“หนังสือแปล” มีดีไม่แพ้ต้นฉบับ?

lostintranslation

โดย สุภศักดิ์ จุลละศร

หลายท่านที่เป็นนักอ่านน่าจะเคยประสบปัญหาหรือเกิดอาการไม่สบอารมณ์จากการอ่าน “หนังสือแปล” และบางท่านที่สุดขั้วหน่อยก็อาจจะถึงกับตั้งธงไว้เลยว่าจะไม่อ่านหนังสือที่แปลเป็นภาษาไทยเด็ดขาด

เหตุผลที่พวกเขาให้ไว้ก็คือ หนังสือแปลมักจะสู้หนังสือภาษาอังกฤษต้นฉบับไม่ได้ ซื้อมาแล้วก็มักจะผิดหวัง สู้กัดฟันอ่านต้นฉบับไปเลยดีกว่า อย่างไรก็ตาม ในฐานะคนแปลหนังสือ ผมกลับมองว่าหนังสือแปลสามารถที่จะ “ดี” ได้ไม่แพ้ต้นฉบับ และในหลายๆ กรณี หนังสือแปลก็อาจจะทำได้ดีกว่าต้นฉบับเสียด้วยซ้ำ

และต่อไปนี้ก็คือ มุมมองของผม …

เมื่อไรที่หนังสือแปลจะแย่?

ในการแปลหนังสือ สิ่งที่ผู้แปลพึงกระทำ (อย่างยิ่ง) คือ การรักษาเนื้อความดั้งเดิมให้ได้มากที่สุด หรือพูดแบบง่ายๆ ก็คือ อย่าแปลผิด อย่าแปลขาด และอย่าแปลเกิน

การแปลผิดความหมาย ถือได้ว่าเป็น “ความผิดขั้นร้ายแรง” ของนักแปล แม้บางครั้งนักแปลอาจแปลผิดได้โดยสุจริต คือ พยายามอย่างเต็มที่แล้ว แต่ก็ยังไม่ดีพอ อาจจะด้วยพื้นความรู้ที่ไม่ตรงกับแนวเนื้อหา เช่น แปลหนังสือด้านการลงทุน แต่ตัวเองกลับไม่เคยลงทุน หรือศึกษาด้านการลงทุนมาเลย อย่างนี้ก็เจ๊งแน่ หรืออีกแบบก็คือ ผู้แปลมีทักษะด้านภาษาไม่เพียงพอ อย่างนี้ก็ไม่ไหวอีกเหมือนกัน

นักอ่านจึงต้องดูด้วยว่า ผู้แปลมีพื้นความรู้มาทางด้านไหน หนังสือหลายเล่มมีประวัติโดยย่อของผู้แปลอยู่ท้ายเล่ม ผมแนะนำให้อ่านดูคร่าวๆ จะได้รู้ว่าหมอนี่เป็นใคร และมีผลงานอะไรมาบ้าง

ถัดมาเป็นเรื่องของ การแปลขาดหาย ซึ่งเป็นการแปลที่ทำให้เนื้อความดั้งเดิมตกหายไป ผู้อ่านจะยังได้รับความรู้หรือสาระสำคัญจากหนังสืออยู่ แต่ได้ไม่ครบ 100% ความเห็นของผมคือว่า ถ้าเป็นการ “แปลและเรียบเรียง” และการพยายามรักษาเนื้อความส่วนนั้นอาจทำให้การอ่านสะดุดโดยไม่จำเป็น (อย่าลืมว่าผู้เขียนต้นฉบับก็อาจเขียนแบบกะพร่องกะแพร่ง หรือพูดจาไม่รู้เรื่องได้เหมือนกัน) อย่างนี้ก็อาจอนุโลมได้ เพื่อประโยชน์ของผู้อ่านเอง

ประเด็นสุดท้าย ได้แก่ การแปลเกิน เรียกว่าคนเขียนเขียนมา 100 คนแปลจัดให้ 110 กลายเป็นว่าสอดแทรกเนื้อหาหรือความคิดเห็นของตัวเองเข้าไปอีก อย่างนี้ถือว่าไม่ดี เพราะคนอ่านจะแยกไม่ได้ว่าอันไหนเป็นเนื้อความจากผู้เขียน หรืออันไหนเป็นการขยายความของผู้แปล ที่ซ้ำร้ายคือ จะมีคนหยิบยกถ้อยคำพวกนั้นไปอ้างอิง แล้วบอกว่ามาจากผู้เขียน ทั้งๆ ที่เจ้าตัวไม่ได้รู้เรื่องด้วยเลย

