สรุปไฮไลท์ ประชุมเบิร์กเชียร์ 2021

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ข้อมูลจาก CNBC

ปีนี้ การประชุมประจำปีของ เบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2021 ที่ผ่านมา โดยย้ายไปประชุมที่แคลิฟอร์เนีย และมีไฮไลท์ที่น่าสนใจอยู่หลายเรื่อง

ไม่ว่าจะเป็นการที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ บอกว่าตนเองอาจจะทำพลาดที่ขายหุ้น Apple ไปบางส่วน หรือการที่ทั้ง บัฟเฟตต์ และ ชาร์ลี มังเกอร์ มอง Robinhood แอพเทรดหุ้นฟรีค่าธรรมเนียม ที่สร้างปรากฏการณ์ Gamestop เป็นลบค่อนข้างมาก รวมทั้งจุดยืนอันมั่นคงต่อบิทคอยน์ของทั้งปู่บัฟและปู่มังก์

ผมแปล-เรียบเรียงมาให้อ่านกัน ดังนี้ครับ

มองลบ แอพ “Robinhood”

บัฟเฟตต์  :

“มันกลายเป็นพวกกาสิโนกลุ่มใหญ่ที่เข้ามาร่วมในตลาดหุ้นเมื่อปีที่ผ่านมาหรือปีครึ่งที่ผ่านมา” 

มังเกอร์ :

“มันช่างเหมือนกับการสะบัดธงแดงล่อวัวกระทิงซะจริงๆ ผมว่ามันโคตรห่วยบรมเลยที่ของอย่างนี้ลากเอาแวดวงการลงทุน จากความเป็นมนุษย์ที่มีอารยธรรม กลายเป็นคนเดินดินธรรมดา”

จัดเต็ม “บิทคอยน์”

บัฟเฟตต์ ไม่พูด โดยบอกว่าไม่อยากโดนต่อว่าจากพวกที่ไป Long บิทคอยน์ไว้

มังเกอร์ :

“(บิทคอยน์เป็น) ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สร้างขึ้นในอากาศ”

“แน่นอน ผมเกลียดความสำเร็จของบิทคอยน์” 

“ผมไม่ยอมต้อนรับอัตราแลกเปลี่ยนที่นักเรียกค่าไถ่และพวกปล้นสะดมใช้ได้ถนัดมืออย่างแน่นอน”

“ผมคิดว่าการก่อตัวขึ้นมาของมันแบบบ้อๆ บอๆ ช่างน่ารังเกียจและขัดแย้งกับคุณประโยชน์แห่งอารยธรรมมนุษย์”

ไม่กลัวการพุ่งขึ้นของอัตราภาษี

บัฟเฟตต์ :

“มันเป็นนิทานหลอกชาวบ้านที่พวกบริษัทแต่งขึ้นมา เวลาที่พวกเขาออกแถลงการณ์ โดยอ้างว่ามันจะแย่ต่อพวกคุณทุกคน”

ชี้แจงการซื้อหุ้นคืน

(ปัจจุบันเบิร์กเชียร์กำลังซื้อหุ้นคืนอีกครั้ง)

มังเกอร์ :

“(มันจะไร้จริยธรรม) ถ้าคุณซื้อหุ้นคืนเพียงเพื่อดันราคาให้มันวิ่ง”

“แต่ถ้าคุณซื้อหุ้นคืน เพราะมันเหมาะสมแล้วที่จะทำ เพื่อผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นปัจจุบัน มันก็เป็นการกระทำที่มีจริยธรรมสูงยิ่ง และคนที่ออกมาด่าก็คือพวกบ้าๆ บอๆ เท่านั้นแหละ”

เตือนเกี่ยวกับ SPAC 

(บริษัทที่ตั้งขึ้นเพื่อระดมทุนผ่านการ IPO โดยที่ตัวบริษัทนั้นเองไม่ได้ทำธุรกิจอะไร)

บัฟเฟตต์ :

“เท่าที่ผมเข้าใจ พวก SPAC ต้องใช้เงินภายในสองปี ซึ่งถ้าคุณเอาปืนมาจ่อหัวผมแล้วบังคับให้ซื้อธุรกิจภายในสองปี ผมก็คงต้องยอม” (หัวเราะลั่น)

