โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช และ ชนิดา พัธโนทัย
งบไตรมาส 2 ของ HMPRO ออกแล้วครับ
“รายได้รวม” เพิ่มขึ้น 23.76% เป็น 12,788.24 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว หลักๆ มาจาก “รายได้จากการขาย” ซึ่งมาจากสาขาที่เปิดใหม่ และการเติบโตของสาขาเดิม
โดย Same-store Sales Growth (SSSG) ของบริษัทเพิ่มขึ้นประมาณ 4% สาเหตุสำคัญน่าจะมาจากการเพิ่มสัดส่วนของสินค้า house brand ซึ่งถือว่าบริษัททำได้ไม่เลวเลย
อย่างไรก็ตาม “กำไรสุทธิ” กลับเพิ่มแค่ 8.57% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน!!
ถามว่าทำไม “รายได้” เพิ่ม “เยอะ” แต่ “กำไรสุทธิ” เพิ่ม “น้อย” … เราลองมาดูกันทีละบรรทัดนะครับ
ขั้นแรก “กำไรขั้นต้น” เพิ่มขึ้น 548.14 ล้านบาท หรือเพิ่ม 20.88% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว โดย Gross Margin อยู่ที่ 26.39% ใกล้เคียงกับปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 26.94% แต่ต้องทำใจไว้ว่า ต่อไปตัวเลขนี้จะลดลงแน่นอน เพราะมีธุรกิจ “เมกาโฮม” ที่ Gross Margin ต่ำกว่าเข้ามาพ่วงด้วย
ที่ต้องระวังคือบรรทัดต่อไป…
“ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร” (SG&A) ของ HMPRO เพิ่มขึ้น 25.41% ถือว่าเพิ่มสูงมาก สูงกว่าการเพิ่มของรายได้เสียด้วยซ้ำ!!
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ SG&A เพิ่มเยอะ น่าจะมาจากค่าใช้จ่ายในการเปิดสาขาของเมกาโฮม รวมถึงโฮมโปรสาขามาเลเซีย เพราะบริษัทต้องจ้างคน ต้องจ่ายค่าขนส่ง รวมทั้งจ่ายค่าใช้จ่ายจิปาถะอีกมากมาย
นี่แหล่ะครับ คือปัจจัยสำคัญที่มาบั่นทอนกำไร!!
ด้วยเหตุนี้ “กำไรจากการดำเนินงาน” (EBIT) ในไตรมาส 2 ปี 57 จึงเพิ่มขึ้นเพียง 13% อยู่ที่ 1,101 ล้านบาท (ทั้งๆ ที่รายได้เพิ่มขึ้นถึง 26%) และ EBIT Margin ลดจาก 9.4% เหลือ 8.6% เมื่อเทียบกับ Q2 ปีที่แล้ว
ยังไม่หมดนะครับ ยังมีอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้กำไรเพิ่มน้อย ทั้งๆ ที่รายได้เพิ่มกระฉูด นั่นก็คือ “ดอกเบี้ยจ่าย”
จากข้อมูลที่รายงานออกมา HMPRO มีดอกเบี้ยจ่ายในไตรมาส 2 ปี 57 (เฉพาะ 3 เดือน) ประมาณ 106 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 52.5 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าเพิ่มขึ้น “เกือบเท่าตัว” เลยทีเดียว
เหตุที่ดอกเบี้ยจ่ายสูงขึ้นขนาดนี้ เป็นเพราะปี 2556 แทบจะเรียกได้ว่าเป็น “ปีแห่งการลงทุน” ของ HMPRO เลยก็ว่าได้
โดยในปี 2556 ทั้งปี บริษัทได้ทุ่มลงทุนเป็นจำนวนเงินกว่า “9,000 ล้านบาท” ใช้เงินสดที่มีอยู่ราว “5,000 ล้าน” และกู้เพิ่มอีกประมาณ “4,000 ล้าน” ในการลุยเปิดโฮมโปรถึง 11 สาขา (มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา) และเมกาโฮมอีก 2 สาขา
ทั้งนี้ ในส่วนที่กู้เพิ่ม บริษัทใช้การ “ออกหุ้นกู้” เป็นหลัก และอันที่จริงถ้าเราย้อนไปดูงบปี 2556 เต็มปี จะเห็นว่าดอกเบี้ยจ่ายก็เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากงบปี 2555 อันเป็นผลมาจากการออกหุ้นกู้เพื่อขยายกิจการในไตรมาส 3 ปี 56 นั่นเอง
นอกจากนี้ ในไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ปี 57 ที่เรากำลังวิเคราะห์กันอยู่นี้ บริษัทยังออกหุ้นกู้เพิ่มอีกราวๆ 1,000 ล้านบาท และกู้เงินเพิ่มอีกประมาณ 1,000 ล้าน จึงทำให้หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (Interest-bearing Debt หรือ IBD) ของ HMPRO ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 57 เพิ่มขึ้นมาเป็น 11,000 ล้านบาท
เมื่อ “หนี้” เยอะขึ้น ก็ต้องจ่าย “ดอกเบี้ย” สูงขึ้นเป็นธรรมดา (แม้บริษัทจะได้อัตราดอกเบี้ยที่ดี คือเฉลี่ยประมาณ 3.6-3.8% ซึ่งถือว่าไม่มากเลยก็ตาม)
โดยสรุป HMPRO กำลังมาถึง “หลักกิโลเมตรสำคัญ” ที่จะตัดสินอนาคตของบริษัท หลังจากขยายธุรกิจมาทำเมกาโฮม ซึ่งเท่ากับมีโมเดลธุรกิจใหม่เข้ามาซ้อนทับกับของเดิม อันจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก
คาดว่าคงเห็นผลกันเร็วๆ นี้ว่าจะเวิร์คหรือไม่
อีกประเด็นหนึ่งคือ การขยายสาขาไปที่มาเลย์ ซึ่งจะบ่งบอกถึงการขยายธุรกิจไปยังประเทศอื่นๆ ใน AEC ต่อไปในอนาคต ว่าจะมีโอกาสแค่ไหนและจะไปได้สวยหรือไม่ โดยหัวใจสำคัญอยู่ที่การควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ระหว่างขยายกิจการ ว่าบริษัทจะทำได้ดีเพียงใด
จึงขอแนะนำให้ “จับตาดูอย่างใกล้ชิด” นับจากนี้เป็นต้นไปครับ !!
——————————-
อยาก “อ่านงบการเงิน” และ “ประเมินมูลค่าหุ้น” แบบมืออาชีพ แนะนำคอร์สสัมมนา พื้นแน่น-แม่นงบ (VI 201) และ ประเมินมูลค่าหุ้น (VI 202) รุ่นที่ 3 โดย Club VI คลิกที่นี่
เครดิตภาพ: โลโก้ HMPRO จากเว็บไซต์ของบริษัท, ภาพ กำไรสามขั้น และภาพอื่นๆ ของ Club VI