ทางออกก็คือ หากเนื้อความส่วนไหนยากและควรมีการอธิบายเพิ่ม ก็ควรแทรกเป็นฟุ้ตโน้ต (footnote) หรือใส่ไว้ในวงเล็บ และกำกับได้ด้วยว่าเป็นคำอธิบายจากผู้แปล อย่างนี้เป็นต้น ตรงนี้ก็จะเป็น “มูลค่าเพิ่ม” หรือ “value added” ที่ผู้แปลสามารถจะทำให้หนังสือทรงคุณค่ายิ่งขึ้น โดยไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด

ลึกลงไปในรายละเอียด

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็น “แก่น” ที่ผู้แปลควรยึดถือ แต่ในส่วนของรายละเอียด หรือ “กระพี้” และ “เปลือก” เรายังต้องว่ากันต่อไป

สมมติเราซื้อหนังสือเล่มหนึ่งที่ปรมาจารย์ด้านการลงทุนของโลกเป็นคนเขียน แน่นอนว่าเราคงอยากรู้เนื้อความอย่างถูกต้องครบถ้วน ไม่ขาด ไม่เกิน แต่ถึงแม้จะหาคนที่แปลได้ตามนั้นแล้ว สิ่งที่ผู้อ่านต้องการไม่แพ้กันก็คือ “อรรถรส” ในการอ่าน

ผู้แปลสามารถส่งผ่าน “อารมณ์” และ “ความนัย” ที่ผู้เขียนให้ไว้ได้มากน้อยแค่ไหน? สำนวนเขียนของผู้แปลมีความสละสลวยและชวนให้อ่านได้อย่างไหลลื่นหรือไม่? ผู้แปลสามารถถ่ายทอด “บุคลิก” ที่มีอยู่ในงานเขียนได้ดีเพียงใด? นี่คือรายละเอียดที่เราต้องให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน

บางครั้งเราเจอผู้เขียนที่เขียนไว้ดีมาก แต่ได้คนแปลที่ไม่ค่อยเอาไหน หนังสือดีก็เลยกลายเป็นหนังสือดาดๆ ไปอย่างน่าเสียดาย ในทางกลับกัน คนแปลที่มีฝีมือ แต่ต้องไปประกบแปลหนังสือน่าเบื่อๆ ก็อาจกลายเป็นการฝังตัวเองไปได้เหมือนกัน เพราะคนอ่านเขาไม่รู้หรอกว่าต้นฉบับมันน่าเบื่อ

ด้วยเหตุนี้ผมจึงตกลงกับเพื่อนว่า หากจะแปลหนังสือ ก็ต้องเป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าและน่าอ่านเท่านั้น ไม่อย่างนั้นเสียเวลาเปล่า ได้ตังค์เท่าไหร่ก็ไม่คุ้ม

นักแปลไส้แห้ง?

“อาชีพนักแปล” ไม่ใช่อาชีพที่ทำรายได้งดงามอะไรมากนัก โดยเฉพาะถ้าหนังสือไม่ได้ติดอันดับขายดี (bestseller) หรือแม้บางครั้งต่อให้หนังสือติดอันดับขายดี แต่นักแปลได้รับค่าตอบแทนแบบคงที่ จ่ายกันครั้งเดียวจบ อย่างนี้นักแปลก็ “ไส้แห้ง” ได้เหมือนกัน

เพื่อนผมคนหนึ่งที่อยู่ในแวดวงแปลหนังสือบอกว่า การแปลหนังสือของเขาถือว่าเป็นรายได้พิเศษ และที่ว่าพิเศษนั้นก็เพราะว่า ปกติเขาเองก็อ่านหนังสืออยู่แล้ว การแปลหนังสือจึงเหมือนกับมีคนมาจ้างให้เขาทำในสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องเพิ่มความพิถีพิถัน หรือใช้ความตั้งอกตั้งใจมากขึ้นเท่านั้น