“มันเป็นอย่างนี้ตลอดไปไม่ได้หรอก เพียงแค่ตอนนี้ เงินมันไปอยู่ตรงนั้น และวอลล์สตรีตก็วิ่งตามเงินไปก็เท่านั้นแหละ”

“SPAC มันใช้ได้ผลมาพักใหญ่แล้ว และถ้าคุณเอาอะไรที่ชื่อดังสักหน่อยไปปะไว้ มันก็ขายได้แทบจะทั้งนั้น” 

พูดถึงการพิมพ์เงินเข้ามาในระบบแบบมโหฬาร

มังเกอร์ :

“พวกนักทฤษฎีการเงินยุคใหม่มันมั่นใจเกินไป ผมไม่คิดว่าอย่างเราๆ จะมีใครรู้หรอกว่า ต่อไปอะไรจะเกิดขึ้นกับไอ้สิ่งน้ี”

“ผมคิดว่ามีโอกาสอยู่พอสมควรที่การกระทำแบบสุดขั้วนี้อาจจะไหลลื่นกว่าที่ทุกคนคิด แต่ผมก็รู้เช่นกันว่าถ้าทำต่อเนื่องไปโดยไร้ขีดจำกัด มันจะจบลงแบบหายนะแน่นอน”

Quote จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์

บัฟเฟตต์ เอาคำพูดของ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ขึ้นสไลด์

“นักเก็งกำไรไม่อาจสร้างฟองสบู่ขึ้นมาได้ บนสายธารแห่งธุรกิจที่ไหลนิ่ง แต่การซื้อขายของเขาจะส่งผลรุนแรงขึ้นมาทันที หากองค์กรกลายเป็นฟองสบู่ บนน้ำเชี่ยววนแห่งการเก็งกำไรอันถาโถม เมื่อพัฒนาการทางเงินทุนของประเทศหนึ่งๆ เป็นผลพวงมาจากกิจกรรมแบบบ่อนกาสิโน มันจะจบลงไม่สวยค่อนข้างแน่นอน”

“เราคงหาซื้อธุรกิจดีๆ ไม่ได้ ถ้าช่วงเวลาแบบนี้ยังดำเนินต่อไป”

ขายหุ้น Apple บางส่วนอาจเป็นความผิดพลาด

บัฟเฟตต์ :

“เรามีโอกาสซื้อเพิ่ม แต่ผมกลับขายไปบางส่วนเมื่อปีที่แล้ว … ผมอาจจะพลาดก็ได้นะ”

“(หุ้น Apple) เป็นราคาลดแบบสุดๆ ไปเลย”

“มัน (สินค้า Apple) จำเป็นมากๆ สำหรับผู้คน”

“มันมีบทบาทกับชีวิตคนมากๆ” 

“รถยนต์คันหนึ่งราคา 35000 เหรียญ แต่ผมมั่นใจว่า สำหรับบางคน ถ้าคุณไปถามเขาว่าจะยอมทิ้งอะไรระหว่างสินค้า Apple กับรถยนต์ เขาจะยอมทิ้งรถยนต์แน่ๆ”

ลงทุน “หุ้นต่างประเทศ” ด้วยความ “มั่นใจ” กับ My VALUE , subscription plan ที่จะให้แนวทางในการตัดสินใจ เพื่อให้ท่านลงทุนได้ “แม่นยำ” ยิ่งขึ้นกว่าเดิม ด้วยเนื้อหาที่คัดสรรและบทความที่เรียบเรียงมาจากสำนักข่าวสายการเงินการลงทุนระดับโลก

คลิก ที่นี่ เลย

ทำไมบัฟเฟตต์กับมังเกอร์ไม่เคยเถียงกัน

มังเกอร์ :

“วอร์เรน กับผมไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกัน ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เราทำทุกเรื่อง แต่เราก็เข้ากันได้ดี”

บัฟเฟตต์ :

“เราไม่เคยเถียงกันเลยตลอด 62 ปี ซึ่งไม่ได้แปลว่าเราเห็นตรงกันทุกเรื่อง แต่เราแค่ไม่เคยโกรธกัน”

ไม่มีปัญหากับการถือหุ้นน้ำมัน

บัฟเฟตต์ :

