ไม่ทำนาย ไม่ใช่ “ไม่รู้”

IMG_9008

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

มีพนักงานกูเกิลคนหนึ่งถามโฮเวิร์ด มาร์กส์ ว่า ที่บอกว่าไม่ให้พยากรณ์ปัจจัยเชิงมหภาค แล้วถ้าเกิดอะไรพลิกผันขึ้นมา เช่น เกิดวิกฤตการเงินขึ้น หรือราคาน้ำมันดิ่งเหว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบริษัทที่เราลงทุนอย่างรุนแรง เราจะรู้และเตรียมรับมือได้อย่างไร

มาร์กส์ตอบว่า การไม่ “พยากรณ์เชิงมหภาค” (macro forecast) เป็นคนละเรื่องกับการมอง “ภาพรวมทางเศรษฐกิจ” (economic outlook) ให้ออก

เราไม่จำเป็นต้องคาดเดาว่าอัตราดอกเบี้ยจะเป็นเท่าโน้นเท่านี้ หรือคาดเดาว่าราคาน้ำมันจะเป็นเท่าโน้นเท่านี้ แต่เราต้องรู้ว่าหากฉากทัศน์เป็นไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง จะส่งผลต่อบริษัทที่เราลงทุนอย่างไร

เช่น ขณะนี้ราคาน้ำมันอยู่ที่ 50 เหรียญ เราจึงลงทุนในบริษัท A เพราะมันจะไปได้ดี ณ ราคาน้ำมัน 50 เหรียญ, จะอยู่รอดได้ ณ ราคาน้ำมัน 30 เหรียญ, และจะรุ่งมากๆ ถ้าราคาน้ำมันเป็น 70 เหรียญ

นี่คือการเข้าใจภาพรวม และเป็นสิ่งที่ควรกระทำ

แต่นั่นไม่เหมือนกับการที่เราโดดเข้าไปลงทุนในบริษัท B เมื่อราคาน้ำมันอยู่ที่ 50 เหรียญ เพราะคิดว่าราคาจะพุ่งไปถึง 110 เหรียญ ซึ่งจะทำให้บริษัทรุ่งมากๆ แต่ในทางตรงข้าม บริษัทจะเจ๊งถ้าราคาลดลงมาเหลือ 30 เหรียญ เช่นนี้คือการลงทุนโดยเดิมพันกับการพยากรณ์เชิงมหภาค ซึ่งไม่ควรทำเลย

ดังนั้น นักลงทุนที่ดี จึงไม่ควรเสียเวลาไปกับการพยากรณ์เชิงมหภาค แต่ต้องรู้ว่า ฉากทัศน์ที่เป็นไปได้ของปัจจัยเชิงมหภาคต่างๆ จะส่งผลกระทบต่อบริษัทที่เราลงทุนมากน้อยแค่ไหนอย่างไร

เพราะการ “ไม่ทำนาย” ไม่ใช่การ “ไม่รู้อะไรเลย”


แหล่งที่มา : คลิปบรรยาย “The Most Important Things – Origins and Inspiration | Talks at Google” ทาง Youtube

Image credit : Facebook Page “Howard Marks” Facebook.com/HowardMarksBooks

 

“อย่ามุ่งหาดวงจันทร์” ปรัชญาข้อแรกของโฮเวิร์ด มาร์กส์

34133084_2018583564880498_6155184027797028864_n

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

โฮเวิร์ด มาร์กส์ บอกว่า ปรัชญาข้อแรกของกองทุน Oaktree Capital ที่เขาบริหาร คือการให้ความสำคัญกับ “การควบคุมความเสี่ยง” เป็นอันดับหนึ่ง

มาร์กส์บอกลูกค้าของเขาว่า สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่การเอาชนะตลาด ไม่ใช่การทำเงินให้ได้มากสุด และไม่ใช่การทำผลงานให้อยู่ในกลุ่มนำ แต่คือ “การควบคุมความเสี่ยง” การเอาเงินมาลงทุนกับเขา แปลว่าสินทรัพย์ของคุณจะอยู่ภายใต้การควบคุมความเสี่ยงที่ดี

นั่นตามมาด้วยปรัชญาข้อสองในการลงทุน คือ การ “เน้นความสม่ำเสมอ”

มาร์กส์บอกว่า หลักของเขาคือ จะไม่ “มุ่งหาดวงจันทร์” หากว่าพลาดแล้วมีโอกาสร่วงลงมาร่างกายแหลกเหลว เขาบอกว่า เขาไม่เคยสนที่จะทำผลงานให้ติดกลุ่ม top 5 ขอแค่ “สูงกว่ากลุ่มกลางๆ” ตลอดเวลา

วีไอสมองเพชรผู้นี้กล่าวต่อไปว่า ถ้าอยากเป็น “top 5” ก็ต้องพร้อมเป็น “bottom 5” ด้วย ซึ่งเขาไม่พร้อมที่จะเป็นเช่นนั้น

