วอร์เรน บัฟเฟตต์ สอนวิธีเป็นมหาเศรษฐีที่ทุกคนทำได้

buff-munger-brk18

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ เป็นข้อคิดจาก วอร์เรน บัฟเฟตต์ จากการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น เบิร์คเชียร์ แฮธาเวย์ ปี 2018 โดยปู่ได้ kick off มหกรรม woodstock แห่งโลกทุนนิยม ด้วยการเล่าเรื่อง “หุ้นตัวแรก” ในชีวิตของแก

ในวันที่ 11 มี.ค. 1942 ปู่ซื้อหุ้น cities service จำนวนสามหุ้น ด้วยเงินเก็บทั้งหมดที่มี โดยหุ้นตัวนี้ราคาตกลงมาเยอะมาก ปีก่อนหน้านั้นอยู่ที่ 84 เหรียญ ก่อนจะตกลงมากว่าเหลือสามสิบกว่าเหรียญภายในปีเดียว ปู่เห็นว่าถูกมากแล้วจึงตัดสินใจเข้าซื้อ ณ ราคา 38.25 ก่อนที่หุ้นดังกล่าวจะปิดตลาดที่ราคา 37 เหรียญในวันเดียวกัน

ปู่พูดขำๆ ว่า นั่นเป็นสัญญาณแรกที่บอกว่า แกคงเป็นนักเก็งกำไรไม่ได้ เพราะเริ่มต้นก็เห็นแล้วว่า timing ในการเข้าซื้อแย่มากๆ

จากนั้น ราคาหุ้น cities ก็ตกลงไปอีก ทำเอาปู่เริ่มกระวนกระวาย ครั้นมันกลับขึ้นมาเท่าทุน และขึ้นต่อไปจนถึง 40 เหรียญ ปู่จึงตัดสินใจขายทิ้งทั้งหมด ทำกำไรได้รวม 5.25 เหรียญ

แต่แล้ว หลายสิบปีต่อมา ราคาของหุ้นตัวนี้เพิ่มขึ้นไปถึงกว่า 200 เหรียญ ถือเป็นค่าเสียโอกาสมากมายมหาศาล มองย้อนกลับไป ปู่บอกว่านี่คือบทเรียนในการลงทุนที่สอนให้แกรู้ว่า เมื่อเจอหุ้นดี จงถือมันไว้ อย่าขาย

ที่น่าสนใจก็คือ ในช่วงเดียวกับที่ปู่ซื้อหุ้น คือเดือนมีนาคมปี 1942  นั้น โลกกำลังอยู่ในภาวะสงคราม ยุโรปกำลังป่วน ญี่ปุ่นเพิ่งบุกยึดนิวกินี ยึดพม่า ฟิลิปปินส์เพิ่งแตก อเมริกาเข้าร่วมสงครามโลกได้เพียงสามเดือน และทำท่าว่าจะแพ้

แม้จะเป็นเวลาที่เลวร้ายสุดๆ มาดูกันเถอะว่า อะไรจะเกิดขึ้น หากคุณเริ่มต้นลงทุนในวันเดียวกับปู่ ?

nyt

ปู่เอาสถิติมากางให้ดูว่า คนที่ซื้อหุ้นใน S&P 500 ด้วยเงิน 10,000 เหรียญ ณ วันนั้น แล้วถือไว้จนถึงวันนี้ มันจะเพิ่มมูลค่าขึ้นเป็น “51 ล้านเหรียญ” (กว่า 5,000 เท่า) โดยไม่ต้องทำอะไรเลย เรียกได้ว่า ลงทุนครั้งเดียว สบายไปตลอดชาติ (ปู่บอกด้วยว่า ปี 1942 ไม่ใช่โอกาสซื้อที่ดีที่สุดด้วยซ้ำไป ยังมีเวลาที่ดีกว่านั้นอีก)

