“นิ้วโป้ง” กับการทำ DCF ในช่วงวิกฤต

103399669_3304894509562553_2654579906401538922_n

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

สรุปจากการพูดคุยกับคุณ “นิ้วโป้ง” อธิป กีรติพิชญ์ เมื่อ 10 มิ.ย. 2020

ตลาดหุ้นตอนนี้มองยาก เป็นตลาดกระทิงที่ขึ้นจากจุดต่ำสุด 960 มาเป็น 1,400 เป็นการบวกกว่า 40% ภายในสองเดือนซึ่งหายากมาก

ปรากฏการณ์นี้คือ “มหัศจรรย์ซ้อนมหัศจรรย์” เพราะหุ้นลงสามสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ ภายในสองเดือน แล้วก็กลับขึ้นมาทันทีเช่นกัน

ตั้งแต่ลงทุนมาแทบไม่เคยเห็นภาวะอย่างนี้ ตอน financial crisis คราวที่แล้วยังค่อยๆ ลง โดยเริ่มจาก subprime ปี 2007 ที่หุ้นค่อยๆ ซึมลง ก่อนที่ฟองสบู่จะแตกในปี 2008

ตอนน้ีหลายคนสงสัยว่า ตลาดที่ขึ้นอยู่ตอนนี้ จะเหมือนการที่หุ้นดีดขึ้นตอนปี 2009 แล้วไม่กลับลงมาเลย 12 ปีหรือเปล่า จะไปยาวเลยหรือเปล่า ใครเข้าไม่ทันจะตกรถถาวรเลยหรือเปล่า

คุณนิ้วโป้งบอกว่า สมัยก่อนยังไม่มี QE เวลาเศรษฐกิจตกต่ำ ต้องใช้การรัดเข็มขัด บริษัทไหนจะเจ๊งก็ปล่อยให้เจ๊ง แต่พอ 2008 สหรัฐฯ ไม่ได้ใช้การรัดเข็มขัด แต่ใช้การพิมพ์เงินเข้ามา

อย่างไรก็ตาม สมัย 2008 มันมีเวลาให้ได้คิด แต่ครั้งนี้อยู่ๆ หุ้นก็กลับขึ้น ทั้งๆ ที่โรคยังระบาดหนัก มีการประท้วง-จลาจลทั่วประเทศ

ของไทยเองก็แปลกมาก เพราะปีที่แล้วแทบไม่ขึ้น บวกแค่ 1% ขณะที่ประเทศอื่นขึ้นกันโครมๆ หลายคนจึงวิเคราะห์ว่าปีนี้น่าจะได้เวลาขึ้น แต่แล้วก็มาร่วงหนักซ้ำอีกจากโควิด

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าโควิด ดัชนีอยู่ที่ 1,580 จุด สมมุติว่าเอาโควิดออกไป เมื่อเทียบกับตอนนี้ 1,400 ก็มองได้ว่าหุ้นยังมีมุมบวก ยังไม่แพงมากนัก

ตอนนี้เป็นโลก VUCA Volatility (ผันผวน) Uncertainty (ไม่แน่นอน) Complexity (ซับซ้อน) Ambiguity (คลุมเครือ)

หลายคนมองว่าเศรษฐกิจไม่มีทางฟื้นแบบ V-Shape แม้ IMF ยังบอกว่าไม่มีทาง full capacity ไปอีก 6-12 เดือน คนเป็นวีไอจึงมองได้ว่างบจะแย่ไปอีก 2-4 ไตรมาส ดังนั้น จึงอาจเลือกที่จะเก็บเงินสดไว้ก่อน หรือขายหุ้นทิ้งบางส่วน

สิ่งที่นักลงทุนควรทำ คือต้องมีทั้งเงินสดและมีทั้งหุ้น ถ้ามีเงินสดเยอะเกินก็อาจพลาดโอกาสครั้งใหญ่ แต่จะไม่มีเงินสดเลยก็เสี่ยงไป

ต้องแยกเศรษฐกิจกับตลาดหุ้น ตลาดเป็น V-Shape แต่เศรษฐกิจมันไม่มี sign ว่าจะเป็นอย่างนั้น โดยเฉพาะของไทย

