โกดัก กับ “ลาภมิควรได้” ของนักเก็งกำไร

Screen Shot 2020-08-07 at 11.31.07 AM

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช 

ข่าวหนึ่งซึ่งสื่ออเมริกันทุกสำนักให้ความสนใจในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา คือกรณี “โกดัก” อดีตบริษัทผลิตฟิล์มและอุปกรณ์ถ่ายภาพชื่อก้องโลก กำลังจะได้รับเงินกู้ก้อนโตจากรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อใช้ในการผลิตส่วนผสมของยาที่ใช้กับ​โคโรนาไวรัส 

ใครๆ ก็รู้ว่าโกดักเป็นบริษัทผลิตฟิล์ม แล้วมาเกี่ยวข้องกับ “ยา” ได้อย่างไร?

อันที่จริง บริษัทแห่งสีสันรายนี้ หันมาทำธุรกิจผลิตส่วนผสมของยาตั้งแต่สี่ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามทุกวิถีทางที่จะคัมแบ็กกลับมาให้ได้ หลังจากยื่นขอล้มละลายไปเมื่อหลายทศวรรษก่อน

ครั้นเกิดการระบาดของโควิด-19 ก็มีข่าวตรงจากทำเนียบขาวว่าจะให้เงินกู้แก่โกดักเป็นจำนวนถึง 765 ล้านเหรียญ เพื่อการผลิต “ส่วนผสมของยา” สำหรับใช้ภายในประเทศ

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ บอกว่า โกดักมี “เทคนิคในการผลิตที่ก้าวหน้า” และ “มีทั้งต้นทุนที่แข่งขันได้และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ซึ่งจะช่วยให้สหรัฐอเมริกาลดการพึ่งพาส่วนประกอบของยาจากบริษัทต่างประเทศดังที่เป็นมาตลอด อันเป็นเหตุให้ราคายาสูงกว่าที่ควรจะเป็น

ทรัมป์ยังบอกด้วยว่า นี่คือ “หนึ่งในดีลครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์วงการยาสหรัฐฯ” โดยบอกว่าโกดักคือ “หนึ่งในบริษัทที่ยิ่งใหญ่ของอเมริกัน” และ “ใครๆ ก็จำบริษัทนี้ได้”

ผลที่เกิดขึ้นก็คือ หลังจากข่าวนี้เปิดเผยออกมาเมื่อวันที่ 27 ก.ค. ราคาหุ้นโกดักก็พุ่งกระฉูดจาก 2 เหรียญขึ้นไปถึง 60 เหรียญ ปรับตัวขึ้น “พันกว่าเปอร์เซ็นต์” ในเวลาเพียงสองวันทำการ

จากนั้น มีข่าวออกมาอีกครั้งว่า ดีลระหว่างรัฐบาลกับโกดักนั้นยังอีกยาวไกลกว่าจะเกิดขึ้น เพราะต้องมีการสอบทานกิจการ และเงินกู้ดังกล่าวยังต้องใช้ทรัพย์สินของบริษัทค้ำ จึงต้องประเมินมูลค่ากันเสียก่อน เรียกได้ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เหมือนที่ฟังจากปากทรัมป์เลย 

จากจุดสูงสุดที่ 60 เหรียญ หุ้นโกดักร่วงลงมาอย่างรุนแรง ก่อนจะยืนระยะอยู่แถวๆ 20 เหรียญช่วงสิ้นเดือน ก.ค. แต่แล้วก็ปรับลดลงมาแตะจุดต่ำสุดที่ 12.86 เหรียญในวันที่ 4 ส.ค. หลังมีข่าวว่า กลต.เตรียมเข้าไปสอบสวน กรณีที่ CEO ของบริษัทได้รับออปชั่นหุ้นในวันก่อนที่จะมีข่าวเรื่องเงินกู้

เรียกได้ว่าคนที่โดดเข้าไปเก็งกำไรมีอันต้องเจ็บตัวไปตามๆ กัน 

นักลงทุนคนหนึ่งเล่าให้วอลล์สตรีทเจอร์นัลฟังว่า เขาเข้าซื้อหุ้นโกดักหลังจากมีข่าวดีที่ราคา 17, 24 และ 52.5 เหรียญ เฉลี่ยต้นทุนอยู่ที่ 35 เหรียญ แต่แล้วพอหุ้นตกก็รีบขายตัดขาดทุน รวมๆ แล้วสูญเงินไป 95,000 เหรียญ (3 ล้านกว่าบาท)

