ปลุกเงินออมให้ทำงาน
โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
วันก่อนได้อ่านเรื่อง “สูตร 4 บัญชี” ในการออมเงินสำหรับคนทั่วไป จัดทำโดย ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ตลาดทุน (TSI) รู้สึกว่าน่าสนใจจึงอยากหยิบยกมาพูดถึงไว้ในที่นี้ครับ
สูตร 4 บัญชี ของ TSI มีอยู่ว่า ให้เราแบ่งเงินที่ทำมาหาได้ในแต่ละเดือนออกเป็น 4 บัญชี ได้แก่
- บัญชีฉุกเฉิน
- บัญชีเงินออม : ระยะสั้นถึงระยะกลาง
- บัญชีเงินออม : ระยะยาว
- บัญชีลงทุน
บัญชีแรกคือ บัญชีฉุกเฉิน เป็นเงินที่ออมเผื่อไว้ใช้ในกรณีจำเป็น เช่น อยู่ๆ บริษัทที่เราทำงานเกิดปิดกิจการกะทันหัน หากมีเงินออมก้อนนี้อยู่ก็จะช่วยให้ดำรงชีวิตต่อไปได้ระยะหนึ่งโดยไม่เดือดร้อน
โดยสูตรนี้ระบุด้วยว่า เงินสำหรับเอาไว้ใช้ยามฉุกเฉินควรมีไม่ต่ำกว่า “6 เท่า” ของค่าใช้จ่ายรายเดือนพูดง่ายๆ ก็คือ ให้มีเงินพออยู่ได้ “6 เดือน” แม้ไม่มีรายได้เข้ามานั่นเอง
โดยส่วนตัว ตัวเลข “6 เท่า” นี้ ผมค่อนข้างเห็นด้วยครับ เพราะมันเป็นระยะเวลาที่ทำให้ “ตั้งหลักทัน”เช่น ดังกรณีข้างต้น คุณตกงานกะทันหันไม่มีงานทำ จะให้ไปหางานใหม่ดีๆ ใน 1-2 วันก็คงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่ถ้ามีเวลาสัก 3-4 เดือน ก็น่าจะมีเวลาคิดพิจารณา หางานที่ดีและเหมาะกับตัวเราได้มากขึ้น
ยิ่งถ้ามีเวลาถึง 6 เดือนในการหางานก็แน่นอนว่าจะเพิ่มโอกาสในการได้งานที่ดีและตรงกับความต้องการมากขึ้นไปอีก โดยไม่ต้องกลัวจะอดตาย
ประเภทที่สองคือ บัญชีเงินออม: ระยะสั้นถึงระยะกลาง เป็นเงินที่เก็บไว้สำหรับใช้ในระยะเวลาอันใกล้ หรือในเวลาที่ไม่นานเกินไปนัก ตัวอย่างเช่นคนที่เป็นแฟนบอล อยากบินลัดฟ้าไปดูฟุตบอลที่ประเทศอังกฤษ เช่นนี้ก็ต้องเร่งออมเงินเอาไว้เพื่อทำความฝันให้เป็นจริงให้ได้ เงินในบัญชีนี้ไม่มีเงื่อนไขว่าต้องออมไว้เท่าไรอย่างไร ขึ้นอยู่กับภารกิจที่เราต้องการบรรลุ เช่น ใช้ค่าใช้จ่ายประมาณ 1 แสนบาท ก็ต้องออมให้ได้ 1 แสนบาทนั่นเอง
ประเภทที่สามคือ บัญชีเงินออม: ระยะยาว เป็นเงินที่เก็บไว้เพื่อเป้าหมายระยะยาว เช่น อยากส่งลูกไปเรียนต่อปริญญาโทที่ต่างประเทศ สมมุติว่าตอนนี้ลูกอายุ 12 ขวบ เพิ่งขึ้น ม.1 กว่าลูกจะจบปริญญาตรีก็ต้องรอจนอายุ 22 ยังมีเวลาออมอีก 10 ปี ก็ให้ออมไปเรื่อยๆ จนได้เงินในจำนวนที่ต้องการ จะมากหรือน้อยเท่าไรก็ขึ้นอยู่กับว่าจะไปเรียนที่ประเทศไหน
และประเภทสุดท้าย คือ บัญชีลงทุน ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นเงินที่เอาไว้สำหรับลงทุน อันนี้เขาไม่ได้กำหนดเงื่อนไขไว้ว่าต้องออมมากหรือน้อยเท่าไร หรือออมเดือนละกี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้ บอกเพียงว่าให้มีเงินส่วนนี้ไว้บ้าง เพื่อจะได้เอาไปลงทุนให้งอกเงย มิใช่ทิ้งไว้ในบัญชีเงินฝากธนาคารเพียงอย่างเดียว
และนั่นคือ “สูตร 4 บัญชี”ของ TSI และต่อไปนี้คือมุมมองของผม ที่อยากเสนอเพิ่มเติมเข้าไปครับ
ในความคิดของผม ผมเห็นด้วยที่จะเก็บเงินสดไว้ในบัญชีประเภทแรก คือ “บัญชีฉุกเฉิน” แต่สำหรับ “บัญชีเงินออมระยะสั้น” และ “บัญชีเงินออมระยะยาว” ผมคิดว่าควรจะเอามันไป “ลงทุน” ด้วยเช่นกัน
เพราะแม้ “เงินออม” จะเป็น “เงิน” จริงๆ แต่หากไม่ทำอะไรกับมัน เอาแต่ฝากธนาคารไว้ มันก็จะเป็นเงินที่ “นอนเฉยๆ”
