สรุปประชุม Berkshire แบบแปลเอง ช็อตต่อช็อต

ผมได้ชมการประชุมผู้ถือหุ้น Berkshire Hathaway 2024 เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกที่ไม่มี ชาร์ลี มังเกอร์ และได้แปลบทสนทนาช่วง Q&A กับรายละเอียดอื่นๆ พอสังเขปมาให้ได้อ่านกัน

ทั้งหมดนี้เป็นการแปลด้วยตัวเอง ไม่ได้แปลที่ฝรั่งสรุปมาอีกที จึงมั่นใจว่าสามารถเก็บบรรยากาศต่างๆ ได้ดีกว่า

หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกท่านไม่มากก็น้อยครับ

ชัชวนันท์ สันธิเดช, แอดมิน Club VI

บรรยากาศการรำลึกถึงปู่ชาร์ลี

ฝ่ายจัดงานมีการทำหนังสั้นและสื่อรูปแบบอื่นๆ เพื่อรำลึกถึง ชาร์ลี มังเกอร์ มีการเอาภาพยนตร์หลายเรื่อง ตัดต่อตัวละครเข้าไปเสมือนว่าบัฟเฟตต์กับมังเกอร์เล่นหนังเรื่องนั้นๆ ด้วย เช่น Charlies Angels, Breaking Bad ฯลฯ

บัฟเฟตต์พูดใน VTR กล่าวคำอาลัยถึงมังเกอร์ ใจความคือ เขาและมังเกอร์เหมือนกันมาก ราวกับคู่แฝดที่แยกจากกันไปตั้งแต่เกิดแล้วกลับมาพบกัน ปู่กล่าวติดตลกด้วยว่า มีแต่เมียของเราที่แยกแยะเราได้ แต่ต้องมีป้ายชื่อห้อยคอไว้ด้วยนะ

ปู่บอกต่อว่า ผมสนใจเพียงแค่ว่าสิ่งต่างๆ “ทำงานได้ไหม” แต่ชาร์ลีสนใจว่ามัน “ทำงานยังไง” ความสนใจของผมแคบมาก ส่วนของชาร์ลีกว้างมาก ชาร์ลีรู้ทุกเรื่องในโลกนี้ รู้ลึก รู้จริง เขารู้เรื่องไฟฟ้าดีกว่า โธมัส เอดิสัน เสียอีก

ความคิดเชิงสถาปัตย์ของชาร์ลี (หมายถึงความคิดสร้างสรรค์ ในการสร้างองค์กรขึ้นมา) ช่วยให้ Berkshire เป็น Berkshire อย่างที่เป็นทุกวันนี้

ปู่ย้อนความต่อไปว่า ตอนเข้าซื้อหุ้น Berkshire สมัยที่เป็นบริษัทสิ่งทอ ชาร์ลีไม่ยอมลงทุนด้วย และบอกว่าเป็นการซื้อที่โง่มาก ซึ่งต่อมาปู่ก็พบว่ามันโง่จริงๆ และเป็นปู่ชาร์ลีที่ช่วยแก้ปัญหาจนหลุดจากบ่วงกรรม

ปู่พูดถึงตัวแกกับปู่ชาร์ลีว่า “เราทำงานด้วยกันเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ชองชาร์ลี” Berkshire คืองานสถาปัตยกรรมของชาร์ลี มันจะคงอยู่นานกว่าชีวิตของเขา และนานกว่าชีวิตของผมด้วย

ปิดท้ายด้วยการที่ปู่วอร์เรน (ใน VTR) ขอให้ผู้ถือหุ้นในฮอลล์ร่วมกันกับแก ปรบมือให้ปู่ชาร์ลี

ตัดภาพมาที่ฮอลล์ คนเกือบ 40,000 ทำ “standing ovation” ลุกขึ้นยืนปรบมือให้ปู่ชาร์ลีโดยพร้อมเพรียง เป็นเวลายาวนานหลายนาที ก่อนตัดภาพไปที่ปู่วอร์เรนซึ่งนั่งอยู่บนเวที และกล่าวทักทาย ขอบคุณทุกคนสำหรับการให้เกียรติชาร์ลี

ปู่วอร์เรนเริ่มต้นดำเนินรายการ ตรงนี้เซอร์ไพรส์พอสมควร เพราะปู่บอกในรายงานประจำปีว่าจะขึ้นเวทีเฉพาะช่วงบ่าย ช่วงเช้าจะให้ เกรก อาเบล กับ อาจิต เจน รองประธานสองคนรัน Q&A กันไปเอง แต่ปรากฏว่าปู่โซโล่ยาวเหมือนเดิม โดยมี เกรก-อาจิต นั่งบนเวทีด้วย

ผลประกอบการ

ปู่เริ่มต้นด้วยการเล่าถึงผลประกอบการ ตรงนี้ไม่ขอลงรายละเอียด แต่สรุปคืองบออกมาดีมาก ปี 2023 เติบโตจากปี 2022 เยอะ นอกจากนี้ กำไรจากการดำเนินงานไตรมาสที่ 1 โตถึง 39% yoy อยู่ที่ 11,200 ล้าน เป็นสถิติใหม่

หัวใจสำคัญที่ปู่เน้นย้ำคือ อย่าดูกำไรสุทธิ (net income) เพราะมันจะรวมเอาราคาหุ้นที่ขึ้นๆ ลงๆ และไม่ได้สะท้อน performance ของกิจการเข้ามาด้วย แต่ให้ดูกำไรจากการดำเนินงาน (ถ้าดูกำไรสุทธิ งบจะเทพยิ่งกว่านี้อีก แต่มันจะลวงเรา)

ปู่เอางบแสดงการเปลี่ยนแปลงของผู้ถือหุ้นมาขึ้นโชว์ และชี้ให้เห็นบรรทัด “กำไรสะสม” โดยบอกว่า เราสะสมกำไรมาตลอด และแทบไม่เคยปันผลเลย ยกเว้นปีเดียวคือปี 1963 ที่ปันผลไป 10 เซนต์ จำได้ลางๆ ว่าตอนนั้นอยู่ในร้านอาหาร แล้วมีผู้บริหารคนหนึ่งโทรมา ก็เลยตอบตกลงให้ปันผล อารมณ์ประมาณว่ายุ่งอยู่ ไม่ทันได้คิด (เป็นการพูดติดตลก ที่จริงคือน่าจะคิด แต่รู้สึกทีหลังว่าคิดผิด)

Q&A

เข้าสู่ช่วงถามตอบ โดยจะสลับคำถามกันระหว่างคำถามที่ station (ผู้ถือหุ้นที่แย่งกันถาม ณ ไมโครโฟนจุดต่างๆ ในฮอลล์) กับคำถามจากทางบ้าน ซึ่งเบ็คกี้ ควิก พิธีกรสาวคู่บุญปู่จากค่าย CNBC อาสาคัดเลือกและเป็นผู้ถามสดเหมือนเช่นเคย (ย้ำอีกครั้งว่าบนเวทีตอนนี้มีสามคน คือปู่ เกรก และอาจิต) 

ทำไมขาย AAPL

คำถามแรกจากทางบ้าน ผ่านปากเบ็คกี้ ถามถึงการขาย Apple ซึ่งล่าสุด Berkshire ลดสัดส่วนการถือครองลงไปถึง 13% (นี่เป็นคำถามที่ทุกคนคาดอยู่แล้วว่ายังไงก็ต้องถูกถามแน่ๆ)

