
โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
เจอบทความนึงใน BloombergBusinessweek น่าสนใจทีเดียว
ระยะหลัง ตั้งแต่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ปลุกกระแส passive fund ขึ้นมา ทำให้กองทุนรวมประเภท active fund เสียลูกค้าไปให้พวก ETF ค่าธรรมเนียมต่ำๆ โดยเฉพาะ index fund เยอะมาก
ล่าสุด เจ้าใหญ่อย่าง Morgan Stanley, Blackrock และ Vanguard Group (สองรายหลังเป็นเจ้าพ่อ index fund เช่นกัน) จึงดัน “ของใหม่” ออกมาขายเพื่อ “โต้กลับ”
ของใหม่ที่ว่านี้ คือ “ซอฟท์แวร์” ซึ่งจะให้นักลงทุนแต่ละคนสร้าง “ดัชนีส่วนตัว” ของตัวเองขึ้นมาได้
ชื่อของมันคือ “custom indexing” หรือ “direct indexing” ซึ่งบางคนบอกว่า เป็น “การจัดการสินทรัพย์แห่งอนาคต” อันจะมาแทนที่การซื้อกองทุนแบบเดิมๆ เลยทีเดียว
รูปแบบของ custom indexing กับ direct indexing มีความแตกต่างกันอยู่เล็กน้อย
สำหรับ direct indexing ผู้ลงทุนจะเลือกดัชนีที่มีอยู่แล้วเป็นตัวตั้ง เช่น S&P500 แล้วปรับแต่งตามความต้องการ
เช่น เอาหุ้นที่ทำลายสิ่งแวดล้อมออกไป เอาหุ้นที่เจ้าของชอบทวีตปั่นหุ้นตัวเองออกไป แทนที่จะต้องซื้อหุ้นทั้ง 500 ตัวในดัชนีนั้นๆ ซึ่งย่อมมีหุ้นที่ตัวเองไม่ชอบปะปนอยู่ด้วย
นัยยะของคำว่า direct ก็คือ สามารถ “ซื้อหุ้นตรง” ตามที่อยากได้ โดยเลือกจากดัชนีเดิมที่มีอยู่แบบไม่ต้อง “กวาด” เปรียบได้กับการสร้าง “ดัชนีส่วนตัว” ขึ้นมา
ขณะที่ custom indexing ผู้ลงทุนไม่จำเป็นต้อง “base” หรือสร้างกองทุนโดยปรับเปลี่ยนจากดัชนีที่มีอยู่แล้วด้วยซ้ำไป แต่สามารถ “วาดภาพ” ดัชนีที่ตัวเองต้องการขึ้นมาได้ทั้งหมด
เช่น ผมต้องการหุ้น new economy แต่ไม่เอาหุ้นการเงิน ไม่เอาหุ้นยา เน้นพวก SaaS หรือ software-as-a-service สุดท้ายจึงได้หุ้นมา 70-80 ตัว เปรียบเสมือน “ดัชนีส่วนตัว” ของผมเอง เป็นต้น
เปรียบเทียบให้เห็นภาพที่สุด มันคือ “Spofity แห่งโลกของการลงทุน” เป็นการซื้อกองทุนที่ผู้ลงทุนสามารถสร้าง “Playlist หุ้น” ของตัวเองขึ้นมาได้ตามใจ
เล่ามาถึงตรงนี้ บางคนอาจแย้งว่า ของพวกนี้ private fund เขาก็ทำอยู่แล้วไม่ใช่หรือ? แค่ให้คนเลือกหุ้นเอง มัน “ใหม่” ตรงไหนเล่า?
คำตอบก็คือ “ใช่” มันอาจจะไม่ใหม่ แต่ในกรณี private fund คุณต้องมีเงินในระดับหนึ่ง เช่น สัก 1 ล้านเหรียญ หรือถ้าเป็นของไทยก็ต้องหลักสิบล้านบาท
ทว่าต่อไปนี้ มันจะเป็น product สำหรับผู้ลงทุนทั่วไป ด้วยต้นทุนที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้
นอกจากนี้ ไอเดียนี้ยังเรียกเสียงปรามาสได้ไม่น้อย
บ้างก็ว่า มันคือไอเดียที่พวก บลจ.จะหลอกเอาค่าธรรมเนียมจากผู้ลงทุนสูงขึ้นกว่า index fund
เช่น แทนที่จะให้คนซื้อ S&P 500 ETF แล้วเก็บค่าธรรมเนียม 0.1% ก็หันมาขาย direct indexing ตัดหุ้นออกไป 50 ตัว เหลือ 450 ตัว แล้วเก็บค่าธรรมเนียม 0.3% แทน
บ้างก็ว่า การให้ผู้ลงทุนเลือกหุ้นเอง มันก็เหมือนกับการ “ลงทุนเอง” ซึ่งสถิติตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันชี้ชัดแล้วว่า มนุษย์เราไม่ควรลงทุนเอง เพราะมักจะ “เจ๊ง” เสมอ
แต่สุดท้ายแล้ว บางคนก็มองว่า custom indexing หรือ direct indexing อาจจะเติบโตและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว …
จนกลายเป็นภัยคุกคามต่อทั้ง ETF และกองทุนรวม (active fund) เหมือนกับที่ ETF เคยเป็นภัยคุกคามต่อกองทุนรวมมาก่อนหน้านี้ และปรากฏชัดแล้วในวันนี้นั่นเอง
ที่มา : BloombergBusinessWeek, December 13, 2021