มาร์กส์เล่าว่า มีกองทุนบำนาญอยู่กองหนึ่ง ตลอด 14 ปี ทำผลงานอยู่ในอันดับ 27-47 ทุกปี ไม่เคยหลุดจากนี้ แต่พอครบ 14 ปี กองทุนนี้กลับอยู่ใน “อันดับ 4” ทั้งที่ดูเผินๆ ควรจะอยู่ในอันดับสามสิบกว่าๆ

ถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

คำตอบก็คือ สำหรับกองทุนทั่วๆ ไป ในปีที่ดีก็ดีมาก พอถึงปีที่แย่ก็แย่หนักจริงๆ กองทุนที่อยู่ในระดับกลางๆ สูงกว่าเฉลี่ยเพียงเล็กน้อย แต่มีความสม่ำเสมอ บรรทัดสุดท้ายจึงได้รับผลลัพธ์ที่ดีกว่าเยอะ

มาร์กส์บอกว่า เขาต้องการให้กองทุนของเขา ทำผลงานในระดับ “a little bit over the middle all the time” คืออาจจะหลุดขึ้นไปติดท้อปบ้างในปีที่ตลาดแย่มากๆ แต่นอกเหนือจากนั้นจะอยู่แค่สูงกว่ากลางๆ นิดหน่อย

“ในระยะยาว ผู้คนจะนับถือเราไปในแบบนี้” มาร์กส์กล่าว

นี่เป็นข้อคิดที่ดีมากสำหรับคนที่จะเลือกลงทุนในกองทุน รวมถึงกองทุนในเมืองไทยด้วยเช่นกัน

อย่ามุ่งหาพวกกองทุนตัวท้อปอันดับ 1 แต่ให้หากองทุนที่ทำผลงานได้ในระดับกลางๆ ทว่ามีความสม่ำเสมอ

นี่ต่างหาก คือทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับคุณ


แหล่งที่มา : คลิปบรรยาย “The Most Important Things – Origins and Inspiration | Talks at Google” ทาง Youtube

Image credit : Facebook Page “Howard Marks” Facebook.com/HowardMarksBooks

 

 

โฮเวิร์ด มาร์กส์ กับ “ประกาศิตรวย”

IMG_9008

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

โฮเวิร์ด มาร์กส์ เล่าว่า เมื่อปี 1978 เจ้านายของเขาที่ซิตี้แบงก์โทรศัพท์มาหา โดยสั่งให้ไปศึกษาสิ่งที่เรียกว่า “หุ้นกู้ผลตอบแทนสูง” (high-yield bond) ซึ่งในเวลานั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีใครรู้จัก มาร์กส์จึงไปหาข้อมูล และพบว่า มันคือหุ้นกู้ของบริษัทที่สถานะไม่สู้จะดี ไม่เป็นที่โปรดปรานของตลาด ได้อันดับเครดิตแย่ แต่ให้ผลตอบแทนในระดับสูง เมื่อเทียบกับหุ้นกู้ของบริษัทที่แข็งแกร่ง

มาร์กส์บอกว่า ถ้าเราซื้อหุ้นกู้ประเภท “ทริปเปิ้ล A” (AAA) ซึ่งใครๆ ต่างคิดว่ามันดี ทุกอย่างดูดีไปหมด นั่นแปลว่าทิศทางเดียวที่มันมีโอกาสจะมุ่งไป คือ “แย่ลง” มันอาจจะไม่แย่ก็ได้ แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้น มันย่อมไม่มีโอกาสจะดีขึ้นอีกแล้ว เพราะมันดีที่สุดแล้ว

ในทางตรงข้าม ถ้าคุณซื้อหุ้นกู้ของบริษัทที่เป็น “ซิงเกิล B” และเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น ทางเดียวที่เป็นไปได้คือได้รับการ “upgrade” ขอเพียงบริษัทนั้นไม่ล้มละลาย ถ้ามันรอดได้ ความเป็นไปได้ประการเดียวคือ “ขึ้น” เท่านั้น

มหาเศรษฐีวีไออธิบายต่อว่า ถ้าคุณซื้อหุ้นกู้ที่ไม่ค่อยมีคนสนใจ โอกาสพลาดครั้งใหญ่ หรือโอกาสที่มันจะกลายเป็น “big loser” ถือว่ามีน้อยมาก เพราะความคาดหวังแย่ๆ ถูกรวมเข้ามาในราคาจนหมดแล้ว

เขาเล่าต่อไปว่า คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า การลงทุนที่ดี คือการลงทุนในสินทรัพย์ที่ดี หรือในบริษัทที่ดี ซึ่ง “ผิดถนัด” สุดยอดผู้จัดการกองทุนผู้นี้บอกว่า คำกล่าวที่ว่า “ถ้าคุณชอบสินค้าของบริษัทไหน ก็ซื้อหุ้นของบริษัทนั้นซะ” ถือว่าผิดที่สุดเท่าที่จะผิดได้แล้ว

