บทเรียนจากการลงทุนในวิกฤตโคโรนาไวรัส

IMG_8814

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

หลังวิกฤตโคโรนาไวรัสเกิดขึ้นอย่างไม่มีใครคาดฝันตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และส่งผลกระทบไปยังเศรษฐกิจรวมถึงตลาดหุ้นทั่วโลก

จนถึงปัจจุบัน หุ้นไทยปรับตัวขึ้นมาประมาณ 30% จากจุดต่ำสุด เช่นเดียวกับหุ้นสหรัฐฯ ที่ขึ้นเอาๆ จาก new low ผมจึงลองเขียนทบทวนประสบการณ์ตลอดสองเดือนกว่าๆ ที่ผ่านมา โดยเน้นที่ความผิดพลาดของตัวเอง เพื่อวิเคราะห์หาบทเรียน และเผื่อจะเป็นประโยชน์กับผู้อื่นด้วย ประมาณนี้ครับ

1. ปลอดภัยไว้ก่อน ช่วยได้

ผมเป็นคนที่ระมัดระวังกับบริษัทที่มีหนี้สูงค่อนข้างมาก ใครที่ตามงานของผมมาตลอดจะเห็นว่า ผมจะย้ำเสมอว่าค่า D/E ที่เหมาะสมนั้น ไม่ควรเกิน 1-1.25 เท่า ยิ่งถ้าเป็น net D/E หรือหนี้สินที่มีดอกเบี้ย (ไม่รวมเจ้าหนี้การค้า) ยิ่งไม่ควรเกิน 1 เท่า

ด้วยเกณฑ์เช่นนี้ ทำให้ผมไม่ลงทุนในหลายๆ บริษัทที่กำลังโตไว มีบริษัทขนาดใหญ่บางบริษัทที่มีธุรกิจครอบคลุมไปในหลายประเทศทั่วโลกซึ่งผมมีหุ้นอยู่ พอเริ่มกู้มามากขึ้นเรื่อยๆ จน net D/E สูง ผมก็ทยอยขายหุ้นทิ้งจนหมด

ก่อนหน้านี้ ผมเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราเข้มงวดเกินไปจนทำให้เสียโอกาสในการลงทุนหรือไม่ เพราะแม้หนี้จะสูง แต่เขาก็มีปัญญาชำระมาตลอด แต่แล้วหลังเกิดวิกฤต สิ่งที่ปรากฏทุกวันนี้ก็ชัดเจนแล้วว่าผมตัดสินใจถูกต้อง มีหลายบริษัทที่สถานะเริ่มสั่นคลอน และราคาหุ้นก็ร่วงลงมโหฬารเพราะนักลงทุนไม่มั่นใจในความสามารถในการชำระหนี้

บทเรียนจากเรื่องนี้ก็คือ สิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้น ไม่ใช่ว่ามันจะไม่เกิด และแม้จะไม่เคยเกิดมานานมากแล้ว สักวันหนึ่งมันอาจจะเกิดขึ้นก็ได้ การใช้เกณฑ์ “ปลอดภัยไว้ก่อน” ของผมช่วยผมไว้ได้เยอะจริงๆ

2. diversify ไม่พอ

โดยปกติ ผมมักกระจายการลงทุนอยู่เสมอ แต่วิกฤตครั้งนี้ทำให้ผมตระหนักว่า ที่ผ่านมาผมยังกระจายการลงทุนไม่พอ เช่น ผมเคยกระจายการลงทุนไปในหุ้นสนามบินของหลายๆ ประเทศ ผมคิดเอาเองว่านั้นคือการกระจายการลงทุนที่เพียงพอแล้ว

แต่แล้ว เมื่อปรากฏการณ์ Black Swan อย่างโคโรนาไวรัสเกิดขึ้น มันได้กวาดเอาหุ้นท่องเที่ยวทุกประเภทพังครืนลงไปตามๆ กัน ไม่เว้นแม้แต่หุ้นสนามบินของผม ซึ่งอุตส่าห์ซื้อไว้ทั่วโลก กะว่าถ้าประเทศหนึ่งแย่ เช่น สมมุติว่าท่องเที่ยวไทยแย่ ก็ยังมีสนามบินของประเทศอื่นๆ ช่วงพยุงไว้ แต่ปรากฏว่ารอบนี้มันกอดคอลงพร้อมกันไปหมด