ในทางตรงข้าม ถ้าเอาเงินจำนวนเดียวกัน คือ 10,000 เหรียญ ไปซื้อทองคำ จะซื้อได้ประมาณ 300 ออนซ์ และทองก็จะแช่อยู่อย่างนั้น จะมอง จะลูบคลำมันอย่างไร มันก็ไม่ตอบสนอง และไม่ให้ผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น ขณะที่ธุรกิจจะทำงานของมันไปเรื่อยๆ

และถ้าคุณถือทอง 300 ออนซ์จนถึงวันนี้ มูลค่าของมันจะอยู่ที่ 400,000 เหรียญ เรียกได้ว่าต่ำกว่าหุ้นกว่า “100 เท่า” นี่คือผลลัพธ์จากการลงทุนในสิ่งที่ “ไม่ให้ผลผลิต” เมื่อเทียบกับสินทรัพย์ที่ให้ผลผลิตอย่างหุ้น

ปู่จึงชี้ชัดว่า คุณแทบไม่มีทางเจ๊งได้เลย ถ้าคุณใช้วิธีซื้อหุ้นที่ดีแล้วถือไว้ (เว้นเสียแต่จะซื้อผิดตัว หรือตื่นตกใจจนขายทิ้งไปในเวลาที่ไม่ควรจะขาย)

ดังนั้น การซื้อสินทรัพย์ที่ไม่มีผลผลิต หรือแม้จะซื้อหุ้น แต่ใช้วิธีซื้อๆ ขายๆ ไม่มีทางเทียบเท่าการถือหุ้นดีไว้เฉยๆ ได้

ปู่สรุปปิดท้ายด้วยว่า วิธีนี้ดีที่สุดแล้วสำหรับนักลงทุนทั่วไป สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมโดยไม่ต้องพึ่งมืออาชีพที่ไหนทั้งนั้น ทั้งยังผ่อนคลาย ไม่ต้องรู้เรื่องบัญชี ไม่ต้องรู้คำศัพท์เฉพาะทางด้านการลงทุนต่างๆ ไม่ต้องสนใจว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีกกี่ครั้ง

และนี่คือ วิธีเป็น “มหาเศรษฐี” จากปู่ ที่ทุกคนทำได้ง่ายๆ ขอเพียงเริ่มต้นทันที และอย่าไขว้เขวออกนอกลู่นอกทางไปไหนก็แล้วกัน

(มีต่อด้านล่าง)


** หลักสูตร  “ประเมินมูลค่าหุ้น และ DCF” รุ่น ๘  สอนทำ valuation อย่างมืออาชีพ 26 พ.ค. 61 ที่โรงแรม ดิ เอมเมอรัล รัชดา คลิกที่นี่

** หลักสูตร “อ่านงบการเงิน” ออนไลน์ รับชมทาง Facebook Closed Group คลิกที่นี่


แล้วนักลงทุนไทยควรทำอย่างไร?

นักลงทุนไทยที่ได้ยินเรื่องประมาณนี้ คำถามที่มักเกิดขึ้นเสมอก็คือ แล้วสำหรับหุ้นไทยล่ะ จะทำได้หรือไม่ ถือไว้เฉยๆ หลายสิบปีแล้วจะได้ผลอย่างเดียวกับอเมริกาจริงหรือ?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ แม้เราจะไม่ได้มีมุมมองที่ bullish ต่อประเทศไทยเหมือนสหรัฐฯ หรือจีน แต่เดี๋ยวนี้กำแพงการลงทุนน่าจะถูกทำลายลงไปได้ส่วนหนึ่งแล้ว ผมเชื่อว่าต่อไป การซื้อกองทุน S&P 500 ผ่าน บลจ.ไทย ค่าธรรมเนียมก็น่าจะลดลง ซึ่งน่าจะช่วยให้นักลงทุนไทยทำตามสูตรของบัฟเฟตต์ได้

