ตำนานลิโด้ กับ “คุณค่า” ที่ต้องใช้ “ใจ” มอง

IMG_5187

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช, แอดมินเพจ Club VI และคนรักลิโด้

เมื่อวานนี้ (31 พ.ค. 2561) ผมได้เดินทางไปที่โรงภาพยนตร์ลิโด้ในวันทำการสุดท้าย เหตุที่ไปก็ด้วยเหตุผลส่วนตัว เพราะความผูกพันกับโรงภาพยนตร์แห่งนี้มาตั้งแต่เมื่อครั้งยังวัยรุ่น นับเป็นเวลาก็ร่วมยี่สิบปีมาแล้ว

ปกติผมเป็นคนชอบดูหนัง หากไม่นับช่วง 3-4 ปีหลังที่ใช้เวลาอยู่ต่างประเทศเสียเป็นส่วนใหญ่ ผมจะไปดูหนังที่โรงแทบทุกสัปดาห์ และด้วยความที่เป็นคนชอบหนังนอกกระแส จึงไม่มีที่พึ่งไหนจะดีไปกว่าโรงภาพยนตร์ในเครือเอเพ็กซ์ ทั้งลิโด้ สกาล่า และสยาม  (โรงหลังสุดปิดไปเมื่อหลายปีก่อนเพราะโดนเพลิงไหม้)

ผมเชื่อว่าใครต่อใครที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ลิโด้ ก็น่าจะเหมือนกับผม คือมี “สตอรี่” น่ารักๆ เก็บเอาไว้ในลิ้นชักความทรงจำส่วนตัว

หลากหลายเรื่องราวที่เคยอ่านเจอในพันทิป เป็นต้นว่า โทรศัพท์มาเช็ครอบหนัง พี่ที่ลิโด้รับโทรศัพท์แล้วก็ถามว่า “ตอนนี้อยู่ที่ไหนล่ะ อยู่หน้ารามหรอ อ๋อ ทันนะ นั่งอะไรมาล่ะ มารถเมล์ก็ทัน มาเถอะ”

เป็นความผูกพันระหว่าง “คนฉายหนัง” กับ “คนดูหนัง” ที่ได้อ่านหรือได้ยินเมื่อไรก็อมยิ้มได้ทุกที

มีอยู่วันหนึ่ง ผมไปดูหนังที่ลิโด้ตามปกติ แล้วก็หยิบบัตรสะสมแต้มออกมาให้เจ้าหน้าที่ขายตั๋วประทับตรา แต่วันนั้นเอ๋อ! ไปหยิบบัตรของเมเจอร์ออกมา พี่แกเลยแซวว่า “นอกใจกันหรอ” ทำเอาผมแอบรู้สึกผิดไปเหมือนกัน (ใครมาดูที่นี่บ่อยๆ น่าจะมีบัตรสะสมแต้มนี้กันทุกคน เป็นกระดาษแผ่นเล็กๆ ไปดูหนึ่งครั้งเขาก็จะเอาตรายางแสตมป์ให้ สะสมครบ 12 ดวงได้ดูฟรีหนึ่งเรื่อง)

ผมยังจำภาพยนตร์หลายเรื่องที่โรงอื่นๆ ไม่ฉาย แต่ได้มาดูที่ลิโด้แห่งนี้ เรื่องท้อปๆ ในใจน่าจะเป็น “สัตว์ประหลาด” ของพี่เจ้ย อภิชาติพงศ์ วีรเศรษฐกุล ซึ่งเป็นหนึ่งในหนังที่ผมชอบที่สุดตลอดกาล และอีกมากมายที่ไม่มีทางไล่เรียงได้หมด

ผมพบข้อมูลจากเว็บไซต์ POSITIONING ว่า ในรอบห้าปีหลัง บริษัท เอเพ็กซ์ ภาพยนตร์ มีผลขาดทุนเล็กน้อยทุกปี บางทีขาดทุนล้านกว่าบาท บางปีขาดทุนหลักแสน ยกเว้นปี 2558 ที่มีกำไรเกือบ 5 ล้านบาท โดยล่าสุดในปี 2560 บริษัทมีรายได้ 10.7 ล้านบาท ขาดทุน 1.4 ล้านบาท

ที่น่าเหนื่อยแทนก็คือ มีหนี้สินสูงถึง 181 ล้าน !!

