โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ช่วงต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ผมเจอหุ้นตัวหนึ่งขณะกำลังอ่านเว็บไซต์การเงิน เป็นหุ้นเทค-ไฟแนนซ์ ซึ่งมีโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจมากๆ ราคาขณะนั้นอยู่ที่ประมาณ 165-170 USD ต่อหุ้น
บริษัทนี้ชื่อ “Upstart” ชื่อย่อ UPST อยู่ในดัชนี Nasdaq
ผมตัดสินใจที่จะหาข้อมูลให้ลึกลงไปในเว็บข่าวการเงินของต่างประเทศทั้งหมดที่ผมเป็นสมาชิกอยู่ ก่อนจะพบว่าธุรกิจนี้ “โคตรเจ๋ง” ยิ่งกว่าที่ผมคิดไว้เบื้องต้นเสียอีก
เนื่องจากบทความนี้ไม่ได้ตั้งใจมาแนะนำบริษัท จึงขอสรุปแบบกระชับว่า Upstart Holdings Inc. เป็นธุรกิจแพลตฟอร์ม AI ที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อช่วยแบงก์และสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ โดยช่วยให้ปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็สามารถลดความเสี่ยงและลดต้นทุนลงได้
ผมอ่านต่อไปเรื่อยๆ และพบว่า ผู้ก่อตั้ง Upstart คือ เดฟ จีราวอาร์ด อดีตผู้บริหารของกูเกิล โดยจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาอยากทำแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมาก็เพราะเล็งเห็นว่า ธนาคารทั่วไปมักใช้โมเดลแบบดั้งเดิมในการอนุมัติสินเชื่อและกำหนดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งแม้จะง่ายและชัดเจน แต่กลับจำแนกความเสี่ยงได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น
ข้อเท็จจริงก็คือ คนอเมริกันถึง 4 ใน 5 ที่ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้เลย แต่มี credit score ต่ำ เช่น เป็นฟรีแลนซ์ มีรายได้ไม่เป็นหลักแหล่ง กลับไม่สามารถกู้เงินได้ หรือแม้จะกู้ได้ ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงมาก เช่น หากจะซื้อรถก็อาจต้องจ่ายดอกถึง 20-25% เมื่อเทียบคนที่ทำงานประจำหรือทำงานอยู่กับหน่วยงานของรัฐ
ด้วยเหตุนี้ เดฟจึงทำ Upstart ขึ้นมาเพื่อแก้ paint point ดังกล่าว โดยใช้เทคโนโลยี AI ในการช่วยธนาคารและสถาบันการเงินจำแนกผู้กู้ ผลก็คือ ธนาคารที่ใช้แพลตฟอร์มของ Upstart สามารถปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น ได้ลูกค้าเพิ่มขึ้นเยอะมาก โดยมีความเสี่ยงน้อยลง
ฝั่งผู้ใช้ก็ยิ่งแฮปปี้ เพราะกู้ได้ง่ายขึ้น และไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยแพง อีกทั้งแพลตฟอร์มของ Upstart ยังมีลักษณะที่เรียกว่า user-friendly คือหน้าตาน่าใช้งาน
สถิติที่ผมค้นได้ในขณะนั้น คือแพลตฟอร์มของ Upstart ช่วยให้คนที่ได้รับอนุมัติเงินกู้มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 26% และต้นทุนในการกู้ (หมายถึงดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และอื่นๆ) ลดลง 10%
โดย Upstart จะได้ส่วนแบ่งรายได้จากธนาคาร คือยิ่งแบงก์ปล่อยกู้ได้มาก ก็ต้องแบ่งให้ Upstart มากขึ้นด้วย ซึ่งผมมองว่าเป็นโมเดลที่ดีที่สุดแล้ว ไม่เหมือนกับการคิดค่าบริการในการใช้แพลตฟอร์มซึ่งรายได้จะคงที่
โดยภาพรวมแล้ว ถือได้ว่า Upstart เป็นธุรกิจที่เข้ามาปลดปล่อยผู้คนในเรื่องของการเข้าถึงแหล่งเงินทุนส่วนบุคคลอย่างแท้จริง