“คนที่มักสุดขั้วไปในทางใดทางหนึ่งคือคนบ้า ผมไม่อยากเห็นไฮโดรคาร์บอนถูกแบนเบ็ดเสร็จในสามปีข้างหน้านี้ มันไม่เวิร์กหรอก ในทางตรงข้าม สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ มันจะค่อยๆ ปรับกันไปเอง”

“ทุกๆ ธุรกิจจะมีสิ่งที่ ถ้าคุณได้รู้เข้า คุณจะไม่ชอบมัน … ถ้าคุณคาดว่าทุกอย่างในตัวคู่ครองของคุณ หรือเพื่อนของคุณ หรือของบริษัทต่างๆ จะสมบูรณ์แบบ คุณจะไม่มีวันได้เห็นอย่างนั้น”

 ไม่อยากถือหุ้นสายการบิน

บัฟเฟตต์ :

“อุตสาหกรรรมที่ขายในราคารวมกันไม่ถึง 100,000 ล้านเหรียญนั้น ขาดทุนไปแล้วมากมาย พวกเขาสูญเสียความสามารถในการทำกำไร … การเดินทางระหว่างประเทศยังไม่กลับมา … ผมคงไม่บอกว่ามันเป็นเรื่องที่ดี (การขายหุ้นสายการบินทิ้ง)ในประวัติศาสตร์ของเบิร์กเชียร์ แต่เราก็มีเงินมากกว่าบริษัทไหนๆ ในสหรัฐฯ … ผมคิดว่าธุรกิจสายการบินเริ่มจะดีขึ้นเพราะเราขายพวกเขาทิ้ง และผมขอให้พวกเขาโชคดี แต่ผมยังคงไม่อยากซื้อธุรกิจสายการบินอยู่เหมือนเดิม”

มองธุรกิจยากกว่ามองเทรนด์

บัฟเฟตต์ :

“การเลือกหุ้น มีอะไรต้องทำเยอะกว่ามาก เมื่อเทียบกับการมองว่าอุตสาหกรรมไหนจะยอดเยี่ยมในอนาคต”

ยังแนะนำให้ซื้อกองทุนอิงดัชนี

บัฟเฟตต์ :

“มันบอกเราว่าทุนนิยมยังทำงานได้ดีอยู่ โดยเฉพาะกับคนที่เป็นนักทุนนิยม … โลกเราเปลี่ยนไปมากๆ มากเหลือเกิน” (ก่อนจะสรุปว่า วิธีที่ดีที่สุดยังคงเป็นการลงทุนในกองทุนอิงดัชนี)


ลงทุน “หุ้นต่างประเทศ” ด้วยความ “มั่นใจ” กับ My VALUE , subscription plan ที่จะให้แนวทางในการตัดสินใจ เพื่อให้ท่านลงทุนได้ “แม่นยำ” ยิ่งขึ้นกว่าเดิม ด้วยเนื้อหาที่คัดสรรและบทความที่เรียบเรียงมาจากสำนักข่าวสายการเงินการลงทุนระดับโลก คลิก ที่นี่ เลย


ข้อมูลอ้างอิง CNBC : https://www.cnbc.com/2021/05/01/berkshire-hathaway-meeting-live-updates.html?__source=newsletter%7Cweekendbrief&fbclid=IwAR0DK6hRTAB-xJfiJaWTs53o9_GYtV_QX-rM4u7ltqXCMWXSeJf6m-XXqAw

สรุปไฮไลท์จากจดหมายถึงผู้ถือหุ้นปี 2020 ของปู่

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ผมสรุปไฮไลท์สำคัญจากจดหมายถึงผู้ถือหุ้นเบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ ปี 2020 ที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ประธานบริษัท เขียนถึงผู้ถือหุ้นของตนเอง แม้จะสั้นลงกว่าปีที่ผ่านๆ มาตามเรี่ยวแรงของปู่ แต่ก็มีประเด็นที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว ดังนี้ครับ

