แจกันแตกกับมโนธรรมของคน

บ่ายวันหนึ่งเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ช่วงพักกลางวัน ห้องเรียนชั้น ป.5/4 

ขณะที่ ด.ช.จอมยุทธ์ หยิบไม้บรรทัดมาเล่นฟันดาบกับเพื่อนอยู่นั้น ด้วยความที่ไม่ระวัง ไม้บรรทัดในมือจึงปัดไปโดนแจกันที่วางอยู่บนโต๊ะของครูประจำชั้นตกลงมาแตก

พอครูประจำชั้นเดินเข้าห้องมา พบเศษแจกันแตกกระจายอยู่บนพื้น จึงถามว่าใครเป็นคนทำ ปรากฏว่า ด.ช.จอมยุทธ์ ชี้นิ้วไปที่ ด.ช.เสรี บอกครูว่า “เสรี เป็นคนทำแตกครับ” เล่นเอา ด.ช.เสรี เป็นงง ว่าทำไม ด.ช.จอมยุทธ์ ถึงโบ้ยความผิดมาให้ตนดื้อๆ แบบนี้

สุดท้าย ครูประจำชั้นต้องถามเอาจากเพื่อนๆ ในห้อง ซึ่งทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า  ด.ช.จอมยุทธ์ นั่นแหล่ะที่เป็นคนทำแจกันแตก ครูประจำชั้นจึงจับ ด.ช.จอมยุทธ์ มาหวดก้น สามที พลางสอน ด.ช.จอมยุทธ์ ว่า

“ที่ครูต้องตีเธอ ไม่ใช่เพราะเธอทำแจกันแตก แต่เป็นเพราะเธอทำผิดแล้วไม่ยอมรับผิด แถมยังพูดโกหก ป้ายความผิดให้คนอื่นอีกต่างหาก”

นั่นคือเรื่องของ ด.ช.จอมยุทธ์ …… และต่อไปนี้คือเรื่องของผมเอง

บ่ายวันหนึ่ง เมื่อราวๆ สามเดือนที่แล้ว ขณะกำลังขับรถออกจากซอยบ้านเพื่อไปทำธุระ  มีรถสีขาวคันหนึ่งขับสวนเข้ามาในซอย และสวนกับรถผมตรงจุดที่เป็นตรอกแคบๆ

ระหว่างที่รถสองคันกำลังเคลื่อนผ่านกันด้วยความยากลำบากนั้น ปรากฏว่ารถสีขาวคันนั้นก็หักเข้ามาชนรถผมอย่างจัง

ผมจึงลงจากรถ ถ่ายรูปเป็นหลักฐานไว้ แล้วถามคนขับ ซึ่งเป็นชายที่ค่อนไปทางสูงอายุว่า แกจะยอมรับผิดหรือไม่?

ปรากฏว่าแก “ตีมึน” ไม่ยอมรับผิดเอาดื้อๆ  โดยอ้างว่าเหตุที่เกิดขึ้น เป็นการที่ “ต่างคนต่างชน” กัน

เผอิญประกันของแกกับประกันของผมเป็นบริษัทเดียวกัน พอเจ้าหน้าที่ประกันมาถึงที่เกิดเหตุและได้สืบสาวราวเรื่อง รวมทั้งตรวจหลักฐานจากภาพถ่ายและรอยเฉี่ยวชนซึ่งปรากฏชัดอยู่แล้ว พี่ประกันจึงอธิบายให้ลุงคู่กรณีผมฟังอย่างละมุนละม่อมว่าแกเป็นฝ่ายผิด

ทีแรก ลุงแกจะไม่ยอมท่าเดียว ขนาดหลักฐานโทนโท่เยี่ยงนั้นก็ยังโบ้ยโน่นนี่ไปเรื่อยเปื่อย

คุยกันไปสักพัก แกก็ถามถึง “ค่า exempt” (ค่าใช้จ่ายที่บริษัทประกันเรียกเก็บเพิ่มจากผู้ทำประกันรถยนต์สำหรับอุบัติเหตุในบางกรณีที่ผู้ทำประกันเป็นฝ่ายผิด) ขึ้นมา

