เกษียณให้สบาย ต้องมีเงินเท่าไร?

senior

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

“ถ้าจะเกษียณโดยมีเงินใช้สบายๆ ไปจนตาย ต้องมีเงินเก็บเท่าไร”

คำถามนี้ เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินมาก่อนแล้ว และคำตอบก็อาจแตกต่างหลากหลายกันไป

ตลาดหลักทรัพย์บอกว่าต้องมี “4 ล้านบาท” แต่บางคนอาจบอกว่าต้องมี “หลายสิบล้าน”

ทว่าหนังสือลงทุนที่ได้รับความนิยมระดับโลกอย่าง “A Random Walk Down Wall Street” ได้นำเสนอวิธีคิดแบบหนึ่งออกมา เรียกว่า “วิธี 4 เปอร์เซ็นต์”

สืบเนื่องจากวิธี 4 เปอร์เซ็นต์ เงินเก็บที่คนในวัยเกษียณต้องมี เพื่อให้ใช้ชีวิตบั้นปลายได้แบบสบายๆ อยู่ที่เท่าไรทราบไหมครับ?

คำตอบคือ … “15 ล้านบาท”

ตัวเลขนี้อาจดู “เยอะ” สำหรับคนส่วนใหญ่ แต่อย่าเพิ่งตกใจไปนะครับ ทุกอย่างมีที่มาที่ไป ดังต่อไปนี้

15 ล้านบาท เกิดขึ้นจากสมมุติฐานที่ว่า พอร์ตการลงทุนของคุณ ควรจะสร้างผลตอบแทนได้ปีละ 5.5 เปอร์เซ็นต์ (ซึ่งสามารถทำได้หลากหลายวิธี แต่ยังไม่ขอกล่าวถึง ณ ที่นี้)

และด้วยความที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในรอบหลายปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 1.5 เปอร์เซ็นต์ การที่พอร์ตของคุณจะชนะเงินเฟ้อได้นั้น ตัวของมันเองต้องเติบโตขึ้นปีละ 1.5 เปอร์เซ็นต์ เป็นอย่างน้อย (เพื่อไม่ให้อำนาจซื้อของการลงทุนก้อนนี้ลดลง)

นั่นหมายความว่า คุณจะสามารถถอนเงินออกมาใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีพได้ปีละ 4 เปอร์เซ็นต์ โดยเหลือ 1.5 เปอร์เซ็นต์ไว้ เพื่อให้ไปหักล้างกับเงินเฟ้อ โดยที่คุณยังมีกำลังซื้อเท่าเดิม

4 เปอร์เซ็นต์ ของ 15 ล้าน ก็เท่ากับ “6 แสนบาท” หรือเดือนละ “50,000 บาท” ซึ่งน่าจะเพียงพอต่อการดำรงชีพของคนในวัยหลังเกษียณในประเทศไทยได้ไม่มีปัญหา

อันที่จริง หนังสือ A Random Walk ได้นำเสนอวิธีนี้ โดยใช้หน่วยเงินเป็น “ดอลล่าร์สหรัฐฯ” โดยเงิน “15 ล้านบาท” ที่ผมบอก แปลงมาจากตัวเลข 450,000 เหรียญในหนังสือ ส่วนผลตอบแทน 6 แสนบาท ก็แปลงมาจาก 18,000 เหรียญ ซึ่งก็คือ 4 เปอร์เซ็นต์ ของ 450,000 เหรียญ และเดือนละ 50,000 บาท ก็คือเดือนละ 1,500 เหรียญ ทั้งหมดนี้ ใช้อัตราแลกเปลี่ยน 33.33 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ

แม้ว่า ค่าครองชีพในไทย จะต่ำกว่าในสหรัฐฯ แต่ผมเชื่อว่าการ “เล็งเป้า” ให้มากเข้าไว้ก่อน ก็คงจะไม่เสียหายอะไร และทำให้ท่านมีชีวิตที่ดีกว่าการมีเงินน้อยๆ ไม่ใช่แค่พอยาไส้ แต่มีเหลือไปท่องเที่ยว หาความสุขได้ตามสมควร