1. ไม่เคยแทรกแซงการดำเนินงานของบริษัท

ปู่ยืนยันเหมือนเดิมว่า แกและชาร์ลี มังเกอร์ เพื่อนคู่หู มองหุ้นที่เบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ ถือ ซึ่งวันนี้มีมูลค่ารวมกันประมาณ 281,000 ล้านเหรียญ เป็นคอลเลคชั่นของสารพัดธุรกิจ โดย “เราไม่ได้เข้าไปควบคุมการดำเนินงานของบริษัทเหล่านั้น แต่เรามีส่วนในความเจริญรุ่งเรืองของพวกเขาตามสัดส่วนของเรา”

2. “บิ๊กโฟร์ของเบิร์กเชียร์

ปู่บอกว่า สินทรัพย์ที่สำคัญที่สุดของเบิร์กเชียร์มีสี่กลุ่ม  

หนึ่ง คือ ธุรกิจประกันในเครือทั้งหมด 

สอง คือ บริษัทรถไฟ BNSF ซึ่งเบิร์กเชียร์เป็นเจ้าของ 100% 

สาม คือ หุ้น 5.4% ใน Apple 

สี่ คือ บริษัท เบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ เอ็นเนอร์จี (BHE) ธุรกิจน้ำมัน ซึ่งเบิร์กเชียร์ถือหุ้นอยู่ 91%

(ปู่บอกว่าอันดับที่ 2 และ 3 สำคัญพอๆ กัน จนแทบจะต้องโยนหัวก้อย)

3. สภาพคล่อง 138,000 ล้านเหรียญ

ปู่บอกว่า ปัจจุบัน เบิร์กเชียร์สบายใจกับ “สภาพคล่อง” (float) 138,000 ล้านเหรียญ ซึ่งมาจากธุรกิจประกัน เป็น “เงินทุนซึ่งไม่ใช่ของเรา แต่เป็นเงินที่เราเอาไปใช้ได้” จะเอาไปซื้อหุ้นกู้ หุ้น สินทรัพย์ที่เทียบเท่าเงินสด หรือพันธบัตรรัฐบาลก็ได้ทั้งนั้น และคาดว่าสภาพคล่องดังกล่าวจะอยู่ในระดับนี้ไปอีกหลายปี

ด้วยเหตุนี้ ปู่จึงยกธุรกิจประกันเป็นสินทรัพย์สำคัญที่สุดอันดับ 1 ของเบิร์กเชียร์

4. พันธบัตรไม่ใช่คำตอบ

ปู่บอกว่า “ทุกวันนี้พันธบัตรไม่ใช่คำตอบ” โดยพันธบัตร 10 ปีของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทน 0.93% ลดลงถึง 94% จากเมื่อเดือนกันยายนปี 1981 ซึ่งให้ผลตอบแทน 15.8% ในประเทศสำคัญๆ อย่างเยอรมนีและญี่ปุ่น คนที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลได้ผลตอบแทนติดลบด้วยซ้ำไป

“นักลงทุนที่ลงทุนเพื่อผลตอบแทนคงที่ ต่างเผชิญกับอนาคตที่มืดมน” ปู่อธิบาย โดยมองว่าการซื้อหุ้นสหรัฐฯ แล้วถือไว้เป็นการลงทุนที่ดีกว่าเยอะ

5. ซื้อหุ้นคืนเยอะมาก

ณ ราคาปิด 364,580 เหรียญ (วันที่ 26 ก.พ.) หุ้นเบิร์กเชียร์ซื้อขายกันอยู่ที่ระดับราคา 1.26 เท่าของมูลค่าทางบัญชี ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยหลายปีที่ผ่านมาที่ระดับ 1.4 ถึง 1.5 เท่า ปู่จึงซื้อหุ้นคืนถึง 5% ในปี 2020 เป็นเงิน 24,700 ล้านเหรียญ ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าโดยเนื้อแท้ (intrinsic value) ให้กับหุ้นของบริษัท

“เบิร์กเชียร์ซื้อหุ้นคืนมากกว่านั้นอีกนับตั้งแต่สิ้นปีที่ผ่านมา และน่าจะลดจำนวนหุ้นในตลาดลงไปอีกในอนาคต”