ผมได้ยินดังนั้นจึงเข้าใจได้ในทันทีว่า สาเหตุที่แกไม่ยอมรับผิด คงเป็นเพราะแกกลัวจะเสียค่า exempt และคงไม่อยากให้รถเสียประวัติ (ซึ่งจะทำให้ไม่ได้ลดค่าเบี้ยประกันในปีต่อๆ ไป)

เจ้าหน้าที่ประกันจึงชี้แจงว่า รถของแกเคย “เคลม” มาแล้ว (ดูจากริ้วรอยที่รถแกซึ่งมีอยู่หลายจุด ผมก็รู้เลยว่าแกคงไม่ใช่คนขับรถดีนัก และนั่นคงเป็นสาเหตุที่แกขับรถมาชนผม) จึงถือว่า “เสียประวัติแล้ว” ดังนั้น แม้แกจะยอมรับผิดในกรณีนี้ (ซึ่งแกผิดจริง) ก็ไม่ได้ทำให้แกต้องเสียค่า exempt หรือเสียประวัติอะไรเพิ่มเติมจากที่เป็นอยู่

… ได้ยินดังนั้น ลุงแกจึงยอม

ฝ่ายผม แม้จะพิสูจน์ได้ว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูก แต่ก็ต้องเสียเวลาไปหนึ่งชั่วโมงเต็ม แทนที่จะเคลียร์ได้ภายในไม่เกินครึ่งชั่วโมง  แถมยังต้องเสียเวลาเอารถไปซ่อม อีกทั้งรถของผมคันนี้ไม่เคยมีริ้วรอยมาก่อน แม้จะไปทำสีก็คงไม่เนี้ยบเหมือนเดิม แต่ไม่เป็นไร ถือว่าฟาดเคราะห์ไป

เรื่องนี้ทำให้ผมมาคิดดูว่า ทำไมลุงคนนี้ ซึ่งบุคลิกก็ดูดี น่าจะเป็นคนมีฐานะ ตำแหน่งหน้าที่การงานก็ใหญ่โต (สังเกตจากคำนำหน้าในบัตรประจำตัว) ถึงทำพฤติกรรมเหมือน ด.ช.จอมยุทธ์ ที่ทำแจกันของครูแตกไม่มีผิด

ก่อนที่ผมจะได้ข้อสรุปกับตัวเองว่า นี่คือเรื่องของ “มโนธรรม” คือความรู้สึก “ผิด-ชอบ-ชั่ว-ดี” ซึ่งแม้จะเป็นเรื่อง “พื้นๆ” แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะมี

คนที่มีมโนธรรม เมื่อความผิดตำตาขนาดนี้แล้วจะไม่กล้าโกหกซึ่งๆ หน้า เพราะเขาจะเกิดความรู้สึกละอาย รู้สึกว่าเราทำเช่นนี้ไม่ได้ เพราะมันเป็นสิ่งที่ผิด โดยไม่ต้องมีกฏหมายหรือโทษทัณฑ์อันใดมาบีบบังคับ

ว่าด้วยเรื่อง “มโนธรรม” ผมเชื่ออย่างยิ่งว่าในวัยเด็ก ครอบครัวของเรามีส่วนหล่อหลอมมากที่สุด แต่พอโตขึ้นมา ได้ใช้ชีวิตในโลกกว้าง สิ่งแวดล้อมที่เราอยู่จะเปลี่ยนแปลงตัวเราอย่างช้าๆ

ซึ่งถ้าใครไม่มีหลักยึดที่แน่นพอ ก็จะกลายเป็นคนเห็นแก่ตัว ใครจะเดือดร้อนช่างมัน ไม่ใช่ฉันเป็นพอ …  ถูก-ผิด เป็นเรื่องรอง

