โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
“ร้านร้อยเยน” คือโมเดลธุรกิจที่ผมมองว่าน่าสนใจมากๆ จุดเด่นของธุรกิจนี้คือความเรียบง่าย สินค้าที่ขายในร้านร้อยเยนส่วนมากคือของใช้ทั่วไป บ้างก็เป็นของแต่งบ้าน ของใช้ส่วนตัว ไปจนถึงสินค้าจิปาถะต่างๆ เช่น เคสโทรศัพท์มือถือ ตุ๊กตุ่นตุ๊กตา ไม่เว้นแม้ของกิน ฯลฯ โดยเอาทุกอย่างมาขายในราคาหนึ่งร้อยเยน หรือประมาณ 31 บาทไทย
(โมเดลนี้ไม่ได้มีเฉพาะในญี่ปุ่น ในอเมริกาก็มีร้าน 1 ดอลลาร์ 2 ดอลลาร์ ในเมืองจีนมีร้าน 10 หยวน ว่ากันไป แต่ในที่นี้ขอพูดถึงญี่ปุ่นเท่านั้น)
การตั้งราคาเดียวร้อยเยน ทำให้ผู้ซื้อรู้สึกว่าถูก (ซึ่งส่วนใหญ่ก็ถือว่าถูกจริง) และตัดสินใจซื้อได้ง่าย เห็นอะไรชอบก็หยิบๆ ใส่ตะกร้า นอกจากนี้ สินค้าในร้านร้อยเยนยังมีหลากหลาย แม่บ้านญี่ปุ่นหลายคน เวลาอะไรในบ้านขาดนี่พุ่งไปร้านร้อยเยนก่อนเลย โดยเฉพาะของที่ไม่ต้องเน้นคุณภาพอะไรมาก ถ้าร้านร้อยเยนไม่มี หรือต้องการของที่คุณภาพดีสักหน่อย จึงค่อยไปซื้อที่อื่น
ยกตัวอย่างเช่น ต้องการถาดทำน้ำแข็งในตู้เย็น แทนที่จะไปซื้อที่แผนกเครื่องครัวในห้าง Nitori หรือ Tokyu Hands ซึ่งอย่างน้อยๆ ต้องมี 200-300 เยน ก็ไปซื้อที่ร้านร้อยเยน ใช้ได้เหมือนกัน จะจ่ายแพงกว่าทำไม (ผมเองใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่นปีละหลายเดือน เข้าร้านร้อยเยนสัปดาห์หนึ่งหลายครั้งอยู่)
ในมุมของผู้ขาย เรื่องของ pricing นี่ไม่ต้องคิดเลย เพราะใช้กลยุทธ์ “ราคาเดียว” (one-price) อยู่แล้ว สิ่งที่ต้องทำคือ ลดต้นทุนสินค้าให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะทำได้ก็ด้วยการสั่งผลิตและซื้อสินค้าเป็นจำนวนมากจากผู้ผลิต และการจะทำเช่นนั้นได้ ปัจจัยสำคัญคือต้อง “ขยายสาขาออกไปให้ได้มากๆ” เพราะยิ่งมีสาขามาก ปริมาณสินค้าที่ต้องสั่งซื้อ (หรือสั่งผลิต) ก็จะยิ่งมาก ซึ่งย่อมจะทำให้ได้ต้นทุนที่ต่ำลง (ร้านค้าทั่วไปที่ไม่ใช่ร้อยเยน อย่าง IKEA ห้างขายของใช้ในบ้านระดับโลกก็สามารถขายของถูกได้ด้วยเหตุผลนี้เป็นสำคัญ)
อีกสิ่งหนึ่งที่ธุรกิจนี้ต้องทำ คือการ “สร้างจุดขาย” โดยทำให้สินค้าของร้านตัวเองมีความแตกต่างจากร้านอื่นๆ ซึ่งเอาเข้าจริง จากที่ผมสังเกต สินค้าที่ขายในร้านร้อยเยนญี่ปุ่นจำนวนมากเป็นสินค้าแบบเดียวกันเป๊ะ แต่จะมีส่วนหนึ่งที่เป็นของร้านใครร้านมัน ประมาณว่าของชิ้นนี้-แบบนี้ มีที่ร้านนี้เท่านั้น
สินค้าประเภทหลังนี่แต่ละร้านควรมีให้มากเข้าไว้ เพราะยิ่งมีของน่ารักๆ ที่หาซื้อที่อื่นไม่ได้ ก็จะเป็นการ “สร้างความแตกต่าง” ทำให้เกิดความน่าซื้อ ลูกค้าอยากมา