หรือแม้จะลงทุนในกองทุนอิงดัชนีอื่นๆ หรือเลือกหุ้นดีแล้ว “ถือไว้เฉยๆ” หากทำผลตอบแทนได้เพียงปีละ 10% เงินหนึ่งล้านบาท ก็จะกลายเป็น 17.5 ล้านบาทได้ในเวลา 30 ปีเช่นเดียวกัน)


Image Credit  :  Yahoo Finance! Berkshire Hathaway’s 2018 Shareholders’ Meeting Live Streaming

บริษัทที่ดีควรจ่ายปันผลอย่างไร

12249651_1057991477586212_3387239749019485759_n

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

วอร์เรน บัฟเฟตต์ กล่าวว่า บริษัทส่วนใหญ่มักระบุนโยบายการจ่ายปันผลชัดเจนอยู่แล้ว เช่นบอกว่า เรามีนโยบายจ่ายปันผล 40-50% ของกำไรสุทธิ แต่ไม่เคยชี้แจงว่า การจ่ายปันผลในระดับดังกล่าว จะส่งผลดีต่อผู้ถือหุ้นอย่างไร

ปู่ให้ข้อคิดไว้ว่า “การจัดสรรเงินทุน” เป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับธุรกิจ โดยผู้บริหารควรคิดให้ดีว่า ในสถานการณ์เช่นไรควรจะ “กัน” (retain) กำไรเอาไว้ และในสถานการณ์เช่นไร ควรจะเอากำไรนั้น “จ่าย”​ (distribute) เป็นเงินปันผลออกมา

ปู่บอกว่า ธุรกิจบางประเภทต้องใช้เงินลงทุนในสินทรัพย์สูงมาก แม้ตัวเลขกำไรดูเหมือนจะสูง แต่นั่นเป็นผลมาจากเงินเฟ้อ ซึ่งถ้าเอากำไรจ่ายปันผลออกไป ก็อาจส่งผลให้บริษัทสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน หรืออาจไม่สามารถรักษายอดขาย หรือทำให้สถานะทางการเงินสั่นคลอนได้

กำไรในลักษณะนี้ เรียกว่า “กำไรที่มีข้อจำกัด” (restricted earnings) หรือ “กำไรเทียม” (ersatz earnings) ซึ่งไม่ควรจ่ายเป็นปันผลออกมา

ในทางตรงข้าม บางบริษัทกำไรดี และกำไรนั้นก็ไม่ได้ติดภาระอะไร แต่ผู้บริหารกลับ “งก” ไม่ยอมจ่ายปันผล ปล่อยให้เงินสดเหลือบานเบอะ บ้างก็เพราะอยากให้ตัวเอง “ดูดี” ได้บริหารบริษัทรวยๆ มีเงินเหลือเยอะแยะ อีกด้านหนึ่งคือ อยากบริหารธุรกิจแบบสบายๆ จะลงทุนอะไรก็ทำได้ ไม่ต้องไปวิ่งหาเงิน ลักษณะนี้ก็ไม่เข้าท่าอีกเช่นกัน

ถามว่า แล้วจ่ายปันผลอย่างไรจึงจะดี ?!

ในประเด็นเรื่องของปันผล ปู่ให้หลักคิดไว้ประโยคเดียว ซึ่งชัดเจนสุดๆ ว่า

“ทุกๆ หนึ่งดอลล่าร์ที่กันเอาไว้ บริษัทต้องเอาไปสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นเป็นมูลค่าตลาดอย่างน้อยหนึ่งดอลล่าร์”

พูดง่ายๆ ก็คือ บริษัทต้องสร้างผลตอบแทนให้ได้ไม่น้อยกว่าทางเลือกในการสร้างผลตอบแทนอื่นๆ ในตลาด ที่ผู้ถือหุ้นจะสามารถทำได้ด้วยตนเอง