นึกดูก็เหมือนการที่มีใครสักคนมาจ้างเราให้อาบน้ำ ทั้งที่จริงไม่ว่าอย่างไรเราก็คงจะอาบน้ำกันทุกวันอยู่แล้ว (ยกเว้นฝรั่งที่อยู่เมืองหนาว อันนั้นไม่แน่) สิ่งที่เราต้องทำเพิ่มก็มีแค่ตั้งใจอาบให้สะอาดขึ้นกว่าปกติ

โดยทั่วไปแล้ว นักแปลหนังสือไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะ “ได้เงิน” หรือ “ได้กล่อง” กันง่ายๆ เหตุผลก็คือ งานแปลจำนวนมากจ่ายค่าตอบแทนแบบคงที่ แล้วก็ไม่ได้เป็นอัตราที่มากมายอะไร ขณะที่ชื่อเสียงหรือความนับหน้าถือตา ส่วนมากก็ตกเป็นของผู้เขียนเสียมากกว่า เพราะถือว่าเป็นเจ้าของไอเดียตัวจริง

ด้วยเหตุนี้นักแปลที่ผมพบเจอจึงมักจะทำเพราะ “ใจรัก” มากกว่าจะหวังผลอื่นใด หรือบางทีนี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้หนังสือแปลคุณภาพดี มีจำนวนน้อยก็เป็นได้

หนังสือแปล… แซงหนังสือต้นฉบับ?!

หากดูแค่เพียงผิวเผิน ก็คล้ายกับว่าหนังสือแปลจะทำได้ดีที่สุดเพียงแค่เทียบเท่ากับหนังสือต้นฉบับ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้แปลอาจเพิ่มคุณค่าให้กับหนังสือได้ด้วยเช่นกัน

หนังสือบางประเภทเป็นหนังสือเฉพาะทาง ยกตัวอย่างใกล้ๆ ตัวก็อย่างเช่น หนังสือด้านการเงินและการลงทุน ซึ่งบางทีผู้เขียนก็กล่าวถึงตราสารทางการเงิน เช่น พันธบัตร ตั๋วเงิน หรือหุ้นกู้ โดยไม่ได้อธิบายเพิ่มเติม เพราะรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่อง “พื้นๆ” ทว่าในฐานะผู้แปล หากเรารู้ว่ามีโอกาสที่คนอ่านจะไม่เข้าใจ หรือไม่คุ้นเคย เราก็อาจแทรกคำอธิบายไว้ที่ footnote ได้

หรือบางครั้งมีการกล่าวถึงเหตุการณ์ที่ “ใครๆ ก็รู้” แต่ว่าเป็น “ใครๆ” ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างนี้ผู้แปลก็สามารถเล่าเรื่องเพิ่มเติม หรือเทียบเคียงกับเหตุการณ์ที่คนอ่านอาจจะคุ้นเคยกว่าในเมืองไทย อย่างนี้เป็นต้น

สิ่งที่พบกันบ่อยอีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ การใช้สำนวนในภาษาอังกฤษ ซึ่งหากแปลกันตรงๆ โดยไม่รู้ว่าเป็นสำนวน ก็มีโอกาสที่จะเกิดความเข้าใจผิดไปคนละเรื่อง ผู้แปลก็จะมีบทบาทในการหาคำอธิบายที่เหมาะสมกับผู้อ่านซึ่งเป็นคนไทย

จะเห็นได้ว่า สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถหาได้จากหนังสือต้นฉบับ และเป็นโอกาสที่หนังสือแปลจะแซงหน้าหนังสือต้นฉบับได้ หรือถ้ามีใคร “ฟิต” และอยากอ่านหนังสือต้นฉบับภาษาอังกฤษขึ้นมา เขาก็จะต้องทำการค้นคว้าเหล่านี้ในแบบเดียวกับที่ผู้แปลทำ ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าจะต้องใช้เวลาและความพยายามมาก โดยเฉพาะถ้าผู้อ่านเองไม่ได้มีทักษะการอ่านหรือพื้นความรู้เท่ากับนักแปล

อีกมุมหนึ่งซึ่งเป็นความเห็นส่วนตัวของผมก็คือ สำหรับคนไทยแล้ว การอ่านภาษาอังกฤษย่อมใช้เวลามากกว่าการอ่านภาษาไทย และบ่อยครั้งที่การอ่านหนังสือภาษาอังกฤษเล่มโตๆ ต้องจบลงด้วยการ “อ่านค้าง” จากนั้นก็วางทิ้งไว้เป็นเดือนๆ ก่อนที่จะลงท้ายด้วยการ “อ่านไม่จบเล่ม”

