โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
(บทความนี้เขียนเมื่อต้นเดือน พ.ค. 2018 หลังการประชุมผู้ถือหุ้นเบิร์คเชียร์ หนึ่งวัน)
เมื่อคืนนี้ ตามที่ผมได้นั่งฟังการประชุมผู้ถือหุ้นเบิร์คเชียร์ แฮธาเวย์ และแปลลงเพจ Club VI กันสดๆ ไปแล้วนั้น หนึ่งในประเด็นที่มองว่าน่าสนใจและอยากเอามาถ่ายทอดต่อ คือคำถามเกี่ยวกับ moat หรือ “คูเมือง” สืบเนื่องจากคำกล่าวของ อีลอน มัสก์
เรื่องของเรื่องก็คือ ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน มัสก์ บอกกับนักวิเคราะห์ใน conference call แถลงผลประกอบการของเทสล่าว่า “ผมคิดว่า คูเมือง (moat) เป็นเรื่องไม่เข้าท่า” ก่อนจะบอกต่อว่า “มันฟังดูดีแบบโบราณๆ ออกจะเก่าคร่ำครึนะ” “ถ้าคุณเอาแต่ตั้งรับข้าศึกที่รุกรานเข้ามาอยู่หลังคูเมือง คุณอยู่ได้ไม่นานหรอก สิ่งสำคัญคือความรวดเร็วของนวัตกรรม นั่นแหละคือตัวตัดสินความสามารถในการแข่งขัน”
ถามว่าคำพูดกว้างๆ แบบนี้เป็นเรื่องขึ้นมาได้อย่างไร ทั้งๆ ที่มัสก์ก็ไม่ได้เอ่ยชื่อบัฟเฟตต์หรือชื่อใครสักหน่อย?
คำตอบคือ เพราะผู้ที่ยกเอาคำว่า moat หรือ “คูเมือง” มาเปรียบเทียบกับความได้เปรียบในการแข่งขัน หรือ competitive advantage ได้แก่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ นั่นเอง และมันก็ได้กลายเป็นการอุปมาอุปไมย “อมตะ” ชนิดที่ถ้าพูดเรื่องนี้จะนึกถึงคนอื่นไปเสียไม่ได้นอกจากปู่
ดังนั้น เมื่อ อีลอน มัสก์ บอกว่า moat “ไม่ได้เรื่อง” คนจึงมองว่าปู่ถูกลูบคม
ทีนี้ เรามาดูกันว่าปู่ตอบกลับเรื่องนี้อย่างไร
เมื่อได้ยินคำถามนี้ บัฟเฟตต์ยังไม่ทันตอบ แต่ ชาร์ลี มังเกอร์ ชิงตอบก่อน และตอบได้ฮามาก โดยบอกว่า
“อีลอนบอกว่า คูเมืองแบบดั้งเดิมนั้นมันโบราณคร่ำครึเกินไป ซึ่งมันก็จริง ถ้าน้ำที่ล้อมรอบมันเป็นแค่แอ่งน้ำตื้นๆ แล้วเขาก็บอกด้วยว่า คูเมืองที่ดีที่สุด คือการมีตำแหน่งที่ได้เปรียบในการแข่งขันมากๆ มันก็จริงอีกนั่นแหละ” ก่อนจะเว้นวรรคไปแป๊บนึงแล้วบอกว่า “แม่งตลกว่ะ” (it’s ridiculous) เรียกเสียงฮาลั่นที่ประชุม
มังเกอร์ยังพูดปิดท้ายด้วยว่า วอร์เรนคงไม่ได้คิดจะสร้างคูเมืองจริงๆ ขึ้นมาหรอก ความหมายคือ ที่พวกกูพูดมันก็คือการเปรียบเทียบเหมือนที่มึงพูดนั่นแหละ แต่มึงบอกว่าผิด แล้วมึงก็พูดเหมือนกัน สรุปคือจะพูดขึ้นมาทำไมวะ?!!