6. ย้ายไปประชุมที่แอลเอ

การประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีของเบิร์กเชียร์ปีนี้จะจัดที่ลอส แอนเจลิส (ปกติจะจัดที่โอมาฮา) และชาร์ลี มังเกอร์ รองประธานบริษัทจะกลับมาขึ้นเวทีคู่กับบัฟเฟตต์เพื่อตอบคำถามของนักลงทุนอีกครั้ง หลังจากปีที่แล้วมังเกอร์ไม่ได้มา จึงเป็น เกร็ก อาเบล (รองประธานฝ่าย non-insurance) มานั่งคู่กับบัฟเฟตต์แทน

“เห็นได้ชัดเลยว่าพวกคุณคิดถึงเขา” ปู่บอก (ข้อสังเกตของผมคือ มังเกอร์อาศัยอยู่ที่ลอสแอนเจลิส การไปจัดที่แอลเอ อาจจะเป็นการย้ายเพื่อความสะดวกของมังเกอร์ที่อายุเกือบ 100 แล้วหรือไม่?)

7. ปีที่แล้วกำไร 42,500 ล้านเหรียญ

เบิร์กเชียร์ทำกำไรได้ 42,500 ล้านเหรียญในปี 2020 ตามหลักการบัญชีที่ได้รับการยอมรับกันทั่วไป (ที่มักเรียกกันว่า “GAAP”) 

ตัวเลขดังกล่าวประกอบด้วย กำไรจากการดำเนินงาน (operating income) 21,900 ล้านเหรียญ กำไรส่วนต่างเงินทุนที่ realize แล้ว (กำไรจากหุ้นที่ซื้อแล้วขายทิ้งในราคาสูงกว่าตอนซื้อมา) 4,900 ล้านเหรียญ กำไรส่วนต่างเงินทุนที่ยังไม่ realize (กำไรจากหุ้นที่ซื้อแล้วราคาขึ้น แต่ยังไม่ได้ขายหุ้นนั้น) และสุดท้าย ผลขาดทุน 11,000 ล้านเหรียญจากการปรับมูลค่าสินทรัพย์ของบริษัทในเครือ

อย่างไรก็ตาม ปู่ไม่ค่อยชอบสัดส่วนนี้เท่าไรนัก ปู่บอกว่า “กำไรจากการดำเนินงาน คือส่วนที่สำคัญที่สุด” เพราะมันคือกำไรจากการทำธุรกิจจริงๆ (ไม่ใช่กำไรจากการที่หุ้นขึ้น)

ปู่เคยบอกด้วยว่า อยากจะให้กำไรส่วนนี้เป็นสัดส่วนที่สูงที่สุด แต่ถึงตอนนี้ก็ยังทำไม่สำเร็จ โดยในปี 2020 กำไรจากการดำเนินงานยังลดลง 9%

8. ชื่นชมบริษัทรถไฟกับบริษัทพลังงาน

ปู่บอกว่า BNSF บริษัทรถไฟลูกรักที่ซื้อมาตั้งแต่ประมาณสิบปีก่อน กับ BHE หรือเบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ เอ็นเนอร์จี บริษัทพลังงาน ทำกำไรเป็นกอบเป็นกำให้เบิร์กเชียร์ตลอดมา โดยในปี 2011 สองบริษัททำกำไรรวมกันได้ 4,200 ล้านเหรียญ พอถึงปี 2020 แม้จะเจอโควิด แต่ยังทำกำไรรวมกันได้ 8,300 ล้านเหรียญ

ปู่บอกว่า บริษัท asset-heavy อย่างนี้ ก็สามารถเป็นการลงทุนที่ดีได้

9. Apple คือสุดยอดการลงทุน

ปู่บอกว่า ตั้งแต่เข้าเก็บหุ้น Apple เมื่อช่วงปลายปี 2016 และเก็บได้ประมาณ 1,000 ล้านหุ้นในช่วงต้นปี 2018 จนมีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 5.2% ใช้ทุนไป 36,000 ล้านเหรียญ ได้ปันผลมาปีละประมาณ 775 ล้านเหรียญ และได้เงินสดมาอีก 11,000 ล้านเหรียญจากการตัดขายบางส่วนออกไปในปี 2020

ทว่าแม้จะขายหุ้นทิ้ง ฮูเร่! ตอนนี้เบิร์กเชียร์กลับมีหุ้น 5.4% ใน Apple ส่วนที่เพิ่มขึ้นนั้นแทบประเมินมูลค่าไม่ได้เลยสำหรับเรา ที่เราได้มันมา ก็เพราะ Apple ซื้อหุ้นคืนอย่างต่อเนื่อง และลดจำนวนหุ้นที่มีอยู่ลงเยอะมาก

