โกดัก กับ “ลาภมิควรได้” ของนักเก็งกำไร

Screen Shot 2020-08-07 at 11.31.07 AM

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช 

ข่าวหนึ่งซึ่งสื่ออเมริกันทุกสำนักให้ความสนใจในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา คือกรณี “โกดัก” อดีตบริษัทผลิตฟิล์มและอุปกรณ์ถ่ายภาพชื่อก้องโลก กำลังจะได้รับเงินกู้ก้อนโตจากรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อใช้ในการผลิตส่วนผสมของยาที่ใช้กับ​โคโรนาไวรัส 

ใครๆ ก็รู้ว่าโกดักเป็นบริษัทผลิตฟิล์ม แล้วมาเกี่ยวข้องกับ “ยา” ได้อย่างไร?

อันที่จริง บริษัทแห่งสีสันรายนี้ หันมาทำธุรกิจผลิตส่วนผสมของยาตั้งแต่สี่ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามทุกวิถีทางที่จะคัมแบ็กกลับมาให้ได้ หลังจากยื่นขอล้มละลายไปเมื่อหลายทศวรรษก่อน

ครั้นเกิดการระบาดของโควิด-19 ก็มีข่าวตรงจากทำเนียบขาวว่าจะให้เงินกู้แก่โกดักเป็นจำนวนถึง 765 ล้านเหรียญ เพื่อการผลิต “ส่วนผสมของยา” สำหรับใช้ภายในประเทศ

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ บอกว่า โกดักมี “เทคนิคในการผลิตที่ก้าวหน้า” และ “มีทั้งต้นทุนที่แข่งขันได้และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ซึ่งจะช่วยให้สหรัฐอเมริกาลดการพึ่งพาส่วนประกอบของยาจากบริษัทต่างประเทศดังที่เป็นมาตลอด อันเป็นเหตุให้ราคายาสูงกว่าที่ควรจะเป็น

ทรัมป์ยังบอกด้วยว่า นี่คือ “หนึ่งในดีลครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์วงการยาสหรัฐฯ” โดยบอกว่าโกดักคือ “หนึ่งในบริษัทที่ยิ่งใหญ่ของอเมริกัน” และ “ใครๆ ก็จำบริษัทนี้ได้”

ผลที่เกิดขึ้นก็คือ หลังจากข่าวนี้เปิดเผยออกมาเมื่อวันที่ 27 ก.ค. ราคาหุ้นโกดักก็พุ่งกระฉูดจาก 2 เหรียญขึ้นไปถึง 60 เหรียญ ปรับตัวขึ้น “พันกว่าเปอร์เซ็นต์” ในเวลาเพียงสองวันทำการ

จากนั้น มีข่าวออกมาอีกครั้งว่า ดีลระหว่างรัฐบาลกับโกดักนั้นยังอีกยาวไกลกว่าจะเกิดขึ้น เพราะต้องมีการสอบทานกิจการ และเงินกู้ดังกล่าวยังต้องใช้ทรัพย์สินของบริษัทค้ำ จึงต้องประเมินมูลค่ากันเสียก่อน เรียกได้ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เหมือนที่ฟังจากปากทรัมป์เลย 

จากจุดสูงสุดที่ 60 เหรียญ หุ้นโกดักร่วงลงมาอย่างรุนแรง ก่อนจะยืนระยะอยู่แถวๆ 20 เหรียญช่วงสิ้นเดือน ก.ค. แต่แล้วก็ปรับลดลงมาแตะจุดต่ำสุดที่ 12.86 เหรียญในวันที่ 4 ส.ค. หลังมีข่าวว่า กลต.เตรียมเข้าไปสอบสวน กรณีที่ CEO ของบริษัทได้รับออปชั่นหุ้นในวันก่อนที่จะมีข่าวเรื่องเงินกู้

เรียกได้ว่าคนที่โดดเข้าไปเก็งกำไรมีอันต้องเจ็บตัวไปตามๆ กัน 

นักลงทุนคนหนึ่งเล่าให้วอลล์สตรีทเจอร์นัลฟังว่า เขาเข้าซื้อหุ้นโกดักหลังจากมีข่าวดีที่ราคา 17, 24 และ 52.5 เหรียญ เฉลี่ยต้นทุนอยู่ที่ 35 เหรียญ แต่แล้วพอหุ้นตกก็รีบขายตัดขาดทุน รวมๆ แล้วสูญเงินไป 95,000 เหรียญ (3 ล้านกว่าบาท)