จุดที่น่าสังเกตคือ บัฟเฟตต์ดูจะครุ่นคิดอยู่พักใหญ่ เหมือนพยายามระวังคำพูดไม่ให้ไปกระแทกมัสก์ (สุภาพตามนิสัยแก) ก่อนจะเอ่ยปากว่า
“แน่นอนว่าคุณต้องหมั่นปรับปรุงและป้องกันคูเมืองของตัวเองตลอดเวลา ในบางเรื่อง อีลอนอาจจะพลิกโฉมหน้ามือเป็นหลังมือได้” ก่อนจะพูดต่อว่า “แต่ผมไม่คิดว่าเขาจะมาขายลูกกวาดแข่งกับเรานะ”
ตีความได้ว่า อีลอนอาจจะสร้างธุรกิจล้ำยุค เปลี่ยนโลก แต่ถ้าเป็นธุรกิจดั้งเดิม คูเมืองแบบเดิมๆ ก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นและมีประโยชน์อยู่ดี
(ร้านขายลูกกวาดที่ปู่หมายถึง คือ ซีส์ แคนดีส์ ร้านช็อคโกแล็ตเก่าแก่ชื่อดังในเครือเบิร์คเชียร์)
อย่างไรก็ตาม แม้พูดจาเกรงใจขนาดนี้แล้ว ผ่านไปได้ไม่กี่ชั่วโมง อีลอนยังทวีตกลับทันทีในทำนองว่า เขาพร้อมจะทำร้านขายลูกกวาดแข่งกับปู่ (หลายคนบอกว่า อีลอนตอบกลับในลักษณะคนที่ถูกท้าทาย) โดยใช้คำว่า “ผมจริงจังโคตรๆ เลยนะ”
ในความเห็นส่วนตัว ผมฟังยังไงก็ไม่เห็นว่าคำพูดของปู่จะท้าทายที่ตรงไหน เป็นแค่การบอกว่า ธุรกิจมันต่างกัน จึงมองต่างกัน และผมก็คิดว่า ถ้าอีลอนมาทำร้านขายขนมแข่งกับ ซีส์ แคนดีส์ ของปู่จริง มันก็ดูเหมือน “ชอบเอาชนะ” ไปสักหน่อย
ลองคิดดูนะครับว่า ถ้าปู่บอกว่า “เขาคงไม่มาขายโคคาโคล่าแข่งกับเรา” อีลอนมิต้องไปทำบริษัทน้ำดำเพื่อเอาชนะโค้กให้ได้หรอกหรือ?!!
ทั้งหมดนี้ ผู้ยิ่งใหญ่เขาตอบโต้กัน เลยเอามาเล่าให้ฟังขำๆ อย่าซีเรียสนะครับ
ใครสนใจเรียนแกะงบออนไลน์ พร้อมเรียนสด ประเมินมูลค่าหุ้นและทำ DCF วันที่ 6 ต.ค. 2561 คลิกที่ลิงค์นี้เลย https://clubvi.com/valuationanddcf9/
Image credit : Yahoo Finance! Live streaming of Berkshire Hathaway AGM, Bloomberg magazine cover
Reblogged this on BDRM Blog and commented:
บางทีคนเก่งมักผยอง แต่ถ้าในความผยองนั้นเก่งจริง บางครั้งโลกจะให้อภัย ซึ่ง Elon Musk เป็นเคสนั้น แต่สิ่งที่สามัญสำนึกของคนส่วนใหญ่รู้สึกคือ ปู่บัฟเฟต์ไม่ใช่แค่แบบอย่างของความเก่ง และเป็นแบบอย่างที่นักลงทุนศรัทธา เพราะความเก่งฝึกฝนได้ แต่ความดีต้องสั่งสม และสั่นคลอนง่ายถ้ายึดมั่นหรือมุ่งมั่นไม่มากพอ