อย่างไรก็ตาม หากท่านใกล้เกษียณ หรือเกษียณไปแล้ว แต่มีเงินไม่ถึง หรือห่างไกลจากเป้าหมาย 15 ล้านบาท ก็อย่าได้กังวลไป

ขอเพียงทำตามสูตรนี้ มีเท่าไร เอาไปลงทุนให้ได้ 5.5 เปอร์เซ็นต์ (ซึ่งผมยืนยันว่าไม่ยาก) และใช้ไม่เกิน 4 เปอร์เซ็นต์ กินใช้ตามอัตภาพ เช่นนี้ก็จะอยู่ได้จนวันสุดท้ายของชีวิตแน่นอนครับ


[ข้อมูลประกอบจากหนังสือ A Random Walk Down Wall Street]

กระเป๋า NaRaYa มีดีอะไร?

naraya-cover.jpg

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

เทรนด์ “จีนเที่ยวไทย” ที่นักท่องเที่ยวจากแผ่นดินมังกรแห่กันมาบุกสยามประเทศนั้น กำลังแรงไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ และคงจะเป็นเช่นนี้ไปอีกพักใหญ่ หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงรุนแรงจริงๆ

นอกจากธุรกิจท่องเที่ยวแล้ว สินค้าต่างๆ ของไทยที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมชมชอบ ก็พลอยได้รับประโยชน์จากเทรนด์นี้ไปเต็มๆ ชนิด “ไม่อยากรวยก็ต้องรวย”

ไม่ว่าจะเป็นสาหร่ายเถ้าแก่น้อย (TKN), ร้านเครื่องสำอาง BEAUTY, ครีม Snail White, ยาดมโป๊ยเซียน, กอเอี๊ยะไทเกอร์บาล์ม, มะม่วงกรอบ, ทุเรียนทอด, นมอัดเม็ดจิตรลดา ฯลฯ

แต่ที่ผมมองว่าน่าสนใจเป็นพิเศษ คือกระเป๋ายี่ห้อ NaRaYa (นารายา) เนื่องจากสินค้าแบรนด์นี้นอกจากจะ “ฮิตสุดๆ” ในหมู่คนจีนแล้ว แม้แต่คนญี่ปุ่นก็ยังชื่นชอบ ต้องถือว่ามีไม่บ่อยครั้งนักที่คนสองชาติซึ่งต่างกันสุดขั้ว จะมาชอบของแบรนด์เดียวกัน

ผมลองสอบถามจากเพื่อนคนจีนและญี่ปุ่น รวมทั้งคนไทยที่ชอบกระเป๋า NaRaYa (แม้จะมีไม่มากนัก) ว่ามองกระเป๋าแบรนด์นี้ว่ามีดีตรงไหน ส่วนใหญ่มักตอบมาเหมือนๆ กันว่า “สวยและถูก”

เท่าที่ผมเข้าไปเดินดูในร้านอยู่หลายครั้ง ก็พบว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ สินค้าของ NaRaYa ทำออกมาได้น่ารัก หลากสีสัน ที่ฉลาดมากๆ คือ มักจะทำออกมาเป็น set จึงดึงดูดให้ลูกค้า “ซื้อยกชุด” และด้วยความที่ราคาไม่แพง จึงเหมาะที่จะซื้อเป็นจำนวนมากๆ ไปฝากเพื่อนฝูงและคนในครอบครัว

IMG_5826

จะเห็นได้ว่า กลยุทธ์ “การตั้งราคาต่ำ” (low-price strategy) ของ NaRaYa ถือว่าคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม เพราะทำให้เกิด “การซื้อฝาก” จึงช่วยให้สินค้าแพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว เป็นการยืมมือลูกค้าช่วยประชาสัมพันธ์โดยไม่ต้องเปลืองแรง

