โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
หลายท่านที่ชอบไปท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นน่าจะคิดเหมือนๆ กันว่า ต้นทุนในการเดินทางไปเที่ยวแดนซามูไรช่วงหลังๆ นั้นถือว่าต่ำลงเยอะ ถ้าเทียบกับเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งปัจจัยสำคัญคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเพราะเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งเงินเยนด้วย
แต่หากพิจารณาจากราคาสินค้าและบริการของหลายๆ ประเทศเทียบกัน ก็จะเห็นได้ว่า ต้นทุนในการเที่ยวญี่ปุ่นก็ยังถือว่า “ถูก” อยู่ดีสำหรับชาวโลก แม้ค่าเงินของเขาจะไม่ได้แข็งเอาๆ เหมือนเงินบาทไทยก็ตาม
บทความในนิตยสาร Nikkei Asian Review ฉบับวันที่ 10 ธ.ค. ยกตัวอย่าง ตั๋วเข้าโตเกียวดิสนีย์แลนด์สำหรับผู้ใหญ่แบบ single-park ticket ราคาอยู่ที่ 69 เหรียญ หรือ 2,070 บาท ขณะที่ตั๋วเข้าดิสนีแลนด์ประเภทเดียวกันที่แคลิฟอร์เนียราคา 129 เหรียญ หรือ 3,870 บาท
เรียกได้ว่าที่ญี่ปุ่นถูกกว่าเกือบครึ่งหนึ่ง และถูกกว่าอีกหลายๆ ที่ทั่วโลก รวมถึงยูโรดิสนีย์ ที่ปารีส และดิสนีย์เซี่ยงไฮ้
หรือถ้าจะดูจากโรงแรม ห้องพักโรงแรมห้าดาวในลอนดอน ขนาด 50 ตรม. เตียงคิงไซส์ ราคาอาจสูงถึงคืนละ 1,500 เหรียญ (45,000 บาท) ขณะที่ห้องพักประเภทและระดับเดียวกันในโตเกียว ราคาอยู่ที่ประมาณ 700 เหรียญ (21,000 บาท) เท่านั้น
ผู้เขียนยังเทียบด้วยว่า ของที่ขายอยู่ที่ร้าน Daiso ซึ่งเป็น “ร้าน 100 เยน” หรือร้านขายสินค้าราคาเดียวสัญชาติญี่ปุ่น ในประเทศอื่นๆ ขายแพงกว่านั้นเสียอีก เช่น Daiso ในสหรัฐฯ ขายอยู่ที่ 1.50 เหรียญ (45 บาท) ในบราซิลขายอยู่ที่ 7.99 เรียล (59 บาท) ในไทยขายอยู่ที่ 60 บาท แม้แต่ในจีนซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ของ Daiso ผลิตที่นั่น ก็ยังขายที่ราคา 10 หยวน (43.7) แพงกว่าญี่ปุ่นอยู่หลายสิบเปอร์เซ็นต์
หรือที่นิยมใช้เปรียบเทียบกันมานาน คือ “ดัชนีบิ๊กแม็ค” เมนูยอดฮิตของแม็คโดนัลด์ ราคาบิ๊กแม็คที่ญี่ปุ่นอยู่ที่ 390 เยน (109 บาท) ขณะที่ในสหรัฐฯ อยู่ที่ 5.74 เหรียญ (172.2 บาท) ต่างกันเยอะมาก
การที่สินค้าและบริการทั่วๆ ไปในญี่ปุ่นทุกวันนี้ถูกกว่าประเทศอื่นๆ นี้เอง เป็นสาเหตุสำคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้ยอดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติในญี่ปุ่นสูงถึง 4.52 ล้านล้านเยนในปี 2018 เพิ่มขึ้นถึงสามเท่าจากปี 2013
อย่างไรก็ตาม แม้ “ราคาที่ต่ำ” ของสินค้าและบริการจะมีประโยชน์ โดยช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวได้อย่างมาก แต่เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศก็ยังฟื้นตัวได้ยาก สาเหตุสำคัญเพราะบริษัทญี่ปุ่นไม่ยอมขึ้นเงินเดือนให้พนักงาน ทำให้คนไม่ค่อยยอมใช้จ่ายเท่าที่ควร
เงินเฟ้อของประเทศจึงอยู่ในระดับ “ต่ำ” จนถึง “ติดลบ” สุดท้ายแล้ว เศรษฐกิจจึงติดหล่มอยู่อย่างนี้
ยิ่งมีเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่มาส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทญี่ปุ่น การขึ้นเงินเดือนให้พนักงานซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นอยากให้เกิดขึ้นนักหนาก็คงต้องร้องเพลงรอต่อไปอีก เศรษฐกิจแดนซามูไรจึง “ซึม” ต่อไปไม่มีกำหนด
ผู้เขียนสรุปไว้อย่างน่าเจ็บปวดว่า เหตุที่ญี่ปุ่น “ถูกกว่า” เพราะมัน “ถูกทิ้ง” ไว้เบื้องหลังการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
และนี่เอง คือสาเหตุที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อสิบกว่าปีก่อนเป็นประเทศ “โคตรแพง” จะซื้อทัวร์ทีนึงไม่ต่ำกว่า 5-60,000 บาท หรือจะไปเที่ยวเองก็ยิ่งแพง ทุกวันนี้กลับกลายเป็นประเทศ “สุดคุ้ม” ไปเที่ยวเองก็สะดวก จะซื้อทัวร์ก็ไม่แพง
จนกลายเป็นจุดหมายในการท่องเที่ยวหลักของคนไทยและนักท่องเที่ยวจากอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลกไปเสียแล้ว
ข้อมูลประกอบ : นิตยสาร Nikkei Asian Review ฉบับวันที่ 10 ธ.ค. 2019