ปู่เฉลยว่าขายเพราะเรื่องภาษี

ปู่บอกว่า รัฐบาลเป็นหุ้นส่วนในกำไรของเรา แม้จะไม่ได้ร่วมเป็นเจ้าของสินทรัพย์ แต่ร่วมเป็นเจ้าของกำไร ด้วยสถานการณ์ตอนนี้ น่าจะมีการขึ้นภาษี ตอนนี้เราจ่ายอยู่ 21% ในอดีตเคยต้องจ่าย 35% และเคยสูงถึง 52% อย่างไรก็ตาม ปู่บอกว่า เรายินดีที่จะจ่ายภาษี ปีที่แล้วเราส่งเช็คภาษีให้รัฐบาล 5,000 ล้าน 

ปู่บอกว่า คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับการหาวิธีที่ทำให้ไม่ต้องจ่ายภาษีมากเกินไป ทว่าเราไม่คิดอย่างนั้น ปู่บอกว่า “something has to give” ของบางอย่างถ้ามันต้องเสียก็ต้องเสีย ถ้าอีก 800 บริษัททำเหมือนเรา ประเทศนี้จะไม่ต้องเก็บภาษีจากใครเลย คนทั่วไปไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่ต้องเสียภาษีประกันสังคม ไม่ต้องเสียภาษีอะไรทั้งนั้น

ขาย Paramount

ปู่พูดถึงการขายหุ้นบริษัท ​Paramount ไป 1 ใน 3 ซึ่งขาดทุนเล็กน้อย โดยแอ่นอกรับว่าตนเป็นคนตัดสินใจเองทั้งหมด

จะซื้อหุ้นจีน/ฮ่องกง อีกไหม หลังจาก BYD

คำถามแรกจาก station เป็นคำถามของผู้ถือหุ้นจีน ถามว่า นอกจาก BYD แล้ว Berkshire มีโอกาสลงทุนในบริษัทของฮ่องกงหรือจีนอื่นๆ อีกไหม (เสียงปรบมือ คาดว่าจากคนเอเชียในฮอลล์) 

ปู่ตอบว่า การลงทุนหลักของเราจะอยู่ในอเมริกา (เสียงปรบมืออีกครั้ง คาดว่าจากคนอเมริกันในฮอลล์) ปู่พูดถึงโค้ก AMEX ว่าเป็นธุรกิจอเมริกันที่แกคุ้นเคย และลงทุนแล้วประสบความสำเร็จถึงทุกวันนี้

ปู่เล่าต่อว่า โอกาสลงทุนในต่างประเทศใช่ว่าจะไม่มี แกลงทุนในบริษัทญี่ปุ่นเมื่อห้าปีที่แล้ว และได้ผลลัพธ์ดีมากๆ แต่แกเข้าใจยูเอสดีที่สุด ปู่บอกว่า “ผมไม่เข้าใจวัฒนธรรมอื่นดีมากนัก” จึงขอลงทุนแบบ American-oriented คือเอาอเมริกาเป็นศูนย์กลางต่อไป

ปู่พูดถึงปู่ชาร์ลีอีกครั้ง บอกว่า ปกติเวลาจะลงทุนอะไร พอไปถามชาร์ลี บางครั้งชาร์ลีก็บอกว่า “ไม่เห็นมันจะดีสักเท่าไรเลย แต่มันคงดีที่สุดเท่าที่นายจะหาได้แล้วล่ะ” ซึ่งถ้าชาร์ลีพูดอย่างนั้น แปลว่าซื้อได้ และปกติชาร์ลีจะให้เกียรติแกตลอด ยอมให้แกตัดสินใจ

มีอยู่เพียงสองครั้ง ที่ชาร์ลีทุบโต๊ะ บอกว่าต้อง “ซื้อ ซื้อ ซื้อ” (buy buy buy) หนึ่งในนั้นคือ BYD และอีกบริษัทคือ Costco ซึ่งก็กลายเป็น big success ทั้งสองตัว วอร์เรนบอกว่า มองย้อนกลับไป ในกรณีของ Costco ตัวแกน่าจะ aggressive มากกว่านั้นด้วยซ้ำ

Climate Change

คำถามต่อมาถามว่า ตอนนี้เกิด climate change (โลกร้อน) ทำให้ต้นทุนต่างๆ ของ Berkshire Hathway Enerygy (BHE) บริษัทพลังงานในเครือ Berkshire สูงขึ้น กำไรก็เลยไม่ค่อยจะดี และอาจส่งผลกระทบรุนแรงยิ่งกว่านี้ ยกตัวอย่างเช่น ในรัฐ Utah ที่มีการออกกฏให้รัฐเป็นผู้เดียวที่รับซื้อพลังงานจากโรงไฟฟ้าในรัฐได้

วอร์เรนบอกว่า  ตอนนี้เรื่องโลกร้อน ทำให้ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นมีการออกกฏเกณฑ์ต่างๆ อย่างเช่นที่เกิดขึ้นใน Utah แต่แกก็เชื่อว่าจะมีการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม 

เกรก ซึ่งดู BHE บอกว่า ผลกระทบจาก climate change นั้นเยอะมากแน่นอน แต่เราก็ลงทุนไปตามกฏระเบียบที่กำลังเปลี่ยนแปลง ขณะนี้ต้องทุ่มเงินลงทุนสูงมาก แถมยังมีเรื่อง AI ให้ต้องลงทุนมากขึ้นไปอีก  

อย่างไรก็ตาม ปู่สรุปว่า “we are not throwing good money after bad” คือหากธุรกิจไหนไม่ดี ขาดทุนไปแล้ว ก็จะไม่เอาเงินถมลงไปอีก (เสียแล้วเสียไป)

ประโยชน์และโทษของ AI

คำถามต่อไปถามว่า มีมุมมองอย่างไรต่อ generative AI

ปู่บอกว่า ตัวแกไม่รู้เรื่องอะไรเลยเกี่ยวกับ AI แต่ก็ให้มุมมองว่า AI มีทั้งประโยชน์และโทษ โดยเทียบกับพลังงานนิวเคลียร์ ที่แม้จะมีประโยชน์มหาศาล แต่ก็อันตรายมาก เหมือนตอนที่อเมริกาคร่าชีวิตคนหลายแสนด้วยการปล่อยระเบิดปรมาณูใส่ญี่ปุ่นเพื่อยุติสงคราม

ปู่บอกว่า เราเคยปล่อยยักษ์ออกจากตะเกียงมาแล้วตอนที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ แต่ยักษ์ตัวนั้นก็ทำเรื่องแย่ๆ แล้วเราก็เอามันกลับเข้าตะเกียงไม่ได้อีก เรื่องนี้สำคัญมาก หวังว่าเราจะไม่เจอยักษ์แบบนั้น (ความหมายคือหวังว่า AI จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษยชาติเหมือนนิวเคลียร์)

ปู่ยกตัวอย่างต่อว่า แกเห็นภาพตัวเอง เป็นหน้าแก พูดอะไรที่ไม่เคยพูด (ถูกเอาไปตัดต่อด้วย AI) แม้แต่เมียกับลูกของแกดูแล้วยังแยกไม่ออก นึกว่าเป็นตัวจริง ปู่บอกว่า Scamming คืออุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตรวดเร็ว (growth industry) เผลอๆ ตัวแกเองยังอาจจะพลาด เผลอโอนเงินให้ตัวเองที่อยู่ในอีกประเทศหนึ่งก็ได้ (คนหัวเราะลั่นทั้งฮอลล์) สรุปคือ AI มีศักยภาพสูงมากทั้งทางบวกและลบ