ดังนั้น ถ้ามีหนังสือแปลที่แซงหน้าหนังสือต้นฉบับได้ เราก็ควรอ่านมัน แล้วเก็บพลังงานที่เหลือไปอ่านเล่มอื่นๆ ที่ยังไม่มีการแปลเป็นภาษาไทย และนี่ก็คือเทคนิคที่ผมใช้บริหารเวลาในชีวิตจริงครับ

 

ลงทุนอย่าง VI พันธุ์แท้ #2 วัดพลังหุ้น

cover-final

เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา Club VI ได้ฤกษ์เปิดตัวหนังสือเขียนเล่มแรก “ลงทุนอย่าง VI พันธุ์แท้” ที่ได้ช่วยปูพื้นให้ผู้อ่าน ลงทุนให้ถึง “แก่นแท้” ของ VI โดยสำนักพิมพ์ Wing Media

ผลปรากฏว่า ได้รับการตอบรับดีมาก ขึ้นไปติดอันดับต้นๆ ของหนังสือขายดีทั่วประเทศ จนต้องพิมพ์ซ้ำอย่างด่วนๆ (ใครยังไม่ได้ซื้อ ไปสอยมาได้เลยครับ หน้าตาหนังสือเป็นแบบนี้ https://clubvi.com/2013/01/02/die-hardvi/)

ผ่านมาแล้ว 6 เดือน ก็ถึงเวลาของ “ลงทุนอย่าง VI พันธุ์แท้ #2  วัดพลังหุ้น” ผลงานหนังสือเขียนชิ้นที่ 2 ของ Club VI ที่รับรองว่า อ่านจบแล้ว “เลือกหุ้นดี” ได้ทันที เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับภาวการณ์ที่ผันผวนอยู่ ณ เวลานี้

ที่เราตั้งใจเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา ก็เพราะต้องการ “หาทางออก” ให้กับผู้ที่อยากเป็น “วีไอพันธุ์แท้” แต่มีปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก

ปัญหาของ “วีไอมือใหม่” ส่วนใหญ่ก็คือ รู้สึกว่าการประเมินมูลค่าหุ้นตามวิธีการดั้งเดิมนั้น “ยากเกินไป” และต่อให้คิดออกมาได้ ก็ใช่ว่าจะแม่นยำ เพราะตัวแปรมันเยอะมาก จนหลายคนรู้สึกว่า มัน “Not Worth Trying” คือทำไปก็ไม่คุ้มเหนื่อย (แม้จะมีประโยชน์ในหลายๆ ด้านก็ตาม)

ทีมงาน Club VI จึงท้าทายตัวเองว่า จะคิดค้นวิธีเลือกหุ้นที่มีคุณภาพ และ “ง่ายที่สุด” ขึ้นมา ที่ทุกคนสามารถทำตามได้ และต้องทำได้จริงๆ ชนิดที่เปิดหนังสือไป-เลือกหุ้นไปได้เลย

… จนกลายมาเป็นหนังสือเล่มนี้

สำหรับวีไอมือเก่า ท่านจะได้ทดสอบตัวเองอย่างเข้มข้นว่า ท่านพิจารณาเลือกหุ้นด้วยปัจจัยที่รอบคอบรอบด้านพอแล้วหรือยัง มีอะไรขาดตกบกพร่องอยู่ในกระบวนการคัดสรรหุ้นของท่านบ้าง

เชื่อว่าหลายคนคงซื้อหนังสือลงทุนมาหลายเล่มแล้ว บางคนซื้อมาหลายสิบเล่ม แต่รับรองว่าเที่ยวนี้ จ่ายเงินอีก “ร้อยกว่าบาท” ท่านจะได้หนังสือที่คุ้มค่าไม่แพ้เล่มไหนๆ ที่เคยอ่านมาแน่นอน

พบกันปลาย ก.ค. นี้ “ลงทุนอย่าง VI พันธุ์แท้ # 2 วัดพลังหุ้น” ที่ซีเอ็ดและร้านหนังสือชั้นนำทุกแห่งครับ !!