มาร์กส์ชี้ชัดว่า ส่ิงสำคัญที่สุดที่จะตัดสินความสำเร็จในการลงทุน ไม่ได้อยู่ที่ “สิ่งที่คุณซื้อ” แต่อยู่ที่ “ราคาที่คุณจ่ายไป” ต่อให้คุณซื้อสินทรัพย์คุณภาพเยี่ยม แต่จ่ายแพงเกินไป คุณก็มีโอกาสเจ็บหนักได้ แต่ถ้าคุณซื้อสินทรัพย์คุณภาพต่ำ โดยจ่ายต่ำกว่ามูลค่าของมัน คุณก็มีโอกาสทำเงินได้สูง

นักลงทุนมากมาย เคยลงทุนในบริษัทชั้นเยี่ยมอย่าง โคคาโคล่า, IBM, P&G, AIG ในปี 1968 ณ P/E 80 หรือ 90 เท่า และเจ๊งย่อยยับถึง 90% ก็เพราะการซื้อแพงเกินไปนี้

มาร์กส์อ้าง “ประกาศิตสองประการ” จาก “Security Analysis” หนังสือที่เปรียบประดุจคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์แห่งการลงทุน

ประการแรกคือ สิ่งสำคัญที่สุดคือ “มูลค่า” คุณต้องหามูลค่าให้เป็น จึงจะมีโอกาสประสบความสำเร็จในการลงทุน 

ประการที่สองคือ “ความสัมพันธ์ระหว่างราคากับมูลค่า” ถ้าคุณซื้อแพงกว่ามูลค่า คุณจะเดือดร้อนแน่ๆ แต่ถ้าคุณสามารถหามูลค่าออกมาได้ แล้วเข้าซื้อในราคาที่ต่ำกว่านั้น มาร์กส์บอกว่าคุณก็ชนะไปแล้วครึ่งตัว

ต่อมา สิ่งที่มาร์กส์ทำก็คือ หันมาเน้นลงทุนใน “หุ้นกู้ผลตอบแทนสูง” โดยให้เกณฑ์กับลูกน้องไว้ง่ายๆ ว่า ให้คัดหุ้นกู้ที่มีโอกาสเจ๊งออกไป เพื่อปิดโอกาสในการสูญเงินทั้งหมด  แล้วเลือกลงทุนในหุ้นกู้ผลตอบแทนสูงของบริษัทที่ไม่มีโอกาสเจ๊ง โดยไม่ต้องสนใจว่าบริษัทจะมี “ข่าวดี” หรือไม่ หรือจะถูกมองแย่ขนาดไหนจากบริษัทจัดอันดับเครดิต

เทพวีไอผู้นี้สรุปว่า จงเอาตัวเองไปอยู่ในเขตแดนซึ่งสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้น คือ “ความประหลาดใจในทางบวก” เท่านั้น แล้วคุณจะทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ

เรียกได้ว่าเดินตามตำรา “วีไอ” แท้ๆ จนร่ำรวย


** สนใจหลักสูตร Valuation & DCF สอนประเมินมูลค่าหุ้นด้วยวิธี DCF แบบเชิงลึกโดย Club VI คลิกที่นี่


หมายเหตุ : โฮเวิร์ด มาร์กส์ เป็นนักลงทุนและผู้จัดการกองทุนที่ได้รับการยอมรับนับถือที่สุดคนหนึ่งของสหรัฐอเมริกา เขาทำผลตอบแทนทบต้นได้ถึง 19% ต่อปีจากการบริหารกองทุน Oaktree Capital ​Management เป็นเวลาหลายสิบปี โดยความมั่งคั่งปัจจุบันของเขาอยู่ที่  2,200 ล้านเหรียญ เป็นอันดับที่ 370 ใน Forbes 400 ซึ่งเป็นอันดับคนรวยที่สุดของสหรัฐฯ

มาร์กส์เป็นที่รู้จักมากที่สุดจาก “เมโม” ซึ่งเขาเขียนถ่ายทอดความรู้และมุมมองต่อการลงทุนและเศรษฐกิจไว้ในเว็บไซต์ แม้แต่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ยังเคยบอกว่า “เวลาผมเห็นเมโมของโฮเวิร์ด มาร์กส์ ในกล่องจดหมาย มันเป็นสิ่งแรกที่ผมจะเปิดอ่าน และผมก็ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เสมอ” 


แหล่งที่มา : คลิปบรรยาย “The Most Important Things – Origins and Inspiration | Talks at Google” ทาง Youtube

Image credit : Facebook Page “Howard Marks” Facebook.com/HowardMarksBooks


ย้อนอ่านตอนก่อนหน้านี้:

Howard Marks The Series

#1 :โฮเวิร์ด มาร์กส์ เตือนแรง ระวังเฟดอุ้มตลาดไม่ไหว คลิกที่นี่

#2 :เพราะเหตุใดเราจึงควรฟังคำเตือนของโฮเวิร์ด มาร์กส์ คลิกที่นี่

#3 : อย่ามองใครว่าถูกต้องด้วยเหตุผลที่ผิด คลิกที่นี่

#4 : “ทำไมคนที่คิดถูกเสมอจึงไม่รวย” มุมคิดคมๆ จากโฮเวิร์ด มาร์กส์ คลิกที่นี่

#5 : “คุณรู้จักตัวเองหรือยัง” คำถามจากโฮเวิร์ด มาร์กส์ คลิกที่นี่