บทเรียนจากเรื่องนี้ก็คือ ต้อง diversify ให้ทั่ว ไม่ใช่แค่ “หลายประเทศ” แต่ต้องกระจายไปใน “หลายอุตสาหกรรม” อย่ากระจุกอยู่ในอุตสาหกรรมเดียว หรือประเทศเดียวมากเกินไป

3. มีเงินสดน้อยเกินไป

ประเด็นนี้เป็นปัญหาของวีไอจำนวนมาก รวมทั้งผมเองด้วย ก่อนหน้านี้ผมเคยมีเงินสดประมาณ 20% ในพอร์ต แต่แล้วเมื่อวิกฤตไม่มาสักที ผมก็ทยอยเอาเงินกลับเข้าไปซื้อหุ้น จนเมื่อวิกฤตโคโรนาไวรัสมาถึง ผมมีเงินสดเหลือติดพอร์ตเพียง 7-8% เท่านั้น ทำให้เสียโอกาสไปค่อนข้างมาก แม้วันนี้ผมจะหาเงินมาเพิ่มได้ แต่ก็พลาดโอกาสที่จะซื้อในจุดต่ำสุดไป (แม้ไม่รู้ว่าจะมีจุดต่ำกว่าอีกหรือเปล่า)

แม้ว่าจะฟังดูธรรมดา เพื่อนผมหลายคนถือหุ้น 100% ไม่มีเงินสดเลย บางคนเหลือเงินสดอยู่ 3-5% ขณะวิกฤตมา แต่การที่คนอื่นพลาดเหมือนเรา ไม่ได้แปลว่าเราไม่พลาด เราแค่มีเพื่อนเท่านั้น นี่จึงเป็นบทเรียนหนึ่งซึ่งผมต้องจำไว้ แม้การถือเงินสดไว้เยอะๆ จะไม่ใช่สิ่งที่ควรกระทำ แต่เมื่อถึงวงรอบของวิกฤต (10 ปี) ไม่ว่าทุกอย่างจะดูดีแค่ไหน ยังไงก็ต้องมีเงินติดพอร์ตไว้สัก 10-15% เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสทอง

4. ดูเบาสถานการณ์

ผมลงทุนก้อนแรกหลังเกิดวิกฤตโคโรนาไวรัสใน “หุ้นจีน” ช่วงที่จีนปิดเมืองอู่ฮั่นมาได้ระยะหนึ่ง เพราะเชื่อในศักยภาพว่าทางการจีนน่าจะคุมโรคได้แน่ๆ แม้จะคิดไม่ผิด แต่สิ่งที่ผมคาดไม่ถึงก็คือ โรคนี้ได้แพร่กระจายไปยังประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้หุ้นทั่วโลกทรุดลงไปตามๆ กัน ขณะที่ทางฝั่งจีน แม้จะคุมโรคได้แล้ว แต่หุ้นกลับไม่โงหัวขึ้นมามากนัก (ส่วนหนึ่งเพราะสถานการณ์นอกประเทศยังไม่ดี) และทำให้เงินส่วนนั้นของผมยังขาดทุนจนถึงวันนี้

แม้จะเชื่อว่าสุดท้ายหุ้นจีนที่ซื้อไว้จะได้กำไรค่อนข้างแน่ แต่ก็ถือว่าผม “ดูเบาสถานการณ์” จนพลาดโอกาสที่จะทำกำไรได้มากกว่านี้

(มีต่อตอนหน้า)