ปู่ยกตัวอย่างให้เห็นภาพไว้ว่า สมมุตินักลงทุนคนหนึ่งมีพันธบัตรแบบไร้ความเสี่ยง ให้ผลตอบแทน 10% ต่อปี โดยในแต่ละปี ผู้ถือบัตรมีสิทธิ์เลือกได้ว่า จะรับผลตอบแทน 10% เป็นเงินสด หรือจะเอาผลตอบแทนนั้นลงทุนต่อในพันธบัตรชุดเดิมก็ได้

ด้วยเงื่อนไขนี้ หากพันธบัตรระยะยาวอื่นๆ ในตลาดให้ผลตอบแทน 5% ผู้ถือพันธบัตรที่รู้จักคิด ก็คงไม่อยากรับเงินสด แต่คงจะอยากลงทุนต่อกับพันธบัตรชุดนี้ ทว่าหากพันธบัตรอื่นๆ ในตลาดให้ผลตอบแทน 15% ผู้ถือพันธบัตรก็ย่อมจะอยากได้เงินสด เพราะเขาเอาไปลงทุนที่อื่นได้มากกว่าเยอะ

ด้วยหลักตรงนี้เอง ทำให้บริษัทเบิร์คเชียร์ แฮธาเวย์ของปู่ แทบไม่เคยจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้นเลย เพราะปู่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ปีละกว่ายี่สิบเปอร์เซ็นต์ อันเป็นอัตราที่ผู้ถือหุ้นไม่สามารถหาได้จากที่ไหนอีกแล้ว จะเรียกร้องเอาเงินสดไปทำไมเล่า ในเมื่อทิ้งเงินไว้กับปู่ ให้ปู่ลงทุนให้ ได้มากกว่ากันเยอะเลย

นักลงทุนตัวเล็กๆ อย่างเราๆ จึงควร “ตั้งคำถาม” ต่อการจ่ายปันผลของบริษัทอยู่เสมอ ว่าเพราะเหตุใดบริษัทจึงจ่ายปันผลเท่านั้นเท่านี้ หากมีอะไรไม่เข้าท่าหรือไม่คุ้มค่า จงอย่าลังเลที่จะเข้าประชุมผู้ถือหุ้น และ “ยกมือถาม” ผู้บริหารให้รู้เรื่อง

อย่าให้เขาเอา “เงินของเรา” ไปทำอะไรตามใจชอบเป็นอันขาด

ทั้งนี้.. เพราะปู่สอนไว้

ชาร์ลี มังเกอร์ ที่สอง..ที่โลกต้องจดจำ

Charlie_Munger

ชาร์ลี มังเกอร์

(1924-ปัจจุบัน)

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ชาร์ลี มังเกอร์ เป็นรองประธานบริหารของเบิร์คไชร์ ฮาแธเวย์ เขาเป็นคู่หูของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลก และเป็นผู้ร่วมก่อร่างสร้างเบิร์คไชร์จนกลายเป็นมหาอาณาจักรการลงทุนที่ยิ่งใหญ่

มังเกอร์เกิดเมื่อปี 1924 ที่โอมาฮา เช่นเดียวกับบัฟเฟตต์ โดยเขาแก่กว่าวอร์เรน 6 ปี สมัยวัยรุ่น เขาเคยทำงานในร้านขายของชำของคุณปู่ของวอร์เรน และถูกใช้งานหนักมาก แต่ก็ได้เรียนรู้เรื่องธุรกิจมากมายจากการรับจ็อบที่ร้านของครอบครัวบัฟเฟตต์ในครั้งนั้น

คู่หูของบัฟเฟตต์ผู้นี้ เป็นคนเฉลียวฉลาดและเชื่อมั่นในตัวเอง อุปนิสัยติดดิน กินง่ายอยู่ง่ายเช่นเดียวกับปู่บัฟฟ์ ที่ต่างกันคือปู่มังก์มีบุคลิกโผงผาง พูดจาขวานผ่าซากจนหลายคนมองว่าหยาบคาย ต่างจากบัฟเฟตต์ที่สุภาพ พูดจาดี และน่าคบหากว่า

