ทำไมค้าปลีกไทยและญี่ปุ่น จึงอยู่ได้อีกนาน

IMG_4539

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ภาพของธุรกิจ “ค้าปลีก” ที่ปรากฏให้เห็นกันทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา เริ่มมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าอุตสาหกรรมนี้กำลังตายลงอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เกิดขึ้นกับ วอลมาร์ท โมเดิร์นเทรดยักษ์ใหญ่ซึ่งยอดขายถดถอยลงอย่างน่าใจหาย ยังไม่รวมร้านค้าปลีกอื่นๆ จำนวนมากที่ขาดทุนและทยอยปิดกิจการกันไป ล้วนเป็นประจักษ์พยานอันเด่นชัดยิ่ง สวนทางกับการพุ่งขึ้นของ “เอมะซอน” อาณาจักร e-commerce สะท้านโลกที่ขึ้นมาครองตลาดแดนมะกันเป็นที่เรียบร้อย

แม้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ยังยอมรับเองว่า ธุรกิจค้าปลีกเป็นอะไรที่ “โหดเกินไป” สำหรับตัวแก ทั้งยังบ่นว่า การทุ่มเงินลงทุนไปในธุรกิจค้าปลีกของแกทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อหุ้นห้างสรรพสินค้าเมื่อหลายสิบปีก่อน รวมทั้งหุ้นวอลมาร์ท และที่อื้อฉาวสุดๆ อย่างเทสโก้ของอังกฤษ สุดท้ายแล้วกลายเป็นการ “เอาหัวไปพาดบนเขียง” ซึ่งน่าจะเป็นการเปรียบเทียบที่ชัดเจนที่สุดแล้วของนักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่รายนี้

โดยส่วนตัว ผมเองก็เป็นนักลงทุนตัวเล็กๆ คนหนึ่งซึ่งเติบโตขึ้นมากับยุคทองของธุรกิจค้าปลีกไทย จึงเอาเรื่องนี้มาขบคิดอยู่ค่อนข้างนาน โดยพยายามเทียบเคียงกับธุรกิจลักษณะเดียวกันของประเทศอื่นๆ ในที่นี้ขอพูดถึงธุรกิจค้าปลีกของญี่ปุ่นก่อนเป็นอันดับแรก

IMG_5598 2

ผมเชื่อว่าธุรกิจค้าปลีกญี่ปุ่น จะ “ตายช้า” กว่าค้าปลีกของอเมริกา เนื่องด้วยสาเหตุหลักๆ สองประการ

ประการแรกได้แก่ การที่ประเทศญี่ปุ่นมีระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟที่สะดวกสบาย ความจำเป็นในการใช้รถยนต์ส่วนตัวนั้นน้อยมาก โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ อีกทั้งญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ประชากรเยอะเมื่อเทียบกับพื้นที่ ห้างสรรพสินค้ารวมทั้งร้านค้าปลีกทุกประเภทจึงกระจุกตัวรวมกันอยู่อย่างชุกชุม ซึ่งคนก็สามารถเดินทางไปยังห้างร้านเหล่านั้นได้ไม่ลำบากเลย ไม่ต้องขับรถไปไกลๆ เหมือนในอเมริกา

ประการที่สอง คนญี่ปุ่นมีลักษณะที่ “เปลี่ยนแปลงช้า” ปัจจุบันชาวลูกพระอาทิตย์ยังคงดูหนังจากแผ่นดีวีดี ฟังเพลงจากแผ่นซีดี ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าร้านขายหนัง-เพลง อย่าง ซึทาญ่า หรือ Tower Records ที่ทั่วโลกทยอยปิดกิจการกันไปเกือบหมดแล้ว แต่ที่ญี่ปุ่นยังมีสาขาใหญ่โต เปิดขายกันเป็นปกติเหมือนไม่ได้รับรู้ความเป็นไปของโลกใบนี้

ด้วยพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงช้า ผมจึงเชื่อว่าคนญี่ปุ่นจะยังไปจับจ่ายใช้สอยที่ร้านค้าปลีก เป็นเช่นนี้ไปอีกหลายปี แม้ว่า e-commerce ของญี่ปุ่นรวมทั้งระบบ logistics จะพัฒนาไปถึงไหนต่อไหนแล้วก็ตาม

ผมเชื่อว่าร้านค้าหลายๆ ร้านจะยังอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็น “มินิมาร์ท” อย่าง Family Mart (คนญี่ปุ่นเรียกแฟมมี่), 7-eleven, Lawson, Sunkus ฯลฯ ซึ่งน่าจะเป็น category ที่ตายช้าที่สุด, ร้านค้าปลีกแบบราคาเดียว หรือ “ร้านร้อยเยน” เช่น Daiso, Seria, Can Do ฯลฯ ร้านขายของอินดี้ที่เน้นกลุ่มนักท่องเที่ยว อย่าง Don Quijote, ร้านขายยา อาทิ Matsumoto Kiyoshi, SunDrug, Tsuruha, Kokumin ร้านขายหนัง-ซีดี อาทิ ซึทาญ่า, Tower Records ร้านหนังสือ อย่าง Book First, Sanseido, Maruzen ร้านขายของแต่งบ้าน อย่าง Nitori และอื่นๆ อีกมากมาย

