โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
ตอนที่แล้ว ผมเล่าถึง โฮเวิร์ด มาร์กส์ นักลงทุนชั้นเซียนผู้ยึดโยงกับหลักวีไอแท้ๆ ในตอนนี้จะเล่าต่อถึงแก่นความคิดของเขา ซึ่งน่าสนใจมากๆ
มาร์กส์เป็นที่รู้จักจากเมโมของเขา ซึ่งแฝงไว้ด้วยปรัชญามากมาย เรื่องหนึ่งที่เขาเน้นย้ำอย่างยิ่ง คือการเข้าใจในเรื่องของ “การสุ่ม” (randomness)
เขาบอกว่า ปรัชญาของคนเรา มาจากสิ่งที่ได้รับการสั่งสอนจากครูและพ่อแม่ บวกกับประสบการณ์ของเราจากชีวิตจริง โดยเราต้องเรียนรู้จากประสบการณ์นั้นว่าจะโมดิฟายด์สิ่งที่ถูกสั่งสอนมาอย่างไร และนั่นจะกลายเป็นปรัชญาของตัวเราเองที่ไม่เหมือนกับของคนอื่น
“การบูรณาการชีวิตจริงเข้าไปกับปรัชญาของคุณจึงสำคัญอย่างยิ่ง”
มาร์กส์บอกว่า ในโลกของการลงทุน มี “การสุ่ม” (randomness) อยู่มากมาย ถ้าเรามองการลงทุนเหมือนสนามแข่งขันที่ไม่มีการสุ่มเลย โดยมองว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากความตั้งใจให้เป็นอย่างนั้น เราจะสับสน เพราะเราจะไม่สามารถอนุมานได้อย่างถูกต้องว่าสิ่งที่เราเห็นนั้นเกิดจากสาเหตุใด และอาจสรุปไปแบบผิดๆ
เช่น ถ้าเราเห็นคนๆ หนึ่งทำผลตอบแทนได้อย่างยอดเยี่ยม แล้วเราคิดแบบนักวิทยาศาสตร์จากโลกแห่งฟิสิกส์ เราอาจมองว่าคนๆ นั้นต้องเป็นนักลงทุนที่ยอดเยี่ยม ซึ่งที่จริงแล้วมันไม่ใช่ เขาอาจเป็นคนบ้าที่กล้าเสี่ยงครั้งหนึ่งแล้วโชคดีก็เป็นได้ เพราะ “ในโลกนี้มีการสุ่มอยู่มากมาย”
สมัยเรียนที่วอร์ตัน มาร์กส์ได้เรียนรู้จากหนังสือชื่อ Decision Making Under Uncertainty ของแจ็คสัน เกรสัน ที่บอกว่า “เราบอกไม่ได้ว่าการตัดสินใจใดถูกหรือผิด จากผลลัพธ์ของมัน”
ถ้าเราสร้างสะพาน แล้วมันพัง เราย่อมมองได้ว่าวิศวกรที่สร้างมันคงผิดพลาด แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง บ่อยครั้งที่การตัดสินใจดีๆ กลับไม่เวิร์ก และการตัดสินใจแย่ๆ กลับเวิร์กมาก
สุดยอดนักลงทุนผู้นี้ย้ำว่า “คนมากมายถูกมองว่าถูกต้องด้วยเหตุผลที่ผิด”
เช่น คนๆ หนึ่งอาจตัดสินใจผิดพลาด สิ่งต่างๆ ไม่ได้เป็นไปอย่างที่เขาคิดเลยแม้แต่น้อย แต่เขาโชคดี เพราะมีอีกเหตุการณ์หนึ่งมาช่วยไว้ ผลลัพธ์สุดท้ายจึงออกมาดี
มาร์กส์อ้างวรรคทองจากหนังสือเรื่องเดิมว่า “แม้คุณจะรู้ว่าสิ่งใดมีโอกาสเกิดขึ้นมากที่สุด แต่ก็อาจมีสิ่งอื่นๆ มากมายเกิดขึ้นแทน” บทเรียนสำคัญประการที่คุณต้องเรียนรู้ คือ “คุณไม่ควรทำราวกับสิ่งที่ควรเกิดขึ้น คือสิ่งที่จะเกิดขึ้น”
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปรากฏการณ์ใดๆ มีสิ่งต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้มากมาย ผลลัพธ์ที่น่าจะเกิดขึ้นที่สุดอาจมีหนึ่งเดียว แต่มันไม่มีอะไรแน่นอน ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นแน่ๆ คุณจึงต้องเตรียมพร้อมสำหรับความเป็นไปได้ต่างๆ เสมอ
… และนี่แหละคือหัวใจของการลงทุน
(ติดตามต่อตอนหน้า)
แหล่งที่มา : คลิปบรรยาย “The Most Important Things – Origins and Inspiration | Talks at Google” ทาง Youtube
Image credit : Facebook Page “Howard Marks” Facebook.com/HowardMarksBooks