[บทความนี้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ เขียนลงในนิตยสาร Fortune ฉบับวันที่ 27 ก.พ. 2012 ผมเห็นว่าดีมาก จึงถอดความออกมาเป็นภาษาไทยให้ได้อ่านกันครับ]
วอร์เรน บัฟเฟตต์ เขียน / แปลโดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
ผู้คนมักกล่าวว่า การลงทุน คือการกระบวนการในการเอาเงินออกมาบริหาร โดยหวังว่าจะได้รับเงินมากขึ้นในอนาคต
แต่ที่เบิร์คไชร์ แฮธาเวย์ เราใช้หลักที่เข้มงวดกว่านั้นมาก เราให้คำจำกัดความของ การลงทุน ว่าเป็นการส่งต่ออำนาจซื้อไปสู่ผู้อื่น ด้วยความคาดหวังอย่างมีเหตุผลว่าจะเกิดเป็นอำนาจซื้อที่มากขึ้นในอนาคต หลังจากหักภาษีในอัตราที่น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ หากจะให้ชี้ชัดยิ่งขึ้น ต้องบอกว่า การลงทุนคือการผัดผ่อนการบริโภค ณ วันนี้ เพื่อให้มีความสามารถที่จะบริโภคได้มากขึ้นในวันข้างหน้า
ด้วยนิยามของเรา จึงก่อให้เกิดผลที่ตามมาอันสำคัญยิ่งประการหนึ่ง กล่าวคือ ความเสี่ยงจากการลงทุน มิอาจวัดได้โดยค่าเบต้า (อันเป็นค่าที่คนในวอลล์สตรีทชอบใช้กัน) หากแต่วัดได้โดยหลักความน่าจะเป็น แต่ต้องเป็น ความน่าจะเป็นอย่างมีเหตุผล ที่ผู้ที่เป็นเจ้าของเงินจะสูญเสียอำนาจซื้อหลังจากถือสินทรัพย์นั้นไประยะหนึ่ง
ทั้งนี้ ราคาของสินทรัพย์อาจผันผวนขึ้นลงอย่างรุนแรงได้โดยไม่มีความเสี่ยงอันใด หากว่ามันยังคงเพิ่มอำนาจซื้อให้กับผู้ถือสินทรัพย์นั้นอย่างมั่นคงและแน่นอน หลังจากถือมันไว้ระยะหนึ่ง ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า แม้สินทรัพย์ที่ราคาไม่ผันผวนเลย ก็อาจเต็มไปด้วยความเสี่ยงได้
ความน่าจะเป็นในการลงทุนนั้นมีอยู่มากมายและหลากหลาย อย่างไรก็ตาม ความน่าจะเป็นดังกล่าวสามารถแบ่งออกได้เป็นสามประเภทหลักๆ ซึ่งเราจำเป็นที่จะต้องเข้าใจคุณลักษณะของความน่าจะเป็นแต่ละประเภท เรามาดูกันเถอะครับ
(ต่อตอนหน้า)