โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
เรียลลิตีโชว์ที่ผมชอบที่สุด คือ Shark Tank รายการนี้ดังมากๆ ในสหรัฐอเมริกา ฉายทางช่อง ABC รูปแบบรายการคือให้เจ้าของธุรกิจมาเสนอขายหุ้นของตัวเองแก่บรรดา Shark หรือ “ฉลาม” อันหมายถึงนักธุรกิจและนักลงทุนจากหลากหลายวงการจำนวน 5-6 คน
ทั้งนี้ ผู้ที่มาออกรายการจะมีเวลาสั้นๆ ในการพรีเซ้นต์สินค้าและธุรกิจของตัวเอง ก่อนจะเจอกับคำถามจากบรรดา Shark ซึ่งเป็นคณะกรรมการ หากพวก Shark สนใจ ก็จะยื่นข้อเสนอกลับมา และถ้าตกลงกันได้ ทั้งสองฝ่ายก็จะร่วมลงทุนทำธุรกิจกัน
ที่อยากเล่าในที่นี้ เพราะหลังจากดูมาหลายซีซั่น ผมไปเจอกับ ep. หนึ่งที่ทำให้งงมากๆ เพราะเจ้าของธุรกิจที่มา pitch นั้น ทำธุรกิจขาย “กางเกงช้าง” เป็นกางเกงผ้าบางๆ ใส่สบาย มีลวดลายเป็นรูปช้าง เหมือนที่ขายอยู่หน้าวัดพระแก้ว – วัดโพธิ์ นั่นแหละ
โดยผู้นำเสนอทั้งสองบอกว่า ได้ไอเดียนี้หลังจากไปเที่ยวปางช้างที่เมืองไทยแล้วเห็นช้างถูกทรมาน จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ลุกขึ้นมาทำกางเกงลายช้างออกมาขาย เพื่อเอารายได้ส่วนหนึ่งไปช่วยช้าง
ในฐานะคนไทย ได้ยินอย่างนี้แล้ว ผมอดนึกในใจไม่ได้ว่ามัน “แปลกๆ อยู่” เพราะกางเกงลายช้างที่ว่านี้ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับปางช้าง หรือแคมป์ช้างที่เอาไว้ดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยตรงแต่อย่างใด มันเป็นแค่กางเกงที่เอาไว้ใส่เข้าวัด หรือใส่สบายๆ อยู่กับบ้าน มีขายดาษดื่นในเมืองไทย
ที่นึกออกก็เช่น หน้าวัดพระแก้ว-วัดโพธิ์ บางร้านก็ให้เช่าเพื่อใส่เข้าวัด (สำหรับนักท่องเที่ยวที่นุ่งสั้น) ซึ่งลวดลายก็ไม่ได้มีแต่ลายช้าง แต่มีสารพัดลาย ส่วนใหญ่จะเป็นลายไทยๆ (เพื่อนเยอรมันผมเรียกมันว่า Temple Pants เพราะผมซื้อให้เขาใส่เข้าวัด ตอนไปเที่ยววัดโพธิ์ด้วยกัน)
ไม่ใช่เฉพาะผมที่รู้สึกว่านี่เป็นธุรกิจที่งี่เง่า บรรดา shark หรือคณะกรรมการซึ่งเป็นมหาเศรษฐีก็รู้สึกว่าไอเดียนี้ไร้สาระเช่นกัน แต่เมื่อผู้นำเสนอเปิดเผยว่ามียอดขายถึง 7 ล้านเหรียญ หรือกว่า “230 ล้านบาท!!” หลังจากดำเนินธุรกิจมาเพียงสองปี ก็ทำเอา shark ทุกคนถึงกับอ้าปากค้าง ว่ามันเป็นไปได้อย่างไร