ปู่ยังบอกด้วยว่า ด้วยความที่เบิร์กเชียร์เองก็ซื้อหุ้นคืนด้วย ปัจจุบันผู้ถือหุ้นเบิร์กเชียร์จึงมีหุ้น Apple เพิ่มขึ้นถึง 10% นับจากกลางปี 2018 และเบิร์กเชียร์รวมทั้ง Apple ก็จะซื้อหุ้นคืนต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้ผู้ถือหุ้นเบิร์กเชียร์ถือหุ้นโดยอ้อมใน Apple เพิ่มขึ้นไปอีก

“สิ่งดีๆ ที่มีมากเกินมันช่าง … ยอดเยี่ยมเสียนี่กระไร” ปู่อ้างคำพูดของเม เวสต์

10. ยอมรับผิดจากการซื้อ Precision Castparts

ปู่บอกว่า ตนเองตัดสินใจผิดพลาดที่เข้าซื้อ Precision Castparts (PCC) บริษัทผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินด้วยเงินที่มากเกินไปเมื่อปี 2016 พอถึงปีที่แล้ว บริษัทก็แย่ลงจากการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมอวกาศ ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของ PCC 

ปู่บอกว่า แม้ตนเองจะมองถูกต้องแล้ว ว่า PCC จะใช้สินทรัพย์ที่มีตัวตนสร้างผลตอบแทนให้เบิร์กเชียร์ แต่จุดที่มองผิดก็คือ ประเมินกำไรในอนาคตที่บริษัทจะทำได้มากเกินไป ทำให้จ่ายแพงเกินไปเพื่อซื้อบริษัท PCC ส่งผลให้ในปีที่แล้วต้องตัดมูลค่าสินทรัพย์ลงไปถึง 11,000 ล้านเหรียญ

และทั้งหมดนี้ คือไฮไลท์จากจดหมายถึงผู้ถือหุ้นปี 2020 ของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่เผยแพร่เมื่อปลายเดือน ก.พ. 2021 ที่ผ่านมา ก่อนจะถึงการประชุมประจำปีในเดือน พ.ค.นี้

ดูจากสังขารและตัวเลขวัยของปู่ ไม่แน่ว่านี่อาจเป็นครั้งท้ายๆ แล้วก็ได้ที่เราจะได้อ่านจดหมายดีๆ อันทรงคุณค่าเช่นนี้

“จบอย่างไรให้สวย” บทเรียนจาก วอร์เรน บัฟเฟตต์

banister-1238466_960_720

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ในปี 1969 วอร์เรน บัฟเฟตต์ “เบื่อหน่าย” กับสภาวะบ้าคลั่งของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในขณะนั้น เขาบอกว่าตลาดหุ้นแพงขึ้นมาเรื่อยๆ ตลอดระยะเวลายี่สิบปี จนถึงตอนนี้ เขาไม่เหลือ “ไอเดียดีๆ” ในการลงทุนอีกต่อไป

ปู่ในวัย 38 บอกว่า เขาเคยพยายามที่จะ “ผ่อน” การบริหารห้างหุ้นส่วนของตนเอง (ตอนนั้นปู่ยังไม่ได้ใช้ เบิร์คเชียร์ เป็นบริษัทลงทุน) แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะเมื่อรับผิดชอบต่อเงินของคนอื่น ก็รู้สึกเสมอว่าต้องทุ่มเทเต็มร้อย

“ตราบใดที่ผมยังอยู่ ‘บนเวที’ ยังต้องชี้แจงสถิติการลงทุนของตัวเองให้คนอื่นอ่านอยู่เรื่อยๆ และยังต้องรับผิดชอบการบริหารเงินของหุ้นส่วน … ผมจะไม่มีทางแบ่งเวลาให้กับสิ่งอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับ BPL (Buffett Partnetship) ได้เลย … ผมรู้ว่าผมไม่อยากวิ่งไล่ตามกระแสการลงทุนอันรวดเร็วฉาบฉวยไปตลอดชีวิต วิธีเดียวที่จะผ่อนมือลงได้ ก็คือเลิกไปเลยเท่านั้น”

นี่คือถ้อยคำจากปู่ ชี้แจงเหตุผลของการเลิกลงทุน ซึ่งสรุปง่ายๆ ก็คือ

ถ้าทำแล้วไม่ดีที่สุด ก็ไม่ควรทำ!! 