ขณะที่บริษัท สยามมหรสพ งบการเงินยิ่งหวือหวากว่า ในรอบห้าปีหลัง บางปีขาดทุน 20-30 ล้าน บางปีขาดทุน 10-20 ล้าน มีเพียงปี 2558 ที่กำไรกว่า 90 ล้าน

แต่โดยรวมๆ แล้ว หากมองในสายตานักลงทุน ธุรกิจนี้ดูไม่ดีเอาเสียเลย

ถามว่า แล้วเขาทำไปทำไม?

ผมเชื่อว่าในการทำงานหรือทำธุรกิจ สิ่งหนึ่งซึ่งจะหล่อเลี้ยงให้เราเดินหน้าไปได้ก็คือ ความรู้สึกว่าเราได้ทำในสิ่งที่มีคุณค่า

มีพี่ที่ทำสำนักพิมพ์คนหนึ่งบอกผมว่า สูตรของเขาคือ จะทำหนังสือเพื่อตอบโจทย์ตลาด “สามปก” และทำหนังสือที่มีค่า “หนึ่งปก” สลับกันไปเรื่อยๆ

หากทำเฉพาะหนังสือที่มีคุณค่าทว่าขายได้น้อย สำนักพิมพ์ก็คงอยู่ไม่ได้ แต่ถ้าทำแต่หนังสือเอาใจตลาด โดยเนื้อหาไม่ได้สร้างคุณค่าที่แท้แก่สังคม ตัวเขาก็คงไม่มี “ไฟ” ที่จะทำมันต่อ

ผมเชื่อว่ามันคือ “หลักคิด” เดียวกับการทำลิโด้

คุณพิสิฐ ตันสัจจา ผู้ก่อตั้งโรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์ สร้างชื่อขึ้นมาจากการเป็นผู้ปรับปรุง “ศาลาเฉลิมไทย” ซึ่งมีประวัติศาสตร์เชื่อมโยงกับการเมืองการปกครองของไทยมาอย่างยาวนาน ก่อนจะมาทำลิโด้ สกาล่า และโรงหนังสยาม และส่งไม้ให้ทายาททำต่อจนถึงปัจจุบัน

แม้กระแสโลกจะเปลี่ยนไป ใครต่อใครจะหันไปดูหนังในห้าง แต่ครอบครัวนี้ก็ยังยืนหยัดทำโรงหนังในรูปแบบเก่า พวกเขาเลือกที่จะรักษาวัฒนธรรมการชมภาพยนตร์แบบดั้งเดิม

ผมไม่เชื่อว่าโลกนี้จะดีขึ้นสักเท่าไร หากลิโด้เปลี่ยนเป็นแบบเมเจอร์ เช่นเดียวกับที่ผมไม่เชื่อว่าโลกนี้จะดีขึ้นตรงไหน หากคุณ เล็ก วิริยะพันธุ์ ขายเมืองโบราณให้บริษัทใหญ่ๆ เพื่อเอาที่ดินไปพัฒนาเป็นบ้านจัดสรรหรือห้างขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

ตรงกันข้าม คุณพี่ใส่สูทสีเหลืองอ๋อย คอยฉีกตั๋วหน้าอยู่โรง เอาไฟฉายส่องพาเราไปยังที่นั่ง นั่นต่างหาก คือ “เสน่ห์” ที่ดำรงอยู่ต่อเนื่องเรื่อยมา 

เป็น “คุณค่า” ที่ควรถนอมรักษาไว้

สุดท้ายนี้ ผมไม่อยากต่อว่าใครที่ลิโด้ไม่ได้ไปต่อ เพราะนั่นไม่ใช่เจตนา

แต่อยากจะขอบคุณผู้บริหารโรงหนังแห่งนี้

ขอบคุณ … ที่ร่วมสานสร้างวัฒนธรรมการดูหนังในเมืองไทย

ขอบคุณ … ที่รักษาความเป็นตัวเองไว้ได้ “ไม่เปลี่ยนแปลง” หรือหวั่นไหวไปตามกระแสทุนนิยมอันเชี่ยวกราก

และสุดท้าย ขอบคุณ … ที่ยืนหยัดทำในสิ่งที่เชื่อมาได้นานขนาดน้ี

คุณค่าบางอย่าง ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยสายตา หรือการอ่าน “งบการเงิน”

ต้องใช้ “ใจ” เท่านั้น จึงจะรับรู้ได้

ขอบคุณมากครับ

——–

ภาพประกอบแรกโดย  wisekwai, ภาพประกอบหนังเรื่อง “สัตว์ประหลาด”

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s