โดยเฉพาะคนไทยอย่างผมยิ่งงงหนักกว่า เพราะผู้นำเสนอบอกว่า ราคาขายปลีกของกางเกงช้างของเขานั้นอยู่ที่ตัวละ 24 เหรียญ คิดเป็นเงินไทยราว “800 บาท!!” ทั้งที่เราต่างรู้กันดีว่า กางเกงพวกนี้แถวหน้าวัดขายกันในราคาร้อยกว่าบาทเท่านั้น ไม่เพียงเท่านั้น ยอดขายทั้งหมดยังมาจาก Facebook ไม่มีช่องทางอื่นเลย
หลังจากหูผึ่งกับยอดขายแล้ว แม้จะมีข้อติติงหลายอย่าง เช่นที่ มาร์ค คิวบาน นักธุรกิจมหาเศรษฐีเจ้าของทีม ดัลลัส มาเวอร์ริคส์ เตือนว่า การขายผ่าน Facebook เพียงช่องทางเดียวถือว่าเสี่ยงมาก เพราะแค่ FB เปลี่ยนนโยบาย ธุรกิจก็อาจเจ๊งได้เลย
แต่สุดท้าย ด้วยยอดขายที่เย้ายวนใจ หนึ่งใน Shark คือ เดย์มอน จอห์น นักธุรกิจผิวดำที่ประสบความสำเร็จจากธุรกิจเสื้อผ้าฮิปฮอป ก็ยื่นข้อเสนอและตกลงกันได้ด้วยการซื้อหุ้น 17.5% ในบริษัท เป็นเงิน 500,000 เหรียญ หรือ 16.5 ล้านบาท
คิดเป็น Valuation ทั้งบริษัทถึง 2.85 ล้านเหรียญ หรือ “94 ล้านบาท” เลยทีเดียว!!
(ที่จริงยังมีข้อเสนอจาก เควิน โอเลียรี่ เจ้าของฉายา “มิสเตอร์วันเดอร์ฟูล” Shark ตัวหลักของรายการด้วย แต่ผู้นำเสนอเลือกดีลกับเดย์มอนด์)
ผมเชื่อว่าไม่ว่าคนไทยคนไหนที่ได้ดู คงนึกในใจเหมือนผมว่า นี่มัน “บ้าไปแล้ว” กับการลงทุนในบริษัทเช่นนี้เป็นเงินมากขนาดนี้ เพราะมันขายสินค้าดาดๆ ที่ไม่น่าจะมีความได้เปรียบในการแข่งขัน แม้จะเข้าใจได้ว่าเป็น “ของแปลก” สำหรับคนอเมริกันก็ตาม
ทันทีที่ ep. นี้จบลง ผมรีบหยิบมือถือขึ้นมา Google ดูทันที ว่าสุดท้ายแล้วธุรกิจนี้เป็นอย่างไร (ep. นี้ออกอากาศตั้งแต่ปี 2017) ก่อนจะพบว่า Elephant Pants ยังดำเนินธุรกิจอยู่ แม้ในเว็บบอร์ดชื่อดังอย่าง Reddit จะมีคนบ่นว่าหาซื้อยาก หรือหาซื้อไม่ได้แล้ว แต่เมื่อลองเข้าไปในเว็บไซต์ ก็เห็นว่ายังสั่งซื้อได้
อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวผมรู้สึกแปลกๆ กับเว็บไซต์ของบริษัทนี้ เพราะมีบางจุดที่ผมรู้สึกเองว่า “ไม่โปร” อย่างแรง เช่น มีการสะกดคำผิดๆ อย่างไม่น่าให้อภัย อาทิ สะกดคำว่า Donated (ที่แปลว่าบริจาค) เป็น Dontated (ดูภาพประกอบ)
ผมจึงเดาเอาเองว่า ตัวธุรกิจไม่น่าจะสวยหรูเท่าไรนัก มิเช่นนั้นคงมีคนมาคอยดูเว็บไซต์ ไม่ปล่อยให้พลาดขนาดนี้ (แม้ผมจะไม่สามารถไปหายอดขายหรือกำไรมาวิเคราะห์ได้เนื่องจากบริษัทไม่ได้เข้าตลาดหุ้น)
