โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
ผมอ่านบทความหนึ่งจาก CNBC น่าสนใจมากๆ เขาชี้ชัดว่าตลาดหุ้นขณะนี้ “ไม่เชื่อมโยง” กับสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ โดยยกข้อเท็จจริงมาอธิบายไว้อย่างน่าสนใจ
แม้จะเป็นเรื่องของตลาดสหรัฐฯ แต่ตลาดหุ้นเมืองไทยก็เป็นไปตามตลาดสหรัฐฯ เสียเป็นส่วนมาก ดังนั้น จึงสมควรที่เราจะรู้เอาไว้ เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน ดังนี้ครับ
- อัตราการว่างงานขณะนี้อยู่ที่ 14.7% สูงสุดนับตั้งแต่ Great Depression เป็นต้นมา แต่ที่ต่างกันคือมีคนตายกว่า 100,000 คนจากโคโรน่าไวรัส
- GDP ไตรมาส 1 ลบ 5% และคาดว่า Q2 อาจลบได้ถึง 50% แต่ดัชนี S&P 500 กลับลดลงเพียง 4.6% จากต้นปี
- ดัชนี S&P 500 ร่วงลงไป 34% จากจุดไฮเดิมช่วงกลาง ก.พ. สู่จุด low ณ วันที่ 23 มี.ค. เป็นการร่วงลงเร็วสุดในประวัติศาสตร์
- ทว่า ณ วันที่ 3 มิ.ย. S&P 500 เด้งกลับขึ้นมา 38% นั่นแปลว่าได้ชดเชยส่วนที่ร่วงลงไปจนครบแล้ว ราวกับไม่รับรู้ถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจใดๆ
- ส่วนหนึ่งที่หุ้นขึ้น มาจากกลุ่ม FAANG (Facebook, Amazon, Apple, Netflix, Google) ซึ่งได้รับประโยชน์จากวิกฤต และไปชดเชยการร่วงลงของหุ้นพลังงาน
- หลายฝ่ายมองว่า ตลาดขณะนี้ “disconnect” กับความเป็นจริง คือเป็นการมองอนาคตบวกมากๆ แม้ว่าจะรับรู้ถึงวิกฤต แต่ก็เข้าไประดมซื้อราวกับมันจะผ่านไปง่ายๆ นักวิเคราะห์คนหนึ่งใช้คำว่า “ทำเหมือนกับพรุ่งนี้จะก้าวเข้าสู่ปี 2021 แล้ว”
- จุดที่ต้องระวังที่สุด คือแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ 2 ล้านล้านเหรียญ ที่รัฐบาลแจกเช็ค 1,200 เหรียญให้ประชาชน ซึ่งเป็นการ “ให้ครั้งเดียว” และแถมอีกสัปดาห์ละ 600 เหรียญให้กับคนว่างงาน โดย 600 เหรียญนี้จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ก.ค. ขณะที่ 1,200 เหรียญ ก็อาจจะไม่มีการให้ซ้ำอีก หากไวรัสแพร่ระลอกสอง
ข้างต้นนั้นคือข้อมูลที่ผมเรียบเรียงจากเว็บ CNBC และด้วยข้อมูลดังกล่าว ผมจึงสรุปเอาเองว่า หากวิกฤตโคโรน่าไวรัสที่ดูเหมือนจะเริ่มบรรเทาเบาบางลงในหลายๆ รัฐ กลับมาระบาดหนักอีกรอบ เศรษฐกิจก็อาจจะหดตัวรุนแรงได้เพราะได้ใช้ “เงินกระตุ้น” ไปจนหมดแล้ว
ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ความเป็นจริงดังกล่าวก็จะสะท้อนเข้ามาในดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในท้ายที่สุด
อ่านข้อมูลประกอบจากเว็บ CNBC : ที่นี่