ตอนนี้สถานการณ์เหมือนเราเป็นสุมาอี้ยืนอยู่หน้าเมืองเสเสีย เห็นขงเบ้งดีดพิณอยู่บนกำแพง จึงลังเลว่าจะบุกเข้าไปดีมั้ย ถ้าบุกเข้าไปแล้วเจอซุ่มโจมตีก็อาจเละได้ แต่ถ้าไม่เข้า แล้วปรากฏว่าที่จริงไม่มีทหาร ก็อาจเสียโอกาสทองได้

คุณนิ้วโป้งเอง ก่อนหน้านี้เคย “ถัวสะเทือนใจ” ตอนที่หุ้นลงช่วงเดือน มี.ค. ก็เข้ารับจนเงินแทบไม่เหลือ ถึงกับนอนไม่หลับ คิดมาก ซื้อเสร็จแล้วก็ลงต่อทุกตัว ทว่าแม้จะเจ็บปวด ก็รู้ว่าตัวเองกำลังทำในสิ่งที่ถูกต้อง

ตอนนี้ก็ยังถือเงินก้อนสุดท้ายไว้ เผื่อว่าหุ้นเป็น L Shape หรือมีการย่ออีกระลอก 

จุดแตกต่างระหว่างคนมีประสบการณ์กับคนไม่มีประสบการณ์ คือเวลาหุ้นลง คนที่มีประสบการณ์ แม้จะปวดใจแต่ก็ยังซื้อถัว ขณะที่มือใหม่อาจจะกลัวแล้วหยุดซื้อเลย ทำให้ไม่ได้ของเวลาถูก

สิ่งสำคัญคือ “เมื่อวิกฤตผ่านไป เราต้องเติบโตขึ้น”

บางคนพลาด เพราะพอพอร์ตแดงทั้งพอร์ต ก็เลือกที่จะขายตัวที่ลบน้อย แล้วเก็บตัวที่ลบเยอะไว้ ทั้งที่จริงแล้วควรทำสลับกัน เพราะหุ้นที่ลบน้อยคือหุ้นพื้นฐานดี หุ้นที่ลบเยอะคือหุ้นแย่ ทำอย่างนี้จึงกลายเป็นการ “เด็ดดอกไม้แต่รดน้ำวัชพืช” แบบที่ปีเตอร์ ลินช์ บอก ครั้นขายแล้วเอาเงินสดมากอดไว้ กะว่าหุ้นจะลงไป 800 หรือ 600 จุด แต่แล้วก็มาไม่ถึง จึงมีแต่เสียกับเสีย

ตอนนี้ Valuation ทำยากมาก ดู P/E ก็ไม่ได้ เพราะตัว E (กำไร) ติดลบ บางบริษัทตัว R (รายได้) เป็น 0 ด้วยซ้ำไป ถ้าจะประเมินมูลค่าต้องประเมินกำไร Y1 Y2 ให้เป็นลบไปเลย แล้วค่อยประเมินกำไร Y3 Y4 เป็นบวก ก่อนจะ discount กลับมา

กอง REIT บางตัวรายได้เป็นศูนย์ ถ้าจะซื้อต้องหันไปประเมิน NAV ดูสินทรัพย์แทน

ถ้าหุ้นลงต้องซื้อถัวบ้าง หรือใช้ “ราคาเพิ่มทุน” เป็น benchmark ถ้าราคาต่ำกว่าราคาเพิ่มทุนค่อยซื้อ

ตอนนี้คุณนิ้วโป้งทำ DCA กับหุ้นโรงแรม โดยจะซื้อให้ผ่าน cycle ลบไป เพราะเชื่อว่าต่อไปต้องกลับขึ้น แต่ยังดูไม่ออกว่าจะกระทบแค่ไหน จึงใช้การ DCA เฉลี่ยซื้อไปเรื่อยๆ

** คุณนิ้วโป้งใช้การประเมินมูลค่าโดยวิธี DCF โดยจะทำ excel ไว้  ตัวอย่างเช่น ตอนนี้กำลังทำ DCF  “หุ้นโรงหนัง” โดยตีเอาว่าปีนี้ (2020) งบขาดทุน แล้วตีว่าปีหน้า (2021) กำไรจะเหลือครึ่งนึง พอปีถัดไป (2022) ค่อยให้กำไรกลับมาเท่ากับปี 2019 จากนั้นจึงค่อยลาก growth ต่อไป

หลังจากหากระแสเงินสดได้แล้ว ก็ค่อยคิดลดกลับมา ซึ่งหลังจากที่ทำ ก็ได้มูลค่าหุ้นออกมาต่ำมาก แต่แล้วราคาหุ้นก็ลงมาถึงจุดนั้นจริงๆ แม้จะใช้ประมาณการที่คิดว่า conservative มากแล้ว 