เหตุการณ์ในช่วงเวลาเพียงสัปดาห์เดียวที่เล่ามานี้ ถือเป็นกรณีศึกษาที่ดีของการเข้าไปเก็งกำไรหุ้นตามข่าวโดยไม่มีพื้นฐานกิจการรองรับ

จะว่าไป นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติ แต่ครั้งนี้ หนึ่งในผู้ที่ปล่อยข่าวเป็นถึง ปธน.สหรัฐฯ ทำให้คนจำนวนมากตื่นเต้นและมองบวกเกินเหตุโดยไม่รอฟังรายละเอียด จนประสบกับความเสียหายในที่สุด

เพราะหวังกำไรจาก “ลาภมิควรได้” นั่นเอง


ข้อมูลประกอบจาก Wall Street Journal

มาร์ก คิวบาน ชี้ “หุ้นขึ้น มีแต่คนเก่งเต็มตลาด”

109838954_3429763967075606_1762946659080459955_o

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

มาร์ก คิวบาน มหาเศรษฐีอันดับ 175  ของสหรัฐฯ และเจ้าของทีมดัลลัส มาเวอริคส์ ให้สัมภาษณ์ CNBC ว่า ตลาดหุ้นที่วิ่งห้อตะบึงมานับจากจุดต่ำสุดเมื่อเดือน มี.ค. ทำให้เขานึกถึงฟองสบู่ด็อทคอมสมัยยุค 90 มากๆ

“ในมุมหนึ่งมันอาจจะต่างกันเพราะมี เฟด และ สภาพคล่องที่อัดฉีดกันเข้ามา รวมทั้งเงินเฟ้อกับสินทรัพย์ทางการเงินที่ตามมาด้วย แต่โดยภาพใหญ่แล้วมันเหมือนกันเลย” คิวบานบอกเบ็คกี้ ควิก พิธีกรสาวสวยในรายการ สคว้อกบ็อกซ์

“ขนาดหลานสาวผมอายุ 18 ยังถามผมว่าจะลงทุนหุ้นอะไรดี เพราะเพื่อนๆ นางได้กำไรกันวันละ 30%  แถมคนโน้นคนนี้ที่ไม่เคยสนใจหุ้นเลยก็ยังมาถามผมว่าควรลงทุนหุ้นตัวไหน”

นักธุรกิจผู้สร้างความร่ำรวยขึ้นมาพร้อมกับการเติบโตของอินเทอร์เน็ต จนปัจจุบันมีความมั่งคั่งถึง 4,200 ล้านเหรียญเตือนด้วยว่า อย่าหลงไปกับภาพสวยๆ ในเวลานี้

“ในตลาดกระทิง ทุกคนอัจฉริยะหมดนั่นแหละ” มาร์กชี้ชัด

“ตอนนี้ใครๆ ก็ได้เงิน เพราะมีเฟดคอยเติมเงินเข้ามา ซึ่งทำให้คนที่จะไม่มีวันโดดเข้ามาถ้าไม่มีเฟด แห่กันเข้ามาเต็มไปหมด”

ทั้งนี้ นับถึงปิดตลาด วันศุกร์ที่ 24 ก.ค. ดัชนีแน็สแด็ค ซึ่งประกอบด้วยหุ้นเทคจำนวนมาก ได้ปรับตัวขึ้นมารวมๆ แล้วถึง 60% จากจุดต่ำสุดเมื่อวันที่ 23 มี.ค. หรือประมาณสี่เดือนที่แล้ว ซึ่งในวันนั้นเองที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ อัดฉีดเงินก้อนโตเข้ามาในระบบ ชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์

ในส่วนของคิวบาน เขาตั้งคำถามมาตั้งแต่เดือน พ.ค. ว่าตลาดหุ้นน่าจะแพงเกินไปแล้วหรือไม่ และในครั้งนี้ เขายังเตือนซ้ำอีกว่า สมัยฟองสบู่อินเทอร์เน็ต หุ้นก็ขึ้นอยู่อย่างนี้หลายปี โดยแนสแด็คปรับตัวสูงขึ้นถึง 500% นับจากปี 1995 ก่อนจะพังครืนลงในเดือน มี.ค. ปี 2000 หรือห้าปีต่อมา