หลังจบมัธยมฯ มังเกอร์เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนในสาขาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ แต่แล้วเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง เขาก็ต้องพักการเรียนและถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารในกองทัพเช่นเดียวกับคนหนุ่มในยุคนั้น โดยประจำการอยู่ที่อลาสก้าในตำแหน่งนักอุตุนิยมวิทยา พอสงครามยุติลง เขาไม่ได้กลับไปเรียนที่มิชิแกน แต่เบนเข็มไปเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด คณะนิติศาสตร์ และจบปริญญาตรีในปี 1948 ด้วยดีกรีเกียรตินิยม

หลังจากจบฮาร์วาร์ด มังเกอร์ร่วมกับเพื่อนอีก 6 คน ตั้งสำนักงานกฎหมายของตัวเอง ชื่อ มังเกอร์, โทลส์ แอนด์ โอลสัน โดยตัวเขาเป็นทนายความด้านอสังหาริมทรัพย์ พอถึงปี 1965 เขาวางมือจากการด้านกฎหมาย และหันมาทำงานด้านการลงทุนเต็มตัว โดยร่วมหุ้นกับเพื่อนเปิดบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และบริษัทการลงทุน

วอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยเขียนเล่าไว้ว่า ตั้งแต่ปี 1962-75 บริษัทการลงทุนของมังเกอร์ทำผลตอบแทนทบต้นได้ถึง 19.8% ต่อปี ขณะที่ ดาวโจนส์ ให้ผลตอบแทนเพียง 5% จนฐานะของมังเกอร์ในเวลานั้น ถือว่าเข้าขั้น “เศรษฐี” เลยทีเดียว

นั่นหมายความว่า ชาร์ลี มังเกอร์ “เก่ง” และ “รวย” ตั้งแต่ก่อนที่จะมาเจอบัฟเฟตต์ ไม่ใช่รวยเพราะมาทำงานกับปู่บัฟฟ์เหมือนที่หลายคนเข้าใจ

ที่จริงแล้ว การพบกันครั้งแรกของมังเกอร์และบัฟเฟตต์เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1959 ระหว่างที่มังเกอร์ยังทำงานด้านกฏหมายอยู่ โดยเพื่อนของพวกเขานัดให้มารับประทานอาหารกลางวันกัน ปรากฏว่าทั้งสองถูกชะตากันตั้งแต่แรกพบ และรู้สึกทันทีว่าอีกฝ่ายมีอะไรที่คล้ายคลึงกับตนเอง

บัฟเฟตต์พยายามหว่านล้อมมังเกอร์ว่าเขาน่าจะทำอย่างอื่นกับชีวิตแทนที่จะเป็นนักกฏหมาย โดยชี้ให้เห็นว่าการลงทุนเป็นอาชีพที่ดีและทำเงินได้เยอะกว่ามาก เป็นไปได้ว่าคำแนะนำของบัฟเฟตต์ครั้งนั้นน่าจะมีอิทธิพลให้มังเกอร์เปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักลงทุนเต็มตัวในเวลาต่อมา

หลังจากนั้น ทั้งคู่ยังติดต่อกันเป็นครั้งคราว ก่อนจะมาร่วมงานกันอย่างเป็นทางการในปี 1978  โดยบัฟเฟตต์ชวนให้มังเกอร์มารับตำแหน่งรองประธานของเบิร์คไชร์ ฮาแธเวย์ ซึ่งตัวเขาเป็นประธานอยู่

พอได้มาร่วมงานกัน มังเกอร์และบัฟเฟตต์กลายเป็นสองคน สองคม ต่างรู้อกรู้ใจ เติมเต็มความคิดซึ่งกันและกัน ทำงานเข้าขา จนเบิร์คไชร์เติบใหญ่ต่อเนื่องกลายเป็นองค์กรขนาดยักษ์อันดับต้นๆ ของโลก ต้องถือว่าเป็นคู่หูที่ฟ้าลิขิตให้มาเจอกันโดยแท้