ความสามารถในการแข่งขันของ Geico

คำถามต่อไป ถามถึงความผิดพลาดของ Geico ที่ตามโลกไม่ทันในการใช้ data analytics เพื่อขายกรมธรรม์ ขณะที่คู่แข่งอีกหลายบริษัทเขานำหน้าไปไกลแล้ว อาจิตเป็นคนตอบ โดยบอกว่า ยอมรับว่า Geico ทำได้ไม่ดีในการ match rate กับ risk (ประเมินความเสี่ยงโดยวิเคราะห์ data แล้วคิดค่าเบี้ยประกันออกมา) แต่ตอนนี้กำลังพยายามไล่กวดคู่แข่งให้ทัน โดยได้จ้างคนเก่งๆ มาแล้ว หวังว่าจะไล่ตามคู่แข่งได้ทันภายในปี 2025

ปู่เสริมว่า การจับคู่ rate กับ risk คือความสำคัญอย่างยิ่งยวดของธุรกิจประกัน จุดแข็งของ Geico อยู่ที่การลดต้นทุน ดังนั้น ไม่ต้องห่วงว่าบริษัทจะล้มหายตายจากไป ยังไงก็ไม่เจ๊งแน่นอน และยังไงก็กำไรแน่นอน อยู่ที่ว่าจะรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ได้  “X%” หรือ “half X%” พูดง่ายๆ คือ Geico ไม่มีอะไรน่าห่วง อยู่ที่ว่าจะดีแค่ไหน

คนที่ปู่ไว้ใจ

ผู้ถือหุ้นชาวเยอรมันที่ station ถามว่า  ในบรรดาทายาทแถวสอง บัฟเฟตต์ไว้ใจใครที่สุด ระหว่าง เท็ด ท็อด เกรก และ อาจิต รวมถึง เมีย และ ลูกของแกด้วย

ปู่ตอบว่า มันขึ้นอยู่กับว่าเป็นเรื่องอะไร  แกไว้ใจแต่ละคนในแต่ละเรื่อง ตัวแกเองไว้ใจเมียและลูกของตัวเองเต็มที่ แต่แกคงไม่ถามลูก-เมียว่าจะซื้อหุ้นอะไรดี ถ้าเป็นเรื่องการซื้อหุ้น แกไว้ใจชาร์ลีที่สุด 

ประเด็นสำคัญคือ อะไรที่ตัวแกเองทำไม่ได้ แกจะไม่ทำมันเลย (สำนวนไทยประมาณว่า ไม่ยืมจมูกคนอื่นหายใจ) เรื่องที่แกจะปรึกษาคนอื่น คือเรื่องที่แกรู้อยู่แล้ว แต่คนๆ นั้นชำนาญกว่าแก หรือมีความเห็นที่แตกต่าง (ฟังแล้วนึกถึงคนที่ไม่รู้เรื่องหุ้นเลย แต่เอาเงินฝากให้เพื่อนลงทุน)

ปู่ยกตัวอย่างว่า ถ้าเป็นเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่น แกจะปรึกษาลูกสาวว่าเลือกใครดี และมีอีกหลายๆ เรื่องที่แกเลือกฟังเมียของแก แต่ขอไม่ลงรายละเอียดแล้วกันนะ (ผู้ชมหัวเราะ) หรือถ้าเป็นเรื่องการประเมินความเสี่ยงของประกัน แกขออาจิต เจน คนเดียวก็พอแล้ว คนอื่นๆ เป็นร้อยพันนั้นไม่จำเป็นเลย

สุดท้าย ปู่เอ่ยถึงชาร์ลีอีกครั้ง บอกว่า “ถ้ามีพารทเนอร์อย่างชาร์ลี เรื่องอื่นๆ ก็ลืมไปได้เกือบหมดเลย”

แคนาดา

ผู้ถือหุ้นชาวแคนาดา ถามถึงมุมมองต่อเศรษฐกิจแคนาดา ปู่ตอบในเชิงบวก และให้เกรก อาเบล ซึ่งเป็นคนแคนาดาช่วยตอบ

ไม่มีใครถูกแทนที่ไม่ได้

ผู้ถือหุ้นถามเรื่อง CEO ของบริษัทประกันคนต่อจากอาจิต เจน ว่าเมื่ออาจิตไม่อยู่แล้ว ใครจะมาแทน ปู่บอกว่า คงไม่มีใครแทนอาจิตได้อีกแล้ว แต่อาจิตยังเด็กกว่าผมเยอะ ห่วงผมก่อนดีกว่า (ผู้ชมหัวเราะ)

อาจิตตอบบ้าง โดยกล่าวขอบคุณวอร์เรน และบอกว่า ไม่มีใครที่ถูกแทนไม่ได้ (irreplacable) หรอก ดูอย่าง ทิม คุก  CEO ของ Apple ที่มาอยู่ตรงนี้กับเราด้วย เขาพิสูจน์ให้เห็นแล้ว (คุก แทนที่สตีฟ จ็อบส์ ซึ่งเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของ Apple และทำได้ดีมากๆ)

อาจิตบอกว่า เขาเคยประกาศชื่อออกมาแล้วด้วยซ้ำ ว่าถ้าเขาถูกรถบรรทุกชนตาย จะให้ใครมาแทน แต่ยังไงก็ไม่สำคัญอะไรหรอก ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น โลกก็ต้องหมุนต่อไป

ถ้ามีเวลาอีกหนึ่งวันกับชาร์ลี

ผู้ถือหุ้นเด็กถามจาก station ว่า “ถ้าคุณมีอีกวันหนึ่งกับชาร์ลี คุณจะทำอะไรกับเขา”  (เสียงปรบมือดังลั่น)

ปู่ตอบว่า เราทำสิ่งที่เราอยากทำด้วยกันมาตลอด ทำอยู่ทุกวันจนชาร์ลีตาย 

ชาร์ลีชอบเรียนรู้ ชอบสิ่งต่างๆ ที่หลากหลาย ตัวแกไม่ได้อยากชอบอะไรหลากหลายเหมือนชาร์ลี ชาร์ลีก็ไม่ได้อยากชอบอะไรแคบๆ เหมือนแก แต่เราก็สนุกด้วยกันตลอด เราเล่นกอล์ฟ เล่นเทนนิสด้วยกัน และเราสนุกมากยิ่งกว่ากับสิ่งที่ล้มเหลว เพราะความล้มเหลวจะทำให้เราต้องช่วยกันหาทางออก เหมือนกับเราตกลงไปในหลุมของสุนัขจิ้งจอก แล้วต้องหาทางออกจากหลุมให้ได้ การมีพาร์ทเนอร์ช่วยกันขุดหาทางออกนั้นสนุกมากทีเดียว

ปู่ฝากวาทะเด็ดไว้ว่า

ชาร์ลีมีชีวิตอยู่ได้ถึง 99.9 ปีทั้งที่ไม่เคยออกกำลังกายเลยหลังปลดประจำการจากกองทัพ เขาไม่เคยแคร์ว่าตัวเองกินอะไร และเราไม่เคยเคลือบแคลงสงสัยในตัวกันและกัน ดังนั้นถ้ามีเวลากับชาร์ลีอีกหนึ่งวัน ก็คงจะทำเหมือนเดิม แต่คงไม่อยากรู้ว่าจะตายพรุ่งนี้ (ผู้ชมหัวเราะ)

ชาร์ลีบอกเสมอว่า อยากรู้ว่าตัวเองจะตายที่ไหน จะได้ไม่ไปที่ไหน แต่ชาร์ลีก็ไปทุกที่ และไปไหนก็ชนะ ด้วยสมองของเขา ตอนที่เขาอายุ 99 ไม่เพียงเขาสนใจโลก แต่โลกก็สนใจเขาเช่นกัน คนจำนวนมากอยากมาขอพบชาร์ลี อีลอน มัสก์ คือหนึ่งในนั้น 