และจากประสบการณ์ที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในเมืองจีน ผมบอกได้เลยว่า NaRaYa “จุดติด” มากๆ ในแดนมังกร ขนาดเหล่าซือที่สอนภาษาจีนผม เป็นคนเสฉวน ทุกวันนี้ยังไม่เคยมาเที่ยวเมืองไทย แต่เธอกลับรู้จักกระเป๋า “ม่านกู่เปา” (曼谷包 ชื่อเรียก NaRaYa ในหมู่คนจีน แปลเป็นไทยว่า “กระเป๋ากรุงเทพ”) มานานแล้ว เธอบอกว่าชอบมากๆ สวยมาก แต่พอผมจะซื้อฝากก็ไม่เอา บอกว่าเดี๋ยวจะมาเลือกที่เมืองไทยเองดีกว่า

โดยสรุป ผมมองว่าความสำเร็จของ NaRaYa เกิดจากปัจจัยต่อไปนี้

  1. ดีไซน์ที่สวย น่ารัก มีเอกลักษณ์ความเป็นไทย เหมาะที่จะซื้อเป็นที่ระลึกหรือของฝาก เพราะบอกได้ว่ามาจากประเทศไทย
  2. ราคาถูก ทำให้เกิดการซื้อฝากจำนวนมากๆ เป็นการ “ยืมมือลูกค้า” เพื่อประชาสัมพันธ์โพรดักส์ไปในตัว
  3. การออกสินค้ามาเป็นเซต ช่วยดึงดูดให้คนซื้อหลายๆ ชิ้น ซึ่งน่าจะเพิ่มยอดซื้อต่อบิลให้มากขึ้นกว่าเดิม
  4. สินค้าจุดติด กลายเป็นของที่ “ต้องซื้อ” จนประสบความสำเร็ตติดลมบนถึงทุกวันนี้

ก็ขอฝากเอาไว้เป็นโมเดลแห่งความสำเร็จประมาณนี้ เผื่อใครที่คิดอยากทำสินค้าจับเทรนด์จีนเที่ยวไทย จะได้ประยุกต์ไปใช้เป็นแบบอย่าง ไม่แน่อาจจะรวยเป็นรายต่อไปครับ

ทำไมค้าปลีกไทยและญี่ปุ่น จึงอยู่ได้อีกนาน

IMG_4539

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ภาพของธุรกิจ “ค้าปลีก” ที่ปรากฏให้เห็นกันทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา เริ่มมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าอุตสาหกรรมนี้กำลังตายลงอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เกิดขึ้นกับ วอลมาร์ท โมเดิร์นเทรดยักษ์ใหญ่ซึ่งยอดขายถดถอยลงอย่างน่าใจหาย ยังไม่รวมร้านค้าปลีกอื่นๆ จำนวนมากที่ขาดทุนและทยอยปิดกิจการกันไป ล้วนเป็นประจักษ์พยานอันเด่นชัดยิ่ง สวนทางกับการพุ่งขึ้นของ “เอมะซอน” อาณาจักร e-commerce สะท้านโลกที่ขึ้นมาครองตลาดแดนมะกันเป็นที่เรียบร้อย

แม้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ยังยอมรับเองว่า ธุรกิจค้าปลีกเป็นอะไรที่ “โหดเกินไป” สำหรับตัวแก ทั้งยังบ่นว่า การทุ่มเงินลงทุนไปในธุรกิจค้าปลีกของแกทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อหุ้นห้างสรรพสินค้าเมื่อหลายสิบปีก่อน รวมทั้งหุ้นวอลมาร์ท และที่อื้อฉาวสุดๆ อย่างเทสโก้ของอังกฤษ สุดท้ายแล้วกลายเป็นการ “เอาหัวไปพาดบนเขียง” ซึ่งน่าจะเป็นการเปรียบเทียบที่ชัดเจนที่สุดแล้วของนักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่รายนี้

โดยส่วนตัว ผมเองก็เป็นนักลงทุนตัวเล็กๆ คนหนึ่งซึ่งเติบโตขึ้นมากับยุคทองของธุรกิจค้าปลีกไทย จึงเอาเรื่องนี้มาขบคิดอยู่ค่อนข้างนาน โดยพยายามเทียบเคียงกับธุรกิจลักษณะเดียวกันของประเทศอื่นๆ ในที่นี้ขอพูดถึงธุรกิจค้าปลีกของญี่ปุ่นก่อนเป็นอันดับแรก