———————-

วีไอระดับบริษัท

โดย สุภศักดิ์ จุลละศร

ในฐานะของนักลงทุนรายย่อย ผมคิดว่าหลายท่านที่เป็น Value Investor หรือ VI คงทราบกันดีอยู่แล้วว่า เราต้องซื้อหุ้นที่มี “ราคา” ต่ำกว่า “มูลค่า” กล่าวได้ว่าสิ่งนี้เป็นหัวใจสำคัญของการเป็นวีไอ

สิ่งอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ถือเป็นเรื่องเสริม ไม่ว่าจะเป็นเงินปันผล การถือยาว การเติบโต ฯลฯ ถ้าเราลงทุนโดยเน้นสิ่งเหล่านี้ แต่ไม่ได้สนใจประเมินมูลค่าหุ้นหรือประเมินไม่เป็น แบบนั้นก็ไม่ใช่วีไอ และนี่ก็เป็นสาเหตุที่เราเรียกการลงทุนแบบนี้ว่า Value Investment …

ไม่ใช่ Dividend Investment, Long-term Investment หรือ Growth Investment!

บางคนคิดว่า Value Investment (ย่อว่า VI เหมือนกัน) เป็นเรื่องของนักลงทุนที่จะซื้อขายหุ้น แต่ที่จริงแนวคิดนี้สามารถเอาไปใช้ในระดับบริษัทได้ด้วย … และถ้ามันอยู่ใน “สายเลือด” ของบริษัทไหน นักลงทุนวีไอเองก็ไม่ควรพลาดศึกษาบริษัทนั้นด้วยเช่นกัน

บริษัทก็เป็น VI ได้

หลายท่านเห็นภาพชัดเจนแล้วว่า นักลงทุนบุคคลสามารถทำตัวเป็นวีไอได้โดยการประเมินมูลค่าหุ้น และใช้ประโยชน์จากการที่ราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง พวกเขาอาจสงสัยว่า อ้าว! แล้วบริษัทจะประเมินมูลค่าหุ้นไปทำไมล่ะ? ผมจะอธิบายอย่างนี้ครับ

ในการดำเนินธุรกิจ บริษัทจะต้องตัดสินใจในกิจกรรมต่างๆ เช่น การวิจัยตลาด การผลิต การหาลูกค้า หรือแม้แต่การขยายกิจการก็ตาม กิจกรรมพวกนี้ล้วนเป็นสิ่งที่มี “มูลค่า” ในตัวเอง เพราะฉะนั้นโดยทั่วไปแล้วบริษัทก็จะไม่ได้ประเมินมูลค่าหุ้น หากแต่ประเมินมูลค่าของกิจกรรมเหล่านี้แทน

โดยปกติถ้าเป็นโครงการใหญ่ที่ต้องมีการตัดสินใจ เช่น การเปิดสายการผลิตใหม่ หรือการโหมจัดแคมเปญส่งเสริมการขาย บริษัทก็มักจะมีการประเมินความคุ้มค่าของโครงการกันก่อนอยู่แล้ว แต่บางกิจกรรมที่ผู้บริหารมองว่า “ทำแน่” อย่างนี้ก็อาจทำเลย โดยไม่ต้องสั่งลูกน้องให้ไปประเมินความคุ้มค่าของโครงการมาอีก

ในจุดนี้ผู้บริหารที่มีหัวใจเป็น VI จะมีความได้เปรียบ เพราะพวกเขาสามารถประมาณได้ด้วยประสบการณ์ว่ากิจกรรมใดมีคุณค่าหรือมูลค่าสูง เมื่อเทียบกับ resource ที่ต้องใช้ ซึ่ง resource นี้ก็ไม่ได้คิดแต่ที่เป็นตัวเงิน แต่ว่าคิดไปถึงเวลา ความเหนื่อยยากของทีมงาน และการเสียโอกาสที่จะไปสร้างสรรค์งานอย่างอื่นด้วย

แม้ในส่วนที่ต้องพิจารณาความคุ้มค่าของโครงการ พวกเขาก็ยังคงใช้แนวคิดของวีไอ โดยใช้การประเมินอย่างระมัดระวังและใช้ “มูลค่าขั้นต่ำ” ที่จะได้รับจากโครงการ หากถึงกระนั้นแล้วมูลค่าก็ยังคงสูงคุ้มค่าน่าพอใจ พวกเขาจึงค่อยลงมือทำ