จะเห็นได้ว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความหลากหลายของร้านค้าปลีกสูงมาก และจากประสบการณ์ที่ได้พบเห็นและพูดคุยกับเพื่อนชาวเจแปน ผมมองว่าร้านเหล่านี้กลมกลืนอยู่กับวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นจนกลายเป็นอัตลักษณ์ประจำชาติอย่างหนึ่ง ซึ่งน่าจะ “ประวิงเวลา” ให้มันอยู่กับชีวิตแบบ “ญี่ปุ๊น ญี่ปุ่น” ไปได้อีกพักใหญ่

นี่คือมุมมองที่ผมมีต่อค้าปลีกญี่ปุ่น … แล้วค้าปลีกไทยล่ะ จะเป็นอย่างไร?!!

IMG_3464

สำหรับเมืองไทย ผมมองว่าค้าปลีกจะยังไม่ตายง่ายๆ เช่นกัน (แม้จะเชื่อว่าคงไม่อยู่ยั้งยืนยงเหมือนค้าปลีกญี่ปุ่น) ด้วยเหตุผลสองประการ ดังนี้

ประการที่หนึ่ง ประเทศไทยมีอากาศร้อนตลอดทั้งปี คนไทยจึงชอบเข้าไปเดินในห้าง จะไปสวนสาธารณะก็ร้อน เดินได้แค่ช่วงเช้าหรือเย็น (แล้วก็ไม่ค่อยมีให้เดินด้วย) ไม่เหมือน park สวยๆ ในต่างประเทศที่เดินหรือเข้าไปปิกนิกได้ทั้งวัน

นอกจากนี้ ประเทศเราไม่มีกิจกรรมให้ผู้คนได้ทำมากนัก เราไม่มีมิวเซียมดีๆ ให้คนเดิน เราไม่มีกีฬาดีๆ ให้พ่อแม่จูงลูกไปชมในวันเสาร์อาทิตย์ สิ่งเดียวที่คนไทยทำได้เสมอ คือการไปใช้เวลาตามศูนย์การค้า ซึ่งรวมเอากิจกรรมทุกอย่างเข้าไปอยู่ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นการกินข้าว ดูหนัง ร้องคาราโอเกะ กวดวิชา โยนโบว์ลิ่ง คุยธุระ ฯลฯ การเดินห้างของคนไทย จึงไม่ใช่แค่ไป “ซื้อของ” เหมือนฝรั่ง แต่เป็นการเข้าไป “ใช้ชีวิต” เสียมากกว่า

(ในการประชุมผู้ถือหุ้นเบิร์คเชียร์ แฮธาเวย์ ที่ผ่านมา ชาร์ลี มังเกอร์ คู่หูของบัฟเฟตต์ยังบอกว่า เหตุที่ “e-commerce” กำลังทำให้ห้างสรรพสินค้าตาย เพราะคนสมัยนี้จับจ่ายใช้สอยในห้างน้อยลง แต่เอาเงินไปใช้กับเรื่องบันเทิงมากขึ้น เช่น “ดูหนัง” เมื่อได้ยินมังเกอร์พูดเช่นนี้ ผมยิ่งมั่นใจว่าสิ่งที่ตัวเองคิดไว้นั้นไม่ผิด เพราะห้างเมืองไทยไม่ได้มีไว้แค่ขายสินค้า แต่เป็น entertainment complex คือมีทุกอย่างรวมอยู่ในนั้น รวมทั้งโรงหนังด้วย ห้างไทยจึงไม่เหมือนของอเมริกาแน่ๆ)

IMG_5608 2

ประการที่สอง ผมมองว่า “ความเหลื่อมล้ำทางสังคม” ทำให้คนไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยยังไม่มีบัตรเครดิต และไทยเองก็ไม่มีระบบเดบิตที่เข้มแข็งเหมือนที่คนจีนมี “จือฟู่เป่า” (Alipay) ต่อให้ชาวบ้านกดมือถือซื้อของเองได้จริง การจะจ่ายเงินด้วยระบบ e-payment ก็ย่อมจะเป็นอุปสรรคอยู่ดี

การโตของ e-commerce ไทย จึงน่าจะเติบโตในลักษณะเดียวกับเศรษฐกิจไทยในอดีต คือหัวโต แต่แขนขาลีบ แม้ชาวบ้านร้านตลาดจะมีสมาร์ทโฟน แต่เมื่อใดที่ต้องการรองเท้าแตะสักคู่หรือสากกะเบือสักอัน การไป Big C หรือ  Lotus ก็ยังเป็นทางเลือกที่ “ใช่” ไปอีกนาน 