ร้านร้อยเยนหลายร้านมี “Character Goods” หรือสินค้าตัวการ์ตูนดังๆ เช่น มิกกี้เมาส์ คุมะมง ไข่ย้อย ฯลฯ ซึ่งก็ทำออกมาได้น่ารักน่าใช้มากเลยทีเดียว ขนาดผมเป็นผู้ชาย เห็นช้อนส้อม กล่องใส่อาหารลายมิคกี้เม้าส์ หรือทิชชู่เย็นลายคุมะมง ยังอยากซื้อมาใช้ (แล้วก็ซื้อจริงๆ ด้วย) บางร้านนี่แยกเป็นมุมของการ์ตูนนั้นๆ โดยเฉพาะเลยก็มี
แบรนด์ร้านร้อยเยนของญี่ปุ่นที่คนไทยคุ้นเคย น่าจะได้แก่ Daiso เพราะมีสาขาไปเปิดที่เมืองไทย และถึงขนาดขายแฟรนไชส์กันแล้ว โดยขายของที่ชิ้นละ “เริ่มต้น 60 บาท” ซึ่งเทียบกับเงินญี่ปุ่นคือประมาณ 200 เยน แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เพราะต้นทุนสูงกว่า แต่ร้านร้อยเยนญี่ปุ่นยังมีอีกหลายร้าน ที่คนไทยนิยมกันก็อย่างเช่น ร้าน CanDo ซึ่งมีอยู่หลายสาขา โดยเฉพาะสาขาใหญ่ที่ชินจูกุที่ทัวร์ไทยชอบเอาลูกค้าไปปล่อยไว้
แต่ที่ผมชอบที่สุดโดยส่วนตัว คือร้าน Seria อันนี้ก็มีหลายสาขาเช่นกัน ผมเคยช้อปร้าน Seria ครั้งแรกที่เกาะโอกินาว่า ก่อนจะซื้อของที่ร้านนี้เรื่อยมา เหตุที่ชอบ Seria มากกว่าร้านอื่นๆ เพราะสินค้าเค้าทำน่าซื้อมาก และมีให้เลือกหลากหลายกว่า ที่สำคัญคือ เป็นร้านร้อยเยนที่ทุกอย่าง “100 เยน” จริงๆ ไม่ใช่เริ่มต้นร้อยเยน แต่บางชิ้นขาย 200-300 เยน ดังนั้นจึงคิดเงินง่ายมาก เช่น หยิบของ 10 อย่างก็คูณสิบเข้าไป = 1,080 เยน (ยังมีภาษีอีกชิ้นละ 8% = 8 เยน)
ในมุมของการลงทุน โมเดลธุรกิจนี้ถือว่าน่าสนใจ เพราะ “ง่าย” และรายจ่ายลงทุนไม่สูง ไม่ต้องมีงบ R&D อะไรมาก แต่ก็แน่นอน ด้วยความที่ราคาสินค้าถูก cap ไว้ที่ 100 เยน profit margin จึงค่อนข้างต่ำ บางชิ้นกำไรน้อยมาก หรือแทบไม่ได้กำไร ในขณะที่บางชิ้นอาจกำไรมากหน่อย แต่ถัวกันไปแล้วยังมีกำไร ธุรกิจนี้จึงต้องเน้น volume คือขายของให้ได้มากชิ้นที่สุด อีกทางหนึ่งก็ต้องขยายสาขาออกไปให้ได้มากๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดความประหยัดจากขนาด
อย่างไรก็ตาม จากที่ได้อ่านงบการเงินของร้านร้อยเยนในญี่ปุ่น ผมพบว่าบางร้านทำ net margin ได้สูงขึ้นผิดหูผิดตา จาก 1 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ เมื่อสิบปีที่แล้ว กลายเป็น 6-7 เปอร์เซ็นต์ในปัจจุบัน ซึ่งไม่เลวร้ายเลย
ข้อดีอีกอย่างของธุรกิจนี้ที่นึกออกคือ สินค้าส่วนใหญ่ตกรุ่นค่อนข้างยาก แม้จะต้องมีสินค้ามากมายหลายประเภท แต่ของพวกนี้อยู่ได้นาน (คุณเคยเห็น พรมเช็ดเท้า หรือไม้แขวนเสื้อ ตกรุ่นไหมล่ะ?) ธุรกิจจึงนี้บริหารสต็อกได้ง่ายกว่า ไม่เหมือนร้านขายเสื้อผ้า
โดยสรุป ร้านร้อยเยนของญี่ปุ่นเป็นธุรกิจที่น่าลงทุน แต่ควรเลือกลงทุนในบริษัทที่มีการขยายสาขาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว (เพราะ key driver อยู่ที่การขยายสาขา) และดู performance ย้อนหลังจากงบการเงินของบริษัท หากพบว่าดีและหุ้นราคาไม่แพงจนเกินไปก็สามารถตัดสินใจลงทุนได้ครับ