(ต่อจากตอนที่แล้ว- ย้อนกลับไปอ่านตอนแรกได้ที่นี่ https://clubvi.com/2012/05/24/tulipmania/ )
โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
อันที่จริง ด้วยตัวของมันเอง ทิวลิปถือว่ามีคุณสมบัติที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการเก็งกำไรอยู่แล้ว กล่าวคือ ทิวลิปเป็นดอกไม้ที่ปลูกได้ช้า ต้องใช้เวลาถึง 7-12 ปี กว่าที่เมล็ดพันธุ์จะเติบโตขึ้นมาเป็นดอกงามสะพรั่ง โดยทิวลิปแต่ละดอกนั้น สามารถให้เมล็ดพันธุ์สำหรับเอาไปปลูกเป็นทิวลิปที่เหมือนกับตัวมันเองได้อีก 2-3 ดอก
พูดง่ายๆ ก็คือ “แม่” หนึ่งดอก “ออกลูก” ได้ 2-3 ดอก แต่ “ดอกแม่” เองกลับมีอายุอยู่ได้เพียง 1-2 ปี แล้วก็ตายไป (เกิดก็ยาก ตายก็เร็ว)
ที่สำคัญคือ เมล็ดพันธุ์ที่จะปลูกเป็นดอกทิวลิปได้ ต้องมาจากดอกแม่เท่านั้น (เหมือนคนออกลูก) จะเพาะขึ้นมาเองไม่ได้ อันเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ดอกไม้ชนิดนี้ขยายพันธุ์ได้ยากที่สุด
ด้วยธรรมชาติที่เป็นดอกไม้ปลูกยาก เมื่อบวกกับการเกิด “ไวรัสทิวลิป” (Tulip-breaking Virus หรือชื่อทางการคือ Mosaic Virus) ระบาด ส่งผลให้ดอกทิวลิปล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งยิ่งทำให้ทิวลิปบางพันธุ์ที่หายากอยู่แล้วมีราคาแพงสุดกู่
อาจกล่าวได้ว่า ณ เวลานั้น ทิวลิปกลายเป็น “สินค้าโภคภัณฑ์” ที่มีความขาดแคลนที่สุดในยุโรป
ทิวลิปจะออกดอกเฉพาะในเดือนเมษายนกับพฤษภาคม เดือนละหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น และสามารถเด็ดออกมาขายได้ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายน ดังนั้น ในสองเดือนดังกล่าว จึงเป็นเวลาที่ตลาดซื้อขายทิวลิปคึกคักมาก
จุดที่น่าสนใจก็คือ เมื่อมีความต้องการมากเข้า “นวัตกรรมทางการเงิน” ก็เริ่มเข้ามามีบทบาททันที
โดยในเดือนที่ไม่ใช่ฤดูเก็บเกี่ยวนั้น นักค้าทิวลิปจะใช้วิธี “เซ็นสัญญาล่วงหน้า” เพื่อสิทธิ์ในการซื้อทิวลิป รอจนทิวลิปออกดอก ผู้ที่ถือสัญญาอยู่ก็จะได้สิทธิ์ในการซื้อดอกทิวลิปตามที่ระบุไว้ในสัญญา
นอกจากนี้ ชาวดัตช์ยังนำเอาเทคนิคทางการเงินอื่นๆ เช่น การ “ชอร์ตเซลล์” (Short) กลับมาใช้ใหม่ทั้งๆ ที่เคยถูกแบนไปแล้ว (โปรดสังเกตว่าการชอร์ตเซลล์มีมากว่าสามร้อยปีแล้วนะครับ ไม่ใช่เพิ่งจะเกิดขึ้น)
โดยในเวลานั้น “ตลาดซื้อขายทิวลิป” ร้อนแรงไม่แพ้ “ตลาดทองคำ” หรือ “ตลาดน้ำมัน” ในสมัยนี้เลยทีเดียว !!
(ติดตามต่อตอนหน้า)
อ้างอิง
http://penelope.uchicago.edu/~grout/encyclopaedia_romana/aconite/tulipomania.html http://en.wikipedia.org/wiki/Tulip_mania