อ่านงบ CPALL ปี 2556

7-112

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช และทีมงาน Club VI

เพิ่งอ่านงบ Cpall ปี 2556 จบ ขอเล่าให้ฟังพอสังเขปนะครับ

ปี 2556 Gross Margin ของ Cpall ลดลง 3.1% (จาก 25.8% ในปี 2555 เหลือ 22.6%ในปี 2556) แต่ คชจ.ในการขายเมื่อเทียบกับยอดขาย ก็ลดลง 2.2%  ด้วย จึงทำให้ EBIT Margin ลดลง 1.8% จาก 7.1% เหลือ “5.3%” 

ขณะที่บรรทัดสุดท้าย คือ Net Profit Margin ลดจากเดิม 5.6% เหลือ “3.7%” นี่คือมีการลดอัตราภาษีจาก 23% เหลือ 20% ช่วยไว้แล้วส่วนหนึ่ง

โดยภาพรวม อาจกล่าวได้ว่า ในปี 56 อัตรากำไรของ Cpall ลดลง

ผมสงสัยว่า อัตรากำไรที่ลดลง เป็นผลมาจากการซื้อกิจการ Makro ใช่หรือไม่ เลยลองไปเปิดงบของ Makro ดู

ปรากฏว่า margin ของ Makro ดีขึ้นเล็กน้อย และแม้ว่าโดยธรรมชาติของธุรกิจ Makro จะมีอัตรากำไรต่ำกว่า Cpall ซึ่งหลังจากรวมกิจการกันอาจจะมาฉุด margin ของ Cpall ให้ต่ำลงด้วย แต่ด้วยระยะเวลาไม่เดือน ยังไงก็ไม่น่าส่งผลมากนัก  

ดังนั้น อัตรากำไรที่ลดลงของ Cpall จึงเป็นไปได้ว่า มาจากกิจการของ Cpall เดิม

ในส่วนของดอกเบี้ย ในปี 2556 Cpall ต้องจ่ายดอกเบี้ยจากเงินกู้ซื้อ Makro ถึง 2,200 กว่าล้าน (เฉพาะไตรมาส 4) จากเดิมที่บริษัทนี้มีดอกเบี้ยจ่ายน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย ส่วนปี 57 คาดว่าจะต้องจ่ายดอกเบี้ย 7-8,000 ล้าน (เต็มปี) 

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงินต้น หากบริษัทชำระเงินต้นคืนบางส่วน ดอกเบี้ยก็จะลดลงตามไปด้วย

ยังไม่นับ “ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน” ซึ่งปีนี้ Cpall โดนไป 570 ล้าน จากค่าเงินบาทที่อ่อนลง อันเนื่องมาจากเงินกู้ระยะสั้นที่ไปกู้มาเป็นดอลล่าร์ แต่หลังจากรีไฟแนนซ์แล้ว ความเสี่ยงตรงนี้ก็คงหมดไป

โดยภาพรวม ขอสรุปว่า performance ของกิจการ Cpall เดิมยังพอไปได้ อาจจะแย่ลงบ้าง แต่ก็พอมองได้ว่าเป็นไปตามสภาวะเศรษฐกิจ (อันนี้ถ้าจะให้ชัวร์ต้องไปดูลึกๆ อีกที) 

อย่างไรก็ตาม การซื้อกิจการ Makro ยังไม่ทำให้เห็นผลบวกจากการ synergy เท่าไรนัก หากส่งผลดีจริง คงจะได้เห็นกันในปี 57 นี้

ที่ หนัก อก ต้อง ยก ออก กันต่อไป คือเรื่องของดอกเบี้ย จ่ายดอกเบี้ยปีละ 7-8000 ล้าน ยังไงก็เหนื่อย ยิ่งถ้าอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ก็ยิ่งเหนื่อยหนักขึ้น และถ้าเศรษฐกิจชะลอต่อไป ที่คาดหวังว่า Makro จะกำไรโตแล้วเอามา cover ดอกเบี้ยได้ในไม่กี่ปีนั้น ก็อาจจะต้องยืดเวลาออกไปอีก