โชคดีที่ไม่มีเงินสด

smiley-2979107_960_720

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

หุ้นไทยที่ปรับตัวลงมากว่าสิบเปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ต้นปี ทำเอานักลงทุนจำนวนมากอกสั่นขวัญหาย แม้ผมจะบอกให้นักลงทุนใจเย็นๆ อย่าหวั่นไหวกับราคาหุ้นที่ร่วงลงมาเยอะ แต่ให้ใช้เวลานี้ตั้งสติและเตรียมตัวหาโอกาสเข้าไปเก็บหุ้น ก็มักมีเสียงบ่นกลับมาเสมอว่า “เงินหมดแล้ว” “ไม่มีเงินแล้ว ทำอะไรไม่ได้แล้ว” ฯลฯ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมอยากให้ “มองบวก” เข้าไว้ การที่ท่านไม่มีเงินสด หรือมีเงินสดเพียงเล็กน้อยอยู่ในมือ นั่นหมายความว่าท่านใช้ “กลยุทธ์ที่ถูกต้อง” มาตลอด

กล่าวคือ ท่าน “ไม่ได้ถือเงินสดไว้เยอะเกินไป”

ลองคิดดูนะครับว่า

หนึ่ง) ตลาดหุ้นไทยเติบโตต่อเนื่องมาหลายปี หากท่านถือเงินสดรอโอกาสไว้ ท่านจะเสียโอกาสไปเยอะมาก ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าท่านอยากได้หุ้นสนามบินตัวหนึ่งตั้งแต่กลางปี 2016 หรือเมื่อสองปีที่แล้ว แล้วท่านก็ถือเงินสดรอไว้ อะไรจะเกิดขึ้น?

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ จากวันนั้นถึงวันนี้ หุ้นสนามบินตัวดังกล่าว ราคาสูงขึ้นจากประมาณ 450 บาท มาอยู่ที่ 670 บาท ณ ปัจจุบัน หรือเพิ่มขึ้นมาเกือบ 50% ซึ่งต่อให้ครั้งนี้เกิดวิกฤตจริง ก็ไม่แน่ว่าหุ้นสนามบินตัวนี้จะราคาตกลงไปถึง 50%

ดังนั้น ถ้าท่านเข้าซื้อหุ้นสนามบินตั้งแต่เวลานั้น ก็อาจเป็นสิ่งที่ดีกว่าการรอจนถึงวันนี้แล้วค่อยซื้อ

สอง) แม้กระทั่ง “ต้นแบบแห่งวีไอไทย” อย่าง ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ยังพูดอยู่บ่อยครั้งว่า ตัวท่านได้ลดการถือหุ้นมาถือเงินสดอยู่หลายปี ซึ่งทำให้เสียโอกาสไปไม่น้อย ช่วงหลังๆ จึงทยอยเอาเงินกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทย

หากแม้แต่นักลงทุนหมายเลขหนึ่งยังรู้สึกเสียดายที่ตัวเองถือเงินสดไว้ ท่านก็ไม่ควรโทษตัวเองหากวันนี้qไม่มีเงิน

สาม) อันนี้จากประสบการณ์ส่วนตัว คือ สมัยเริ่มแรกที่ผมลงทุนเมื่อสิบกว่าปีก่อน นักลงทุนเน้นมูลค่าจำนวนมาก นิยมที่จะถือ “หุ้น 100%” ด้วยซ้ำไป แม้ในช่วง 2-3 ปีหลัง ดัชนีจะพุ่งขึ้นมาทะลุ 1,800 จุด แต่จากที่ผมได้พูดคุยกับเพื่อนฝูงซึ่งฝีมือลงทุนระดับท้อปหลายคน ต่างคนต่างก็พูดตรงกันว่า ไม่เคยถือเงินสดเกิน 30 เปอร์เซ็นต์เลย (ผมเองก็ไม่เคยถือเงินสดเงิน 20 เปอร์เซ็นต์)

ดังนั้น ถ้าท่านมีเงินสดไม่เกิน 30% ผมก็ยืนยันโดยไม่มีหลักฐานใดๆ ได้ว่า ท่านไม่ได้แตกต่างจากคนเก่งๆ อีกจำนวนมาก

โดยสรุปก็คือ หากวันนี้ท่านไม่มีเงินสดหรือมีเงินสดในมือเพียงเล็กน้อย ท่านต้องอย่าโทษตัวเอง เพราะท่าน “ได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว”

สิ่งที่ควรทำ ณ ตอนนี้ คือเลิกเสียดายสิ่งที่ผ่านพ้นไป แต่จงขวนขวายหาเงินสดมาเพิ่มให้ได้

บางคนอาจเถียงในใจว่า “ก็กูบอกอยู่นี่ว่าไม่มีเงิน จะให้ไปหาเงินจากไหน?!!”