ปู่บอกว่า ไม่เคยเจอใครที่ชีวิตถึงจุดสูงสุดตอนอายุ 99 เลย มีแต่ชาร์ลีเท่านั้น มีมนุษย์อีกคนเดียวที่คล้ายๆ ชาร์ลี คือ ดาไลลามะ

ชาร์ลีใช้ชีวิตอย่างที่อยากใช้ อยากพูดอะไรก็พูด ชาร์ลีกับเขาไม่เคยโกรธกันสักครั้ง แม้ว่าช่วงปีหลังๆ จะไม่ได้คุยกันบ่อยๆ ยาวๆ เหมือนเมื่อก่อน แต่ทั้งคู่ก็ยังชอบเรียนรู้ร่วมกัน เรายังฉลาดขึ้นเสมอเพราะเราเรียนรู้จากข้อผิดพลาด 

เคยมีคนถามว่า ในรอบ 2,000 ปีที่ผ่านมา ถ้าให้เลือกทานอาหารกลางวันกับคนได้คนหนึ่ง จะเลือกใคร 

ชาร์ลีบอกว่า เขาเจอคนในประวัติศาสตร์ทุกคนที่อยากเจอมาหมดแล้วผ่านการอ่านหนังสือ 

ปู่ปิดท้ายว่าคำถามนี้น่าสนใจ ก่อนจะฝากข้อคิดสุดคมว่า ใครที่คุณอยากใช้วันสุดท้ายของชีวิตด้วย ให้ไปหาเขาพรุ่งนี้เลยที่ออฟฟิศหรือที่ไหนก็ได้ อย่ารอให้ถึงวันสุดท้ายของชีวิตจริงๆ

บริษัทประกันกับ cyber security

คำถามต่อไป ถามเรื่อง cyber attack ว่าบริษัทประกันของ Berkshire มองยังไง จะหาประโยชน์จากมันยังไง อาจิตบอกว่ามันประเมินยากมาก เช่น ความเสียหายเกี่ยวกับคลาวด์ เป็นอะไรที่หา worst-case ได้ยากมาก ตอนนี้ข้อมูลยังมีไม่พอ จึงบอกลูกน้องไม่ให้ขายกรมธรรม์ cyber security หรือถ้าต้องขายเพราะเกรงใจและอยากรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้า ก็ให้ตีเป็นผลขาดทุนไว้ล่วงหน้าเลย 

วอร์เรนบอกว่า บริษัทประกันจำนวนมากชอบออกกรมธรรม์ตามแฟชั่น โดยที่ไม่มีข้อมูลเพียงพอ เห็นอะไรใหม่ๆ ก็เข้าไปเล่น แล้วสุดท้ายก็เจ๊ง บริษัทของเราไม่นิยมทำเช่นนั้น

ปู่บอกว่า โลกเรากำลังเปลี่ยนผ่านสู่ renewable energy ประเภทต่างๆ ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ฯลฯ แต่น้ำมันก็ยังจำเป็น ในการ maintain (ประคอง) โลกไว้ จึงต้องอย่ารีบร้อน

วอร์เรนบอกว่าของแบบนี้ต้องใช้เวลา ไม่ว่าจะอย่างไร ไฟฟ้ายังคงต้องสว่างอยู่ (ความหมายคือ ณ วันนี้ ถ้าจะให้ไฟฟ้าสว่างอยู่ได้ ยังไงก็ต้องใช้พลังงานดั้งเดิม)

ปู่ยกคำพูดเดิมคือ “เราทำเด็กให้เกิดในเดือนเดียว โดยทำให้ผู้หญิงเก้าคนท้องไม่ได้” ตอนนี้ คนฉลาดๆ ทั่วโลกกำลังพยายามสู้กับ climate change เช่น บิล เกตส์ เพื่อนของแก ก็กำลังพยายามเต็มที่ มีการใช้เงินไปแล้วมากมาย แต่ยังไงก็ต้องรอ พลังงานดั้งเดิมยังเป็นสิ่งจำเป็น

คำแนะนำสำหรับคนรุ่นใหม่

ผู้ถือหุ้น เป็นวัยรุ่นผู้หญิง ถามปู่ว่า ถ้ามีคำแนะนำข้อเดียวที่คุณคิดว่าทุกคนควรได้รับ คำแนะนำนั้นจะเป็นอะไร

ปู่ตอบยาวมาก บอกว่า ขอให้รู้ว่าเราโชคดีที่ได้อยู่ในอเมริกา จงหางานที่คุณจะทำ แม้จะไม่มีความจำเป็นต้องทำแล้ว (หางานที่รัก) ถ้าไม่เจอ จงหาต่อไปเรื่อยๆ และพูดอะไรอีกเยอะมาก

ปู่บอกว่า ให้คิดถึงอนาคต ว่าถ้าตัวเองในอนาคตมองกลับมาในวันนี้ อยากเห็นตัวเองเป็นยังไง ก็ให้เริ่มทำตัวแบบนั้นตั้งแต่วันนี้

อำนาจของ เกรก – อาจิต

คำถามต่อไป ถามว่า เกรก อาเบล และ อาจิต เจน ซึ่งปัจจุบันเป็นรองประธานของ Berkshire เวลาตัดสินใจอะไร ต้องผ่านวอร์เรนไหม 

ปู่บอกว่า ทุกวันนี้ผู้บริหารในเครือโทรปรึกษา เกรกและอาจิต มากกว่าตัวแก โดยตัวแกไม่ได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเต็มร้อยอีกต่อไปแล้ว แกแทบไม่ได้รับโทรศัพท์จากผู้บริหารอีกแล้ว ทุกอย่างให้เกรกจัดการแทน ให้โทรหาเกรกแทน

อาจิตบอกว่า มีผู้บริหารโทรไปหาวอร์เรนเหมือนกัน แต่วอร์เรนจะไม่ตอบตรงๆ แต่จะตอบด้วยมารยาทอันดีว่า “ดีใจนะที่คุณโทรมา” ซึ่งพวกเขาก็จะรู้เองว่าต้องโทรหาเกรก-อาจิต วอร์เรนไม่ยุ่งแล้ว

วอร์เรนบอกว่า เขาอ่านหนังสือช้าลง เขาถดถอยลงมาก อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านของ Berkshire ทำได้ราบรื่นมาก แม้แกจะตายวันนี้ วันต่อมาก็จะไม่มีปัญหาอะไรเลย ถ้าใครยังอยากโทรหาแก แกจะใช้เครื่องตอบรับอัตโนมัติ อัดเสียงไว้ก็ยังได้

ประเด็นนี้เป็นการยืนยันแล้วว่า ปู่เตรียมรีไทร์ไว้พร้อมแล้ว (ที่จริงฟังดูคือน่าจะรีไทร์เรียบร้อยแล้วด้วยซ้ำ นี่คืออีกสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการประชุมคราวนี้)

มุมมองต่ออินเดีย

ผู้จัดการกองทุนชาวอินเดียน-อเมริกันถามว่า มองอินเดียยังไง ปัจจัยอะไรที่จะทำให้ Berkshire ลงทุนในอินเดียอย่างจริงจัง ปู่บอกว่า อินเดียมีโอกาสลงทุนมากมาย แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า เรามีความได้เปรียบในการลงทุนที่นั่นหรือเปล่า แต่ตัวแกเองเป็นคนปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมอื่นได้ยาก