ที่สำคัญที่สุดคือ มังเกอร์ได้ทำให้บัฟเฟตต์ มาถึง “จุดก้าวกระโดด” สำคัญของชีวิต โดยเขาเป็นผู้ทำให้ “เทพเจ้าแห่งโอมาฮา” สลัดตัวเองหลุดจากกฏเกณฑ์ในการเลือกหุ้นอันเข้มงวดของเบนจามิน เกรแฮม และหันมาให้ความสำคัญกับปัจจัยเชิงคุณภาพ โดยเฉพาะสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนมากขึ้น อันเป็นแนวทางของฟิลิป ฟิชเชอร์ กูรูการลงทุนอีกคนหนึ่ง อันถือเป็นการ “เปิดโลกใหม่” ให้กับบัฟเฟตต์เลยก็ว่าได้

หลายคนมองว่า หากไม่ได้มังเกอร์ บัฟเฟตต์คงพลาดโอกาสงามๆ ในการลงทุนอีกมาก ซึ่งรวมถึง โคคา โคล่า, พีแอนด์จี ฯลฯ แม้บัฟเฟตต์เองยังยอมรับว่า เขาเป็น “หนี้ความรู้” มังเกอร์ โดยบอกว่าตัวเขาคง “จน” กว่านี้เยอะ ถ้าฟังแต่ เบนจามิน เกรแฮม เพียงคนเดียว

หลักในการลงทุนข้อใหญ่ๆ ของมังเกอร์ ค่อนข้างคล้ายคลึงกับบัฟเฟตต์ โดยให้เน้นธุรกิจที่มีคุณภาพ มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน ฐานะทางการเงินดี มีความสามารถในการทำกำไร มีส่วนต่างแห่งความปลอดภัย มีผู้บริหารที่เก่งและซื่อสัตย์

ทั้งนี้ มังเกอร์เป็นคนทำให้บัฟเฟตต์เลิกค้นหา “บริษัทระดับปานกลางในราคาถูก” แต่ให้หา “บริษัทยอดเยี่ยม ในราคายุติธรรม” อันเป็นหลักคิดที่พิสูจน์แล้วว่าถูกต้องอย่างยิ่ง

ทุกวันนี้ มังเกอร์ยังทำงานกับบัฟเฟตต์ด้วยความสนุกสนานในออฟฟิศเล็กๆ ของเบิร์คไชร์ ในโอมาฮา เหมือนที่เป็นมาตลอดหลายสิบปี บัฟเฟตต์บอกว่า เขาและมังเกอร์จะทำงานต่อไปจนกว่าจะจำกันและกันไม่ได้

นอกจากนี้ ในการประชุมประจำปีของเบิร์คไชร์ทุกครั้ง มังเกอร์จะนั่งเคียงข้างบัฟเฟตต์บนเวที ต่อหน้านักลงทุนหลายหมื่นคนที่หลั่งไหลกันมาจากทั่วโลก เพื่อตอบคำถามและพบปะกับพวกเขาเหล่านั้นเป็นเวลาหลายต่อหลายชั่วโมง

แม้ว่า “ที่สอง” มักไม่ค่อยเป็นที่จดจำของผู้คน แต่หากไม่มี “ที่สอง” อย่างมังเกอร์ ก็อาจไม่มี “ที่หนึ่ง” อย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ ในวันนี้ก็เป็นได้

นั่นทำให้เราควรยกย่อง ชาร์ลี มังเกอร์ รองประธานของเบิร์คไชร์ ฮาแธเวย์ ในฐานะ “ที่สอง ที่โลกต้องจดจำ” และจารึกชื่อของเขาไว้ในทำเนียบสุดยอดนักลงทุนโลกอย่างเต็มภาคภูมิ!!

ข้อมูลอ้างอิง: 4 Investment Gurus, The Great Investors, The Essays of Warren Buffett, Wikipedia

ภาพประกอบ : Moneynews.com