เหตุการณ์ในช่วงเวลาเพียงสัปดาห์เดียวที่เล่ามานี้ ถือเป็นกรณีศึกษาที่ดีของการเข้าไปเก็งกำไรหุ้นตามข่าวโดยไม่มีพื้นฐานกิจการรองรับ

จะว่าไป นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติ แต่ครั้งนี้ หนึ่งในผู้ที่ปล่อยข่าวเป็นถึง ปธน.สหรัฐฯ ทำให้คนจำนวนมากตื่นเต้นและมองบวกเกินเหตุโดยไม่รอฟังรายละเอียด จนประสบกับความเสียหายในที่สุด

เพราะหวังกำไรจาก “ลาภมิควรได้” นั่นเอง


ข้อมูลประกอบจาก Wall Street Journal

นักวิเคราะห์ดังฟันธง ตลาดหุ้น “เด้งหลอก”

 

image-asset

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

แกรี ชิลลิง นักวิเคราะห์และนักเขียนด้านการเงินชื่อดังของสหรัฐฯ เตือนว่า การเด้งขึ้นของตลาดหุ้นขณะนี้ อาจเป็นการ “เด้งหลอก” เหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้ง Great Depression หรือ “เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่” ประมาณ 90 ปีที่แล้ว

ชิลลิง ซึ่งคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงการลงทุนมาตลอดชีวิตบอกกับ CNBC ว่า ตลาดหุ้นปีหน้าอาจปรับตัวลงได้ถึง 30-40% เมื่อนักลงทุนเห็นแล้วว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังต้องใช้เวลาอีกนาน

“ผมคิดว่าเดี๋ยวจะมีลงรอบสอง ซึ่งเหมือนมากๆ กับที่เคยเกิดขึ้นในยุค 1930 คือผู้คนเริ่มรู้ตัวว่าการถดถอยและความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นมันสาหัสขนาดไหน และต้องใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะฟื้นกลับมา”

ทั้งนี้ ในสมัย The Great Depression หุ้นร่วงลงถึง 48% ในปี 1929 ซึ่งเป็นจุดเร่ิมต้นของวิกฤต แต่แล้วก็เด้งกลับขึ้นมา ณ จุดเดิมในเดือน เม.ย. ปี 1930

ทว่าเมื่อปรากฏชัดแล้วว่าสภาพเศรษฐกิจขณะนั้นฟอนเฟะเพียงใด ตลาดก็ร่วงลงไปอีกรอบ และครั้งนี้เป็นการร่วงหนักถึง 86% (หากนับจากจุดสูงสุดในปี 1929 ก่อนฟองสบู่แตก จะเท่ากับร่วงถึง 89%)

… เรียกได้ว่าเละเทะไม่มีชิ้นดี

“หุ้นตอนนี้เหมือนตอนที่เด้งกลับมาในปี 1929 มาก คนเชื่อกันสุดๆ ว่าเราคุมไวรัสได้เบ็ดเสร็จ แถมยังอัดเงินกระตุ้นทางการเงินการคลังเข้ามามโหฬารเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ” นักวิเคราะห์อาวุโสชี้

สำหรับตลาดหุ้นไทย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ก็เตือนเช่นกันว่า ตลาดหุ้นไทยที่เด้งขึ้นมาเวลานี้ อาจเป็น technical rebound คือขึ้นเพราะลงมาเยอะ

คล้ายคลึงกับเมื่อครั้งวิกฤตต้มยำกุ้งปี 40 ที่หุ้นร่วงลงหนักมาก ก่อนจะเด้งขึ้นมาอย่างแรง แต่แล้วก็ปรับตัวลงอีกครั้ง และขึ้นๆ ลงๆ อีกหลายรอบ ทว่าในที่สุดก็ “หมดแรง” โดยร่วงลงยาวๆ และโงหัวไม่ขึ้นอีกหลายปี