เอาคร่าวๆ เท่านี้พอนะครับ คราวหน้ามีบริษัทอื่นจะมาคุยให้ฟังอีกครับ

สรุปสาระสำคัญจากการประชุมผู้ถือหุ้น CPALL

cpall_new_logo1

สรุปสาระสำคัญจากการประชุมผู้ถือหุ้น CPALL วันที่ 25 เม.ย.2556 เวลา 14.00-16.00 ที่สถาบันปัญญาภิวัฒน์ ในประเด็นที่เกี่ยวกับดีล Makro โดยทีมงาน Club VI ครับ

– ก่อศักดิ์เล่าว่า ประธานธนินทร์ไปชวน SHV ปั้น Makro ในประเทศไทยขึ้นมา และมีสัญญาใจกับทางนั้นว่า หากวันหนึ่งจะขาย Makro จะบอกประธาน…ธนินทร์ก่อน

– ผู้บริหารพิจารณาแล้ว การซื้อ Makro จะทำให้เกิด Synergy ทั้งต่อ CPALL และ MAKRO จึงตัดสินใจซื้อ

– จะไม่มีการเพิ่มทุนแน่นอน และจะจ่ายปันผลไม่น้อยกว่าเดิม

– ต่อข้อถามว่า Makro มีกำไรปีละเท่าไร คำตอบคือประมาณ 5,000 ลบ. ต่อปี

– ต่อข้อถามว่า ต้องจ่ายหนี้ปีละเท่าไร และกี่ปีจึงจะจ่ายหนี้ได้หมด ผู้บริหารไม่ตอบ

– เมื่อ CPALL ได้ Makro มาแล้ว สามารถขายแฟรนไชส์ต่อให้ประเทศอื่นๆ ได้ทั่วโลก ซึ่งต่างจาก 7-11 ที่ซื้อสิทธิ์เขามาอีกที ขายต่อไม่ได้

– เรื่องจ่ายดอกเบี้ย ผู้บริหารไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจน

– เมื่อถูกถามเรื่องการจัดตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ผู้บริหารไม่ตอบ

– ประธานธนินทร์บอกว่า ตอนนี้มีแบงก์พร้อมปล่อยกู้แล้ว ถ้าดีลนี้ไม่ดีจริง แบงก์คงไม่เอาด้วย

– ประธานธนินทร์ บอกว่า ภายใน 2 ปี PE ของ Makro จะลดเหลือ 20 กว่าเท่า (ปัจจุบัน 50 เท่า)

– ประธานธนินทร์บอกว่า ไม่เห็นความเสี่ยงอะไรกับดีลนี้ ถ้าจะมีความเสี่ยง เครือ CP ต้องเสี่ยงที่สุด เพราะเราเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

ประธานธนินทร์ ปิดท้ายด้วยการแสดงวิสัยทัศน์ พร้อมคำคม เปรียบเทียบการซื้อ Makro ว่า  ..

วันนี้ดูเหมือนซื้อแพง แต่จริงๆ มันถูก เราซื้อเครื่องพิมพ์แบงก์ของเยอรมัน* มา ของดีก็ต้องแพง แต่มันพิมพ์แบงก์ได้เร็ว!!

——————————

* ที่จริงแล้ว SHV ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Makro เป็นบริษัทของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งท่านเจ้าสัวก็พูดว่า “เนเธอร์แลนด์” มาตลอด แต่ตอนที่ท่านกล่าวคำคมปิดท้าย ผมได้ยินท่านพูดว่า เครื่องพิมพ์แบงก์ของ “เยอรมัน” ซึ่งผมมั่นใจ 90% ว่าฟังไม่ผิด จึงไม่อยากเขียนแก้ให้ถูก แต่ถ้าผมฟังผิดเองก็ต้องขออภัยเป็นอย่างสูงครับ

ภาพประกอบ 1) ภาพประธานธนินทร์ จากเว็บไซต์ซีพีเวียดนาม hr.cpvina.com 2) ภาพโลโก้ CPALL จากเว็บ Cpall.co.th

แสนล้านกับ Makro “เราเห็นอะไร”

Makro_2012-02-15_12-59-12

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ข่าวเรื่อง แม็คโคร (MAKRO) ประกาศขายกิจการนี่ ฮือฮาไม่น้อยเลยนะครับ

