด้วย

พาบรายบอกว่า เขามั่นใจที่สุดว่า ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือ คนเราจะมีระยะการเดินทางต่อหัวเป็นจำนวนไมล์ที่สูงขึ้น (per capita mile) คำถามคือ เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจะหาโอกาสลงทุนอย่างไรดี?

คำตอบของพาบราย ไม่ใช่การลงทุนในบริษัทรถยนต์ใช้ไฟฟ้า ในอูเบอร์ หรือบริษัทที่ผลิตรถยนต์ไร้คนขับอย่าง Google หรือจะเป็นบริษัทอย่าง Tesla แต่คือการลงทุนในบริษัทผลิต “ยาง”

เขาบอกว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม เขามั่นใจที่สุดว่า ในอีกห้าหรือสิบปีข้างหน้า เมื่อรถยนต์ไฟฟ้าผลิตออกมามากๆ จะมียางรถยนต์ถูกผลิตออกมามากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รถยนต์ไฟฟ้าเหล่านี้ มักใช้ยางรถยนต์ที่บางเพื่อให้น้ำหนักเบาเข้าไว้

พาบรายบอกว่า บริษัทอย่างเทสล่ามียางรถยนต์แบบพิเศษที่บางและเบามากๆ เมื่อยางมีความบาง มันก็ต้องเปลี่ยนบ่อยขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อบริษัทผลิตยางรถยนต์

ด้วยเหตุนี้ พาบรายจึงเข้าลงทุนในบริษัทในอินเดียที่ผลิตส่วนผสมที่เอาไปใช้ทำยาง ซึ่งเอามาผลิตเป็นยางรถยนต์ โดยซื้อมันในราคาที่ถูกมากๆ นอกจากนี้ยังเข้าซื้ออีกบริษัทหนึ่งในเกาหลีใต้ ซึ่งอยู่ในธุรกิจยางรถยนต์ในราคาที่ถูกมากเช่นกัน และก็ปรากฏว่าบริษัทดังกล่าวเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

โมนิช พาบราย ได้ทุนคืนจากบริษัทเหล่านี้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากเขาชอบลงทุนในบริษัทที่อัตราราคาต่อกำไร (P/E ) อยู่ที่ไม่เกิน 2-3 เท่า แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น

ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ น่าจะอยู่ที่การ “อ่านขาด” โดยนักลงทุนต้องอ่านสภาพการณ์ให้ขาด และเลือกลงทุนในสิ่งที่มีความแน่นอนที่สุดชนิด “ปิดประตูแพ้” ไม่แห่ไปกับฝูงชนที่กำลังบ้าตามกระแสใดกระแสหนึ่ง และซื้อมันในราคาที่ถูกที่สุด (ซึ่งแน่นอนว่าที่พาบรายทำได้เพราะเขาไม่จำกัดตัวเองอยู่กับหุ้นของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่รู้จักหาหุ้นไปทั่วโลก โดยเฉพาะอินเดีย บ้านเกิดของเขา ที่เป็นตลาดเกิดใหม่และยังมีโอกาสลงทุนดีๆ อยู่อีกมาก)

นี่คือการซื้อหุ้นสไตล์ “วีไอดันโด” ที่พาบรายกล่าวไว้ในหนังสือ “นักลงทุนดันโด” ว่า “ออกหัว ผมได้เงินเต็มๆ ออกก้อย ผมเสียเงินนิดหน่อย”

เป็นการลงทุนแบบ “ยังไงก็ไม่แพ้” อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเขานั่นเอง


ภาพและข้อมูลประกอบจาก : Stock Research Impacts Financial Health | Mohnish Pabrai | Talks at Google ชมได้ที่นี่