ดังนั้น ใครที่คิดว่า “รอบนี้ของจริง” ขออย่าได้วางใจเป็นอันขาด

“มันไม่ใช่แบบ ‘โอ๊ะ นี่เราอยู่ในฟองสบู่แล้วนะ’ แล้วแค่ไม่กี่เดือนฟองสบู่ก็แตก” นักลงทุน “ฉลาม” จากรายการ Shark Tank กล่าว และเสริมด้วยว่า สถานการณ์เช่นนี้มักเย้ายวนใจจนคนส่วนใหญ่อดรนทนไม่ไหว “บางทีมันก็ยากที่จะอดทน เราเห็นอยู่ว่ามีเงินก้อนโตกำลังจะเข้ามาในตลาดและไล่ล่าผลตอบแทนที่ว่านั้น”

ครั้นถูกถามว่า แล้วเขาให้คำตอบกับหลานสาวอย่างไร มาร์กเฉลยว่า เขาบอกหลานสาวให้ …

“เอาเงินออกซะ” 


ข้อมูลประกอบ อ่านได้ที่นี่

นักวิเคราะห์ดังฟันธง ตลาดหุ้น “เด้งหลอก”

 

image-asset

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

แกรี ชิลลิง นักวิเคราะห์และนักเขียนด้านการเงินชื่อดังของสหรัฐฯ เตือนว่า การเด้งขึ้นของตลาดหุ้นขณะนี้ อาจเป็นการ “เด้งหลอก” เหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้ง Great Depression หรือ “เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่” ประมาณ 90 ปีที่แล้ว

ชิลลิง ซึ่งคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงการลงทุนมาตลอดชีวิตบอกกับ CNBC ว่า ตลาดหุ้นปีหน้าอาจปรับตัวลงได้ถึง 30-40% เมื่อนักลงทุนเห็นแล้วว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังต้องใช้เวลาอีกนาน

“ผมคิดว่าเดี๋ยวจะมีลงรอบสอง ซึ่งเหมือนมากๆ กับที่เคยเกิดขึ้นในยุค 1930 คือผู้คนเริ่มรู้ตัวว่าการถดถอยและความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นมันสาหัสขนาดไหน และต้องใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะฟื้นกลับมา”

ทั้งนี้ ในสมัย The Great Depression หุ้นร่วงลงถึง 48% ในปี 1929 ซึ่งเป็นจุดเร่ิมต้นของวิกฤต แต่แล้วก็เด้งกลับขึ้นมา ณ จุดเดิมในเดือน เม.ย. ปี 1930

ทว่าเมื่อปรากฏชัดแล้วว่าสภาพเศรษฐกิจขณะนั้นฟอนเฟะเพียงใด ตลาดก็ร่วงลงไปอีกรอบ และครั้งนี้เป็นการร่วงหนักถึง 86% (หากนับจากจุดสูงสุดในปี 1929 ก่อนฟองสบู่แตก จะเท่ากับร่วงถึง 89%)

… เรียกได้ว่าเละเทะไม่มีชิ้นดี

“หุ้นตอนนี้เหมือนตอนที่เด้งกลับมาในปี 1929 มาก คนเชื่อกันสุดๆ ว่าเราคุมไวรัสได้เบ็ดเสร็จ แถมยังอัดเงินกระตุ้นทางการเงินการคลังเข้ามามโหฬารเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ” นักวิเคราะห์อาวุโสชี้

สำหรับตลาดหุ้นไทย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ก็เตือนเช่นกันว่า ตลาดหุ้นไทยที่เด้งขึ้นมาเวลานี้ อาจเป็น technical rebound คือขึ้นเพราะลงมาเยอะ

คล้ายคลึงกับเมื่อครั้งวิกฤตต้มยำกุ้งปี 40 ที่หุ้นร่วงลงหนักมาก ก่อนจะเด้งขึ้นมาอย่างแรง แต่แล้วก็ปรับตัวลงอีกครั้ง และขึ้นๆ ลงๆ อีกหลายรอบ ทว่าในที่สุดก็ “หมดแรง” โดยร่วงลงยาวๆ และโงหัวไม่ขึ้นอีกหลายปี

“คำว่า techical rebound คือขึ้นเพราะมันลงมาหนัก แล้วคนเข้ามาช้อน แต่ว่าถ้าเศรษฐกิจไม่สามารถฟื้นได้ มันจะตกใหม่ และตกแรง นี่คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 40” ต้นแบบแห่งวีไอไทยกล่าว


ข้อมูลประกอบ : CNBC คลิกที่นี่ , คลิปสัมภาษณ์จาก The Secret Sauce คลิกที่นี่

ภาพประกอบจาก : agaryshilling .com