โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
หลังจากหุ้นอเมริกาถูก “เทขาย” มาสองวัน คือศุกร์ที่ 2 และจันทร์ที่ 5 ก.พ. ก่อนจะเด้งกลับมาได้ในที่สุด หลายคนอาจยังไม่กระจ่างชัดนักว่าเกิดจากอะไร
ผมจึงคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ หากเราจะศึกษาหลักการของมันเอาไว้ เพื่อเตรียมวางแผนสำหรับการลงทุนในอนาคต
ขอสรุปมาสั้นๆ ง่ายๆ ให้ได้อ่านกัน ดังนี้ครับ
หนึ่ง) “trigger” หลักของการที่หุ้นตกคือ “ตัวเลขการจ้างงาน” ของสหรัฐฯที่ดีขึ้นมาก ประกอบกับ “ค่าแรง” ที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้ “เงินเฟ้อ” มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มไปถึงระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
พูดรวมๆ คือ เศรษฐกิจแข็งแกร่งขึ้น
สอง) เศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง หรือ “ดี” ขึ้นนี้ ถ้าคิดแบบชั้นเดียว หุ้นก็น่าจะขึ้นตาม แต่กลับไม่อย่างนั้น ทำไมน่ะหรือ?
สาม) ก็เพราะ “อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ สิบปี” ปรับขึ้นไปอยู่ที่ 2.84% ซึ่งเป็นระดับ new high ในรอบหลายปี อันเป็นผลจากเงินเฟ้อดังกล่าว
(เวลาเงินเฟ้อเพิ่ม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจะสูงขึ้น เพราะคนต้องการผลตอบแทนเป็นตัวเงินที่มากกว่า เพื่อเอามาชดเชยกำลังซื้อที่ลดลง)
สี่) และ “อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล” ที่เพิ่มขึ้นนี้เอง ที่ส่งผลต่อ “หุ้น” มากที่สุด เพราะมันคือ “ตัวเปรียบเทียบ” (benchmark)
ถ้าผลตอบแทน (หรือดอกเบี้ย) ของพันธบัตรสูง หุ้นก็จะตก ถ้าผลตอบแทนพันธบัตรต่ำ หุ้นก็จะขึ้น
อธิบายแบบชาวบ้านก็คือ เวลาดอกเบี้ยขึ้น คนก็อยากเอาเงินมาซื้อพันธบัตร เวลาดอกเบี้ยลง คนก็เห็นว่าเอาเงินไปลง “หุ้น” (และสินทรัพย์อื่นๆ) ดีกว่า
ด้วยเหตุนี้ เมื่อผลตอบแทนพันธบัตร “พุ่งพรวด” ในรอบนี้ ราคาหุ้นจึง “ลงฮวบฮาบ” นั่นเอง
หวังว่าน่าจะช่วยให้เข้าใจได้ดีขึ้น เผื่อเอาไปเล่าให้เพื่อนๆ ฟังต่อได้ครับ