ลุงคนที่ผมเล่าจะมีมโนธรรมบ้างหรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่พฤติกรรมของแกเป็นพฤติกรรมที่ “ไร้มโนธรรม” ไม่มีสำนึกผิดชอบชั่วดี ทำผิดซึ่งหน้าแต่ไม่ยอมรับผิด กลับโยนความผิดให้คนอื่น  ก็ไม่รู้ว่าพฤติกรรมที่ว่ามีที่มาจากไหน จะติดตัวมาตั้งแต่วัยเยาว์ หรือสังคมที่แกอยู่บ่มเพาะกันมาก็ไม่ทราบ

แต่ผมคิดว่ามันคงแย่ ถ้าคนในสังคมส่วนใหญ่ประพฤติปฏิบัติแบบนี้

ทีนี้ ถามว่าที่เล่ามาทั้งหมด มันเกี่ยวกับการลงทุนอย่างไร ผมขออ้างคำพูดของ แอนโธนี่ โบลตัน สุดยอดผู้จัดการกองทุนชาวอังกฤษของบริษัทฟิเดลิตี้นะครับ

โบลตันบอกว่า การจะวัดคุณภาพของผู้บริหารบริษัทนั้น ทำได้ง่ายมาก เพียงแค่ดูว่า “เขาทำผิดแล้วยอมรับผิดหรือไม่?”

โปรดสังเกตนะครับ โบลตันไม่ได้บอกว่า ผู้บริหารที่ดีต้อง “ไม่เคยทำผิด” คนเราล้วนเคยทำผิดพลาดด้วยกันทั้งนั้น ผู้บริหารที่ไม่เคย take risk เลย ย่อมทำให้องค์กรเติบโตไม่ได้

การ “ทำผิด” แล้ว “ยอมรับผิด” ต่างหาก จึงจะเรียกได้ว่าเป็นผู้บริหารที่ “ดี”

ดังนั้น เวลาเลือกซื้อหุ้นของบริษัทไหนก็ตาม ลอง track ย้อนหลังดูนะครับ ผู้บริหารบริษัทไหนทำผิดพลาดแล้วยืดอกยอมรับผิด อันนั้นผมว่าใช้ได้

แต่ถ้าทำผิดแล้วโทษชาวบ้าน โทษโน่นโทษนี่ โทษดินโทษฟ้า เหมือน ด.ช.จอมยุทธ์ หรือเหมือนลุงที่ขับรถมาชนผม  หรือไม่ก็เที่ยวโม้ ตั้งเป้าผลประกอบการไว้เท่าโน้นเท่านี้ พอถึงเวลาทำไม่ได้แล้วก็ทำลืมๆ แถมยังกลบของเก่าด้วยการตั้งเป้าใหม่ที่สูงกว่าเดิมอีก

แบบนี้จงอย่าไปซื้อหุ้นของบริษัทนั้นเป็นอันขาด

คนเรา ลองถ้าไม่มี “มโนธรรม”  เป็นพื้นฐานของจิตใจเอาไว้ แม้ในเรื่องเล็กๆ ก็ยังไม่มีความละอาย ไม่มีทางเลยที่เขาจะไม่ทำสิ่งชั่วร้ายในขั้นต่อๆ ไป

เจอคนแบบนี้ที่ไหน พึงอยู่ให้ห่างไว้เป็นดีที่สุดครับ !!

————————-

ภาพ แอนโธนี่ โบลตัน จาก telegraph.co.uk

แอนโธนี่ โบลตัน สุภาพบุรุษยอดนักลงทุน

81RlnTfMf2L

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

แอนโธนี่ โบลตัน เป็นผู้จัดการกองทุนชื่อดังชาวอังกฤษ เขาได้รับการยอมรับว่าเป็นนักลงทุนที่ดีที่สุดของสหราชอาณาจักร แม้ ปีเตอร์ ลินช์ สุดยอดผู้จัดการกองทุนระดับตำนานยังยกย่องว่า โบลตันเป็นนักลงทุนที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของโลก

โบลตันเกิดเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 1950 ในครอบครัวชนชั้นกลางที่ประเทศอังกฤษ พ่อของเขาเป็นทนายความ และได้เลี้ยงดูฟูมฟักลูกชายในแบบของผู้ดีอังกฤษแท้ๆ เขาเป็นคนบุคลิกดี สุขุม สุภาพ ซื่อสัตย์ รู้จักวางตัวและให้เกียรติผู้อื่น ว่ากันว่าใครที่ได้รู้จักโบลตันต่างนิยมชมชอบเขาแทบทุกคน

โบลตันเรียนจบปริญญาตรีที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ก่อนจะหันเหไปทำงานในสายการเงิน โดยทำงานกับบริษัทหลักทรัพย์สองแห่ง ก่อนที่ในปี 1979 จะมาลงเอยกับ ฟิเดลิตี้ บริษัทการลงทุนชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ซึ่ง ปีเตอร์ ลินช์ ทำงานอยู่ ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการลงทุน สาขาลอนดอน คนแรกของฟิเดลิตี้

ทันทีที่รับตำแหน่ง โบลตันได้รับมอบหมายให้บริหารกองทรัสต์ชื่อ Fidelity Special Situations Trust โดยเน้นลงทุนในหุ้นยุโรป เขาได้รับอิสระอย่างเต็มที่ในการบริหาร และทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม โดยทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ถึง 19.5% ในระยะเวลา 28 ปี ระหว่างปี 1980-2007 เอาชนะ FTSE หรือดัชนีรวมหุ้นทุกตัวถึง 6 %

คนที่ลงทุนในกองทุนที่โบลตันบริหารตั้งแต่แรกเริ่มเมื่อปี 1980 ด้วยเงิน 10,000 เหรียญ เงินจำนวนนั้นจะทวีมูลค่ากลายเป็น 1,480,200 เหรียญ ณ สิ้นปี 2007

ตรงจุดนี้ ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตว่า แม้โบลตันจะทำได้ 19.5% ด้อยกว่า ปีเตอร์ ลินช์ ที่ทำได้ 29.2% เกือบ 10% แต่ลินช์บริหารกองทุนแม็คเจลแลนอยู่เพียง 13 ปี แล้วเกษียณตัวเองอย่างรวดเร็ว ขณะที่โบลตันทำงานต่อเนื่องยาวนานถึง 28 ปี ซึ่งย่อมต้องผ่านวัฏจักรต่างๆ ของตลาดหุ้นมามากกว่า

หลักการลงทุนของโบลตัน ข้อสำคัญที่สุดคือต้องกล้า “สวนกระแส” ต้องกล้าทำตรงข้ามกับฝูงชน รู้จักมองหาหุ้นที่ไม่มีใครสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทที่กำลังประสบปัญหา แต่มีสัญญาณว่ากำลังจะฟื้นตัวกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมักเป็นโอกาสงามๆ ในการลงทุน

โบลตันให้ความสำคัญกับพื้นฐานของกิจการตามหลักของ เบนจามิน เกรแฮม เขาเน้นว่าในการซื้อหุ้น เราต้องมองว่ากำลังซื้อ “ส่วนหนึ่งของธุรกิจ” และถามตัวเองว่าถ้าต้องซื้อบริษัทนั้นทั้งบริษัท จะซื้อหรือไม่ รวมทั้งควรศึกษาถึงความได้เปรียบในการแข่งขัน แฟรนไชส์ของบริษัท อุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของคู่แข่ง เขานิยมบริษัทที่เข้าใจง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เป็นบริษัทที่มีความมั่นคงถาวร

อีกจุดหนึ่งที่โบลตันให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือเรื่องของ “ผู้บริหาร” เขาเน้นว่าผู้บริหารต้องมีความสามารถ และมีธรรมาภิบาล บริหารงานอย่างโปร่งใส พูดความจริง ไม่โม้ ที่สำคัญคือถ้าทำผิดแล้วต้องยอมรับผิด จุดนี้จุดเดียวทำให้รู้ได้เลยว่าผู้บริหารคนไหนไว้ใจได้หรือไม่ โดยเขาไม่เคยละเลยที่จะสานสัมพันธ์กับผู้บริหารบริษัทต่างๆ อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ โบลตันจะนัดประชุมกับผู้บริหารของบริษัทที่เขาเข้าไปลงทุนอยู่เสมออย่างน้อยไตรมาสละ 1 ครั้ง โดยเขาจะจดบันทึกรายละเอียดในการประชุมทุกครั้งไว้เสมอ