ในทางปฏิบัติแล้ว เงินที่ใส่ไว้ในบัญชีเงินฝากธนาคาร หากเอาเรื่องของเงินเฟ้อมาคิดคำนวณด้วย แม้ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นบ้างจากดอกเบี้ย แต่มูลค่าของมันกลับลดลงกว่าเดิม เรียกว่าได้ผลตอบแทนน้อยมาก หรือแทบไม่ได้ผลตอบแทนเลย เนื่องจาก “อำนาจซื้อ” ของมันไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด (เพียงแค่มั่นใจได้ว่าเงินนั้นจะไม่หายไปไหน)
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงแนะนำให้เอาเงินมา “ลงทุน” ซึ่งจะเป็นการ “ปลุก” เงินของคุณที่นอนอยู่เฉยๆ ขึ้นมา “ทำงาน”
อย่างไรก็ตาม วิธีลงทุนสำหรับเงินในแต่ละบัญชีก็ควรจะแตกต่างกันออกไป เพื่อ “ตอบโจทย์” ความต้องการของเรา
สำหรับบัญชีแรก คือ “บัญชีฉุกเฉิน” อย่างที่บอกไปคือเก็บเป็นเงินสดไว้ดีแล้ว ในขณะที่ “บัญชีเงินออมระยะสั้นหรือระยะกลาง” ท่านควรจะเอาเงินในทั้งสองบัญชีนี้ ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดี มีสภาพคล่อง สามารถไถ่ถอน ขายทิ้งได้ง่าย
ผมพิจารณาดูแล้ว หากเป็นเงินออมระยะสั้น อาจจะเก็บไว้ใน Money Market Fund หรือชื่อไทยคือ “กองทุนรวมตลาดเงิน”ซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ สามารถไถ่ถอนได้ตลอดโดยมีความเสี่ยงต่ำมาก แม้ผลตอบแทนจะไม่มากนัก ประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ ก็ตาม
หรือหากอยากได้ผลตอบแทนสูงขึ้น อาจจะลงทุนใน “กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์” ซึ่งหลายกองให้ผลตอบแทนไม่ต่ำกว่า 6-7% ต่อปี รวมทั้ง REITS หรือ “กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์” ก็เป็นการลงทุนที่น่าสนใจแต่ในกรณีของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และ REITS ต้องเลือกกองที่สภาพคล่องดี เพื่อที่ว่าหากมีความจำเป็นจะได้ขายหน่วยลงทุนทิ้งแล้วเอาเงินไปใช้ได้ ตรงนี้สำคัญมากๆ นะครับ
และสำหรับ “บัญชีเงินออมระยะยาว”รวมทั้ง “บัญชีลงทุน” ผมแนะนำให้ลงทุนใน “หุ้นพื้นฐานดี” เนื่องจากผลตอบแทนจากหุ้น พิสูจน์แล้วว่าสูงกว่าผลตอบแทนจากการลงทุนอีกหลายประเภท
หากความรู้ของท่านยังไม่มากนัก ท่านอาจจะลงทุนด้วยวิธี DCA (Dollar Cost Averaging) คือทยอยซื้อหุ้นพื้นฐานดีเข้ามาไว้ในพอร์ตอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่เกี่ยงราคา ซึ่งจะทำให้ท่านได้ “หุ้นดี” ในราคา “กลางๆ”
ถ้าเป็นหุ้นของกิจการที่ดี มันย่อมจะเติบโตต่อไปในอนาคต และทำให้ท่านได้รับผลตอบแทนที่งดงามอย่างแน่นอน ขอเพียงสามารถ “รอ” ได้ และไม่รีบร้อนขายทิ้งไปเสียก่อน ซึ่งก็น่าจะเหมาะกับเงินในบัญชีออมระยะยาวและบัญชีลงทุนอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม หากท่านไม่มีความรู้เรื่องหุ้นเลย ผมแนะนำให้ลงทุนใน “กองทุนหุ้น” ประเภท “กองทุนอิงดัชนี” (Index Fund) อาทิ SET50 หรือ SET100 ซึ่งเปรียบได้กับการซื้อหุ้นหลายๆ ตัวในตลาด โดยผลตอบแทนของกองทุนอิงดัชนีของไทยในรอบสิบปีที่ผ่านมาถือได้ว่าค่อนข้างสูง หลายกองให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีในระดับ “เลขสองหลัก” ซึ่งถือว่าน่าพอใจมากๆ เลยทีเดียว
โดยสรุป สูตร 4 บัญชี เป็นแนวปฏิบัติที่น่าสนใจอย่างยิ่ง แต่หลักของผมก็คือ อย่าออมแต่เพียงอย่างเดียว ต้อง “ปลุก” เงินออมทั้งหมดขึ้นมา “ทำงาน” ด้วยการเอามันไป “ลงทุน” โดยเลือกวิธีลงทุนให้เหมาะสมกับความจำเป็นของเงินในแต่ละส่วน เช่นนี้จึงจะดีที่สุดครับ
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์การออมและการลงทุนได้ที่ www.krungsri.com