โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
(ต่อจากตอนที่แล้ว)
ในปี 1634 ราคาของดอกทิวลิปที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ได้ดึงดูดให้บรรดานักเก็งกำไรหลั่งไหลกันเข้ามาในตลาด พอถึงปี 1636 ก็ได้เกิด “ตลาดฟิวเจอร์ส” สำหรับทิวลิปขึ้นโดยเฉพาะ มีการทำสัญญาซื้อขายทิวลิปล่วงหน้า โดยผู้ซื้อ ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2.5% ของราคาดอกทิวลิปที่จะซื้อ “ทันที”
ชาวดัตช์ในสมัยนั้นเรียกการทำสัญญาลักษณะนี้ว่า “windhandel” หรือภาษาอังกฤษคือ “wind trade” แปลตรงตัวก็คือการ “ซื้อขายลม” อันหมายถึงการทำสัญญากันโดยยังไม่เห็นตัวสินค้า ไม่มีสินค้าจริงๆ เปลี่ยนมือกัน มันคือการซื้อขาย “อากาศธาตุ” เท่านั้น
ชาร์ลส์ แม็คเคย์ ชาวสก็อตแลนด์ เขียนไว้ในหนังสือ Extraordinary Popular Delusions and the Madness of Crowds ตีพิมพ์ในปี 1841 ว่า “ทิวลิปเมเนีย” เป็นปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมบ้าคลั่งอย่างไร้เหตุผลของคน ว่ากันว่า
“ประชากรทั้งประเทศ ไม่ว่าจะอยู่ในชนชั้นที่ต่ำต้อยขนาดไหน ต่างอยากเข้ามามีส่วนร่วมในการซื้อขายทิวลิปกันทั้งสิ้น”
แม็คเคย์ระบุไว้ในหนังสือของเขาว่า ในปี 1635 “ทิวลิป 40 ดอก” ขายกันที่ราคา “100,000 ฟลอริน” ในขณะที่ “เนยหนึ่งตัน” มีราคาแค่ “100 ฟลอริน” แรงงานชั้นดี มีค่าจ้างแรงงานทั้งปีแค่ “150 ฟลอริน” และ “หมูอ้วนพีแปดตัว” มีราคาแค่ “240 ฟลอริน”
บอกแค่นี้ ทุกท่านคงจะสงสัยว่า ไอ้ “1 ฟลอริน” ค่าของมันอยู่ที่ประมาณไหนกันแน่ อธิบายอย่างนี้ครับว่า “ฟลอริน” (Florin) คือ หน่วยเงินของดัตช์ในสมัยนั้น มีค่าเท่ากับ ” กิลเดอร์” (Guilder) คือเท่ากับ “100 เซนต์” (1 Florin = 1 Guilder = 100 Cents)
สถาบัน International Institute of Social History เปรียบเทียบให้เห็นว่า 1 ฟลอริน มีอำนาจซื้อเท่ากับเงิน “10.28 ยูโร” ในปี 2002 หรือคิดเป็นเงินไทยเท่ากับ “411.20 บาท” (คำนวณโดยอัตรา 1 ยูโร = 40 บาท)
ดังนั้น “ทิวลิป 40 ดอก” ในยุคฟองสบู่ จึงมีราคาถึง 41.12 ล้านบาท ในสมัยนี้!!
นี่ยังไม่นับข้อเสนออื่นๆ ที่ไม่ใช่ตัวเงิน เป็นต้นว่า มีหลักฐานว่าบางคนยอมแลกที่ดิน 12 เอเคอร์ (49,000 ตรม.) เพื่อทิวลิปพันธุ์ Semper Augustus เพียง 2 ดอก หรือยอมแลกหมู แกะ อีกทั้งพืชพันธุ์ธัญญาหารต่างๆ มูลค่ารวม 2,500 ฟลอริน (หนึ่งล้านกว่าบาทสมัยนี้) เพื่อทิวลิปพันธุ์ Viceroy เพียงดอกเดียว
ดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรหยุดความร้อนแรงของราคาดอกทิวลิปในเนเธอร์แลนด์ได้เสียแล้ว
แต่อยู่ๆ ในฤดูหนาวของปี 1636-37 ในขณะที่การเก็งกำไรทวีความรุนแรงถึงขีดสุด ทิวลิปบางดอกเปลี่ยนมือกันนับสิบๆ รอบภายในวันเดียว ได้ปรากฏเหตุการณ์ว่า ดอกทิวลิปบางส่วนไม่สามารถนำส่งให้กับผู้ซื้อได้ตามสัญญาที่เซ็นกันไว้ จนเกิดเป็นความตื่นตระหนกไปทั่ว
ส่งผลให้ราคาค่าสัญญาของดอกทิวลิปพังทลายลงในชั่วพริบตา!!
การล่มสลายของราคาสัญญาดอกทิวลิป เริ่มต้นขึ้นในฮาร์เล็ม (ไม่ใช่ย่านฮาร์เล็มในนิวยอร์คนะครับ) เมื่อผู้ที่ทำสัญญาซื้อดอกทิวลิปไว้ไม่ยอมมารับของเลยแม้แต่คนเดียว ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มีแต่คนขายเท่านั้นที่ “มาตามนัด” แต่กลับต้อง “รอเก้อ” ไปเสียฉิบ
เท่านั้นเอง ข่าวนี้ก็ได้แพร่สะพัดไปทั่วประเทศภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ปรากฏการณ์ในฮาร์เล็มได้สร้างความ “ตระหนกตกใจ” ไปทั้งแผ่นดิน คนที่ถือสัญญาซื้ออยู่ ต่างกลัวว่าตนเองจะไม่ได้รับของ จึงตัดใจรีบขายสัญญานั้นทิ้งแบบไม่ห่วงราคา ฝ่ายคนที่คิดจะซื้อก็ไม่กล้าซื้อ ด้วยความกลัวว่าซื้อไปเดี๋ยวจะได้แค่ “กระดาษเปล่าๆ”
ด้วยเหตุนี้ ราคาของดอกทิวลิปจึงลดลงอย่างฮวบฮาบร่วม “100 เท่า” ซึ่งอาจพูดได้เต็มปากว่า “ฟองสบู่ทิวลิป” ได้ “แตกออก” เรียบร้อยแล้ว !!
(เรื่องราวกำลังชุลมุนชุลเกถึงขีดสุด เดี๋ยวในตอนหน้า ซึ่งเป็นตอนสุดท้าย เราจะมาตามกันต่อนะครับว่า คนในยุคหลัง ได้เรียนรู้อะไรบ้างจากปรากฏการณ์ครั้งนั้น อย่าพลาดครับ)
อ้างอิง
http://penelope.uchicago.edu/~grout/encyclopaedia_romana/aconite/tulipomania.html http://en.wikipedia.org/wiki/Tulip_mania
ย่อหน้าสุดท้ายอ่านแล้วงงมากเลยครับ เหมือนจะข้ามส่วนสำคัญเรื่องการระบาดของ bubonic plague ทำให้ผู้ซื้อไม่มาตามนัดที่Haarlem เป็นต้นกำเนิดของฟองสบู่แตกด้วย
ปล. แต่เป็นบทความที่น่าสนใจเหมือนเดิมครับ ตามอ่านเงียบๆมาตลอด
อืม ที่จริงผมสามารถเขียนถึงสาเหตุแห่ง trigger point ได้ละเอียดกว่านี้ ขอบคุณสำหรับคอมเม้นท์และการติดตามนะครับ ^^
ถ้าไม่เป็นการรบกวนเกินไป จัดมาในตอนหน้าเลยครับ น่าจะมีคนสนใจเยอะ