ในเชิงปริมาณ โบลตันจะพิจารณาราคาหุ้นย้อนหลัง 3 – 10 ปี รวมทั้งตัวแปรอื่นๆ คือ ค่า P/E ค่า P/BV, กระแสเงินสดอิสระต่อหุ้น (FCF), ดูผลตอบแทนจากเงินลงทุนเป็นกระแสเงินสด (CFROI), ดูอัตราส่วนราคาต่อยอดขาย ดูรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ ดูสัดส่วนของหุ้นที่คนในถือ ดูรายงานทางการเงิน อันดับเครดิตของบริษัท ดูความเห็นของนักวิเคราะห์เพื่อทราบถึงความนิยมที่ผู้คนมีต่อหุ้นตัวนั้น

ที่สำคัญคือ โบลตันต้องการชุดของข้อมูลย้อนหลังไป 20 ปี หรืออย่างน้อยต้องไม่น้อยกว่า 10 ปี เขาบอกว่า ข้อมูลที่ไม่ถึง 10 ปี อาจไม่ครอบคลุมถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจนั้นๆ

โบลตันเชื่อว่านักลงทุนต้องมีคุณสมบัติหลายอย่างในการที่จะประสบความสำเร็จ โดยต้องรู้จักคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ใช้ตรรกะ อย่าใช้อารมณ์ ต้องกล้าคิดอย่างเป็นอิสระ อย่าหลงใหลไปตามกระแสของคนหมู่มาก ขณะเดียวกันก็ต้องอ่อนน้อมถ่อมตน อย่าหลงลำพอง มีความยืดหยุ่นและกล้าที่จะปรับเปลี่ยน ต้องรู้จักตั้งคำถาม รู้จักวิเคราะห์ รู้จักมองการณ์ไกล โดยให้ดูหุ้นเป็นรายตัว อย่าไปสนใจเรื่องมหภาคมากนัก

ก่อนวางมือไม่นาน โบลตันได้เอาเงินของกองทุนไปลงทุนในตลาดหุ้นจีน เพราะเล็งเห็นว่าแผ่นดินมังกรจะกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต ซึ่งการณ์ก็เป็นไปตามที่เขาคาดทุกประการ

โบลตัน เกษียณตัวเองในปี 2007 ขณะอายุ 57 ปี โดยหันไปเล่นดนตรี และเคยออกอัลบั้มของตัวเองด้วย นอกจากนี้ เขายังเขียนคอลัมน์ลงใน นสพ. Financial Times เพื่อให้คำแนะนำด้านการลงทุน ทว่าล่าสุด ในปี 2009 เขาทนความเย้ายวนของตลาดหุ้นจีนไม่ไหว จึงกลับเข้าทำงานกับฟิเดลิตี้อีกครั้งหนึ่ง โดยรับตำแหน่งเป็นประธานฝ่ายการลงทุน ก่อนจะย้ายไปพำนักในฮ่องกงและเน้นลงทุนในตลาดหุ้นจีนโดยเฉพาะ

แอนโธนี่ โบลตัน เป็นนักลงทุนในแบบฉบับของ “ผู้ดีอังกฤษ” แท้ๆ ผู้มากไปด้วยความสามารถและอุปนิสัยอันงดงาม การที่ ปีเตอร์ ลินช์ ยกย่องโบลตันว่าเป็นหนึ่งในนักลงทุนที่เก่งที่สุดในโลก ย่อมเป็นเครื่องการันตีความสามารถของสุภาพบุรุษนักลงทุนผู้นี้ได้เป็นอย่างดี

———-

แหล่งข้อมูล : The Great Investors, Wikipedia ภาพประกอบ : หนังสือ Investing Against the Tide สำนักพิมพ์ FT Prentice Hall