สิ่งนี้เหมือนกับที่นักลงทุนวีไอคำนวณมูลค่าหุ้นแบบอนุรักษ์นิยม แล้วก็นั่งรอจนกว่าราคาหุ้นจะต่ำกว่ามูลค่าไปมากๆ ถึงจะเข้าซื้อ อย่างที่เราเรียกกันว่ามี “Margin of Safety” ในระดับที่น่าพอใจนั่นเอง และในเมื่อพวกเขาซื้อในจุดที่ downside แทบไม่มีแล้ว ผลตอบแทนของพวกเขาจึงสูงได้ ทั้งๆ ที่ความเสี่ยงต่ำ

รอคอยโอกาสดี

ทั้งนี้ผมไม่ได้หมายความว่า บริษัทควรนั่งจับเจ่าและรอคอยจนกว่าจะมีโครงการที่ดีสุดยอดผ่านเข้ามา เพราะความเข้มงวดของบริษัทที่เป็นวีไอย่อมปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ หากเป็นการดำเนินงานปกติ ก็อาจมองหา Margin of Safety ที่ไม่ต้องมากนัก แต่ถ้าเป็นโครงการยักษ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง แบบนี้ก็ควรมองหา Margin of Safety ที่มากหน่อย

นอกจากการดำเนินงานของบริษัทแล้ว ในบางกรณีบริษัทก็อาจทำตัวเป็น “นักลงทุน” ได้ด้วยเหมือนกัน อย่างเช่น การลงทุนในทรัพย์สิน หรือการเข้าซื้อกิจการ เป็นต้น

โดยปกติเรามักเห็นบริษัทออกมา “ช้อปปิ้ง” ในขณะที่กิจการกำลังเฟื่องฟู (คล้ายๆ กับที่ผู้คนชอบออกมาจับจ่ายใช้สอยเงินในช่วงที่รายได้ดีหรือเพิ่งได้โบนัส) ซึ่งก็มักเป็นช่วงที่เศรษฐกิจดีและกิจการอื่นๆ ก็เฟื่องฟูอยู่ด้วยเหมือนกัน การออกมาซื้อกิจการในช่วงเวลานี้จึงมักเป็นการซื้อ “ของดีราคาแพง” ซึ่งไม่ใช่แนวคิดของวีไอเลย

ในทางตรงข้าม บริษัทที่มีความเป็นวีไอจะเก็บเงินเอาไว้ก่อนในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจดี โดยอาจเก็บเป็นเงินสด เงินลงทุนระยะสั้น หรือไม่เช่นนั้นก็เอาไปลดหนี้ การกระทำเช่นนี้เป็นการเตรียมตัวเองให้พร้อมสำหรับโอกาสที่จะผ่านเข้ามา และเมื่อโอกาสนั้นผ่านเข้ามาจริงๆ พวกเขาก็จะมีเงินสดเอาไว้ช้อปปิ้ง “ของดีราคาถูก” หรืออย่างน้อยก็มีวงเงินกู้เอาไว้ใช้ในสถานการณ์ดังกล่าวได้

บมจ. เฮ้าส์ เอ็นเนอร์จี

ขอยกกรณีสมมติ บมจ. เฮ้าส์ เอ็นเนอร์จี ซึ่งเป็นเจ้าของเหมืองถ่านหินหลายแห่งในประเทศอินโดนีเซีย ในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ไม่กี่ปี ในช่วงที่ราคาถ่านหินเพิ่งจะบูมไปกับราคาน้ำมันด้วย (ก่อนที่จะตกสวรรค์ลงมาเหมือนกัน) เฮ้าส์ เพิ่งซื้อกิจการถ่านหินรายใหญ่รายหนึ่งในประเทศออสเตรเลียและก่อหนี้ก้อนใหญ่ขึ้นมา ซึ่งถ้าจะว่ากันตามจริงนี่ก็เป็นการลงทุนที่ไม่ขี้เหร่เท่าไหร่นัก และในเวลานั้นเฮ้าส์ก็เป็นบริษัทที่มีหนี้สินน้อยมาก