เมื่อได้ข้อมูลอย่างนี้แล้ว ผมจึงทำเหมือนที่ทำทุกครั้ง คือเช็ค “valuation” และพบว่าราคาหุ้น UPST ยังต่ำกว่า fair value อยู่พอสมควร
ผมจึงตัดสินใจที่จะศึกษาต่อในเชิงลึกไปถึง “ผลประกอบการ” และ “งบการเงิน” ก่อนจะพบว่าตัวเลขทุกตัว “ผ่านหมด” โดยชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าธุรกิจนี้กำลังอยู่ในเฟซของการเติบโต
และเมื่อดู “market cap” ก็พบว่าอยู่ที่ 12,000 ล้าน USD เท่านั้น ถือว่ายังเล็กมากๆ ขณะที่รายได้แม้จะโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว แต่เวลานั้นก็ยังไม่ถึง 300 ล้าน USD
ที่สำคัญที่สุดคือ เป็นบริษัทที่มี “กำไร” เมื่อเทียบกับเทคคอมพานีจำนวนมากที่ยังจมลึกอยู่กับผลขาดทุน
เมื่อประกอบกับนวัตกรรมที่ยอดเยี่ยม และตลาดที่ยังไม่เคยมีใครย่างก้าวเข้ามา มองมุมไหนก็ต้องยอมรับว่ารันเวย์ของบริษัทนี้ยังอีกยาวไกลมากๆ
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงตัดสินใจเข้าซื้อ UPST ในวันจันทร์ที่ 7 มิ.ย. ด้วยต้นทุน 169 USD และเขียนถึงหุ้นตัวนี้ไว้ในแพลน My VALUE ของ Club VI เพื่อให้สมาชิกได้รู้จัก แต่ก็ย้ำกับทุกคนเหมือนที่ย้ำทุกครั้งว่า นี่เป็นเพียงการให้ข้อมูล ไม่ใช่การแนะนำให้ซื้อ โดยชี้ให้เห็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงประกอบกันไป
ทว่าหลังจากนั้น ราคาหุ้น UPST กลับปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว โดยลงไปต่ำสุดที่ประมาณ 117 USD ลดลงกว่า 30% จากจุดที่เข้าซื้อครั้งแรก
ด้วยความสงสัย ผมจึงลองหาข้อมูลเพิ่มเติมและพบว่าเหตุที่ราคาร่วงลง ปัจจัยสำคัญเกิดจากการที่หุ้นเพิ่งพ้นจาก lockup period คือช่วงเวลาที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่สามารถขายหุ้นทิ้งได้หลังจาก IPO ทำให้เกิดแรงเทขายออกมาอย่างหนัก และแม้จะมีปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีการปรับ guidance รายได้ แต่ดูอย่างไรก็ไม่พบว่าปัจจัยพื้นฐานของบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ
เมื่อเห็นเป็นโอกาสเช่นนั้นแล้ว ผมจึงตัดสินใจเก็บหุ้นเพิ่ม และทยอยซื้อมากขึ้นเรื่อยๆ จนต้นทุนสุทธิลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 129 USD
เวลาผ่านมาประมาณ 2 เดือน พอเข้าสู่ช่วงกลางเดือนสิงหาคม หลังจากราคาจมจ่อมอยู่นาน มันก็เริ่มดีดขึ้นอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลจากผลประกอบการที่โดดเด่นมากๆ โดยเฉพาะ Q2/2021 ที่ “รายได้” เพิ่มขึ้นกว่า 1,000% YoY ขณะที่ “กำไร” ก็เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด
แม้จะดูน่าตื่นตาตื่นใจ แต่ถ้าใครได้อ่านข้อมูลเหมือนที่ผมอ่านก่อนเข้าซื้อมันในทีแรก ก็จะพบว่าผลการดำเนินงานที่ออกมานี้แม้จะน่าประหลาดอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับเกินความคาดหมายเสียทีเดียว
ปัจจุบัน ราคาหุ้น UPST ยังวิ่งอย่างต่อเนื่อง โดยขึ้นไปสูงสุดที่ 346.54 USD ก่อนจะปรับตัวลงมาเล็กน้อย ขณะที่เขียนอยู่นี้ราคาอยู่ที่ 333 USD