ปู่บอกว่า ต้องรอดูผู้บริหารชุดต่อไป ตอนนี้ตัวแกไม่ตัดสินใจอะไรในระยะยาวแล้ว แกจะไม่ทำสัญญาจ้างงานสี่ปี เหมือนที่ผู้บริหารยุคนี้ชอบทำกันด้วยซ้ำ เพราะไม่แน่ใจว่าอีกสี่ปีจะอยู่ถึงหรือเปล่า

คำถามต่อไปถามว่า ถ้าเกรกต้องจากไปอีกคน แล้วคนที่จะมาแทน จะเป็นใคร

ปู่ตอบว่า เอาเข้าจริงแล้ว ตำแหน่งนี้ไม่ต้องตัดสินใจอะไรมากมายนักหรอก แค่เลือก CEO ให้ถูกต้องก็จบไป 99% แล้ว เกรกเองก็คงต้องบอกลูกน้องของเขาเช่นกันว่า ถ้าเขาตายไปแล้วจะทำยังไงต่อ (หลักการเดิมของปู่ คือเลือกคนให้ถูกต้อง แล้วไว้ใจพวกเขา โดยไม่เข้าไปแทรกแซง ทุกอย่างจะเดินไปได้เอง) 

เกรกตอบบ้างว่า สิ่งสำคัญคือวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งจะดึงดูดคนที่ใช่ Berkshire มีวัฒนธรรมที่ดีอยู่แล้ว

คำถามจากคนมาเลเซีย ถึงทายาทปู่

คำถามต่อไปจาก station ผู้ถือหุ้นชาวมาเลเซียบอกว่า คุณเป็นฮีโร่ในที่ๆผมมา คุณเปลี่ยนชีวิตคนมาเลย์และคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากมาย คุณให้บทเรียนทั้งเรื่องของการลงทุนและชีวิต ขอบคุณจริงๆ (ปรบมือ) 

ปู่กล่าวขอบคุณเช่นกัน

คนมาเลย์ถามปู่ว่า ได้เรียนรู้อะไรจากการบริหารช่วงโควิด มอง successor แต่ละคนอย่างไร

ปู่ตอบยาวมาก โดยบอกว่า ต้องเลือกคนที่เก่ง แต่ต้องเลือกธุรกิจที่ดีด้วย เพราะไม่ว่า CEO จะเก่งยังไง ถ้าเป็นธุรกิจที่ย่ำแย่ ผู้บริหารก็เปลี่ยนชะตาธุรกิจนั้นไม่ได้ แกต้องการคนที่จะทำงานกับบริษัทไปนานๆ ใครตั้งใจว่าจะเกษียณเมื่ออายุ 65 จะไม่ได้เป็น CEO

จะทำยังไงกับเงินสด

คำถามต่อไป มาช้าไปนิด แต่สำคัญนัก … ถามว่า

ตอนนี้เงินสดเพิ่มเป็น 182,000 ล้านเหรียญแล้ว เมื่อไรจะใช้ ทำไมไม่ใช้ หรือเอาไปหาผลตอบแทนอย่างอื่นสักที

ปู่ตอบว่า ที่ยังไม่ใช้ เพราะยังไม่เห็นโอกาสที่ชัดเจน และแกไม่อยาก “swing at every pitch” คือไม่ต้องการคว้าทุกโอกาสที่ผ่านเข้ามา ถ้ายังไม่มีโอกาสที่ดีจริงๆ ไม่ว่าดอกเบี้ยจะ 5.4% เหมือนตอนนี้ หรือ 1% เหมือนเมื่อหลายปีก่อน แกก็ไม่ขอลงทุน

ปู่บอกต่อว่า แต่ถ้าเป็นโอกาสที่ดี หาก ROE อยู่ในระดับที่น่าสนใจ เหมือนที่แกเคยลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นเมื่อ 5 ปีก่อน ก็จะไม่ลังเลที่จะลงทุนเพื่อผู้ถือหุ้น Berkshire

(ไม่ได้พูดเรื่องเงินปันผล แต่สรุปคือยังไม่มีแผนจะจ่าย แม้เงินสดจะล้นเกินขนาดนี้)

อนาคตของนายหน้าอสังหาฯ

คำถามต่อไป จาก station ถามเรื่องการยอมความเกี่ยวกับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เมื่อเร็วๆ นี้ (ตรงนี้ขอไม่ลงรายละเอียด เพราะมันเฉพาะทางมาก) แล้วก็ถามว่า มองธุรกิจนายหน้าอสังหาริมทรัพย์อย่างไร

เกรกบอกว่า ยังไงนายหน้าอสังหาฯ ก็เป็นอาชีพที่ต้องมี เพราะเป็นโมเดลที่เวิร์ก ปู่เสริมว่าตัวแกขายบ้านมาสองหลัง ซื้อหนึ่งหลัง ไม่เคยต่อค่านายหน้าเลย

ธุรกิจประกัน กับการรับประกันรถยนต์ขับเคลื่อนตนเอง

คำถามต่อไป เป็นเรื่องของบริษัทประกันอีกครั้ง โดยบอกว่า ปัจจุบัน สถิติการเกิดอุบัติเหตุของรถยนต์ขับเคลื่อนตนเองต่ำมาก อีลอน มัสก์ ยังบอกว่า จะทำให้สถิตินี้ต่ำกว่ารถยนต์ที่ใช้คนขับ 50% ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น ค่าประกันจะลดลงไหมสำหรับ Geico

ปู่บอกว่า ธุรกิจประกันมักดูง่ายเกินจริง ช่วงแรกสนุกมาก เพราะได้เงินมาก่อน ทุกอย่างดูง่าย แต่จะไปเจ๊งกันทีหลัง พูดง่ายๆ ก็คือ ปู่บอกว่าอย่าเพิ่งแน่ใจ ทุกอย่างไม่มีอะไรแน่นอน (เหมือนจะบอกว่า Geico คงไม่รีบร้อนลดค่าเบี้ยให้กับรถ autonomous driving)

รถ EV

คำถามต่อไป ถามเรื่องพลังงานทดแทน โดยถามว่า รถยนต์ EV มาถึงจุดที่เป็น mass production แล้ว Berkshire จะเข้าไปคว้าโอกาสลงทุนหรือไม่อย่างไร

ปู่ตอบว่า ถ้าเป็นอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ ตัวแกเองหา winner ไม่ถูก และอย่าคาดหวังว่าเราจะเดาถูก เพราะมันคือเป้าเคลื่อนที่ (moving target) (ที่จริงปู่ถ่อมตัวมากกว่า เพราะแกก็เดาถูกมาแล้วกับ BYD)

แครอล ลูมิส บก.ในตำนาน

ก่อนพักประชุมช่วงเช้า ปู่แนะนำและกล่าวขอบคุณ แครอล ลูมิส ผู้ที่เป็น บก.ให้จดหมายถึงผู้ถือหุ้นของ Berkshire มาตั้งแต่ปี 1977 ปีนี้ แครอลอายุ 95 แล้ว (คุณป้าแครอลให้ลูกสาวประคองขึ้นทักทายกับผู้ชม แต่คุณป้าตอบคำถามของปู่ไม่ไหว ต้องให้ลูกสาวพูดแทน)

คนใจบุญ บริจาค 1,000 ล้าน (40,000 ล้านบาท)

อีกหนึ่งโมเม้นท์สุดประทับใจ คือ รูธ ก็อตส์มัน ผู้ถือหุ้นที่ขายหุ้น Berkshire 1,000 ล้านเหรียญ แล้วเอาเงินทั้งหมด บริจาคให้โรงเรียนแพทย์อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ 