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาราคาถ่านหินก็ตกต่ำ ทั้งจากปัญหาเศรษฐกิจโลกและในส่วนของธุรกิจพลังงานเองที่มีการนำ “เชลล์แก๊ส” มาใช้ จนใครๆ ก็บอกว่าถ่านหินจบเห่แล้ว และแม้ว่าเฮ้าส์จะสามารถผลิตถ่านหินได้มากขึ้น แต่ก็เป็นการเพิ่มขึ้นในด้านปริมาณเท่านั้น เพราะเมื่อขายได้ราคาต่ำ รายได้ก็หดหาย กำไรก็ลดลง สิ่งนี้เกิดขึ้นกับผู้ผลิตถ่านหินทุกราย ไม่ใช่แค่เฮ้าส์เท่านั้น นอกจากนี้บางเหมืองที่มีต้นทุนสูงก็จำใจต้องปิดตัวลง

ในเวลานี้หากผู้บริหารของเฮ้าส์มีแนวคิดแบบวีไอมาก่อนหน้า พวกเขาอาจมีเงินสดและวงเงินกู้ยืมจำนวนมาก เพื่อเอามา “ช้อปปิ้ง” เหมืองถ่านหินที่มีคุณภาพดี มี facility พร้อม และมีต้นทุนต่ำ ภายใต้สมมติฐานว่าถ่านหินจะยังเป็นพลังงานจำเป็นของโลกใบนี้ต่อไป ซึ่งก็มีโอกาสที่จะเป็นเช่นนั้น

ผมเคยคุยกับเพื่อนที่เป็นวิศวกรในแวดวงนี้ และเห็นตรงกันว่า ถ่านหินส่วนมากขุดขึ้นมาแล้วก็ถูกส่งไปที่โรงไฟฟ้า และการจะเปลี่ยน (convert) ประเภทโรงไฟฟ้า เช่น จากโรงไฟฟ้าถ่านหินไปเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้แก๊สหรือน้ำมันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้งต้นทุนก็คงสูงจนไม่คุ้มที่จะทำ สรุปก็คือ โรงไฟฟ้าโรงไหนที่ใช้ถ่านหินก็คงจะต้องใช้ต่อไป

นั่นหมายความว่า demand ของถ่านหินในอนาคตอย่างน้อยๆ ก็ไม่น่าจะลดลง ส่วน supply ส่วนเกินก็น่าจะค่อยๆ ถูกดูดซับไป (อย่าลืมว่าบางเหมืองที่สู้ต้นทุนไม่ได้ก็ปิดดำเนินการไปบ้างแล้ว) เมื่อทั้งสองฝั่งเกิดสมดุลมากขึ้น ราคาถ่านหินก็น่าจะมีเสถียรภาพได้

ดังนั้น หากเฮ้าส์สามารถออกไปช้อปปิ้งกิจการดีๆ ในช่วงเวลานี้ บางทีนี่จะเป็นการ “ตีแตก” ในระดับบริษัท เหมือนอย่างที่ ดร.นิเวศน์ เคยทำได้มาแล้วในระดับบุคคลก็เป็นได้ … แต่ก็น่าเสียดายที่มันไม่ได้เกิดขึ้น

การซื้อหุ้นคืนของเฮ้าส์         

อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งดีๆ ที่ บมจ. เฮ้าส์ เอ็นเนอร์จี ลงมือทำ นั่นคือ “การซื้อหุ้นคืน” ซึ่งเป็นแอ็คชั่นที่เรียกได้ว่า วีไอ๊… วีไอ

การซื้อหุ้นคืนเป็นการที่บริษัทออกมาซื้อหุ้นของตัวเองเสมือนว่าเป็นผู้เล่นรายหนึ่งในตลาดหุ้น ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ราคาหุ้นตกต่ำลงมากจนถือได้ว่า “ต่ำเกินไป” ในสายตาของผู้บริหาร และดูไปแล้วก็น่าจะมี Margin of Safety ที่มากพอสมควร ดังนั้นแทนที่จะไปลงทุนอย่างอื่นให้ได้ผลตอบแทนดีๆ ก็ลงทุนในหุ้นของบริษัทตัวเองที่รู้จักตื้นลึกหนาบางเป็นอย่างดีก็แล้วกัน… ผลก็คือ

1) demand ของหุ้นในตลาดสูงขึ้นและส่งผลดีต่อราคา โดยราคาหุ้นอาจจะดีขึ้น หรือถ้าตกก็คงตกเบาลง ขณะเดียวกันหุ้นที่ถูกบริษัทซื้อไปก็จะถูกดูดซับออกจากตลาด นั่นหมายความว่า supply ของหุ้นจะลดลงด้วยในอนาคต