IMG_5598 2

ผมเชื่อว่าธุรกิจค้าปลีกญี่ปุ่น จะ “ตายช้า” กว่าค้าปลีกของอเมริกา เนื่องด้วยสาเหตุหลักๆ สองประการ

ประการแรกได้แก่ การที่ประเทศญี่ปุ่นมีระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟที่สะดวกสบาย ความจำเป็นในการใช้รถยนต์ส่วนตัวนั้นน้อยมาก โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ อีกทั้งญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ประชากรเยอะเมื่อเทียบกับพื้นที่ ห้างสรรพสินค้ารวมทั้งร้านค้าปลีกทุกประเภทจึงกระจุกตัวรวมกันอยู่อย่างชุกชุม ซึ่งคนก็สามารถเดินทางไปยังห้างร้านเหล่านั้นได้ไม่ลำบากเลย ไม่ต้องขับรถไปไกลๆ เหมือนในอเมริกา

ประการที่สอง คนญี่ปุ่นมีลักษณะที่ “เปลี่ยนแปลงช้า” ปัจจุบันชาวลูกพระอาทิตย์ยังคงดูหนังจากแผ่นดีวีดี ฟังเพลงจากแผ่นซีดี ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าร้านขายหนัง-เพลง อย่าง ซึทาญ่า หรือ Tower Records ที่ทั่วโลกทยอยปิดกิจการกันไปเกือบหมดแล้ว แต่ที่ญี่ปุ่นยังมีสาขาใหญ่โต เปิดขายกันเป็นปกติเหมือนไม่ได้รับรู้ความเป็นไปของโลกใบนี้

ด้วยพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงช้า ผมจึงเชื่อว่าคนญี่ปุ่นจะยังไปจับจ่ายใช้สอยที่ร้านค้าปลีก เป็นเช่นนี้ไปอีกหลายปี แม้ว่า e-commerce ของญี่ปุ่นรวมทั้งระบบ logistics จะพัฒนาไปถึงไหนต่อไหนแล้วก็ตาม

ผมเชื่อว่าร้านค้าหลายๆ ร้านจะยังอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็น “มินิมาร์ท” อย่าง Family Mart (คนญี่ปุ่นเรียกแฟมมี่), 7-eleven, Lawson, Sunkus ฯลฯ ซึ่งน่าจะเป็น category ที่ตายช้าที่สุด, ร้านค้าปลีกแบบราคาเดียว หรือ “ร้านร้อยเยน” เช่น Daiso, Seria, Can Do ฯลฯ ร้านขายของอินดี้ที่เน้นกลุ่มนักท่องเที่ยว อย่าง Don Quijote, ร้านขายยา อาทิ Matsumoto Kiyoshi, SunDrug, Tsuruha, Kokumin ร้านขายหนัง-ซีดี อาทิ ซึทาญ่า, Tower Records ร้านหนังสือ อย่าง Book First, Sanseido, Maruzen ร้านขายของแต่งบ้าน อย่าง Nitori และอื่นๆ อีกมากมาย

จะเห็นได้ว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความหลากหลายของร้านค้าปลีกสูงมาก และจากประสบการณ์ที่ได้พบเห็นและพูดคุยกับเพื่อนชาวเจแปน ผมมองว่าร้านเหล่านี้กลมกลืนอยู่กับวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นจนกลายเป็นอัตลักษณ์ประจำชาติอย่างหนึ่ง ซึ่งน่าจะ “ประวิงเวลา” ให้มันอยู่กับชีวิตแบบ “ญี่ปุ๊น ญี่ปุ่น” ไปได้อีกพักใหญ่

นี่คือมุมมองที่ผมมีต่อค้าปลีกญี่ปุ่น … แล้วค้าปลีกไทยล่ะ จะเป็นอย่างไร?!!