มีการโชว์วีดิโอความยาว 30 วินาที เป็นนักศึกษาแพทย์นั่งอยู่ในฮอลล์ แล้วอาจารย์ก็ประกาศว่า นับจากนี้เป็นต้นไป เราจะไม่มีการเก็บค่าเทอม ทำเอาทุกคนเฮลั่นห้องประชุม กอดกัน หลายคนหลั่งน้ำตา 

ปู่บอกว่า รูธปฏิเสธไม่เอาชื่อของเธอไปเป็นส่วนหนึ่งของชื่อโรงเรียนแพทย์ เพราะเธอบอกว่าชื่ออัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นั้นดีอยู่แล้ว จึงเห็นได้ว่าไม่มีเรื่องของอีโก้ปะปนอยู่เลย

แม้รูธจะไม่ชอบโชว์ตัว แต่ปู่ก็ขอให้เธอลุกขึ้นทักทายกับผู้ถือหุ้นในฮอลล์

ปู่พูดว่า นี่แหละ คือสาเหตุที่ผมกับชาร์ลีสนุกเหลือเกินกับการบริหาร Berkshire (คนในห้องประชุมเองก็ปรบมือเสียงกึกก้อง)

ถ้าปู่ตาย ใครจะเลือกหุ้น

คำถามต่อไป ถามว่า เมื่อปู่จากไป หน้าที่ในการจัดสรรเงินทุน จะเป็นของใคร ระหว่าง เกรก อาเบล ซึ่งจะมาเป็น CEO ต่อ หรือจะเป็น ท็อดด์-เท็ด ซึ่งปัจจุบันเป็นสองคนที่บริหารเงินทุนของ Berkshire (หนึ่งในนั้นเป็นคนเริ่มเก็บหุ้น Apple ไม้แรก ก่อนที่ปู่จะซื้อตามในไม้ต่อๆ มา)

นอกจากนี้ยังถามด้วยว่า คนที่จัดสรรเงินทุน (ซื้อหุ้นในบริษัทต่างๆ) จะเป็นคนเดียวกับที่ตัดสินใจ M&A (ควบรวมกิจการ หรือการเข้าไปซื้อบริษัทอื่นทั้ง100%) หรือเปล่า

ปู่บอกว่า นี่เป็นการตัดสินใจของคณะกรรมการบริษัทหลังจากแกตายไปแล้ว แต่ถ้าตัวแกเป็นคณะกรรมการชุดนั้น แกจะให้เกรกรับหน้าที่จัดสรรเงินทุน เพราะคนที่บริหารธุรกิจเก่ง ย่อมต้องรู้เรื่องหุ้นสามัญอยู่แล้ว (สรุปคือปู่ให้เกรกมีอำนาจเต็ม ทำหน้าที่เหมือนแกในเวลานี้ทุกอย่าง)

เกรกบอกว่า capital allocation จะเป็นไปตามปรัชญาของปู่ Berkshire มีธุรกิจที่ดำเนินการอยู่แล้ว และถ้าทำธุรกิจได้ดี ก็จะมีเงินสดส่วนเกิน ซึ่งสามารถเอาไปลงทุนสร้างผลตอบแทนได้ (พูดง่ายๆ คือทั้งสองอย่างมันเชื่อมโยงกัน)

ซื้อธุรกิจ IT distribution

มีคำถามเรื่องธุรกิจจัดจำหน่าย IT ที่เข้าไปซื้อช่วงโควิด ว่าซื้อเพราะอะไร เห็นอะไร เกรกบอกว่าเห็น potential และตัวธุรกิจน่าสนใจมาก เป็น good value

คำถามต่อไปถามว่า คุณเคยบอกว่า ชอบถือหุ้นไว้ตลอดไป แต่เร็วๆ นี้ คุณซื้อขายหุ้นหลายตัว ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

ปู่บอกว่า ถ้าเราจะขาย เหตุผลแรกคือต้องการเงินสด ซึ่งเกิดขึ้นน้อยมาก ปู่พูดไปพูดมา กลายเป็นการอธิบายว่าทำไมถึง “เข้าซื้อ” แกยกตัวอย่างการลงทุนในอดีตมากมาย ว่าทำให้ได้เรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภค ปู่พูดถึง Nebraska Furniture Mart ที่ไม่ยอมให้ใครขายถูกกว่า พูดถึง Sees Candies กับพลังของแบรนด์ 

ปู่บอกว่า แกไม่รู้วิธีทำเฟอร์นิเจอร์ ไม่รู้วิธีทำลูกกวาด แต่แกรู้ว่าทำไมผู้บริโภคถึงชอบสินค้าเหล่านี้

ที่น่าสนใจก็คือ นี่เป็นครั้งแรกที่ปู่พูดถึงการเข้าซื้อ Apple ค่อนข้างชัดเจนที่สุด ปู่บอกว่า ในกรณีของ Apple ที่แกซื้อ มันมีบางอย่างที่แกอธิบายไม่ได้ แต่ยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องผิดกฏหมาย

ปู่ใช้คำว่า “it’s just something that entered the picture” คือมีปัจจัยบางอย่างที่เข้ามาแล้วทำให้แกตัดสินใจซื้อ

คำถามจาก “คนไทย”

คำถามต่อไปจาก station เป็นเด็กหนุ่ม “คนไทย” ที่ไปอยู่ที่นิวซีแลนด์ (น่าจะเป็นคนไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ไปยืนถามที่การประชุม Berkshire เพราะคนไทยที่ไปหลายๆ ครั้งอย่างพี่เว็บ พรชัย ก็ไม่เคยลุกขึ้นถามสักที) ถามคำถามดีมากๆ ว่า

ปู่เคยบอกไว้เมื่อปี 1999 ว่า ถ้าวันนี้กลับไปเริ่มต้นใหม่อีกครั้งจากเงิน 1,000,000 เหรียญ จะสามารถทำผลตอบแทนได้ปีละ 50% แน่ๆ ดังนั้น ถ้าพรุ่งนี้ปู่ตื่นขึ้นมาในร่างกายของผม แกจะลงทุนยังไง ใช้วิธีอะไร จะไปหาหนังสือ Moody’s ที่รวบรวมข้อมูลหุ้นทุกตัวในตลาดมาอ่านเหมือนเมื่อก่อนหรือเปล่า หรือจะลงทุนแบบก้นบุหรี่ (cigarbutt) หรือจะลงทุนแบบเน้นคุณภาพกิจการแบบ ชาร์ลี มังเกอร์

ปู่ดูเหมือนจะชอบคำถามของเด็กไทยมาก ปู่บอกว่า สิ่งที่จะทำ คือแกจะพยายามรู้ “ทุกสิ่งเล็กๆ” ที่สามารถทำ 50% ต่อปีได้ (น่าจะหมายถึงหาหุ้นตัวเล็ก) แต่คุณต้องรักสิ่งนั้นจริงๆ อย่ารักแค่เงิน ต้องขยายความรู้ใน area นั้นๆ (ลงทุนใน circle of competence) 

ปู่บอกด้วยว่า คนบางคนฉลาดในทางของตัวเองแบบสุดยอด แต่พอไปทำอย่างอื่นที่ไม่ถนัด ก็โง่อย่างไม่น่าเชื่อ

ปู่บอกน้องคนไทยว่า “ผมดีใจที่คุณมา ปีหน้ามาอีกนะ”