ผมขอเสนอว่า ให้ท่านคิด “เสมือนคนจนตรอก” เช่นคิดว่า “ถ้าเรากำลังป่วยหนัก ต้องหาเงินมารักษา ไม่งั้นจะตาย เราจะหาเงินมาจากไหน?” หากคิดเช่นนี้ สุดท้ายแล้วท่านจะหาทางออกจนพบ คือหาเงินมาซื้อหุ้นจนได้

ฝรั่งเค้าบอก “Where there is a will, there is a way” ที่ไหนมีฝัน ที่นั่นมีหนทาง คนเราถ้าพยายามเพียงพอ ก็ย่อมจะหาทางออกได้ทุกเรื่อง

ขอแสดงความยินดีกับผู้โชคดีทุกท่านมา ณ โอกาสนี้ครับ

 

สรุปง่ายๆ ทำไมหุ้นตก

despaired-2261021_960_720

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

หลังจากหุ้นอเมริกาถูก “เทขาย” มาสองวัน คือศุกร์ที่ 2 และจันทร์ที่ 5 ก.พ. ก่อนจะเด้งกลับมาได้ในที่สุด หลายคนอาจยังไม่กระจ่างชัดนักว่าเกิดจากอะไร

ผมจึงคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ หากเราจะศึกษาหลักการของมันเอาไว้ เพื่อเตรียมวางแผนสำหรับการลงทุนในอนาคต

ขอสรุปมาสั้นๆ ง่ายๆ ให้ได้อ่านกัน ดังนี้ครับ

หนึ่ง) “trigger” หลักของการที่หุ้นตกคือตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯที่ดีขึ้นมาก ประกอบกับค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้เงินเฟ้อมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มไปถึงระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

พูดรวมๆ คือ เศรษฐกิจแข็งแกร่งขึ้น 

สอง) เศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง หรือ “ดี” ขึ้นนี้ ถ้าคิดแบบชั้นเดียว หุ้นก็น่าจะขึ้นตาม แต่กลับไม่อย่างนั้น ทำไมน่ะหรือ?

สาม) ก็เพราะ “อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ สิบปี” ปรับขึ้นไปอยู่ที่ 2.84% ซึ่งเป็นระดับ new high ในรอบหลายปี อันเป็นผลจากเงินเฟ้อดังกล่าว

(เวลาเงินเฟ้อเพิ่ม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจะสูงขึ้น เพราะคนต้องการผลตอบแทนเป็นตัวเงินที่มากกว่า เพื่อเอามาชดเชยกำลังซื้อที่ลดลง)

สี่) และ “อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล” ที่เพิ่มขึ้นนี้เอง ที่ส่งผลต่อ “หุ้น” มากที่สุด เพราะมันคือ “ตัวเปรียบเทียบ” (benchmark)

ถ้าผลตอบแทน (หรือดอกเบี้ย) ของพันธบัตรสูง หุ้นก็จะตก ถ้าผลตอบแทนพันธบัตรต่ำ หุ้นก็จะขึ้น

อธิบายแบบชาวบ้านก็คือ เวลาดอกเบี้ยขึ้น คนก็อยากเอาเงินมาซื้อพันธบัตร เวลาดอกเบี้ยลง คนก็เห็นว่าเอาเงินไปลง “หุ้น” (และสินทรัพย์อื่นๆ) ดีกว่า

ด้วยเหตุนี้ เมื่อผลตอบแทนพันธบัตร “พุ่งพรวด” ในรอบนี้ ราคาหุ้นจึง “ลงฮวบฮาบ” นั่นเอง

หวังว่าน่าจะช่วยให้เข้าใจได้ดีขึ้น เผื่อเอาไปเล่าให้เพื่อนๆ ฟังต่อได้ครับ