โดยสรุป ผมได้บทเรียนจาก Shark Tank ep. นี้ ห้าข้อ ดังนี้
หนึ่ง) ธุรกิจบางอย่าง เพียงอาศัย “ความแปลกใหม่” โดยเอาของจากที่หนึ่งไปขายยังอีกที่หนึ่ง ก็สามารถทำเงินได้มากมายมหาศาล แม้มันอาจไม่ได้มีค่าอะไรเลยในถิ่นกำเนิดของตัวมันเอง แต่คนต่างถิ่นอาจรู้สึกว่า “แปลกดี” จนทำให้มีค่าขึ้นมา (ขนาดเพื่อนเยอรมันที่ผมพาไปเที่ยววัดโพธิ์ ยังชอบและซื้อกลับบ้านไปแจกครอบครัว 5-6 ตัว ส่วนผมไม่ซื้อเลยสักตัว)
ในทางกลับกัน ลองนึกดูว่าถ้ามีคนไทยเอาบริษัทอย่างนี้มาขายให้คุณในราคา 94 ล้าน ต่อให้คุณมีเงิน นอกจากจะไม่สนใจซื้อแล้ว เผลอๆ ยังจะด่ากลับไป
สอง) การ “จดสิทธิบัตร-เครื่องหมายการค้า” เป็นสิ่งสำคัญมากๆ “กางเกงลายช้าง” อย่างนี้ในเมืองไทยมีมานานแล้ว แต่ไม่เคยมีใครจดเครื่องหมายการค้า หรือเอาไปปั้นแบรนด์เป็นเรื่องเป็นราว แต่ปรากฏว่าฝรั่งเอาไปทำจนรวยได้
จะเห็นได้ว่าคนไทยเรายังขาดเรื่อง “แบรนดิ้ง” อยู่มาก
สาม) รู้จัก “สร้างสตอรี่” ให้กับแบรนด์ ผู้นำเสนออ้างว่า แบรนด์นี้เอารายได้ส่วนหนึ่งไปช่วยช้าง และที่ทำธุรกิจนี้เป็นเพราะเห็นช้างถูกทรมาน ทั้งที่จริงมันก็คือการขายเสื้อผ้าคุณภาพธรรมดาๆ (shark บางคนยังบอกด้วยซ้ำว่าคุณภาพต่ำ) แต่เมื่อบวกสตอรี่เข้าไป จึงดูดีและมีคุณค่า (แม้คนไทยส่วนใหญ่จะไม่อิน)
สี่) ธุรกิจที่จะยั่งยืนได้ในระยะยาว ต้องมีความได้เปรียบในการแข่งขัน ของที่คนอื่นลอกเลียนได้ง่าย ไม่มีทางจะอยู่ยั้งยืนยง ทุกวันนี้กางเกงหรือเสื้อพวกนี้ แม้ไม่ได้มาเมืองไทยก็หาซื้อได้ใน Amazon หรือ Taobao ในราคาที่ถูกกว่าเยอะ ผมไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้ว Elephant Pants จะลงเอยอย่างไร แต่อย่างน้อยก็เพียงพอที่จะทำให้เจ้าของซึ่งเป็นไอ้หนุ่มกะโปโลสองคนที่มาเที่ยวเมืองไทยกลายเป็นเศรษฐีย่อมๆ ได้
ห้า) ดู Shark Tank เถอะ “มันโคตรสนุกและมีประโยชน์จริงๆ”
หมายเหตุ: ผมไม่เคยดู Shark Tank Thailand จึงไม่ขอให้ความเห็นครับ
Credit Image :
1 ภาพประกอบ Shark Tank ของ ABC เอามาจาก celebwikigossip.com
2 เอามาจาก theelephantpantz.com
3 ถ่ายจากหน้าเว็บ theelephantpantz.com