โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
มีพนักงานกูเกิลคนหนึ่งถามโฮเวิร์ด มาร์กส์ ว่า ที่บอกว่าไม่ให้พยากรณ์ปัจจัยเชิงมหภาค แล้วถ้าเกิดอะไรพลิกผันขึ้นมา เช่น เกิดวิกฤตการเงินขึ้น หรือราคาน้ำมันดิ่งเหว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบริษัทที่เราลงทุนอย่างรุนแรง เราจะรู้และเตรียมรับมือได้อย่างไร
มาร์กส์ตอบว่า การไม่ “พยากรณ์เชิงมหภาค” (macro forecast) เป็นคนละเรื่องกับการมอง “ภาพรวมทางเศรษฐกิจ” (economic outlook) ให้ออก
เราไม่จำเป็นต้องคาดเดาว่าอัตราดอกเบี้ยจะเป็นเท่าโน้นเท่านี้ หรือคาดเดาว่าราคาน้ำมันจะเป็นเท่าโน้นเท่านี้ แต่เราต้องรู้ว่าหากฉากทัศน์เป็นไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง จะส่งผลต่อบริษัทที่เราลงทุนอย่างไร
เช่น ขณะนี้ราคาน้ำมันอยู่ที่ 50 เหรียญ เราจึงลงทุนในบริษัท A เพราะมันจะไปได้ดี ณ ราคาน้ำมัน 50 เหรียญ, จะอยู่รอดได้ ณ ราคาน้ำมัน 30 เหรียญ, และจะรุ่งมากๆ ถ้าราคาน้ำมันเป็น 70 เหรียญ
นี่คือการเข้าใจภาพรวม และเป็นสิ่งที่ควรกระทำ
แต่นั่นไม่เหมือนกับการที่เราโดดเข้าไปลงทุนในบริษัท B เมื่อราคาน้ำมันอยู่ที่ 50 เหรียญ เพราะคิดว่าราคาจะพุ่งไปถึง 110 เหรียญ ซึ่งจะทำให้บริษัทรุ่งมากๆ แต่ในทางตรงข้าม บริษัทจะเจ๊งถ้าราคาลดลงมาเหลือ 30 เหรียญ เช่นนี้คือการลงทุนโดยเดิมพันกับการพยากรณ์เชิงมหภาค ซึ่งไม่ควรทำเลย
ดังนั้น นักลงทุนที่ดี จึงไม่ควรเสียเวลาไปกับการพยากรณ์เชิงมหภาค แต่ต้องรู้ว่า ฉากทัศน์ที่เป็นไปได้ของปัจจัยเชิงมหภาคต่างๆ จะส่งผลกระทบต่อบริษัทที่เราลงทุนมากน้อยแค่ไหนอย่างไร
เพราะการ “ไม่ทำนาย” ไม่ใช่การ “ไม่รู้อะไรเลย”
แหล่งที่มา : คลิปบรรยาย “The Most Important Things – Origins and Inspiration | Talks at Google” ทาง Youtube
Image credit : Facebook Page “Howard Marks” Facebook.com/HowardMarksBooks