แม้ว่าผู้บริหารของแม็คโครจะออกมาปฏิเสธ แต่หลายกระแสยืนยันว่า คราวนี้ “ของจริง” แน่นอน

และแว่วๆ ว่า ราคาที่เสนอขายกันนั้น สูงลิบลิ่วถึงกว่า “หนึ่งแสนล้านบาท”

คงเป็นด้วยราคานี้มั้งครับ ทำให้ผู้ที่ถูกทาบทามให้มาซื้อกิจการ ไม่ว่าจะเป็น BJC (กลุ่มเสี่ยเจริญ), ซีพี, กลุ่มเซ็นทรัล หรือ บิ๊กซี ต่างก็พูดคล้ายๆ กันว่า “น่าสนใจ” แต่ “แพง”

ไม่แพงได้ไง ลองคิดดูนะครับ แม็คโคร มีสาขาประมาณ 60 สาขา สมมุติว่าขายทั้งกิจการ “หนึ่งแสนล้านบาท” ก็เท่ากับสาขาละประมาณ “1,600 ล้านบาท”

เมื่อเอาตัวเลข “หนึ่งแสนล้านบาท” มาพิจารณาดู ผมว่ามันค่อนข้าง “ล้อ” กับ Market Cap. ปัจจุบันของแม็คโคร ซึ่งอยู่ที่ 129,600 ล้านบาท

(ราคาปิด MAKRO ณ 5 เม.ย. 2556 = 540 บ./หุ้น, มีหุ้นทั้งหมด 240 ล้านหุุ้น : 540 X 240 ล.= 129,600 ล.)

และเมื่อเอา “129,600 ล้าน” หารด้วยจำนวนสาขาโดยประมาณ คือ “60” เท่ากับว่า “Mr.Market” ให้ราคาแม็คโคร สูงถึงกว่า “2,100 ล้านบาท” ต่อสาขา

เห็นตัวเลขแล้ว แทบร้อง “อู้หู” เลยนะครับ

นี่เรายังไม่รู้นะครับว่า ที่ Potential Buyer ทั้งหลาย บอกว่า “แพงเกิ๊น” นั้น ที่จริงเป็นแค่ “วิธีเจรจา” หรือพวกเขารู้สึกว่าแพงไปจริงๆ

เป็นไปได้ว่าสุดท้ายแล้ว กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อาจจะยอมควักกระเป๋าซื้อกิจการแม็คโครด้วยราคาเหยียบ “แสนล้าน” จริงๆ ก็ได้

ก็ลองดูเมื่อครั้งก่อนสิครับ ใครจะคิดว่า บิ๊กซีจะกล้าซื้อคาร์ฟูร์ด้วยราคาถึง “35,000 ล้าน” แต่มันก็เกิดขึ้นแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในมุมของ VI รายย่อยอย่างเราๆ ก็น่าคิดนะครับ..

ถ้าเราจ่ายเงินซื้อหุ้น MAKRO ที่ราคา 540 บาท แปลว่าเรากำลังซื้อศูนย์จำหน่ายสินค้า ด้วยราคา “2,100 ล้านบาท ต่อสาขา”

VI เก่งๆ คนไหนคิดดีแล้วยังกล้าเข้าไปซื้อ คงต้องมั่นใจมากๆ ทีเดียว (ส่วนนักเก็งกำไรคงไม่แคร์อยู่แล้ว ขอให้ซื้อแล้วขึ้นเป็นพอ)

ประเด็นที่ผมมองว่าน่าสนใจก็คือ การเสนอขายกิจการครั้งนี้ เป็นการพิสูจน์ที่ดียิ่ง ว่า ไอ้หุ้น Modern Trade ทั้งหลายที่ราคา “เฟ้อ” อยู่ตอนนี้นั้น ตัวกิจการมันมี Potential ขนาดนั้นจริงหรือไม่!!

ก็ถ้าคนที่ทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกัน เขายังไม่กล้าซื้อ “จิ๊กซอว์ราคาแพง” ชิ้นนี้ หากนักลงทุนคนไหนยังกล้าเข้าไปซื้อ ก็ต้องตอบตัวเองให้ได้ครับว่า ..

“แล้วเราเห็นอะไร?”

————————

อ้างอิง: มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5-11 เม.ย. หน้า 12