การทำ DCF เป็นการคาดการณ์กระแสเงินสด ซึ่งต้องมองในทุกแง่มุมของธุรกิจเท่าที่จะทำได้ จึงเป็นการบีบตัวเองให้มองธุรกิจให้รอบด้านที่สุด แม้จะไม่ถึงกับแม่นยำ 100% แต่ก็มีอะไรให้เรายึดเกาะ

ถ้าจะวัดมูลค่า อย่ากลัวว่าจะผิด เพราะแม้นักวิเคราะห์ก็ยังประเมินหุ้นตัวเดียวกันออกมาได้แตกต่างกันมากมาย บางทีต่างกันเป็นเท่าตัว

ตอนนี้คุณนิ้วโป้งไม่ได้ลงทุนหุ้นต่างประเทศ ลงแต่หุ้นไทย แต่เชื่อว่าในอนาคตอาจจำเป็นต้องเพิ่มหุ้นต่างประเทศเข้ามาในพอร์ตเพื่อกระจายความเสี่ยง


ดูคลิปตัวเต็มได้ทาง Club VI Youtube Channel ที่นี่

 

ถอดรหัส ปู่ “ขายหุ้นแบงก์” ทำไม

Warren_Buffett_at_the_2015_SelectUSA_Investment_Summit

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

16 พ.ค. 2020

วอร์เรน บัฟเฟตต์ ช็อคโลกอีกแล้ว ด้วยการเทขายหุ้นสถาบันการเงินออกมาเป็นจำนวนมาก

ที่เยอะสุดคือ โกลด์แมน แซคส์ ซึ่งถือมาตั้งแต่ Financial crisis ปี 2008 โดยนับจากต้นปี หุ้นโกลด์แมนร่วงลงมาถึง 33% หรือ 1 ใน 3

สถานการณ์เช่นนี้ ถ้ากางตำราเดิมของปู่ ต้องเข้าไป “ซื้อเพิ่ม” จึงจะถูก แต่ปรากฏว่าปู่กลับเทขายออกมา

จากรายงานล่าสุดที่แจ้งต่อ กลต. เบิร์คเชียร์เหลือหุ้นในโกลด์แมนไม่ถึง 2 ล้านหุ้น จากเดิม 12 ล้านหุ้น ลดลงถึง 84% จากเดิมมีหุ้นอยู่ในมือมูลค่าประมาณ 2,760 ล้านเหรียญ เหลือแค่ 297 ล้านเหรียญ และก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ก.พ. ปู่ก็เพิ่งขายหุ้นโกลด์แมนถึง 1 ใน 3 จากที่ถืออยู่เมื่อสิ้นปีที่แล้ว

เรียกได้ว่า “ขายต่อเนื่อง” และ “ขายอุตลุต” จริงๆ

นอกจากนี้ ปู่ยังลดสัดส่วนการถือหุ้นใน เจพี มอร์แกน อีกหนึ่งสถาบันการเงินชั้นนำลงเล็กน้อยประมาณ 3% ยังไม่นับการขายหุ้น US Bancorp ธนาคารขนาดใหญ่ เป็นมูลค่าไม่มากนักประมาณ 16 ล้านเหรียญ ซึ่งเพิ่งเป็นข่าวเมื่อ 2-3 วันก่อนหน้านี้

และยังไม่รวมการลดสัดส่วนการถือหุ้นใน เวลส์ ฟาร์โก แบงก์ลูกรักของปู่ (ที่เพิ่งเจอปัญหาการทุจริต) ในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา โดยขายหุ้นทิ้งไป 14% ซึ่งถือว่าไม่น้อย รวมทั้งอีกหนึ่งธนาคารคือ BNY Mellon ที่เพิ่งลดสัดส่วนลงด้วยเช่นกัน

ที่น่าแปลกใจก็คือ ปู่เพิ่งพูดในการประชุมเบิร์คเชียร์ 2020 ที่ผ่านมาว่า แบงก์ไม่ใช่ธุรกิจที่น่าเป็นห่วงมากนักจากวิกฤตโคโรน่าไวรัส

ปู่บอกว่า “ถ้าปัญหาเศรษฐกิจหนักมากถึงระดับหนึ่ง แม้แต่ธนาคารที่เข้มแข็งก็ยังต้องรับความกดดันอย่างหนัก และเราก็ดีใจมากที่มีระบบธนาคารกลางคอยหนุนหลังพวกเขาอยู่”