IMG_3464

สำหรับเมืองไทย ผมมองว่าค้าปลีกจะยังไม่ตายง่ายๆ เช่นกัน (แม้จะเชื่อว่าคงไม่อยู่ยั้งยืนยงเหมือนค้าปลีกญี่ปุ่น) ด้วยเหตุผลสองประการ ดังนี้

ประการที่หนึ่ง ประเทศไทยมีอากาศร้อนตลอดทั้งปี คนไทยจึงชอบเข้าไปเดินในห้าง จะไปสวนสาธารณะก็ร้อน เดินได้แค่ช่วงเช้าหรือเย็น (แล้วก็ไม่ค่อยมีให้เดินด้วย) ไม่เหมือน park สวยๆ ในต่างประเทศที่เดินหรือเข้าไปปิกนิกได้ทั้งวัน

นอกจากนี้ ประเทศเราไม่มีกิจกรรมให้ผู้คนได้ทำมากนัก เราไม่มีมิวเซียมดีๆ ให้คนเดิน เราไม่มีกีฬาดีๆ ให้พ่อแม่จูงลูกไปชมในวันเสาร์อาทิตย์ สิ่งเดียวที่คนไทยทำได้เสมอ คือการไปใช้เวลาตามศูนย์การค้า ซึ่งรวมเอากิจกรรมทุกอย่างเข้าไปอยู่ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นการกินข้าว ดูหนัง ร้องคาราโอเกะ กวดวิชา โยนโบว์ลิ่ง คุยธุระ ฯลฯ การเดินห้างของคนไทย จึงไม่ใช่แค่ไป “ซื้อของ” เหมือนฝรั่ง แต่เป็นการเข้าไป “ใช้ชีวิต” เสียมากกว่า

(ในการประชุมผู้ถือหุ้นเบิร์คเชียร์ แฮธาเวย์ ที่ผ่านมา ชาร์ลี มังเกอร์ คู่หูของบัฟเฟตต์ยังบอกว่า เหตุที่ “e-commerce” กำลังทำให้ห้างสรรพสินค้าตาย เพราะคนสมัยนี้จับจ่ายใช้สอยในห้างน้อยลง แต่เอาเงินไปใช้กับเรื่องบันเทิงมากขึ้น เช่น “ดูหนัง” เมื่อได้ยินมังเกอร์พูดเช่นนี้ ผมยิ่งมั่นใจว่าสิ่งที่ตัวเองคิดไว้นั้นไม่ผิด เพราะห้างเมืองไทยไม่ได้มีไว้แค่ขายสินค้า แต่เป็น entertainment complex คือมีทุกอย่างรวมอยู่ในนั้น รวมทั้งโรงหนังด้วย ห้างไทยจึงไม่เหมือนของอเมริกาแน่ๆ)

IMG_5608 2

ประการที่สอง ผมมองว่า “ความเหลื่อมล้ำทางสังคม” ทำให้คนไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยยังไม่มีบัตรเครดิต และไทยเองก็ไม่มีระบบเดบิตที่เข้มแข็งเหมือนที่คนจีนมี “จือฟู่เป่า” (Alipay) ต่อให้ชาวบ้านกดมือถือซื้อของเองได้จริง การจะจ่ายเงินด้วยระบบ e-payment ก็ย่อมจะเป็นอุปสรรคอยู่ดี

การโตของ e-commerce ไทย จึงน่าจะเติบโตในลักษณะเดียวกับเศรษฐกิจไทยในอดีต คือหัวโต แต่แขนขาลีบ แม้ชาวบ้านร้านตลาดจะมีสมาร์ทโฟน แต่เมื่อใดที่ต้องการรองเท้าแตะสักคู่หรือสากกะเบือสักอัน การไป Big C หรือ  Lotus ก็ยังเป็นทางเลือกที่ “ใช่” ไปอีกนาน 

ด้วยเหตุผลทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมา ผมจึงเชื่อว่าธุรกิจค้าปลีกของญี่ปุ่น และรวมถึงของไทย จะยัง “ลากยาว” ไปได้อีกพอสมควร ดังนั้น ไม่ว่าจะเลือกลงทุนหรือไม่ลงทุนในธุรกิจค้าปลีกของทั้งสองประเทศนี้ ผมก็ไม่คิดว่ามันจะตายวันตายพรุ่งแต่อย่างใดครับ