“มือหนึ่ง”​ ของบัฟเฟตต์ ผู้ถูกกล่าวหาว่า ใช้ “ข้อมูลอินไซด์” ซื้อหุ้น

David_Sokol

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

เดวิด โซโคล เป็นอดีตผู้บริหารแถวหน้าของเบิร์คเชียร์ แฮธาเวย์ เขาเคยเป็น “เต็งหนึ่ง” ที่ได้รับการคาดหมายว่าจะก้าวขึ้นเป็นประธานบริษัทต่อจาก วอร์เรน บัฟเฟตต์

โซโคลเคยบริหารบริษัทในเครือเบิร์คเชียร์มาแล้วหลายบริษัท เขาเป็นผู้บริหารที่มากด้วยความสามารถ จนได้รับฉายาจากนิตยสารฟอร์จูนว่าเป็น “นายสารพัดช่างของบัฟเฟตต์” (Buffet’s Mr. Fix-it) จากการที่ปู่มักส่งเขาไป “กู้วิกฤต” ให้กับบริษัทในเครือที่กำลังประสบปัญหา ซึ่งเขาก็ทำได้ดีทุกครั้ง

สไตล์การบริหารที่เป็นเสมือน “Signature” ของโซโคล คือความ “โหด” และ “เด็ดขาด”

ตัวอย่างเช่น ตอนที่ปู่ส่งเขาไปนั่งเป็นซีอีโอของเน็ตเจ็ตส์ บริษัทขายความเป็นเจ้าของร่วมเครื่องบินส่วนตัว ซึ่งกำลังประสบปัญหาขาดทุน โซโคลได้จัดการลดต้นทุนของบริษัทอย่างไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการลดจำนวนนักบิน ลดฝูงบิน ลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งทำให้เขาถูกโจมตีอย่างรุนแรง

ทว่าด้วยความเฉียบคม บวกกับการสนับสนุนจากบัฟเฟตต์ เขาจึงสามารถดึงเน็ตเจ็ตส์พ้นวิกฤตได้ในที่สุด … นี่คือความสามารถอันเยี่ยมยอดของโซโคล

แต่แล้ว อนาคตของผู้บริหารระดับซุปตาร์ผู้นี้ กลับมีอันต้องดับวูบลงอย่างไม่น่าเชื่อ

เรื่องของเรื่องก็คือ ในปี 2011 โซโคลได้ให้ทีมงานเฟ้นหาบริษัทดีๆ ที่น่าเข้าซื้อ อันเป็นไปตามนโยบายของเบิร์คเชียร์ จนไปเจอกับ “ลูบริซอล” บริษัทผลิตสารเคมีชนิดพิเศษที่ใช้กับอุตสาหกรรมยานยนต์และปิโตรเลียม

โซโคลมองว่าลูบริซอลเป็นโอกาสลงทุนที่ดีมาก จึงแนะนำให้บัฟเฟตต์ซื้อ และปู่ก็อนุมัติ เขาจึงไปเจรจากับผู้บริหารของลูบริซอลจนปิดดีลกันได้เรียบร้อย ในที่สุด ลูบริซอลก็กลายเป็นบริษัทในเครือเบิร์คเชียร์

แต่แล้ว บัฟเฟตต์กลับมาทราบภายหลังว่า โซโคลไปซื้อหุ้นของลูบริซอลไว้เองล่วงหน้า ในระหว่างที่กำลังเจรจาเพื่อเข้าซื้อกิจการ ซึ่งทำให้ปู่ไม่พอใจอย่างยิ่ง เพราะการกระทำเช่นนั้น สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะถูกมองว่าเป็นการใช้ “ข้อมูลอินไซด์” ในการซื้อหุ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ร้ายแรงมาก

หลังจากเกิดเรื่อง โซโคลก็ขอลาออกจากเบิร์คเชียร์ ซึ่งปู่ก็อนุมัติการลาออกแต่โดยดี เป็นการยุติโอกาสที่จะได้ก้าวขึ้นเป็นนายใหญ่ของเบิร์คเชียร์ลงแต่เพียงเท่านี้

แม้ผู้ถือหุ้นจำนวนมากจะตำหนิบัฟเฟตต์ว่าน่าจะเล่นงานโซโคลให้หนักกว่านั้น แต่ในการประชุมผู้ถือหุ้นครั้งต่อมา บัฟเฟตต์ก็ได้กล่าวตำหนิโซโคล โดยบอกว่า การกระทำของโซโคลเป็นสิ่งที่ “แก้ตัวไม่ออก และอธิบายไม่ได้”

ปู่บอกว่า ที่เบิร์คเชียร์ หากเป็นเรื่องของความซื่อสัตย์ ต้องไม่มีพื้นที่สีเทาใดๆ ทั้งสิ้น !!

นอกจากจะไม่ปกป้องโซโคลแล้ว เบิร์คเชียร์ยังส่งเคสนี้ให้ กลต. สอบสวน และแม้ กลต. จะยุติการพิจารณาโดยมิได้กล่าวโทษโซโคล แต่ก็ทำชื่อเสียงของเขาเกิดรอยด่างพร้อยไปเสียแล้ว

บทเรียนที่เราควรจะได้รับจากกรณีนี้ก็คือ องค์กรที่ดีไม่ควร “ประนีประนอม” กับเรื่องของความซื่อสัตย์ และเมื่อมีบุคลากรของตนเองทำผิด ก็ไม่ควรที่จะปกป้อง แม้ว่าเขาคนนั้นจะถูกมองว่าเป็นผู้บริหาร “มือหนึ่ง” ในเครือ ที่เคยสร้างผลงานยอดเยี่ยมมาโดยตลอดก็ตาม

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ “ข้อมูลอินไซด์” เพื่อซื้อขายหุ้นนั้น ถือเป็นการเอาเปรียบผู้อื่น นอกจากผิดกฏหมายแล้ว ยังผิดจริยธรรมด้วย

หนังสือ Berkshire Beyond Buffett โดยผู้เขียน ลอว์เรนซ์ คันนิงแฮม กล่าวไว้อย่างน่าสนใจมากๆ ว่า “ความผิดตามกฏหมายของโซโคลถือว่าเล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับสิ่งที่เขาได้สูญเสียไป และทำให้เราได้รู้ว่า คนบางคนมัน “เหี้ยม” เพียงใด”

ในฐานะนักลงทุน เราจึงควรหลีกเลี่ยง “บริษัทเหี้ยมๆ” ที่มี “ผู้บริหารเหี้ยมๆ” ซึ่งนอกจากจะเป็นการป้องกันไม่ให้พอร์ตการลงทุนของเราเองได้รับอันตรายแล้ว ยังไม่ขัดแย้งกับจริยธรรมสำนึกดีชั่วในใจเราด้วยครับ

[ข้อมูลประกอบจากหนังสือ “บริษัทบัฟเฟตต์ ขอดเกล็ดมหาองค์กร” และ “เต้นรำไปทำเงิน”, ภาพประกอบโดย Mikebaudio]

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s