“ระบบธนาคารโดยรวมๆ จะไม่เป็นปัญหาอะไร” ปู่ชี้ชัด “พวกเขา (ธนาคาร) ไม่ใช่ประเด็นหลักที่ผมห่วงเลย”

ด้วยเหตุนี้ การที่ปู่ขายหุ้นแบงก์ แม้จะไม่พลิกความคาดหมายอะไรมากนัก เพราะขายมาแล้วตั้งแต่ต้นปี แต่ก็ชวนให้สงสัยว่าปู่คิดอะไรอยู่หรือถึงทำเช่นนี้ เป็นการยอม “ขาดทุนกำไร” มหาศาล ชนิดที่ถ้าเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่ปู่ทำ อาจถูกมองว่าเป็น “พฤติกรรมเม่า” ด้วยซ้ำ

ประเด็นนี้ ผมอยากนำท่านย้อนไปถอดรหัสคำพูดของปู่ ในอีกตอนหนึ่งของการประชุมเบิร์คเชียร์ 2020 ที่ผ่านมา

ปู่เล่าถึงสมัยเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือ Great Depression ว่า วันที่ 3 ก.ย. 1929 ดัชนีดาวโจนส์อยู่ที่ 381.17 จุด ตอนนั้นเป็นช่วงที่ผู้คนแฮปปี้กันมาก แต่แล้ว พอถึงวันที่ 13 พ.ย. 1929 ผ่านมาเพียงสองเดือนกว่า หุ้นก็ตกลงมาเหลือ 198.69 จุด หรือลดลงมา 48% จากจุด high

ปู่บอกว่า ตอนนั้นยังไม่ชัดเจนด้วยซ้ำว่าสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจ “ตกต่ำ” หรือ depression ผู้คนต่างคิดว่าเป็นแค่ภาวะ “ถดถอย” หรือ recession เหมือนครั้งก่อนๆ

หลังจากนั้นเก้าเดือน ในวันเสาร์ที่ 30 สิงหาคม 1930 ปู่ก็ลืมตาออกมาดูโลก โดยก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน (วันศุกร์ที่ 29 ส.ค.) ตลาดปิดที่ 240.42 จุด ปรับตัวขึ้นมา 20% จากเก้าเดือนก่อนหน้า และพอปู่อายุได้สิบวัน หุ้นก็ขึ้นไปแตะที่ 245 จุด

ถึงตรงนี้ ใครต่อใครพากันมองว่ามรสุมร้ายน่าจะผ่านพ้นไปแล้ว …

ทว่าตลาดกลับ “พังครืน” ลงมาอีกรอบ และรอบนี้คือของจริง !!

จาก high ที่ 245 จุด พอถึงวันที่ 8 ก.ค. 1932 หรือผ่านมาไม่ถึงสองปี ดัชนีกลับลดลงเหลือเพียง 41.22 จุด ทรุดฮวบลงมา 83% จากวันที่ปู่เกิด และลงมา 89% จากจุดพีค โดยเงิน 1,000 เหรียญที่ซื้อ Dow Jones Average ในวันเกิดปู่ จะเหลือแค่ 170 เหรียญ

ย้ำว่าในเวลาไม่ครบสองปีดี

จะเห็นได้ว่า สมัย Great Depression ทีแรกคนยังไม่คิดว่า “รุนแรง” อะไรนัก นึกว่าผ่านมาให้พอสะดุ้ง เดี๋ยวก็คงผ่านไป แม้หุ้นจะตกลงมาเกือบ 50% แต่ก็กลับขึ้นมาพอสมควร นักลงทุนมากมายจึงย้อนเข้าไปในตลาด

ณ จุดนี้เอง ตลาดหุ้นก็พังพาบลงอีกครั้ง และครั้งนี้เป็นการพังชนิด “ล่มสลาย” ไม่เหลือชิ้นดี ก่อนจะเข้าสู่ภาวะ Depression ที่ไม่ใช่แค่  Recession แต่เป็น “Great Depression” คือ “ตกต่ำครั้งใหญ่” เสียด้วย

ผมจึงขอตั้งข้อสงสัยว่า ในวิกฤตโคโรน่าไวรัสครั้งนี้ การที่ปู่ถือเงินสด 137,000 ล้านเหรียญ หรือเกือบ 4.5 ล้านล้านบาท ไม่ยอมซื้ออะไรเลย ทั้งยังทยอยขายหุ้นแบงก์และหุ้นอื่นๆ ทิ้ง