“คำว่า techical rebound คือขึ้นเพราะมันลงมาหนัก แล้วคนเข้ามาช้อน แต่ว่าถ้าเศรษฐกิจไม่สามารถฟื้นได้ มันจะตกใหม่ และตกแรง นี่คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 40” ต้นแบบแห่งวีไอไทยกล่าว


ข้อมูลประกอบ : CNBC คลิกที่นี่ , คลิปสัมภาษณ์จาก The Secret Sauce คลิกที่นี่

ภาพประกอบจาก : agaryshilling .com

เพราะเหตุใดเราจึงควรฟังคำเตือนของ “โฮเวิร์ด มาร์กส์”

IMG_9009

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ผมเคยเกริ่นถึงโฮเวิร์ด มาร์กส์ ไปครั้งหนึ่ง ว่าเป็นนักลงทุนและผู้จัดการกองทุนที่ได้รับการยอมรับนับถือที่สุดคนหนึ่งของสหรัฐอเมริกา เขาทำผลตอบแทนทบต้นได้ถึง 19% ต่อปีจากการบริหารกองทุน Oaktree Capital Management เป็นเวลาหลายสิบปี

ความมั่งคั่งปัจจุบันของเขาอยู่ที่  2,200 ล้านเหรียญ เป็นอันดับที่ 370 ใน Forbes 400 ซึ่งเป็นอันดับคนรวยที่สุดของสหรัฐฯ

และผมก็เล่าด้วยว่า มาร์กส์เป็นที่รู้จักมากที่สุดจาก “เมโม” ซึ่งเขาเขียนถ่ายทอดความรู้และมุมมองต่อการลงทุนและเศรษฐกิจไว้ในเว็บไซต์ แม้แต่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ยังเคยบอกว่า “เวลาผมเห็นเมโมของโฮเวิร์ด มาร์กส์ ในกล่องจดหมาย มันเป็นสิ่งแรกที่ผมจะเปิดอ่าน และผมก็ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เสมอ”

นั่นคือความน่าเชื่อถือของมาร์กส์ ที่แม้แต่นักลงทุนหมายเลขหนึ่งของโลกอย่างบัฟเฟตต์ยังต้องฟังเขา

ในช่วงเวลาที่ตลาดกำลังเฟื่องฟู มาร์กส์มักเตือนคนในแวดวงการลงทุนเสมอว่าให้เพิ่มความระมัดระวัง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปี 1999 ซึ่งเป็นยุค “ด็อทคอม” บูม มาร์กส์กล่าวว่า

“บรรทัดสุดท้ายก็คือ นักลงทุนจำนวนมากที่เป็นคนตั้งราคาในตลาดหุ้น ไม่สนใจการประเมินมูลค่าแม้แต่น้อย ผมไม่เห็นเหตุผลเลยว่า พวกนักวิเคราะห์และผู้บริหารพอร์ตทั้งหลาย ที่หนุนหลังหุ้นเติบโตมูลค่าตลาดขนาดใหญ่และหุ้นอินเทอร์เน็ตที่กำลังพุ่งทะยาน เอาอะไรมาคิดว่าราคาที่เป็นอยู่นี้ จะคงอยู่ได้อย่างไร หรือให้ตายเถอะ จะขายมันต่อได้อย่างไร”

หลังจากนั้นไม่กี่ปี ก็อย่างที่เรารู้กัน คือฟองสบู่อินเทอร์เน็ตแตกออกดังโพล๊ะ คนในตลาดจำนวนมากที่เข้าไปเก็งกำไรหุ้นด็อทคอมที่ยังแทบไม่ได้ทำธุรกิจอะไรเป็นรูปเป็นร่างต่างพากันสิ้นเนื้อประดาตัว

ต่อมาในปี 2007 ขณะที่ตลาดกำลังเมามันส์กับหลักทรัพย์ที่ยัดไส้ไว้ด้วยสินเชื่อที่อยู่อาศัยคุณภาพต่ำ มาร์กส์เป็นคนแรกๆ ที่ออกมาเตือนให้เฝ้าระวังให้ดี

“สุดท้ายแล้ว ผู้ซื้อคือผู้ที่แบกหนี้จดจำนองไว้มากที่สุด เมื่อดูจากรายได้ของพวกเขาและอัตราดอกเบี้ย หนี้ก้อนนั้นจะทำให้พวกเขาได้เข้าไปอยู่ในบ้านในฝัน และอยู่ในนั้นไปเรื่อยๆ ตราบเท่าที่สถานการณ์ไม่ทรุดหนักลง แต่มันหนีไม่พ้นหรอกที่จะต้องทรุดหนักในที่สุด 