BNSF

มีคำถามเรื่อง BNSF บริษัทรถไฟ ว่ากำไรไม่ค่อยดี ต้นทุนสูง เกรกตอบยาวมาก ตรงนี้ขอข้าม เพราะเฉพาะทางเกินไป

S&P 500 ยังดีอยู่ไหม

อีกคำถาม ถามว่า ปู่เคยบอกว่า เมื่อตายไป ให้เอาเงิน 90% ลงทุนในกองทุน S&P 500 ค่าธรรมเนียมต่ำ อีก 10% ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล แต่ทุกวันนี้หุ้นเจ็ดประจัญบาน (Magnificent Seven) ก็ปาเข้าไป 25% ของ S&P 500 แล้ว ทำให้การลงทุน S&P 500 เหมือนการเดิมพันกับหุ้นเทค ปู่คิดว่าควรลงทุนในกองทุน S&P 500 ประเภท low cost equal-weight index fund คือเฉลี่ยเงินไปในหุ้น 500 ตัวเท่าๆ กัน (ไม่อิง market cap) หรือไม่

ปู่บอกว่าคำถามนี่ดีมาก แต่โดยสรุปคือ แกคงไม่เปลี่ยนอะไร ตัวแกไม่คิดเรื่อง economic factor แล้ว (ไม่คิดว่าจะได้ผลตอบแทนมากน้อยแค่ไหน) เพราะเงิน 99% มอบให้การกุศลไปแล้ว ที่เหลือก็คงไม่ต่างอะไรมากนัก (พูดง่ายๆ คือแกไม่ได้สนใจแล้ว)

ภัยคุกคามของ AI ต่อ Berkshire

อีกคำถามถามว่า AI น่าจะกระทบธุรกิจอะไรของ Berkshire ที่สุด

ปู่บอกว่า อะไรที่น่าจะ labor-intensive คือใช้แรงงานเยอะ เนื่องจาก AI จะมาแทนแรงงานมนุษย์ได้ แต่ปู่ก็ย้ำอีกครั้งว่า แกไม่รู้อะไรเกี่ยวกับ AI เลย 

หนี้ของอเมริกา

ปู่ชม เจโรม พาวล์ ว่าแก้วิกฤตได้ดีในช่วงที่ผ่านมา และแม้สหรัฐฯ จะมีหนี้เยอะ และคงเยอะไปอีกนาน “แต่จะไม่ใช่จำนวนที่ทำให้เกิดปัญหา” ที่น่าเป็นห่วงไม่ใช่เรื่องหนี้ แต่คือเรื่องเงินเฟ้อมากกว่า

ทำยังไงให้อายุยืน

ผู้ถือหุ้นจีนถามว่า ทำอย่างไรให้อายุยืน จนผลตอบแทนทบต้น (compound interest) ทำงานได้ยาวนาน ปู่บอกว่า ก็แค่โชคดี หลีกเลี่ยงโชคร้าย อย่างตัวแก (ซึ่งเป็นคนไม่รักษาสุขภาพเลย กินแต่อาหารขยะ) ถ้าไปถามตัวเองตอนมัธยม คงไม่กล้า bet ว่าจะอายุยืน พูดง่ายๆ คือ ปู่กำลังบอกว่าตัวเองโชคดีถึงอายุยืน

จงรู้จักให้

ปู่กล่าวก่อนจบว่า ถ้าคุณโชคดี ขอให้แน่ใจว่าคนอื่นโชคดีด้วยเช่นกัน พูดง่ายๆ คือให้รู้จัก “ให้”

“การให้” น่าจะเป็นธีมหลัก ของการประชุมครั้งนี้เลยก็ว่าได้

ปู่ปิดท้ายโดยบอกว่า “ผมไม่เพียงหวังว่าพวกคุณจะกลับมาปีหน้า ผมหวังว่าผมเองก็จะได้กลับมาในปีหน้าเช่นกัน”

ผู้ถือหุ้นลุกขึ้นปรบมือ เป็น standing ovation อีกครั้ง แต่ครั้งน้ี พวกเขาปรบมือให้กับ “วอร์เรน บัฟเฟตต์”

— จบ —

อนาคตแห่งการลงทุน ที่อาจเข้ามาแทนที่ index fund

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

เจอบทความนึงใน BloombergBusinessweek น่าสนใจทีเดียว

ระยะหลัง ตั้งแต่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ปลุกกระแส passive fund ขึ้นมา ทำให้กองทุนรวมประเภท active fund เสียลูกค้าไปให้พวก ETF ค่าธรรมเนียมต่ำๆ โดยเฉพาะ index fund เยอะมาก

ล่าสุด เจ้าใหญ่อย่าง Morgan Stanley, Blackrock และ Vanguard Group (สองรายหลังเป็นเจ้าพ่อ index fund เช่นกัน) จึงดัน “ของใหม่” ออกมาขายเพื่อ “โต้กลับ”

ของใหม่ที่ว่านี้ คือ “ซอฟท์แวร์” ซึ่งจะให้นักลงทุนแต่ละคนสร้าง “ดัชนีส่วนตัว” ของตัวเองขึ้นมาได้

ชื่อของมันคือ “custom indexing” หรือ “direct indexing” ซึ่งบางคนบอกว่า เป็น “การจัดการสินทรัพย์แห่งอนาคต” อันจะมาแทนที่การซื้อกองทุนแบบเดิมๆ เลยทีเดียว

รูปแบบของ custom indexing กับ direct indexing มีความแตกต่างกันอยู่เล็กน้อย

สำหรับ direct indexing ผู้ลงทุนจะเลือกดัชนีที่มีอยู่แล้วเป็นตัวตั้ง เช่น S&P500 แล้วปรับแต่งตามความต้องการ

เช่น เอาหุ้นที่ทำลายสิ่งแวดล้อมออกไป เอาหุ้นที่เจ้าของชอบทวีตปั่นหุ้นตัวเองออกไป แทนที่จะต้องซื้อหุ้นทั้ง 500 ตัวในดัชนีนั้นๆ ซึ่งย่อมมีหุ้นที่ตัวเองไม่ชอบปะปนอยู่ด้วย

นัยยะของคำว่า direct ก็คือ สามารถ “ซื้อหุ้นตรง” ตามที่อยากได้ โดยเลือกจากดัชนีเดิมที่มีอยู่แบบไม่ต้อง “กวาด” เปรียบได้กับการสร้าง “ดัชนีส่วนตัว” ขึ้นมา

ขณะที่ custom indexing ผู้ลงทุนไม่จำเป็นต้อง “base” หรือสร้างกองทุนโดยปรับเปลี่ยนจากดัชนีที่มีอยู่แล้วด้วยซ้ำไป แต่สามารถ “วาดภาพ” ดัชนีที่ตัวเองต้องการขึ้นมาได้ทั้งหมด

เช่น ผมต้องการหุ้น new economy แต่ไม่เอาหุ้นการเงิน ไม่เอาหุ้นยา เน้นพวก SaaS หรือ software-as-a-service สุดท้ายจึงได้หุ้นมา 70-80 ตัว เปรียบเสมือน “ดัชนีส่วนตัว” ของผมเอง เป็นต้น

เปรียบเทียบให้เห็นภาพที่สุด มันคือ “Spofity แห่งโลกของการลงทุน” เป็นการซื้อกองทุนที่ผู้ลงทุนสามารถสร้าง “Playlist หุ้น” ของตัวเองขึ้นมาได้ตามใจ

เล่ามาถึงตรงนี้ บางคนอาจแย้งว่า ของพวกนี้ private fund เขาก็ทำอยู่แล้วไม่ใช่หรือ? แค่ให้คนเลือกหุ้นเอง มัน “ใหม่” ตรงไหนเล่า?