เป็นไปได้ไหมว่า ปู่กำลังมองว่าวิกฤตที่ดูเหมือนเริ่มผงกหัวขึ้นมาอีกครั้งในเวลานี้ สุดท้ายแล้วอาจดิ่งลงเหวลึกยิ่งกว่าเดิม เหมือนฝันร้ายเมื่อ 90 ปีก่อน

ก่อนจบ ขอยกอีกท่อนหนึ่งจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา มาถ่ายทอดไว้

ปู่บอกว่า “เราอาจเจอประสบการณ์ ที่เหตุการณ์อย่างมหาโรคระบาดครั้งนี้เกิดขึ้น ซึ่งมันยากมากเลยที่จะคิดเผื่อไว้ก่อน นี่คือเหตุผลที่เราจะไม่ใช่เงินกู้ หรือมาร์จิ้นเพื่อลงทุน และเราก็บริหารเบิร์คเชียร์กันมาอย่างนี้ เราบริหารมันในรูปแบบที่ในทางทฤษฎี เราจะพร้อมรับสถานการณ์เลวร้ายที่สุดเสมอ”

“พร้อมรับสถานการณ์เลวร้ายที่สุด” นี่อาจเป็นเหตุผลแห่ง “แอ็คชั่นช็อคโลก” ของปู่ก็เป็นได้


ที่มาของข้อมูล : คลิปถ่ายทอดสดจาก Yahoo! Finance, CNBC, Bloomberg

บทเรียนจากการลงทุนในวิกฤตโคโรนาไวรัส (จบ)

IMG_8816

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

สืบเนื่องจากตอนที่แล้ว ผมได้เขียนทบทวนประสบการณ์การลงทุนฝ่าวิกฤตโคโรนาไวรัสตลอดสองเดือนที่ผ่านมา ตอนนี้เป็นตอนที่สอง มาต่อกันเลยครับ (ใครยังไม่ได้อ่านตอนที่แล้ว คลิกที่นี่)

5. ซื้อบุหรี่ด้วยราคาครึ่งมวน

โดยส่วนตัว ผมไม่ได้มองหุ้นไทยสดใสนักแม้หลังวิกฤตโคโรนาไวรัสผ่านพ้นไป ด้วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่อ่อนแออยู่ก่อนหน้านี้แล้ว พอมาเจอวิกฤตนี้อีกก็ยิ่งจะทรุดหนัก และคงต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะกลับมา

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่หุ้นไทยปรับตัวลดลงมามาก ทั้งที่หุ้นบางตัว ตัวธุรกิจถูกกระทบจากวิกฤตค่อนข้างน้อย เพียงเข้าซื้อก็ทำให้ได้ “ส่วนต่าง” พอสมควรแล้ว หรือที่ ดร.นิเวศน์ ใช้คำประมาณว่า .. เล่น gap ซึ่งผมอยากเปรียบเทียบว่า เหมือนการ “ซื้อบุหรี่ทั้งมวนโดยจ่ายราคาแค่ครึ่งมวน” คือได้กำไรตั้งแต่เข้าซื้อ

ช่วงสองเดือนที่ผ่านมาผมได้กำไรจากการซื้อบุหรี่โดยจ่ายราคาค่อนมวน (ไม่ถูกถึงขนาดครึ่งมวน) มาพอสมควร และนี่คืออีกสิ่งหนึ่งซึ่งผมและหลายๆ คนที่กล้าเข้าซื้อทำได้ถูกต้อง แต่อย่างที่บอกไปในข้อที่ 3 (ตอนที่แล้ว) คือด้วยความที่เงินสดเหลือน้อย จึงเสียโอกาสไปพอสมควร

6. Balance โอกาสในการลงทุน

สืบเนื่องจากข้อ 5 ถ้าเล่น gap อย่างเดียว ผมมองว่าเป็นการเสียโอกาสอยู่เหมือนกัน เพราะหุ้นบางตัวยังน่าจะโตได้อยู่ แต่ถูกเล่นงานจากวิกฤตครั้งนี้จนราคาลดลงมาเยอะมาก ทั้งที่มองมุมไหนธุรกิจก็ไม่น่าจะกระทบขนาดนั้น เราจึงควรเข้าซื้อหุ้นที่ราคาลงมาเยอะ และมี potential growth ในอนาคตหลังวิกฤตผ่านไปด้วย