ด้วยเหตุผลทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมา ผมจึงเชื่อว่าธุรกิจค้าปลีกของญี่ปุ่น และรวมถึงของไทย จะยัง “ลากยาว” ไปได้อีกพอสมควร ดังนั้น ไม่ว่าจะเลือกลงทุนหรือไม่ลงทุนในธุรกิจค้าปลีกของทั้งสองประเทศนี้ ผมก็ไม่คิดว่ามันจะตายวันตายพรุ่งแต่อย่างใดครับ

แสนล้านกับ Makro “เราเห็นอะไร”

Makro_2012-02-15_12-59-12

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ข่าวเรื่อง แม็คโคร (MAKRO) ประกาศขายกิจการนี่ ฮือฮาไม่น้อยเลยนะครับ

แม้ว่าผู้บริหารของแม็คโครจะออกมาปฏิเสธ แต่หลายกระแสยืนยันว่า คราวนี้ “ของจริง” แน่นอน

และแว่วๆ ว่า ราคาที่เสนอขายกันนั้น สูงลิบลิ่วถึงกว่า “หนึ่งแสนล้านบาท”

คงเป็นด้วยราคานี้มั้งครับ ทำให้ผู้ที่ถูกทาบทามให้มาซื้อกิจการ ไม่ว่าจะเป็น BJC (กลุ่มเสี่ยเจริญ), ซีพี, กลุ่มเซ็นทรัล หรือ บิ๊กซี ต่างก็พูดคล้ายๆ กันว่า “น่าสนใจ” แต่ “แพง”

ไม่แพงได้ไง ลองคิดดูนะครับ แม็คโคร มีสาขาประมาณ 60 สาขา สมมุติว่าขายทั้งกิจการ “หนึ่งแสนล้านบาท” ก็เท่ากับสาขาละประมาณ “1,600 ล้านบาท”

เมื่อเอาตัวเลข “หนึ่งแสนล้านบาท” มาพิจารณาดู ผมว่ามันค่อนข้าง “ล้อ” กับ Market Cap. ปัจจุบันของแม็คโคร ซึ่งอยู่ที่ 129,600 ล้านบาท

(ราคาปิด MAKRO ณ 5 เม.ย. 2556 = 540 บ./หุ้น, มีหุ้นทั้งหมด 240 ล้านหุุ้น : 540 X 240 ล.= 129,600 ล.)

และเมื่อเอา “129,600 ล้าน” หารด้วยจำนวนสาขาโดยประมาณ คือ “60” เท่ากับว่า “Mr.Market” ให้ราคาแม็คโคร สูงถึงกว่า “2,100 ล้านบาท” ต่อสาขา

เห็นตัวเลขแล้ว แทบร้อง “อู้หู” เลยนะครับ

นี่เรายังไม่รู้นะครับว่า ที่ Potential Buyer ทั้งหลาย บอกว่า “แพงเกิ๊น” นั้น ที่จริงเป็นแค่ “วิธีเจรจา” หรือพวกเขารู้สึกว่าแพงไปจริงๆ

เป็นไปได้ว่าสุดท้ายแล้ว กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อาจจะยอมควักกระเป๋าซื้อกิจการแม็คโครด้วยราคาเหยียบ “แสนล้าน” จริงๆ ก็ได้

ก็ลองดูเมื่อครั้งก่อนสิครับ ใครจะคิดว่า บิ๊กซีจะกล้าซื้อคาร์ฟูร์ด้วยราคาถึง “35,000 ล้าน” แต่มันก็เกิดขึ้นแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในมุมของ VI รายย่อยอย่างเราๆ ก็น่าคิดนะครับ..

ถ้าเราจ่ายเงินซื้อหุ้น MAKRO ที่ราคา 540 บาท แปลว่าเรากำลังซื้อศูนย์จำหน่ายสินค้า ด้วยราคา “2,100 ล้านบาท ต่อสาขา”

VI เก่งๆ คนไหนคิดดีแล้วยังกล้าเข้าไปซื้อ คงต้องมั่นใจมากๆ ทีเดียว (ส่วนนักเก็งกำไรคงไม่แคร์อยู่แล้ว ขอให้ซื้อแล้วขึ้นเป็นพอ)

ประเด็นที่ผมมองว่าน่าสนใจก็คือ การเสนอขายกิจการครั้งนี้ เป็นการพิสูจน์ที่ดียิ่ง ว่า ไอ้หุ้น Modern Trade ทั้งหลายที่ราคา “เฟ้อ” อยู่ตอนนี้นั้น ตัวกิจการมันมี Potential ขนาดนั้นจริงหรือไม่!!

ก็ถ้าคนที่ทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกัน เขายังไม่กล้าซื้อ “จิ๊กซอว์ราคาแพง” ชิ้นนี้ หากนักลงทุนคนไหนยังกล้าเข้าไปซื้อ ก็ต้องตอบตัวเองให้ได้ครับว่า ..

“แล้วเราเห็นอะไร?”

————————

อ้างอิง: มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5-11 เม.ย. หน้า 12