คำตอบก็คือ “ใช่” มันอาจจะไม่ใหม่ แต่ในกรณี private fund คุณต้องมีเงินในระดับหนึ่ง เช่น สัก 1 ล้านเหรียญ หรือถ้าเป็นของไทยก็ต้องหลักสิบล้านบาท

ทว่าต่อไปนี้ มันจะเป็น product สำหรับผู้ลงทุนทั่วไป ด้วยต้นทุนที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้

นอกจากนี้ ไอเดียนี้ยังเรียกเสียงปรามาสได้ไม่น้อย

บ้างก็ว่า มันคือไอเดียที่พวก บลจ.จะหลอกเอาค่าธรรมเนียมจากผู้ลงทุนสูงขึ้นกว่า index fund

เช่น แทนที่จะให้คนซื้อ S&P 500 ETF แล้วเก็บค่าธรรมเนียม 0.1% ก็หันมาขาย direct indexing ตัดหุ้นออกไป 50 ตัว เหลือ 450 ตัว แล้วเก็บค่าธรรมเนียม 0.3% แทน

บ้างก็ว่า การให้ผู้ลงทุนเลือกหุ้นเอง มันก็เหมือนกับการ “ลงทุนเอง” ซึ่งสถิติตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันชี้ชัดแล้วว่า มนุษย์เราไม่ควรลงทุนเอง เพราะมักจะ “เจ๊ง” เสมอ

แต่สุดท้ายแล้ว บางคนก็มองว่า custom indexing หรือ direct indexing อาจจะเติบโตและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว …

จนกลายเป็นภัยคุกคามต่อทั้ง ETF และกองทุนรวม (active fund) เหมือนกับที่ ETF เคยเป็นภัยคุกคามต่อกองทุนรวมมาก่อนหน้านี้ และปรากฏชัดแล้วในวันนี้นั่นเอง


ที่มา : BloombergBusinessWeek, December 13, 2021

เมื่อผมได้พบกับผู้อยู่เบื้องหลังต้นกำเนิดสโมสร RB Leipzig

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

อย่างที่เคยบอกไปแล้วในเพจเฟซบุ๊ก Club VI ว่า ผมตัดสินใจออกเดินทางไกลเพื่อภารกิจ “scuttlebutt หุ้น” โดยจะเขียนบทความเชิงลึกแนว investigative สำหรับหุ้นแต่ละตัวให้ได้อ่านกันเรื่อยๆ

เรื่องที่จะเล่าในตอนนี้ มาจากการที่ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมออนไลน์ กับ มิคาเอล โคลเมิล ผู้ประกอบการชื่อดังชาวเยอรมัน

มิคาเอลเป็นเจ้าของบริษัทภาพยนตร์ สำนักพิมพ์ และเป็นอดีตเจ้าของสนามฟุตบอล ซึ่งปัจจุบันคือ Red Bull Arena ของสโมสร RB Leipzig อีกด้วย

ระหว่างการประชุม มิคาเอล เล่าให้ฟังถึงเส้นทางการทำธุรกิจของเขา จุดเริ่มต้นคือเขาและน้องชายได้ตั้งบริษัทจัดจำหน่ายภาพยนตร์ขึ้นเมื่อปี 1984 โดยเน้นขายเฉพาะ “หนังอินดี้” ทำให้มีกลุ่มลูกค้าหลักคือโรงหนังอาร์ตๆ ทั้งหลาย (ถ้าเป็นเมืองไทยคงประมาณลิโด้ สกาล่า) และแล้วในปี 1996 บริษัทของเขาก็รวยเละ จากหนัง “The English Patient” ซึ่งได้รับรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ทำให้มิคาเอลสามารถเอาบริษัทเข้าตลาดหุ้นได้สำเร็จ

บริษัทของมิคาเอลเป็นเจ้าของสัมปทานสื่อกระจายเสียง และเขาก็เกิดไอเดียว่าคอนเท้นท์ที่จะดึงคนดูได้คือ “ฟุตบอล” จึงตัดสินใจที่จะเข้าลงทุนในสโมสรฟุตบอลจำนวนมาก ด้วยการเลือกเฉพาะทีมที่กำลังประสบปัญหา โดยหวังว่าถ้าทีมกลับสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้ง  ก็จะสร้างผลตอบแทนให้กับบริษัท แต่แล้วกลยุทธ์นี้ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนเป็นสาเหตุสำคัญทำให้บริษัทล้มละลาย 

ทว่าด้วยความสู้ไม่ถอย มิคาเอลจึงสามารถพลิกฟื้นอาณาจักรธุรกิจกลับมาได้ และเติบโตยิ่งกว่าเก่าเสียอีก หนึ่งในนั้นคือการสร้าง Kinowelt TV ช่อง pay TV ที่เขาหุ้นกับน้องชายคนละครึ่ง ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างงดงาม และขายให้ AMC Networks (บริษัทที่หุ้นถูกดันโดยชาว Reddit พร้อมๆ กับ Gamestop) ไปเป็นเงินก้อนโต

ในปี 2000 บริษัทของมิคาเอลได้สิทธิ์ในการเข้าไปก่อสร้างและบริหารสนามกีฬา Leipzig Central Stadium ซึ่งเคยเป็นสนามกีฬาขนาดใหญ่ที่สุดของเยอรมนีตะวันออก โดยใช้เงินลงทุนถึง 90 ล้านยูโร และในจำนวนนั้น เป็นเงินที่มิคาเอลควักกระเป๋าเองถึง 27 ล้านยูโร ก่อนที่สนามแห่งนี้จะได้ใช้ในการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2006 ด้วย

และแล้ว การเดินหมากตาสำคัญในชีวิตธุรกิจของเขาครั้งหนึ่งก็มาถึง โดยมิคาเอลได้ติดต่อกลุ่ม Red Bulls ซึ่งก่อนหน้านั้นเพิ่งเข้าไปเทคโอเวอร์ FC Sachsen Leipzig ทีมท้องถิ่นของเมืองไลพ์ซิก แต่ไม่เวิร์กเพราะถูกต่อต้านจากแฟนบอลท้องถิ่น ให้เข้ามาลงทุนกับสโมสร SSV Markranstadt ในเครือข่ายของเขา ก่อนจะสปินออฟทีมฟุตบอลชายออกมา แล้วใช้ชื่อว่า RB Leipzig

ในฤดูกาล 2010/11 ทีม RB Leipzig ได้ย้ายมาเล่นที่สนาม Central Stadium ของมิคาเอล โดยกลุ่ม Red Bulls ได้รับสิทธิ์ในการตั้งชื่อ หรือที่เรียกว่า naming rights และเปลี่ยนชื่อสนามเป็น “Red Bull Arena” จากนั้นในปี 2016 มิคาเอลก็บรรลุข้อตกลงกับ Red Bulls ในการขายสนามให้กับกลุ่มทุนชื่อดังรายนี้ไปในที่สุด ขณะที่ทีม RB Leipzig ก็เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นทีมชั้นนำของบุนเดสลีกา ลีกฟุตบอลสูงสุดของเยอรมนีจนถึงปัจจุบัน

ดังที่เคยเขียนเล่าไปแล้วว่าผมตัดสินใจออกมาหาประสบการณ์การลงทุนในต่างประเทศ แม้เคสนี้จะยังไม่สามารถแปลงเป็นโอกาสในการลงทุนได้ แต่ก็เป็นเรื่องน่าสนใจที่อยากเอามาเล่าสู่กันฟังครับ