นั่นทำให้จากต้นทุน 129 USD ของผม หุ้นตัวนี้ถือว่า “เด้ง” ขึ้นมาแล้วกว่า “หนึ่งเด้งครึ่ง” หรือมากกว่า 150% ภายในเวลาเพียงประมาณ 4 เดือน
ถามว่า ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมาทำไม เพื่อ “ขิง” ว่าตัวเองลงทุนเก่ง ได้หุ้นเด้งหรือเปล่า คำตอบคือ ไม่ใช่เลย และไม่ได้เขียนเพื่อแนะนำหุ้นด้วย เพราะปกติก็ไม่ได้ทำเช่นนั้นอยู่แล้ว (และอันที่จริง ก็ยังมีหุ้นอีกหลายตัวที่ผมลงทุนแล้วมันไม่เป็นไปอย่างที่คิด)
จุดประสงค์หลักที่ผมเขียนบทความน้ีขึ้นมา ข้อแรกเลย คือเพื่อต้องการอธิบายให้เห็นถึงวิธีการวิเคราะห์หุ้นของผมก่อนจะเข้าลงทุน ว่ามีขั้นตอนอะไรอย่างไรบ้าง เพื่อให้ท่านสามารถประยุกต์ไปใช้ได้หากต้องการ (แม้จะอธิบายได้เพียงพอสังเขปก็ตาม)
ข้อที่สองก็คือ เพื่อสรุปเป็นบทเรียนแก่ทุกท่านว่า เวลาเราเข้าลงทุนในหุ้นบางตัว แล้วราคาของมันเกิดปรับลดลงอย่างรุนแรง เราควรนำปัจจัยพื้นฐานของมันมาพิจารณาซ้ำอีกครั้ง หากพื้นฐานเปลี่ยนแปลง หรือมีบางสิ่งที่เรายังไม่รู้ หรือเราวิเคราะห์ผิดไปเอง ก็อาจจำเป็นต้องขายมันทิ้ง แต่หากพบว่าพื้นฐานยังคงเดิม การขายทิ้งย่อมไม่ใช่ทางเลือกที่ควรกระทำแต่อย่างใดทั้งสิ้น การอยู่เฉยหรือซื้อเพิ่มเท่านั้น จึงเป็นทางเลือกที่พึงกระทำ
และบทเรียนสุดท้ายที่อยากฝากไว้คือ เราต้องหาให้พบ “หุ้นดีๆ” ก่อนที่มันจะ “ดัง”
ในเวลาที่หุ้น Upstart ร่วงเอาๆ นั้น เพจหุ้นต่างๆ ของไทย ตลอดจนสื่อออนไลน์ของสถาบันการเงินต่างๆ แทบไม่มีใครเขียนถึงหุ้นตัวนี้ แต่หลังจากราคาวิ่งขึ้นมาเยอะมาก มันก็เริ่มถูกเขียนถึงมากขึ้นเรื่อยๆ
หากท่านได้อ่านข้อมูลเหล่านั้นตอนที่หุ้นมัน “ดัง” ขึ้นมาแล้ว ท่านจะสามารถเข้าลงทุนได้หรือไม่? ก็เป็นเรื่องที่น่าสงสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาจากการที่ราคาของมันปรับตัวขึ้นมากว่า 1,500% จากเดือนธันวาคมปีที่แล้ว หรือหากนับจากที่ผมเข้าซื้อครั้งแรก คือกลางเดือนมิถุนายนปี 2021 ก็ขึ้นมาแล้ว กว่า 100%
นี่คือเหตุผลที่เราต้องหาให้พบ “ซุปเปอร์สต็อค” ก่อนที่มันจะ “ถูกเอ่ยถึง” ไม่ใช่เวลาที่มัน “ดังแล้ว” และใครๆ ก็เขียนถึงมัน ซึ่งเป็นไปได้สูงมากๆ ว่า โอกาสที่ดีที่สุดในการลงทุนได้ผ่านพ้นไปแล้ว
เพราะฉะนั้น สำหรับคนที่อยากสร้างความมั่งคั่งจากหุ้นต่างประเทศ ขอให้ท่านหาข้อมูล ทำการบ้านด้วยตนเองแบบ “เชิงรุก” คือหาไปเรื่อยๆ อ่านไปเรื่อยๆ อย่าหยุด ไม่ต้องรอให้ใครมาเชียร์ มาเขียนถึง
เราหาเองก่อนเลย
และถ้าเจอหุ้นที่ดี มีโมเดลที่น่าสนใจ ก็อย่าลังเลที่จะเจาะลึกลงไปจนรู้จักมันอย่างทะลุปรุโปร่ง
หากทำเช่นนี้ได้ ท่านก็มีโอกาสพบ “หุ้นดี” ก่อนที่จะมันจะ “ดัง” และ “เด้ง” เหมือนกรณีศึกษาที่ผมยกมาเป็นตัวอย่าง (ย้ำครั้งสุดท้ายว่าเพื่อเป็นตัวอย่างเท่านั้น) ในที่นี้
และสำหรับท่านที่อยากร่วมหา “หุ้นนอกดีๆ” ก่อนที่มันจะ “ดัง” ไปกับผมและทีมงาน Club VI แนะนำสมัคร My VALUE แพลนการลงทุนหุ้นต่างประเทศ ที่จะช่วยให้ท่านตะลุยหุ้นนอกได้อย่าง “มั่นใจ” และ “แม่นยำ” ยิ่งกว่าเดิม คลิก ที่นี่ ครับ
Disclaimer : การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน ข้อเขียนนี้ไม่ใช่การชักชวนให้ซื้อหรือขายหุ้น เป็นเพียงการให้ข้อมูลในอดีตเพื่อเป็นความรู้เท่านั้น