อย่างไรก็ตาม ความตั้งใจประการหนึ่งของปู่ก็คือ อยาก “จบให้สวย” ลงจากบัลลังก์อย่างสง่างาม ซึ่งคงไม่มีวิธีใดดีไปกว่าการทำผลตอบแทนปีสุดท้ายให้ “เลิศ” เข้าไว้ เหมือน เซอร์อเล็ก เฟอร์กูสัน ที่จบการคุมทีมด้วยการพาแมนยูเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีกอีกหนึ่งสมัย

ปัญหาก็คือ ตลาดหุ้น ณ เวลานั้นไม่เอื้ออำนวยเลยแม้แต่น้อย

“ผมมองไม่เห็นเลยว่ามีอะไรที่พอจะเป็นความหวังให้ผมจบปีสุดท้ายอย่างสวยๆ ได้ และผมก็ไม่อยากหลับตาคลำไปเรื่อยๆ โดยหวังว่าจะ ‘โชคดี’ ด้วยเงินของคนอื่น ตัวผมไม่เหมาะกับสภาพแวดล้อมของตลาดในตอนนี้ และผมก็ไม่อยากทำลายสถิติการลงทุนที่ดี ด้วยการทู่ซี้เล่นเกมที่ผมไม่เข้าใจ เพื่อที่ผมจะออกจากเกมได้อย่างฮีโร่ ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอชำระบัญชีเลิกกิจการในปีนี้เลย”

จะเห็นได้ว่า แม้ปู่จะอยาก “จบสวย” แต่ในเมื่อเป็นไปได้ไม่ได้ ก็หยุดเสียเลยจะดีกว่า ยิ่งทำต่อ ยิ่งแย่ ยิ่งทำให้สถิติอันยอดเยี่ยมในอดีตถูกทำลายลงไป

ก่อนหน้านั้น สถิติการลงทุนของปู่อยู่ที่ 29.8% ต่อปี ซึ่งถือว่ามากมายมหาศาล ชนิดยากที่ใครจะเทียบเคียงได้ การที่ปู่หยุดลง ณ​ ตรงนี้ จึงถือว่า “จบสวย” ที่สุดแล้ว

เขียนถึงตรงนี้ พาให้ผมนึกไปถึงผู้จัดการกองทุนอีกคนหนึ่ง คือ ปีเตอร์ ลินช์ ซึ่งบริหารกองทุนฟิเดลิตี้ แม็กเจลแลน ระหว่างทศวรรษ 1980-90 ทำผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้น 29% ในเวลา 14 ปี ก่อนจะตัดสินใจก้าวลง ณ จุดสูงสุด

เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับการตัดสินใจเลิกลงทุนครั้งแรกของปู่เหลือเกิน

แม้ผมไม่เล่าต่อ ท่านก็คงทราบอยู่แล้วว่า ในที่สุด ปู่ก็ตัดสินใจกลับเข้าสู่สนามการลงทุน และอยู่กับมันต่อเนื่องมาอีก 50 ปีจนถึงวันนี้ โดยไม่คิดจะเลิกอีกเลย ด้วยความรักในการลงทุน

แต่บทเรียนจากการ “จบสวย” ครั้งแรกเมื่อครึ่งศตวรรษก่อน ก็เป็นเรื่องราวที่น่าศึกษาและเอาเป็นเยี่ยงอย่างไม่น้อย คนเรา ทำดีมาทั้งชีวิต ต้องหาโอกาสก้าวลงให้งามๆ

รู้จักพอ ไม่ทู่ซี้ จึงสามารถประดับชื่อไว้ในโลกา

——
ใครสนใจเรียนแกะงบออนไลน์ พร้อมเรียนสด ประเมินมูลค่าหุ้นและทำ DCF วันที่ 6 ต.ค. คลิกที่ลิงค์นี้เลย https://clubvi.com/valuationanddcf9/