โดยส่วนตัว ผมจึง bet กับหุ้นประเภทนี้ ควบคู่ไปกับหุ้นบุหรี่ครึ่งมวนตามที่บอกไปในข้อ 5 ซึ่งถ้าใครมาปรึกษา ผมก็จะแนะนำอย่างนี้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหุ้นลักษณะนี้ คุณต้องเข้าใจตัวธุรกิจดีพอสมควร จึงจะมั่นใจว่ามันจะกลับมาได้ เพราะถ้ามองผิดไปก็อาจเจ็บตัว หากมันถูกวิกฤตกระทบจนพื้นฐานเปลี่ยนแล้วไม่กลับมาเหมือนเดิม

7.เลือกลงทุนหุ้นไทย

ก่อนหน้านี้ผมก็เหมือนกับวีไออีกจำนวนมาก คือมองว่าเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ตลาดหุ้นไทยเป็น sideways และคงไปไหนไม่ได้ไกล จึงเลือกที่จะไปลงทุนหุ้นต่างประเทศ (ผมไม่ได้ไปเวียดนามเหมือนคนอื่นๆ) อย่างไรก็ตาม พอเกิดวิกฤต และหุ้นไทยตกลงมาพร้อมๆ กับหุ้นนอก ผมก็กลับมาลงทุนในหุ้นไทยซึ่งเป็นเขตแดนที่ผมมีข้อมูลมากที่สุด เนื่องจากผมมองว่าเมื่อโอกาสมาถึงแล้ว หุ้นไทยดีๆ บางตัวราคาปรับลดลงมา 40-50% ผมไม่จำเป็นต้องไปแสวงหาอะไรไกลนัก ในเมื่อโอกาสหล่นตุ้บมาอยู่ตรงหน้าแล้ว

8.ย้ายเงินไปต่างประเทศหลังวิกฤต

อย่างไรก็ตาม ผมวางแผนว่า เมื่อหุ้นไทยปรับตัวขึ้นมาสู่ราคา ณ ระดับก่อนวิกฤตแล้ว ผมอาจจะพิจารณาโยกเงินส่วนหนึ่ง (ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะมากน้อยเท่าไร) กลับไปต่างประเทศเหมือนเช่นเคย เนื่องจากผมยังมอง growth ของหุ้นไทยว่ามีค่อนข้างจำกัด อันเนื่องมาจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอยู่เหมือนเดิม เมื่อฝุ่นหายตลบ ผมจึงอาจจะกลับไปแสวงหา growth ที่อื่นต่อไป

9.ทุ่มเทมากขึ้น

ตั้งแต่เกิดวิกฤตเป็นต้นมา ผมเข้านอนประมาณตี 5 ทุกวันหลังตลาดสหรัฐฯ ปิด และตื่นอีกครั้งก่อน 10 โมง พร้อมตลาดหุ้นไทย แต่นั่นไม่ได้แปลว่าผมนอนน้อย-อยู่ดึกเพื่อ “เฝ้าหน้าจอ” ทว่าทำไปเพื่อติดตามข่าวสารและรับข้อมูล จะได้รู้ทิศทางของสถานการณ์ที่ครั้งนี้ส่งผลกระทบไปทั่วโลก

ปกติแล้ว คนเป็นวีไอไม่จำเป็นต้องตามติดสถานการณ์ในระยะสั้น แต่พึงมองเทรนด์ระยะยาว ทว่าโรคระบาดครั้งนี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในชั่วชีวิตของเรา จึงอ่านเทรนด์ได้ยากมาก การตามข่าวจึงทำให้มีความได้เปรียบ โดยคำว่า “ข่าว” ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงข่าวสารความเป็นไปของสถานการณ์การระบาดหรือสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่หมายถึงการวิเคราะห์ ความคิดเห็น และความรู้จากนักลงทุนระดับโลก ซึ่งจะช่วยให้มุมมอง (insight) กับเราได้ดีมากๆ ยิ่งรู้มากก็ยิ่งได้เปรียบ

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ผมได้ทำและเรียนรู้ในช่วงที่ผ่านมาสองเดือนกว่าๆ แน่นอนว่าวิกฤตครั้งนี้ยังอีกยาวไกล คงต้องหาเวลามาทบทวนใหม่อยู่เรื่อยๆ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกท่านบ้าง ไม่มากก็น้อยนะครับ