“ไม่ว่าจะเฉือนออกมาดูมุมไหนอย่างไร มาตรฐานของสินเชื่ออสังหาฯ ก็ตกต่ำลงมากในช่วงปีหลังๆ และความเสี่ยงก็เพิ่มขึ้นเยอะ เรื่องนี้มีตรรกะรองรับหรือเปล่า? ก็ไม่แน่ มันถูกโน้มนำด้วยวัฏจักรจนร้อนแรงมากไปหรือเปล่า? ถ้าถามผม ผมคิดว่าใช่ ที่แน่ๆ ก็คือ การปล่อยสินเชื่อถูกทำกันแบบเสี่ยงขึ้นเยอะ อีกไม่กี่ปีเราจะได้เห็นกันเองแหละว่า มันคือความเสี่ยงอย่างชาญฉลาด หรือระเบียบของการแข่งขันที่ล้นเกินกันแน่”

ซึ่งก็อย่างที่เราทราบกันดี ไม่กี่เดือนหลังมาร์กส์ออกมาเตือน สินเชื่อที่อยู่อาศัยเหล่านั้นก็เริ่มกลายเป็นหนี้เสียและส่งผลลุกลามกลายเป็นวิกฤตซับไพรม์ส ก่อนจะลามทุ่งกลายเป็นวิกฤตการเงินที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 80 ปี

สำหรับวิกฤตโคโรน่าไวรัสครั้งนี้ ที่ตลาดหุ้นร่วงลงไปเพียงชั่วประเดี๋ยว ก่อนจะเด้งกลับขึ้นมาหลังเฟดเข้าไปตะลุยซื้อสินทรัพย์ ก็เป็นอีกครั้งที่มาร์กส์ออกมาเตือน โดยกล่าวไว้เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาว่า

“ผมไม่รู้ว่ากระสุนของเฟดไม่มีขีดจำกัดจริงหรือเปล่า ผมรู้แค่ว่าเฟดสามารถทำให้ตลาดขึ้น และขึ้นอยู่อย่างนั้นได้ ตราบเท่าที่มันยังซื้ออยู่ แต่ผมก็ไม่รู้ว่ามันจะซื้อได้ตลอดไปหรือไม่ ตอนนี้เราเข้ามาอยู่ในเขตแดนใหม่ ในประวัติศาสตร์ เฟดไม่เคยซื้อตราสารของบริษัทมาก่อนเลย แต่รอบนี้ พวกเขาซื้อตราสารบริษัทเข้าไว้ด้วย แถมยังขยับขยายไปซื้อตราสารบริษัทที่ไม่ได้อยู่ในระดับลงทุนอีกต่างหาก

“การซื้อของเฟดอาจทำให้สิ่งต่างๆ ขึ้นได้ก็จริง แต่ก็จะขึ้นตราบเท่าที่มันยังคงซื้ออยู่เท่านั้น ผมมองมันเหมือนกับ เราเห็นกันมาแล้วว่า มันเหมือนกับน้ำที่ยกตัวขึ้นมา โดยมีลูกบอลลอยอยู่เหนือน้ำ
และตราบเท่าที่มีแรงดันจากใต้น้ำ บอลก็ยังลอยอยู่ได้ น้ำหยุดดันเมื่อไร บอลก็ร่วงลงสู่พื้นดินเมื่อนั้น”

และนี่เสียงเตือนครั้งล่าสุดของมาร์กส์ ผู้ไม่เคยอ่านสถานการณ์ครั้งใหญ่ๆ ผิดพลาดเลย

(มีต่อตอนหน้า)


แหล่งที่มา : คลิปสัมภาษณ์ “Oaktree’s Howard Marks on Fed Support, Credit Market Distress, Virus Impact” ทาง Youtube Channel ช่อง Bloomberg Markets and Finance, คลิปบรรยาย “The Most Important Things – Origins and Inspiration | Talks at Google” ทาง Youtube

Image credit : Facebook Page “Howard Marks” Facebook.com/HowardMarksBooks