2) หุ้นที่ถูกซื้อคืน เรียกว่า treasury stocks เป็นส่วนที่ไม่มีสิทธิ์รับเงินปันผล กล่าวได้ว่า “คนแย่งเค้ก” ของเรามีน้อยลง และในทำนองเดียวกัน เมื่อจำนวนหุ้นลดลง ตัวหารก็ลดลง กำไรต่อหุ้นหรือ EPS ก็เพิ่มขึ้น

3) เป็นการจัดโชว์สองอย่างพร้อมๆ กัน อย่างแรกเป็นการ “โชว์ป๋า” เพื่อบอกว่าตัวเองมีเงินสดมาก และอย่างที่สองเป็นการ “โชว์เก๋า” ส่งสัญญาณบอกนักลงทุนว่าราคาหุ้นในตลาดต่ำเกินจริง ทำนองว่า นี่ไง ฉันเองยังควักเงินซื้อเลย!

การซื้อหุ้นคืนจึงเป็นทั้งการช่วยพยุงราคาหุ้น, เพิ่มคุณค่าหุ้น และจัด โชว์ป๋า+โชว์เก๋า ไปพร้อมๆ กัน ที่สำคัญเป็นการซื้อของดีราคาถูกด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ จะชื่นชอบบริษัทที่มีการซื้อหุ้นคืนอย่างมาก

ว่ากันตามจริงแล้ว การซื้อหุ้นคืนดีกว่าการจ่ายเงินปันผลเสียด้วยซ้ำ เพราะการจ่ายเงินปันผล เราได้รับเงินแค่ครั้งเดียว (แถมยังเสียภาษีด้วย) แต่การลดตัวหารได้อย่างถาวรจะส่งผลดีตลอดไป แถมการลงมือในจังหวะที่หุ้นมีราคาถูก ทำให้บริษัทไม่ต้องควักกระเป๋าจ่ายแพงมาก ทั้งยังลดภาระเงินปันผลจ่ายในอนาคตลงได้บางส่วนอีกด้วย

การซื้อหุ้นคืนด้วยเหตุผลที่เหมาะสม ณ ราคาที่เหมาะสม เป็นการกระทำของผู้บริหารที่มีจิตวิญญาณของวีไอ แต่เราก็ต้องสังเกตดีๆ ด้วยว่า มันเกิดจากการใคร่ครวญอย่างรอบคอบ หรือเป็นแค่การสร้างข่าวเพื่อพยุงราคาหุ้น ซึ่งการจะตอบได้นั้น เราต้องศึกษารายละเอียดของการซื้อให้ดี

ลงทุนแบบ VI กับบริษัทที่เป็น VI  

บริษัทที่มีความเป็นวีไออย่างชัดเจนที่สุดก็คือ เบิร์กไชร์ ฮาทาเวย์ ของ วอร์เรน บัฟเฟตต์

เบิร์กไชร์เป็นบริษัทที่เข้าถือหุ้นบริษัทอื่นๆ ในขณะที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง แต่เนื่องจากเบิร์กไชร์เองก็จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นนิวยอร์ก (NYSE) เพราะฉะนั้นตัวของมันเองก็มีโอกาสซื้อขายกันต่ำกว่ามูลค่าได้ด้วยเหมือนกัน และหากว่าคุณสามารถคว้าโอกาสนั้นไว้ได้ ผลตอบแทนของคุณก็จะเจ๋งยิ่งกว่าวอร์เรน บัฟเฟตต์ เสียอีก (อย่างน้อยก็ในช่วงเวลานั้นๆ)

ลองคิดดูว่าจะมีอะไรดีไปกว่าการลงทุนแบบวีไอในบริษัทที่เป็นวีไอเสียอีกล่ะ!?

สำหรับพวกเราที่อยู่ในตลาดหุ้นไทยคงไม่ต้องคิดไปไกลถึงเบิร์กไชร์หรอก เยี่ยมๆ มองๆ หากิจการชั้นดีที่คิดและทำแบบวีไอ จากนั้นก็รอซื้อเมื่อมี Margin of Safety ที่น่าพอใจ…

 แค่นี้ก็หรูแล้วครับ